วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2552

อาลัย(ต้น)ลาน

ต้นลาน

ต้นลาน เห็นกระจัดกระจายทั่วไปตามข้างทางในเขตตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี

เห็นช่อดอกลานเด่นมาแต่ไกลตอนแรกนึกว่าต้นสน ฝอยดอกลานสวยไม่ง่ายที่จะได้เห็น
ส่วนสีดำของกาบใบลานเป็นส่วนที่แข็งมากถ้าใช้มีดฟันถึงกับบิ่นเป็นส่วนที่พระภิกษุใช้ทำคันกรดมีความแข็งทนทานมาก
วิธีการหมักเมล็ดลานของอุทยานแห่งชาติทับลานต้องหมักทิ้งไว้จนมันเน่าและงอกราก เวลานำต้นลานลงถุงปลูกต้องหงายส่วนเมล็ดที่มีรากงอกขึ้นข้างบนเพราะจะเป็นส่วนที่ต้นอ่อนจะงอกขึ้นมา กล้าของต้นลานที่ทางอุทยานแห่งชาติทับลานเพาะไว้เพื่อปลูกคืนสู่ป่าในวันที่ ๒๖ มิถุนายน นี้
นิราศลาน
แสนอาลัยใจหายเสียดายนัก

เห็นลานปักช่อชูพู่ไสว

เป็นสัญญาณว่าต้นลานนั้นต้องตาย

ทิ้งลูกไว้ก่อนจากเหมือนฝากลา

โอ้ลานรักลานร้างต้องห่างเจ้า
เคยแผ่กิ่งทิ้งเงาเจ้าเปิดเผย
มีประโยชน์มากมายไฉนเลย
โอ้ลานเอ๋ยถึงคราวลาน้ำตาริน
เมื่อวานเรามีโอกาสได้ไปที่อุทยานแห่งชาติทับลานเพื่อติดต่อราชการ
พอข้ามเขตวังน้ำเขียวเข้าสู่เขตตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี สองข้างทางจะพบเห็นต้นลานเรียงราย หลายต้นตั้งช่อชูไสวสวยงามมาก ถ้าใครเคยได้ยินเรื่องของต้นลานมาบ้าง จะพบว่าต้นลานเป็นไม้อาภัพ หลังจากที่ยืนต้นประมาณ ๖๐-๘๐ ปีเมื่อไหร่ที่ออกดอกและมีลูก ลานต้นนั้นจะตาย อุทยานแห่งชาติทับลานถือเป็นป่าลานผืนใหญ่ป่าสุดท้ายของโลก เนื่องจากลูกลานมีน้ำหนักมากนกไม่สามารถคาบไปกินเพื่อขยายพันธุ์ได้ เว้นก้อแต่ค้างคาว ดังนั้นการจะขยายพันธุ์ต้นลานเพื่อให้แพร่ไปยังถิ่นอื่นต้องอาศัยเพียงคนเท่านั้นที่จะนำพาไป
วันนี้ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๒ อุทยานแห่งชาติทับลานมีโครงการคืนต้นลานสู่ป่า ซึ่งถือเป็นความพยายามของหน่วยงานภาครัฐร่วมกับเอกชนในการแพร่ขยายพันธุ์ลานกลับสู่ธรรมชาติ ใครที่สนใจสร้างโลกสีเขียวช่วยต้นลานให้แพร่ลูกหลานต่อไป แต่ไปไม่ทันงาน สามารถไปติดต่อกับทางอุทยานให้ช่วยพาไปเก็บเมล็ดลานเอาไปปลูกได้ปีนี้ลานมีลูกน้อยแต่ก้อคงได้เป็นรถปิคอัพถ้าเราต้องการ ช่วยๆกันนะคะ ปลูกลานวันนี้เพื่อลูกหลานของเราเพื่อโลกของเรา
ลานหรือไม้ลาน
เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่อยู่ในตระกูลปาล์ม เป็นพันธุ์ไม้ดึกดำบรรพ์ ที่ไม่ขึ้นแพร่หลายนัก มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาและแถบเมดิเตอร์เรเนียน ส่วนใหญ่จะชอบขึ้นอยู่ในที่มีอากาศชื้นเย็น มีฝนตกมาก ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีที่สุด ในดินที่มีความชื้นสูง ดินมีการระบายน้ำได้ดี ไม่ชอบน้ำขัง ต้นลานมีความคงทนต่อภัยธรรมชาติเป็นอย่างดี ต้นเล็กถึงแม้จะถูกไฟไหม้ก็จะงอกขึ้นได้ในโอกาสต่อไป เพราะรากของต้นลาน ฝังลงในดินลึกมาก ต้นลานที่พบในประเทศไทยมี 3 ชนิดคือ 1.Corypha lecomtei มีชื่อสามัญเรียกว่า ลานป่า Lan pa ในธรรมชาติพบในประเทศเวียดนามและประเทศไทย แต่ไม่ใหญ่เท่าชนิดที่ 3 ในเวียดนามและไทยนิยมนำมาใช้เขียนหรือจารึกอักษร ลานชนิดนี้พบมากที่บ้านทับลาน บ้านขุนศรี บ้านวังมืด ตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี บ้านท่าฤทธิ์ ตำบลวังม่วง อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี บริเวณผานกเค้า อำเภอผานกเค้า จังหวัดขอนแก่น นอกจากนี้ยังพบ ทั่วไปบริเวณจังหวัดลพบุรี , ตาก ,พิษณุโลก,นครปฐม ลานชนิดนี้มีอยู่ในอุทยานแห่งชาติทับลาน จัดว่าเป็นพันธุ์ไม้ดั้งเดิมของไทย 2.Corpha utan มีชื่อพ้องคือ Corypha elata ชื่อสามัญเรียกว่า ลานพรุ Lan phru หรือ ebang Palm ชอบขึ้นตามแนวชายฝั่งแม่น้ำหรือในพื้นที่ชุ่มน้ำมีการกระจายตั้งแต่อินเดียจนถึงฟิลิปปินส์ และทางตอนเหนือของออสเตรเลียในประเทศไทยพบมากในแถบภาคใต้เขตอำเภอเชียรใหญ่และอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอระโนด จังหวัดสงขลาและตามเส้นทางจากจังหวัดกระบี่ถึงพังงา ลานพรุมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากลานชนิดอื่น คือ ลำต้นสูงคล้ายต้นตาลขึ้นอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากตามที่ราบท้องทุ่ง แม้พื้นที่น้ำท่วมขัง 3. Corepha umbraculifera เป็นปาล์มที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีชื่อสามัญว่า ลานวัดหรือลานหมื่นเถิดเทิง หรือ Fan palm, Lontar palm, Talipotpalm ลานชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในศรีลังกาและอินเดีย จนเป็นต้นไม้ประจำชาติของศรีลังกา ประเทศไทยไม่พบในธรรมชาติ แต่มีการนำเอามาปลูกในภาคเหนือของประเทศไทย ลานถือได้ว่าเป็นไม้เศรษฐกิจประเภทหนึ่งของไทย โดยอาศัยผลผลิตที่ได้จากต้นลาน นำมาใช้ประโยชน์เพื่อการดำรงชีวิต ทั้งด้านอุปโภคและบริโภค นับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ส่วนต่าง ๆ ของต้นลานที่นำมาใช้ประโยชน์ได้แก่
1. ยอดลานอ่อน (ใบลานอ่อน) เป็นที่จารึก หนังสือพระธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา โดยการใช้เหล็กแหลมจารบนใบลานแล้วใช้ยางรักทา เอาทรายลบยางรักจะแทรกในตัวหนังสือที่จารเป็นเส้นดำ หรือจะใช้เขม่าไฟแทนก็ได้ เรียกหนังสือใบลานเหล่านี้ว่า "คัมภีร์ใบลาน" นอกจากนี้ ยังนิยมนำมาพิมพ์เป็นการ์ด นามบัตร ที่คั่นหนังสือต่าง ๆ ใช้จักสานทำผลิตภัณฑ์ของใช้ อาทิ เช่น หมวก งอบ พัด กระเป๋า เสื่อ ภาชนะในครัวเรือน เครื่องประดับตกแต่งบ้าน เช่น โมบายรูปสัตว์ ปลาตะเพียน ฯลฯ ส่วนภาคใต้นำยอดลานพรุ มาฉีกเป็นใบ สางออกเป็นเส้น ปั่นเป็นเส้นยาวคล้ายด้าย นำไปทอเป็นแผ่น เรียกว่า ห่งอวนหรือหางอวน ทำเป็นถุงรูปสามเหลี่ยมสำหรับไว้ต่อปลายอวน ใช้เป็นถุงจับกุ้งและเคยสำหรับทำกะปิ สานเป็นถุงใส่เกลือ วองใส่ยาเส้นและซองใส่แว่นตา
2. ใบลานแก่ ใช้มุงหลังคาและทำผนังหรือฝาบ้าน บางแห่งใช้ใบลานเผาไฟเป็นยาดับพิษอักเสบฟกช้ำบวมได้เป็นอย่างดี ซึ่งเรียกทั่วไปว่า "ยามหานิล"
3. ก้านใบ ใช้ทำโครงสร้าง ไม้ขื่อ ไม้แป และผนัง บางแห่งใช้มัดสิ่งของแทนเชือกเหนียวมาก ส่วนกระดูกลาน (ใกล้กับบริเวณหนามแหลม) มีความแข็ง และเหนียวมากกว่าส่วนอื่นของก้านใบ ใช้ทำคันกลดพระธุดงค์ นอกจากนี้ยังใช้ทำขอบภาชนะจักสานทั่วไป เช่น ขอบกระด้ง ตะแกรง กระบุง ตะกร้า เป็นต้น
4. ลำต้น นำมาตัดเป็นท่อน ๆ สำหรับนั่งเล่นหรือใช้ตกแต่งประดับสวน ทำฟืนเป็นเชื้อเพลิงหุงต้ม ภาคใต้บางแห่งใช้ทำครกและสาก
5. ผล ลูกลานอ่อนนำเนื้อในมารับประทานแบบลุกชิดหรือลูกจาก ส่วนเปลือกรับประทานเป็นยาขับระบายดี บางแห่งใช้ลูกลานทุบทั้งเปลือก โยนลงน้ำทำให้ปลาเมา แต่ไม่ถึงตาย สะดวกแก่การจับปลา
ศิริพร กลมกล่อม เรื่อง - ภาพ

วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552

อีโก่ยองุ่นป่าที่ฉันตามหามานาน

ขนุนดินพืชกาฝากที่ขึ้นกับรากอีโก่ย


อีโก่ยหรือองุ่นป่ากำลังออกช่อ ต้นนี้อยู่ที่ส่วนลุงโชค จอมปราชญ์แห่งอำเภอวังน้ำเขียว




ลักษณะโค่นต้นขององุ่นป่ากว่าจะตามรอบเค้าเจอ



ใบและช่ออ่อนขององุ่นป่า
องุ่นป่าช่อนี้ยังไม่ทันสุก
เรารู้จักองุ่นป่าเป็นครั้งแรกเพราะเดินป่าไปเจอขนุนดินซึ่งเป็นพืชเบียนรากหรือพืชกาฝากที่อาศัยดูดน้ำเลี้ยงของพืชอื่น ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าทำไมขนุนดินถึงไปเกิดได้มีข้อสันนิฐานแต่เพียงว่าอาจเป็นเพราะสัตว์ป่าที่คุ้ยเขี่ยอาหารแล้วนำสปอร์(เรียกถูกป่ะไม่รู้)ของขนุนดินติดไปด้วย พอบังเอิญไปขุดขุยดินจนรากของต้นไม้เกิดเป็นแผลสปอร์ของขนุนดินจึงฝังตัวและเกิดที่ต้นไม้นั้น แต่ไม่ใช่ว่าขนุนดินจะขึ้นได้กับไม้ทุกต้น มีเพียงบางต้นเท่านั้นที่เหมาะแก่การอิงอาศัยของขนุนดินและหนึ่งในนั้นคือองุ่นป่ารึอีโก่ยนั่นเองที่ขนุนดินจะชอบไปขึ้นที่ราก จึงเป็นที่มาที่ทำให้เราสนใจอยากรู้ว่าองุ่นป่าหน้าตาเป็นยังงัย แต่การดูต้นไม้ในป่าที่สมบูรณ์นั้น บางทีไม่ง่าย อย่างขนุนดินเค้าเป็นไม้เถาพอเวลาที่ขึ้นในป่ารกทึบไม่เรือนยอดสูงๆ เค้าก็ต้องพยายามเลื้อยขึ้นไปเหนือเรือนยอดของไม้นั้นเป็นอันว่าเราจะไม่เห็นหน้าตาเค้าหรอก
องุ่นป่า
ชื่อสามัญ Common name : องุ่นป่า , เถาเปรี้ยว ชื่อวิทยาศาสตร์ Sciencetific name : Ampelocissus martinii Planch. ชื่อวงศ์ Family name: VITACEAE (VITIDACEAE) ชื่ออื่น Other name: เครืออีโกย (อีสาน) กุ่ย (อุบล) เถาวัลย์ขน (ราชบุรี) ส้มกุ้ง (ประจวบฯ)ตะเปียงจู องุ่นป่า (สุรินทร์)

ลักษณะทั่วไป : ไม้เลื้อยล้มลุก หลายฤดู ลำต้น ไม่มีเนื้อไม้ ใบ เดี่ยวรูปหัวใจเว้าลึกเป็น 5 พู ผิว ใบอ่อนมีขน เป็นเส้นใยแมงมุมปกคลุม มีขนอ่อนสีชมพูที่มีต่อมแซม (glandularhair )ขอบใบหยักฟันเลื่อย ดอก ออกเป็นช่อแบบพานิเคิล (panicle) ดอกย่อยมีขนาดเล็กสีชมพูอ่อน กลีบดอก 4 กลีบ การขยายพันธุ์ ด้วยเมล็ดหรือแตกยอดใหม่จากเหง้าใต้ดิน นิเวศวิทยาและการแพร่กระจาย พบทั่วไปตามป่าเบญจพรรณในที่ร่มชื้น เถาจะงอกในช่วงฤดูฝน ประโยชน์และความสำคัญ ทางอาหาร ยอดอ่อน รับประทานเป็นผักสดมีรสหวานอมเปรี้ยว ผลอ่อนต้มตำน้ำพริก หรือใส่ส้มตำ เพราะมีรสเปรี้ยว ถ้ารับประทานดอกมากจะทำให้ระคายคอ ชาวบ้านจะจิ้มเกลือก่อน รับประทานจะลดอาการระคายคอหรือนำผลสุกมาตำใส่ส้มตำ ที่มา : สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล
นอกจากนี้จากคุณสมบัติที่ทนทานและหากินเก่งขององุ่นป่าจึงมีการนำมาเป็นต้นตอขององุ่นพันธุ์ต่างๆ ซึ่งก็จะช่วยให้องุ่นป่าของเราไม่สูญพันธุ์ไป
สรรพคุณ
ยาพื้นบ้านอีสานใช้ รากฝนดื่มแก้ไข้ ผสมลำต้นหรือรากรสสุคนธ์ เหง้าสัปปะรด ลำต้นไผ่ป่า ลำต้นไผ่ตง งวงตาล เปลือกต้นสะแกแสง ลำต้นหรือรากเถาคันขาว ผลมะพร้าว ลำต้นรักดำ ลำต้นก้อม ลำต้นโพ หญ้างวงช้างทั้งต้น รากกระตังบาย เปลือกต้นมะม่วง ลำต้นหนามพรม รากลำเจียก ลำต้นอ้อยแดง ลำต้นเครือพลูช้าง เหง้าหัวยาข้าวเย็นโคก และเปลือกต้นกัดลิ้น ต้มน้ำดื่ม รักษาฝีแก้อาการบวม
ศิริพร กลมกล่อม เรื่อง - ภาพ


ฝอยลมเจ้าปลิวไปตามลมเกาะอยู่ตามไม้ใหญ่ในป่าดิบชื้น

ฝอยลม





ไม้ยืนต้น ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สังเกตดีๆจะเห็นกระจุกของฝอยลมเกาะอยู่เป็นระยะๆทั้งต้น

