วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ว่านสาวหลง หลงกลิ่นเจ้าเฝ้ารำพัน







ไหนๆก็ไหนๆพูดถึงเรื่องว่านแล้วก็ต่อไปเรื่อยๆแล้วกัน บางคนเรียกเครือเขาหลงว่าว่านสาวหลง แต่ว่านสาวหลงที่ใช้ในกลุ่มเวชสำอางค์สมุนไพร จะเป็นตัวนี้ เราเจอว่านสาวหลงครั้งแรกที่งานมหกรรมแพทย์แผนไทยน่าจะปีสองปีมาแล้ว คนขายบอกว่าจุดสังเกตง่ายมากจับดูใต้ท้องใบจะนิ่มๆ และขยี้ใบดูจะหอมเย็นดมแล้วชื่นใจ กลิ่นของเค้านี้เองที่ทำให้สาวๆหลงไหล มักใช้เป็นมวลสารหุงเป็นน้ำมันในกลุ่มวัตถุมงคล แต่ถ้าไปเดินตามป่าเห็นต้นคล้ายว่ายสาวหลงลูบใต้ท้องใบนิ่มคล้ายกันบางทีอาจเป็นต้นข่าคม ต้องแยกกันที่กลิ่น ลักษณะดอกและผล งานมหกรรมแพทย์แผนไทยที่เมืองทองปีที่แล้วมีคนสกัดว่านสาวหลงเป็นน้ำมันหอมระเหยเป็นเรื่องเป็นราว ปีนี้ใครว่างไปดูได้ งานมหกรรมแพทย์แผนไทยที่เมืองทองเริ่มตั้งแต่วันที่๒-๖กันยายน ๒๕๕๒
ว่านสาวหลง





ชื่ออื่นๆ ว่านฤาษีผสม ว่านฤาษีสร้าง
ชื่อพฤกษศาสตร์ Amomum biflorum Jack
วงศ์ ZINGIBERACEAE
ว่านสาวหลงมีต้นและใบเหมือนต้นข่า แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก ต้น ไม้เนื้ออ่อน อายุหลายปี มีเหง้าทอดเลื้อย ต้นเทียมเกิดจากกาบใบอัดกันแน่น ใบ เดี่ยว เรียงสลับ ใบเป็นรูปใบหอกแคบ ปลายใบเรียว แหลม ขอบใบบิด ใบสีเขียว กลางใบสีแดงเรื่อๆ ใบมีขนนุ่มปกคลุม ดอกช่อ ปลายช่อโค้ง กลีบปากสีเหลือง ดอกย่อย สีเหลือง ก้านดอกยาว ผล เป็นช่อคล้ายช่อพริกไทย การขยายพันธุ์ แยกกอ เพาะเมล็ด ประโยชน์ ปลูกไว้กับบ้านเป็นมงคล เป็นว่านเมตตามหานิยม





สรรพคุณ สกัดทำน้ำมันหอม ใช้เป็นสมุนไพร ทาตามตัวให้เป็นเสน่ห์ ต้ม อบ หรืออาบสมุนไพร บำรุงผิวพรรณ เหง้า ขับลมในลำไส้ ทุกส่วนกลิ่นหอมแรง ว่านสาวหลงชอบขึ้นตามป่าที่ชุ่มชื้น มีแสงแดดรำไร





ความเชื่อ





เป็นว่านทางเสน่ห์เมตตามหานิยม โบราณว่ามีค่าพันตำลึง ผู้ที่ปลูกไว้มักหวงแหนมา ให้ผลดีทางด้านชู้สาวและค้าขาย อีกทั้งไม่มีพิษภัยสามารถใช้เป็นส่วนผสมของน้ามันว่านต่างๆ สีผึ้ง ใช้พกติดตัว
ศิริพร กลมกล่อม เรื่อง - ภาพ