ฝอยลมที่อาศัยอยู่กับเปลือกต้นไม้ใหญ่

ฝอยลมเกาะกิ่งไม้ความเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ

กิ่งไม้น้อยๆก้อยังมีเจ้าฝอยลมเกาะเกี่ยว
ฝอยลมตากแห้งที่พร้อมเอามาปรุง


ความฝันของคนที่สนใจเรื่องสมุนไพรคืออยากเห็นต้นจริงๆของสมุนไพรต่างๆ ช่วงที่ผ่านมาอยากเห็นฝอยลมมาก เห็นพวกหมอพื้นบ้านบอกว่าพวกที่หาสมุนไพรจะต้องใช้หนังสติ๊กยิงให้ตกลงมาเพราะอยู่สูงมากเราก้อเริ่มรู้สึกว่ามันคงยากที่จะได้เห็นแต่ก้อไม่ละความพยายาม จนมีโอกาสได้เจอกับลุงล้วนนักอนุกรมวิธานแห่งเขาใหญ่ ท่านบอกว่าฝอยลมอยู่กับต้นไม้ที่ไม่สูงก้อมี แทบจะกระโดดด้วยความดีใจ ให้ลุงล้วนพาไปดูทันที ไม้ในป่าเขาใหญ่มีเสน่ห์มากเป็นการพึ่งพากันของมอส เฟิรน ไลเคน ทุกๆต้นจะมีสีเขียวของไม้เล็กๆโอบคลุมอยู่บ่งบอกถึงความชุ่มชื้นของอากาศและความสมบูรณ์ของธรรมชาติเป็นอย่างดี


ฝอยลม
ชื่ออื่น หญ้าพองลม ปู่เจ้าลอยท่า
ลักษณะ ฝอยลมเป็นพืชตระกูล ไลเคน เป็นพืชที่ขึ้นในที่มีอากาศชื้นสูงและบริสุทธิ์มากๆ ลักษณะจะเป็นฝอยสีเขียวอ่อน เกาะตามกิ่งไม้ ฝอยลมนี้ สามารถใช้เป็นเครื่องวัดความบริสุทธิ์ของอากาศได้เป็นอย่างดี ถ้าที่ใดมีฝอยลมอยู่ แสดงว่าที่นั้นมีอากาศที่บริสุทธิ์มาก จะพบเห็นฝอยลมเกาะตามกิ่งไม้และไม้ใหญ่ไม้ยืนต้นในป่าดิบชื้น ในโคราชพบได้ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
สรรพคุณ
ทั้งต้น รสจืดเย็น ดับพิษ ถอนพิษ แก้ไข้ตัวร้อน แก้ร้อนใน กระสับกระส่าย หมอพื้นบ้านใช้แก้โรคกระเพาะอาหาร โรคเบาหวาน แก้ไซนัสอักเสบ
แต่ในความเห็นของเราคิดว่าสมุนไพรที่หายากๆหรือมีน้อยควรเอาไว้ใช้ในตำรับที่มีความจำเป็นมากๆ แต่บางตำรับที่หายาตัวอื่นทดแทนได้อยากให้เลือกใช้สมุนไพรที่หาง่ายๆว่านี้ เพราะฝอยลมมีขนาดเล็กนิดเดียวกว่าจะพอได้ต้มซักหม้อหนึ่งคงหมดไปครึ่งค่อน
อย่าลืมว่า"ทรัพยากรธรรมชาติมีเพียงพอสำหรับคนทุกคนบนโลกนี้ แต่ไม่พอสำหรับคนโลภเพียงคนเดียว"
เรายังมีลูกหลานของเรา และลูกหลานของคนอื่นๆที่จะต้องอาศัยโลกนี้ต่อไปจากเรา คิดถึงพวกเค้ามากๆ เหลือทรัพยากรไว้ให้พวกเค้าได้ใช้บ้าง

ศิริพร กลมกล่อม เรื่อง - ภาพ







วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เหงือกปลาหมอนากับการวิเคราะห์ของหมอพื้นบ้าน




เหงือกปลาหมอสมุนไพรที่เริ่มเกิดคำถาม












เหงือกปลาหมอที่เรารู้จักกันดี





เหงือกปลาหมอนาที่น่าจะเป็นตำรับจริงๆที่หมอพื้นบ้านใช้มีขึ้นทั่วไปริมน้ำแต่ต้องสังเกตดีๆเพราะต้นเล็กมากแต่ลักษณะใบและสีของดอกตรงตามที่โบราณกล่าวถึง




ต้นเหงือกปลาหมอเราทุกคนคงรู้จักกันดีอยู่แล้วว่าเป็นยาดีเอาเข้าตำรับต่าง ๆ แต่หลังจากที่โคราชจัดประชุมหมอพื้นบ้านบ่อยๆ เริ่มเกิดเป็นข้อสงสัยว่าตำรับยาโบราณเกี่ยวกับสรรพคุณของต้นเหงือกปลาหมอนั่นหมายถึงต้นไหนกันแน่ พ่อหมอบางคนว่าต้นเหงือกปลาหมอที่หมายถึงแท้ที่จริงแล้วน่าจะเป็นเหงือกปลาหมอนาพอดีสอดคล้องกับข้อมูลที่ทางหมอเมืองท่านหนึ่งได้วิเคราะห์ไว้ โดยมีเหตุผลที่น่าสนใจดังที่จะได้คัดลอกมาให้พวกเราลองพิจารณากันดังนี้


"หมอเมือง สันยาสี เรื่องนี้สำคัญ โปรดอ่านให้จบ
ตำรายานี้ได้มาจากเมืองพิษณุโลก ท่านให้เป็นปริศนาว่า ถ้าใครคิดได้ให้ขุดลงไปจะได้ทอง 100 ตำลึง คนฉลาดแก้ปริศนาออกจึงไปขุดก็พบแผ่นศิลาปิดปากหลุมไว้อย่างมิดชิด เมื่อเปิดออกดูก็พบใบลานยาวประมาณ 1 คืบ เมื่อเอามาอ่านดูก็พบว่าเป็นตำรายาวิเศษ จารึกด้วยอักษรขอมโบราณ มีใจความว่า พระฤาษีแสดงไว้เป็นทานแก่สมณชีพราหมณาจารย์ และมนุษย์ทั่วไปทั้งหญิงและชายเพื่อจะให้บำบัดโรค ถ้าผู้ใดได้ตำรานี้แล้วขอให้บอกต่อ ๆ กันไป จะได้อานิสงส์กัลป์ ถ้าเอาตำรายานี้ไว้ไม่เชื่อถือแล้วจะต้องไปตกนรก ตำรายานี้ชื่อ ตำราต้นเหงือกปลาหมอ ถ้าเห็นต้นเหงือกปลาหมอขึ้นตรงทาง หรืออยู่ในที่ใด ๆ ก็ดี อย่าเหยียบย่ำข้ามเลย ต้นเหงือกปลาหมอนี้มีคุณวิเศษมากมายหลายอย่างคือ
1. ถ้าเจ็บตา ตานั้นแดง ให้เอาเหงือกปลาหมอมาตำกับหัวขิง เอาหยอดตาหายแล
2. ถ้าเป็นเหน็บชา เท้า มือ หรือทั้งตัว ให้เอาเหงือกปลาหมอมาตำทาที่เจ็บนั้นหาย
3. ถ้างูกัด ให้เอาเหงือกปลาหมอทั้งห้ามาตำทั้งกินทั้งทา หายแล
4. ถ้าเป็นฝีบวมขึ้นมา ให้เอาเหงือกปลาหมอกับขมิ้นอ้อยมารวมกันตำทา หายแล
5. ถ้าเป็นริดสีดวงงอก ให้เอาเหงือกปลาหมอกับขมิ้นอ้อยตำปนกับน้ำมันหรือน้ำมูตรทา หายแล
6. ถ้าเป็นไข้หนาวสั่นไปทั้งตัว ให้เอาเหงือกปลาหมอกับขิงตำปนกันแล้วกิน หายแล
7. ถ้าเป็นหูหนาตาโต ให้เอาเหงือกปลาหมอตำเอาน้ำกิน แล้วเอาใบส้มป่อยต้มน้ำอาบ หายแล
8. ถ้าเป็นมะเร็งแตกทั้งตัว ให้เอาเหงือกปลาหมอ พริกไทย ดีปลี สิ่งละเท่ากัน ตำเป็นผงกินกับน้ำร้อน หายแล
9. ถ้าเป็นผื่นแดงคันขึ้นมาเกาจะไม่รู้สึกเจ็บ หรือที่เรียกว่าเป็นหูหนาตาโต ให้เอาเหงือกปลาหมอมาต้มกิน เอามาต้มกับใบส้มป่อยอาบด้วย หายแล
10. ถ้าเป็นมะเร็ง ทำให้ลงจนตัวเหลือง ให้เอาเหงือกปลาหมอ กระชาย มะคำไก่ และสมอทั้งสาม ต้มกิน หายแล
11. ถ้าหญิงมีระดูขาด หรือโลหิตแห้งแต่ 1 เดือนถึง 3 เดือนก็ดี ให้เจ็บผอมเหลืองทั่วสรรพางค์กาย ให้เอาเหงือกปลาหมอตำเป็นผงละลายน้ำมันงาหรือน้ำผึ้งกินทุกวันไป โรคนั้นหายแล
12. ถ้าเจ็บหลัง เจ็บบั้นเอว ให้เอาเหงือกปลาหมอกับชะเอมเทศตำเป็นผงละลายน้ำกินทุกวัน หายแล
13. ถ้าเป็นโรคริดสีดวงแห้ง หรือเป็นฝีในท้อง และซูบผอมไปทั้งตัว ให้เอาเหงือกปลาหมอมาตำเป็นผง ละลายน้ำกินทุกวัน หายแล
14. ถ้าเป็นโรคริดสีดวง มือเท้าตาย ให้ร้อนไปทั้งตัว เวียนศีรษะ ตามืดมัว เจ็บทั่วตัว แลผิวตัวให้สากแห้ง อันชื่อว่าลมเพชฆาต 38 จำพวก ให้เอาเหงือกปลาหมอกับเปลือกมะรุมเท่ากันใส่หม้อ เกลือเล็กน้อย หมาก 3 คำ เบี้ย 3 ตัว วางบนปากหม้อ เอาฟืน 30 ดุ้นต้ม ถ้าเดือดแล้วให้อึดใจยกลง เมื่อจะกินให้อึดใจกิน หายแล
15. ถ้าเจ็บตามตัว เมื่อยทั่วสรรพางค์กาย ให้เอาเหงือกปลาหมอตำเอาแต่น้ำกิน
16. ถ้าช้างแทง กระบือชน หรือตกจากที่สูง หรือต้องคมอาวุธ ให้เอาเหงือกปลาหมอตำที่แผล หายแล
17. ถ้าจะให้เจริญอายุ ท่านให้เอาเหงือกปลาหมอ 2 ส่วน พริกไทย 1 ส่วน ตำผงละลายน้ำผึ้งรับประทานทุกวัน
รับประทาน 1 เดือนจะหมดโรค จะมีสติปัญญาดี
รับประทาน 2 เดือนจะเป็นที่เมตตาแก่คนทั้งหลาย
รับประทาน 3 เดือน ริดสีดวง 12 จำพวกหาย
รับประทาน 4 เดือน ลม 12 จำพวกไม่มีเลย ตาแดงดังตาครุฑ หูได้ยินดังราชสีห์
รับประทาน 5 เดือน โรคภายในจะหมดสิ้น
รับประทาน 6 เดือน จะเดินได้วันละพันโยชน์ ไม่เหนื่อยเลย
รับประทาน 7 เดือน ผิวจะผุดผ่องสวยงามดี
รับประทาน 8 เดือน เสียงเหมือนนกการะเวก
รับประทาน 9 เดือน คมหอกดาบแทงไม่เข้าเลย
ต้นเหงือกปลาหมอนี้มีคุณค่าหนักหนา เปรียบเหมือนพระอาทิตย์ก็ว่าได้ ถ้ากินอาหารหรือสิ่งใดผิดสำแดงเข้าไปจะไม่มีโทษเลย
18. ถ้าเป็นฝีที่รักแร้และที่ลำคอก็ดี ให้เอาเหงือกปลาหมอ ขมิ้นอ้อย น้ำมันงา น้ำมูตร ตำเคล้าเข้าด้วยกันแล้วเคี่ยวเป็นน้ำมันทา หายแล
19. ถ้าเป็นลมจับ ให้เอาเหงือกปลาหมอ 1 ส่วน พริกไทย 2 ส่วน ตำผงละลายน้ำร้อนรับประทาน แก้ลม 8 จำพวกหาย
20. ถ้าจะประสานเนื้อให้สนิท ให้เอาเหงือกปลาหมอกับหัวสามสิบเท่ากัน ตำเอาน้ำประสานแผลทาหายสนิท
21. ถ้าตามืดมัว ให้เอาเหงือกปลาหมอ กะเพราทั้ง 2 แสมสาร ใบทองหลางใบมน บอระเพ็ด เจตมูลเพลิง สิ่งละเท่ากันตำปิดกระหม่อม แล้วเอาเหล็กเผาไฟให้ร้อน เอามาวางทับเหนือยานั้น หายแล
จบตำราเพียงนี้
อ่านตำราจบแล้วอย่าเพิ่งจบครับ ต้องคุยกับผมก่อน เพราะเหงือกปลาหมอที่ท่านและผู้คนเข้าใจใช้กันอยู่นั้นมันไม่ถูก ไม่ใช่ตามที่ตำราบ่งบอกไว้ ก็ท่านเคยเห็นใครกินยาเหงือกปลาหมอแล้วได้สรรพคุณดังว่ามั่ง และเคยได้รับคำเล่าลือกันว่าดีวิเศษมั่ง ไม่มีนะครับ ที่ทำ ๆ กันมา ทำกินหรือทำขาย ก็ล้วนทำไปเพราะเชื่อตำราว่าดี ถ้ามันจะดีก็นิดหน่อย เพราะส่วนผสมอย่างอื่น พาดี แต่ไม่เคยพบคุณวิเศษแบบตำราว่า ยกเว้นต้มเอาน้ำอาบแก้ผื่นคันพอใช้ได้อยู่ แต่ไม่มีสรรพคุณโดดเด่นเห็นชัดเหมือนกินกวาวเครือ เพราะเหตุนั้นจึงประกันได้ว่าเราใช้เหงือกปลาหมอผิดต้นจากตำรา
ตำรานี้เขียนโดยผู้คงแก่เรียนชาวพิษณุโลก ผ่านมาหลายร้อยปีมาแล้ว คงเขียนช่วงที่บ้านเมืองสงบสุข ช่วงสุโขทัยเป็นราชธานี การที่ท่านไม่ได้บรรยายลักษณะต้นยานั้นเพราะเป็นสิ่งที่ชาวบ้านเขารู้จักกันอยู่แล้ว และมีทั่ว ๆ ไป ในท้องถิ่นนั้น แต่ต้นเหงือกปลาหมอที่เรารู้จักกันทุกวันนี้เป็นพันธุ์ไม้ริมทะเล ชอบดินเค็ม ชอบขึ้นตามริมน้ำคูคลองที่ชื้นแฉะ ก็เมืองพิษณุโลกนั้นอยู่ห่างทะเลหลายร้อยกิโลเมตร ในสมัยโบราณการคมนาคมไม่สะดวกนั้นเหงือกปลาหมอที่ว่านี้จะมีอยู่ที่เมืองพิษณุโลกได้อย่างไร ถ้าจะมีก็คงนับต้นได้ มีเพียงหมอยาเอาไปปลูกไว้เท่านั้น แต่หมอยาไทยโบราณไม่มีนิสัยปลูกยา เพราะของในป่ามีมากแล้ว
มีข้อให้สังเกตหลายอย่าง ตำราโบราณท่านว่า ถ้าเห็นต้นเหงือกปลาขึ้นตรงทางหรืออยู่ที่ใด ๆ อย่าเหยียบย่ำข้ามเลย ท่านลองคิดดู ถ้าเป็นเหงือกปลาหมอที่ใบแหลมคมเหมือนหนาม แถมต้นสูงท่วมหัวเป็นพุ่มเป็นกอ และชอบขึ้นตามริมน้ำริมคลอง ใครจะไปเหยียบย่ำข้ามมันได้ ถ้าเป็นไม้ดังว่านี้ตำราต้องเขียนว่า หากพบต้นเหงือกปลาหมอขึ้นตรงที่ใด ๆ อย่าได้ฟันทิ้งเพราะรังเกียจหนามแหลมคมของมันเลย มากกว่า
ท่านอ่านพบใช่ไหมครับ ตำราว่าเอาเหงือกปลาหมอมาตำ บางข้อก็บอกว่าให้เอาเหงือกปลาหมอทั้งห้ามาตำ ถ้าเป็นเหงือกปลาหมอที่รู้จักกันดีทุกวันนี้มันตำได้ที่ไหน ต้นก็แข็ง ใบก็แข็ง แถมปลายใบเป็นหนามแข็งแหลมจนทิ่มมือได้เลือด มันมีลู่ทางสำหรับคนโบราณทางเดียวคือสับเป็นชิ้น ๆ แล้วต้มน้ำกินเท่านั้น
จึงเป็นข้อพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่าไม่ใช่เหงือกปลาหมอที่หลงใช้กันทุกวันนี้ แต่เป็นพืชหญ้าชนิดหนึ่งที่ขึ้นตามที่ราบ แผ่ไปบนดิน ชอบขึ้นตามที่โล่งเตียน เช่นในนา สนามหญ้า ข้างทางเดิน ซึ่งผู้คนสามารถเดินข้ามเหยียบย่ำได้ง่ายดาย พืชนี้มีใบเหมือนเหงือกปลาหมอจริง ๆ ใหญ่เล็กก็เท่าเหงือกปลาหมอ ใบอวบแข็งนิด ๆ แต่อวบน้ำแข็งน้ำ ไม่ตำมือให้เจ็บ ชอบขึ้นตามที่ลุ่มชื้นแฉะ แต่ถึงไม่มีน้ำชื้นแฉะก็ขึ้นได้งอกงาม มักพบในนาหลังช่วงเก็บเกี่ยวประมาณ 2 เดือนขึ้นไป ถ้าไม่มีใครรบกวนมันจะแผ่ออกไปเป็นพื้นพรมทีเดียว แต่สวย ๆ แบบที่ว่านี้ค่อนข้างหายาก ผู้เขียนไปมาทั่วประเทศ พบอยู่ที่เดียวที่สวยเช่นนี้ แต่มันก็มีอยู่ทั่วประเทศ แต่พบที่นั่นนิดที่นี่หน่อย จะเก็บมาทำยาทีละมาก ๆ ก็ไม่ได้เหมือนกัน
ผมรู้จักต้นยานี้เพราะพระอาจารย์อุดม ซึ่งเชี่ยวชาญในสมุนไพรเป็นผู้พาไปรู้จักต้น และอธิบายถึงความผิดพลาดของต้นยาที่ใช้กันอยู่ให้ฟัง ท่านว่าเคยใช้แบบนี้ได้สรรพคุณตรงตำราโบราณกล่าวไว้ทุกประการ เมื่อผมมาค้นในตำราก็เห็นอย่างที่ท่านกล่าวไว้จริง ๆ จึงขอฝากต้นยานี้ให้ท่านผู้อ่านไปหามาทำยาเถิด บางแห่งเรียกว่า หญ้าเกล็ดหอย "


หญ้าเกล็ดปลา(ภาคกลาง) ไต่หยี่หนึ่งจี้ ก้วยกังติ้ง(จีน)


ชื่อวิทยาศาสตร์Lippia nodiflora Rich.


วงศ์Verbenaceae


ลักษณะเป็นพืชขึ้นเลื้อยคลุมดิน แตกกิ่งก้านสาขา ข้อที่แตกดินจะงอกรากออกมายึดเกาะดินไว้ ทั้งต้นมีขนสั้น ๆ ต้นยาว 15-90 ซม. เนื้อใบค่อนข้างหนา ปลายใบมน ขอบใบมีรอยหยักคล้ายซี่เลื่อย ตั้งเต่ กลางใบขึ้นมาถึงปลายใบ ฐานใบเรียวเล็ก ดอกออกเป็นช่อจากง่ามใบ มีดอกย่อยจำนวนมากอยู่ติดกันแน่น เป็นทรงกระบอกยาว 1-2 ซม. มีกลีบเลี้ยง 2 กลีบเล็ก ๆ กลีบดอกสีม่วงแดงอ่อน ออกติดกันเป็นหลอดแคบ ๆ ส่วนปลายเปิกลักษณะคล้ายปาก เกสรตัวผู้มี 4 อัน สั้น 2 ยาว 2 ติดกับกลีบดอก รังไข่ภายใยแบ่งเป็น 2 ห้อง ผลมีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2 มม. มีกลีบเลี้ยงห่อหุ้มอยู่ เมื่อแก่จัดจะแยกออกเป็นเมล็ดแข็ง 2 เมล็ด หญ้า เกล็ดปลาพบขึ้นเองตามที่ดินปนทราย มีน้ำชุ่มชื้นและแดดจัด ตามริมทางน้ำและแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ


สรรพคุณ ทั้งต้น รสสุขุม ใช้ขับปัสสาวะ แก้ไข้ แผลมีหนอง ปัสสาวะเป็นเลือด ไอเป็นเลือด แผลฟกช้ำจากหกล้มหรือกระทบกระแทก




๑๓/๑๐/๕๔




เฮ้อไม่ได้เข้ามาบล๊อคตัวเองนานแล้ว บังเอิญเจอคนเอาเรื่องเหงือกปลาหมอนาที่เราเขียนไปถามกันข้างนอก แล้วก็สรุปว่าเราสับสนหรือมั่วไปเอง ด้วยเหตุผลที่ว่าเราใช้รูปรูปเดียวกับคนขายต้นไม้ในนานาการ์เด้น เฮ้อขอถอนหายใจอีกรอบนะ ก็ไอ้รูปนั้นหรือเจ้าของร้านคนนั้นก็คือเราเอง เพียงแต่เราไม่ได้เอาเรื่องความรู้ที่ให้สาธารณะกับการค้าขายมาเป็นเรื่องเดียวกัน จริงๆไอ้การเปลืองตัวด้วยการค้านสิ่งที่เคยรู้มาไม่ใช่เรื่องสนุกเลยถ้าเราไม่หาความรู้มาสนับสนุนที่มากพอ แล้วไม้ต้นนี้คนที่เรียนเภสัชกรรมแผนโบราณและเวชกรรมก็ตีความเป็นต้นเดียวกันว่าคือต้นที่ใบหยักๆคมๆ แต่เราเพียงอยากเปิดประเด็นให้หมอพื้นบ้านแท้ๆที่เราสัมผัสมากับคนที่เคยเอาต้นเหงือกปลาหมอนาไปใช้ได้มีพื้นที่บ้าง แล้วเราเองก็คือหนึ่งในคนที่เคยเถียงกับหมอพื้นบ้านมาแล้วเหมือนคุณน่ะแหล่ะ ไม่แก้ตัวอะไรทั้งนั้น ขอชี้แจงและยืนยันในนี้เท่านี้แหล่ะ อย่าไปหาเลยรูปที่เหมือนกันน่ะ ถ้าเป็นรูปนี้ฝีมือเราเอง

คืออย่างที่บอกแต่ต้นนะคะว่าบางส่วนคัดลอกมาเพื่อให้เป็นประเด็นในการพิจารณา อีกส่วนก็เป็นข้อมูลเพิ่มเติมที่หามาประกอบกัน ส่วนที่เป็นประสบการณ์ตรงของตัวเองก็จะอยู่ด้านบน แต่ถ้าดูแล้วมันเกิดความขัดแย้งมากเกินไปทำให้น่าหมดกำลังใจซะเปล่าๆก้อาจลบทิ้งเก็บไว้เป็นความรู้ส่วนตัวดีกว่าไม่เปลืองตัวดีค่ะ ถือซะว่าอ่านเล่นสนุกๆไร้สาระก็แล้วกันนะคะ



สะเดาดินสมุนไพรแก้ไข้หวัดใหญ่


สมุนไพรแก้ไข้หวัดใหญ่




สะเดาดินสมุนไพรรสขมขึ้นตามสนามหญ้า

ลูกใต้ใบรสขม


ฟ้าทะลายโจรฤทธิ์ทางสมุนไพรจะดีที่สุดช่วงออกดอก


หญ้าดอกขาวหรือหมอน้อย


ลุงล้วนนักอนุกรมวิธานและปราชญ์ชาวบ้านแห่งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

วันนี้มีโอกาสได้พบกับผู้เชี่ยวชาญสมุนไพรของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เรียกท่านว่าลุงล้วน ลุงล้วนเป็นเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และได้รับการยกย่องให้เป็นนักอนุกรมวิธานประจำอุทยานฯ เป็นคนที่มีบุคลิกกระฉับกระเฉงมีชีวิตชีวา ยิ่งถ้าใครชวนคุยเรื่องสมุนไพรถูกคอจะเห็นตาท่านเป็นประกายขึ้นมาทันที



เราคุยกันอย่างถูกคอหลายเรื่องแต่ด้วยความเกรงใจว่าตัวเองขอเข้ามาสัมภาษณ์ก่อนทีมหมอพื้นบ้านและโรงพยาบาลห้วยแถลงซึ่งจองตัวพ่อล้วนกำลังจะเดินป่ากัน


จึงจำเป็นต้องรวบรัดเฉพาะประเด็นที่น่าสนใจและอยู่ในกระแสคือสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการไข้หวัดใหญ่ ลุงล้วนน่ารักมาก บอกว่าไม่ยากใช้สมุนไพรสามตัวคือ ลูกใต้ใบ ฟ้าทะลายโจรและสะเดาดิน แต่ถ้าอาการหนักมากหน่อยให้เพิ่มหมอน้อยหรือหญ้าดอกขาวอีกตัวต้มกิน ลุงล้วนเคยใช้รักษาตัวเอง จากประสบการณ์ที่คลุกคลีกับป่าเขาใหญ่มานาน ได้มีโอกาสตามนักพฤกษศาสตร์ระดับประเทศ นานาชาติและอาจารย์ที่สอนนักศีกษาแพทย์แผนไทยมาไม่รู้กี่คณะต่อกี่คณะ ไม่นับพวกลักลอบหาของป่าที่ต้องหลบๆซ่อนๆเอาชีวิตให้รอดในป่าดงดิบ ก้อโดนลุงล้วนถามเคล็ดลับวิชาการใช้สมุนไพรเพื่อการดำรงชีวิตในป่าที่มีทั้งโรคร้ายและสัตว์มีพิษ
เรื่องราวของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเขาใหญ่อย่างลุงล้วนอาจมีเรื่องราวพิศดารน้องๆระพินทร์ ไพรวัลย์ก้อได้ใครจะรู้ อยู่ที่ลุงล้วนจะเล่าให้ใครฟังรึใครจะมีโอกาสได้ฟังลุงล้วนเล่าบ้าง


คราวหน้าจะมาเล่าเรื่องว่านตอดที่เรานึกว่ามีแต่ในตำนานแต่ลุงล้วนมีว่านตอดของจริงที่พิษร้ายแรงที่สุดตัวหนึ่งและฝอยลมไม้มหัศจรรย์ตัวหนึ่งที่เราอยากเห็นเอาไว้ตอนหน้าจะมาเล่าให้ฟัง

คราวนี้ความเร่งด่วนของโรคภัยคงหนีไม่พ้นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์แปลกๆที่เกิดขึ้น ในวงการหมอพื้นบ้านมีสมุนไพรเด่นๆและเด็ดๆหลายตัว ที่สำคัญเป็นสิ่งใกล้ตัวที่ไม่ได้หายากอะไรเลย



สะเดาดิน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Glinus oppositifolius (L.) A.DC.

วงศ์ : Molluginaceae
ชื่อสามัญ : ชื่ออื่น : ผักขวง สะเดาดิน (ภาคกลาง) ผักขี้ขวง (ภาคเหนือ)


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : พืชล้มลุก ลำต้นทอดเลื้อยแตกแขนงแผ่ออกครอบคลุมดินคล้ายพรม ใบมีขนาดเล็กเรียวยาว ออกจากบริเวณข้อของลำต้นข้อละ 4-5 ใบ ขอบใบเรียบ ก้านใบสั้น ดอก ออกรอบๆ ข้อ ข้อละ 4-6 ดอก มีกลีบดอก 5 กลีบ สีขาวอมเขียว ติดผลรูปยาวรี เมื่อผลแก่จะแตกออกเป็นสามแฉก ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลแดงจำนวนมาก พบขึ้นบริเวณชื้นแฉะ ในไร่นา และตามสนามหญ้าโดยทั่วไป ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด

ประโยชน์ : เป็นสมุนไพรบำรุงน้ำดี แก้ไข้ แก้ร้อนใน แก้หวัด แก้ไอ ทาแก้ฟกช้ำบวมอักเสบ นอกจากนี้ยังใช้แก้โรคผิวหนัง แก้คัน ใช้หยอดหูแก้ปวดหู
































วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2552

แจงต้นไม้ประจำถิ่นของโคราช

แจง






ต้นนี้อยู่แถวๆที่เค้าทิ้งขยะมีต้นแจงเป็นกลุ่มๆเยอะไปหมด


ใต้ต้นแจงมองลอดเข้าไปเป็นกอมีหลายต้น




ใบแจงแปลกๆจำง่ายสีเขียวเข้ม

ต้นแจงต้นนี้ขึ้นอยู่ที่ผาเดียวดายสวยมากเรยยยยยขอบอกไปผาเดียวดายอย่าลืมแวะไปทักทายเค้าด้วยนะ ซูมจากระยะไกลแต่สวยมาก
แจงเป็นไม้ฟอร์มสวย ใบมีเอกลักษณ์ พบเห็นได้ทั่วๆไปตามที่รกร้างข้างทางของโคราช จนทำให้คนในพื้นที่รู้สึกเหมือนกับว่าเป็นไม้พื้นๆธรรมดาที่ไม่น่าสนใจอะไร แต่แท้ที่จริงแล้วต้นแจงเป็นไม้ที่น่าสนใจมาก เพราะไม่ค่อยพบหรือเป็นไม้หายากในจังหวัดอื่น อีกทั้งการขุดล้อมปลูกถือเป็นไม้ปราบเซียนตัวหนึ่งเลย

สีของใบแจงแปลกๆมันออกเขียวคล้ำๆชอบกล ตอนแรกเราก้อคิดว่าต้นแจงเป็นไม้พื้นราบหัวไร่ปลายนา ที่ไหนได้ตอนขึ้นไปผาเดียวดายเขาเขียวที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลกว่า๑,๓๐๐เมตร เราพบแจงต้นสวยยืนหยัดท้าทายอยู่ชง่อนผา โอ้แม่เจ้าเสน่ห์ลีลาสวยเหมือนเป็นไม้เมืองนอกจริงๆ เล่นเอาหลงรักแจงขึ้นอีกโขเลยอ่ะ

แจง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Maerua siamensis (Kurz.) Pax
วงศ์ Capparidaceae

ลักษณะ
ไม้พุ่มถึงไม้ต้นขนาดเล็ก สูงไม่เกิน 10 เมตร ใบประกอบแบบ 3 ใบย่อย ก้านใบยาว 1.5-6.5 ซม. ใบย่อยเกือบไร้ก้าน รูปไข่กลับ รูปขอบขนานหรือรูปแถบ ยาว 2-12 ซม. โคนใบรูปลิ่มหรือมน ปลายใบกลม เว้าตื้น หรือมีติ่งเล็กๆ ช่อดอกออกที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบ ช่อสั้นๆ บางครั้งคล้ายออกดอกเดี่ยว ก้านดอกยาว 1.5-5.5 ซม. มีกลีบประดับรูปแถบเล็กๆ กลีบเลี้ยงรูปขอบขนาน ยาว 0.7-1 ซม. ขอบกลีบเป็นขนนิ่ม เกสรเพศผู้ 9-12 อัน ก้านเกสรยาว 1-1.5 ซม. อับเรณูรูปขอบขนาน ยาว 1.5-2 มม. ปลายอับเรณูเป็นติ่ง ก้านชูเกสรเพศเมีย ยาว 1.5-2 ซม. รังไข่รูปทรงกระบอก ยาว 1.5-2 มม. ผลรูปรีหรือกลม เส้นผ่านศูนย์กลางยาว 2-2.5 ซม. ก้านผลยาว 4.5-7.5 ซม. เมล็ดรูปไต แจงมีเขตการกระจายพันธุ์เฉพาะในภูมิภาคอินโดจีนรวมทั้งประเทศไทย พบแถบทุกภาค แต่ในภาคใต้พบเฉพาะทางตอนบน ขึ้นในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง หรือตามป่าโปร่ง ที่โล่ง ชอบเขาหินปูน ระดับความสูงไม่เกิน 400 เมตร ต้นแจงมักจะขึ้นใกล้ๆต้นตะโก
สรรพคุณ
ยอดอ่อนผสมเกลือ รักษาโรครำมะนาด แก้ปวดฟัน
ยอดอ่อนนำมาต้ม ล้างหน้าแก้ตาฝ้าฟาง
เปลือกไม้ ราก ต้มอาบอบ กิน แก้อัมพฤกอัมพาต
ใบ ใช้ทำลูกประคบแก้อัมพฤกอัมพาตเข้าลูกประคบ แก้ฟกช้ำ แก้ขัดเบา
เอาต้นแจงทั้ง ๕ หนัก ๓ ตำลึง ชะพลู หนัก ๓ ตำลึง แก่น ไม้สัก ๓ ตำลึง ตัวยาทั้ง๓ นี้ ใส่หม้อดิน กับน้ำ ๓ ส่วน ต้มเคี่ยว ให้เหลือ ๑ ส่วน ใช้น้ำยารับประทาน เช้า-เย็น แก้ขัดเบาได้ผลชะงัก
ราก เป็นยาบำรุงกำลัง แก้ปัสสาวะพิการ แก้ปวดเมื่อย ขับปัสสาวะ แก้ดีซ่าน แก่หน้ามืดตาฟาง รักษาฝีในคอ แก้ไข้จับสั่น แก้กระษัย
ต้น มีคุณสมบัติเหมือนราก แต่มีคุณสมบัติมากกว่ารากตรงที่แก้แมงกินฟัน ทำให้ฟันทน เปลือก แก้หน้ามืดตาฟาง บำรุงกำลัง แก้ปัสสาวะพิการ แก้กระษัยปวดเมื่อยตามร่างกาย แก่น แก้ไข้ตัวร้อน รากและใบ ต้มน้ำดื่ม แก้ดีซ่าน หน้ามืด ตาฟาง
ใบและยอด ตำโขลกใช้สีฟันทำให้ฟันทน
ใช้ทั้งห้า แก้ไข้จับสั่น แก้ดีพิการ แก้ร้อนในกระหายน้ำ
ประโยชน์
ยอดอ่อนของต้นแจงสามารถนำมาดองรับประทานเป็นผัก เชื่อว่ากินแล้วทำให้ตาสว่างแจ้งจางปาง ซึ่งอาจเป็นที่มาของชื่อต้นไม้ชนิดนี้ เนื่องจากมีคนอีสานอยู่ 2 กลุ่มที่มักออกเสียง “ จ ” และ “ ก ” สลับกัน ไม้ชนิดนี้จึงมีชื่อว่า แก้งหรือแจ้ง นั่นเอง การบริโภคจะต้องทำตามภูมิปัญญาดั่งเดิมที่มีความชาญฉลาด คือใช้วิธีการนำไปดองหรือที่ภาษาอีสานเรียกว่าคั้นส้มก่อนจึงจะรับประทานได้ เช่นเดียวกับการกินยอดผักกุ่ม ผักก่าม ที่ต้องนำไปดอกหรือคั้นส้มก่อนรับประทาน เนื่องจากขณะที่ยังสดๆ มีสารกลุ่มไซยาไนด์ แต่เมื่อนำไปดองหรือคั้นส้ม สารเหล่านี้จะถูกทำให้สลายตัวไป
คนอีสาน เชื่อว่าถ้าได้กินคั้นส้มของยอดอ่อนของต้นแจงปีละครั้งจะช่วยให้ไม่เข้าสู่ สภาวะสายตายาว หรือแก่เฒ่าแล้วยังมองเห็นอะไรๆ ได้อย่างชัดเจน โดยไม่ต้องพึ่งแว่นสายตายาว
ภูมิปัญญาในการผลิตลูกแป้งหรือแป้งข้าวหมากของบางหมู่บ้าน มีการใช้ลำต้นของต้นแจงเป็นส่วนผสมที่สำคัญในการผลิตลูกแป้งด้วย
ใช้ทำคอนให้นกเขา จะทำให้นกเขาขยันขัน
ถ้าตัดขวางลำต้นจะเห็นลักษณะของวงปีชัดเจน จึงนิยมนำไปเป็นตัวอย่างในการเรียนการสอนทางชีววิทยา
ใช้ทำถ่านที่มีคุณภาพดี นอกจากนี้ยังนิยมนำมาทำถ่านอัดในบั้งไฟ
ต้นแจงในประวัติศาสตร์
“สุดท้ายเมื่อสมเด็จฯท่านทรงเห็นว่า พม่าอ่อนแอลงมาก ท่านก็ทรงบัญชาการให้ยิงปืนใหญ่ โดยท่านคิดค้นให้นำไม้ชนิดหนึ่ง เรียกว่า “ต้นแจง” มาตัดเป็นท่อนซุงปลายแหลม พันผ้าชุบน้ำมันแล้วจุดไฟ ยัดใส่กระบอกปืนใหญ่ยิงไปยังค่ายของพม่า ทำให้เกิดเปลวไฟโหมกระหน่ำ พม่าล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ค่ายพม่าแตกทลาย และสุดท้ายก็พ่ายแพ้ให้แก่ความกล้าหาญและชาญฉลาด ของเหล่าวีรชนไทยแห่งสมรภูมิทุ่งลาดหญ้า”

เราชอบอ่านประวัติของต้นแจงจังเราว่ามันคลาสสิคดีเค้าเล่าว่า


ต้นแจง หรือเรียก ต้นแกง เป็นต้นไม้ที่คนภาคกลางไม่ค่อยคุ้นหูนัก แต่สำหรับลูกอีสานบ้านเฮา ดินแดนแหล่งอารยธรรมโบราณรู้จักและคุ้นเคยต้นไม้นี้ดี เรียกกันว่า ต้นแก้ง และยังได้นำชื่อต้นไม้ไปใช้ในการตั้งชื่อบ้าน ตำบล หรืออำเภอ ซึ่งพบเห็นได้เกือบทุกจังหวัดในภาคอีสาน เช่น บ้านแก้ง ตำบลเหล่าหมี จังหวัดมุกดาหาร บ้านแก้งใหญ่ อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ตำบลแก้ง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานีหรือ อำเภอแก้งค้อ จังหวัดชัยภูมิเป็นต้น
ชื่อเหล่านี้ใช้เป็นหลักฐานได้ดีอย่างหนึ่งว่า ต้นแก้งเติบโตและมีการกระจายอยู่ทั่วไปในภาคอีสาน ต้นแจง แกงหรือแก้ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Maerua siamensis (Kurz) Pax. ถ้าดูตามชื่อมีคำว่า “ สยาม ” อยู่ด้วย หมายถึงว่า ต้นแจงนี้เป็นไม้ในสกุลที่มีเพียงชนิดเดียวในประเทศไทย ลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่สูงไม่เกิน 10 เมตร มีใบประกอบแบบ 3 ใบย่อย เรียงตัวแบบแผ่ๆ หรือแบๆ ออกมา ลักษณะคล้ายตีนนก ใบค่อนข้างแข็ง
ต้นแจงนี้ยังทำหน้าที่สมกับชื่อ คือเป็นต้นไม้ที่อธิบายแจกแจงอายุไขของต้นไม้ได้อย่างดี เพราะถ้าตัดขวางลำต้นจะเห็นลักษณะของวงปีชัดเจน จึงนิยมนำไปเป็นตัวอย่างในการเรียนการสอนทางชีววิทยา
อันที่จริงต้นแจงไม่ได้ขึ้นเฉพาะถิ่นอีสาน เราสามารถพบเห็นต้นแจงขึ้นและกระจายพันธุ์ในหลายที่ แต่ขอบอกว่าต้นไม้นี้มีเฉพาะในภูมิภาคอินโดจีน ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วย จึงสามารถพบได้ในทุกภาค แต่ในภาคใต้พบเฉพาะทางตอนบนเท่านั้น ต้นแจงขึ้นได้ในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง หรือตามป่าโปร่ง ที่โล่ง ชอบขึ้นตามเขาหินปูน ระดับความสูงไม่เกิน 400 เมตร แต่จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยมหาสารคามพบว่า ไม้ชนิดนี้มีจำนวนเหลือน้อยมาก ยังพอพบเห็นได้ตามป่าดอนปู่ตา หรือบริเวณโบราณสถานที่ไม่ค่อยมีคนรบกวน
ในอดีตคนอีสานมีการใช้ประโยชน์จากต้นแจงมากมาย แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป ทำให้การใช้ประโยชน์จากต้นแจงลดลง เป็นผลให้จำนวนต้นแจงลดลงด้วย เนื่องจากคนในปัจจุบันไม่รู้จักและไม่เห็นคุณค่าจึงตัดฟันเป็นว่าเล่น ไม้จากต้นแจงสามารถใช้ทำถ่านที่มีคุณภาพดี นอกจากนี้ยังนิยมนำมาทำถ่านอัดในบั้งไฟ ยอดอ่อนของต้นแจงสามารถนำมาดองรับประทานเป็นผัก เชื่อว่ากินแล้วทำให้ตาสว่างแจ้งจางปาง ซึ่งอาจเป็นที่มาของชื่อต้นไม้ชนิดนี้ เนื่องจากมีคนอีสานอยู่ 2 กลุ่มที่มักออกเสียง “ จ ” และ “ ก ” สลับกัน ไม้ชนิดนี้จึงมีชื่อว่า แก้งหรือแจ้ง นั่นเอง

เค้าบอกว่าราคาไม้ล้อมของต้นแจงตั้๑๒,๐๐๐-๑๔,๐๐๐บาทแน่ะ โอ้พระเจ้าจ๊อดทำไมแพงขนาดนั้น แถวบ้านเราพวกล้อมต้นไม้ขายมันมาตื้อสามต้นสองพันเรายังไม่เอาเรยย เพราะจ้างขุดต้นละสองร้อยเองอ่ะ
อยากให้เรามองสิ่งใกล้ๆตัวอย่างมีคุณค่าเพราะว่าคนอื่นเค้าอาจไม่ได้โชคดีเหมือนเรา ต้นไม้ทุกต้นมีคุณค่ามากมายทั้งกับตัวเราเองและลูกหลานของเรารักต้นไม้กันมากๆนะคะ
ตำรับยาแก้ปวดฟัน เหงือกบวม พ่อสมนึก อ.ปักธงชัย
ใช้ใบแจง เปลือกต้นพิกุล เกลือ ต้มอม


แก้งขี้พระร่วงไม้แปลกกลิ่นเหม็นเหมือนอุจจาระ

แก้งขี้พระร่วง


ได้ยินชื่อไม้นี้ครั้งแรกจากพ่อบู้ พ่อหมออำเภอสูงเนิน ทั้งได้ดูและได้ดม ท่อนนี้พ่อบู้ไปบูชาเค้ามาหนึ่งพันบาทเก็บมาไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาแกถากเปลือกให้ดมหน่อยนึง เหม็นจริงๆสมชื่อเห็นว่ายิ่งเปียกน้ำยิ่งเหม็น ถามๆหมอพื้นบ้านท่านอื่นก้อได้ยินแต่ชื่อไม่มีใครเคยเห็นต้นมัน บางคนร้องว่าจะไปอยากรู้จักทำไมไม้นี้เผาไฟก้อยังเหม็นต้องฝังดินอย่างเดียว แหมเราก้ออยากรู้จักทุกต้นน่ะแหล่ะแต่ต้นนี้เค้าแปลกดีอ่ะอยากเห็นจังใครมีข้อมูลป่ะ
สอบถามไปทางอาจารย์หมอน้อยแห่งลพบุรีถึงรู้ว่าต้นมันมีอยู่ที่เขาสมโภชน์
อยากเห็นมากๆๆๆๆๆ ว่างงานเมื่อไหร่เจอกันแน่ แก้งขี้พระร่วง มารู้อีกทีว่ามีอยู่ที่เขาใหญ่ โคราชบ้านเอง รอให้หมดฝนก่อนนะจะเข้าไปลุย
ชื่อวิทยาศาสตร์ Celtis timorensis Span.
วงศ์ ULMACEAE
ชื่ออื่น กล้วย (จันทบุรี) ขี้พระร่วง มันปลาไหล (นครราชสีมา) เช็ดก้นพระเจ้า (น่าน) เช็ดขี้พระเจ้า (เชียงใหม่) ตะคาย มะหาดน้ำ เยื้อง หม่อนดง ตายไม่ทันเฒ่า (ภาคใต้)
ลักษณะ
เป็นไม้ต้น สูง 5–20 ม. เรือนยอดเป็นพุ่มทรงสูงถึงค่อนข้างกลม เปลือกสีเทา เรียบ เปลือกชั้นในสีน้ำตาลคล้ำ กิ่งอ่อน ก้านใบ และช่อดอกมีขนนุ่มสั้นคลุม ใบ เดี่ยว เรียงเวียนสลับ รูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง 5–8 ซม. ยาว 8–15 ซม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเบี้ยว มน ถึงสอบกว้าง ขอบใบเรียบถึงหยัก ผิวใบเกลี้ยงถึงมีขนเล็กน้อยตามเส้นใบ มีเส้นใบหลัก 3 เส้นจากโคนใบ ก้านใบยาว 0.5–1 ซม. ดอก เล็ก ออกเป็นช่อสั้นๆ ตามง่ามใบ ผล รูปไข่ กว้างประมาณ 0.5 ซม. ยาวประมาณ 0.7 ซม. ปลายผลเป็นติ่งคล้ายง่ามหนังสติ๊ก ซึ่งเจริญมาจากปลายก้านเกสรเพศเมีย เมื่อสุกสีแดง
เป็นต้นไม้ใหญ่ ที่มีกลิ่นเหม็นมากๆยิ่งเปียกน้ำ ยิ่งส่งกลิ่นเหม็นเพิ่มมากขึ้น และถ้าเอาไปเผาไฟยิ่งเหม็น
แก้งขี้พระร่วงมีการกระจายพันธุ์ในป่าเบญจพรรณและป่าดิบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ที่ความสูงจากระดับทะเลปานกลาง 150–600 ม. ในต่างประเทศพบที่ศรีลังกา บังคลาเทศ พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
ตำนานของไม้แก้งขี้พระร่วง
ครั้งหนึ่งพระร่วงประพาสป่าเสด็จไปลงพระบังคน เสร็จแล้วทรงหยิบไม้ใกล้ ๆ พระองค์มาชำระแล้วโยนทิ้งไป ไม้นั้นก็เกิดเป็นต้น มีพรรณแพร่หลายมาจนทุกวันนี้
สรรพคุณ
แต่มักนำมาปรุงเป็นยาขับพยาธิไส้เดือนในเด็ก
พ่อหมอพื้นบ้านมักใช้แก้งขี้พระร่วงเป็นไม้ไล่ปอบ ให้เหตุผลว่าคนยังเหม็น ปอบมันก็ไม่ทนดมกลิ่นเหมือนกัน