วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2552

หมอรักษาพิษงูของโคราชอีกหนึ่งภูมิปัญญาที่คนอีสานควรภูมิใจ

พ่อหมอรักษาพิษงูความภูมิใจของภูมิปัญญาไทย



พ่อสง่า จุฬารมณ์ พ่อหมอรักษาพิษงู

ต้นป่านใช้กับแผลพิษงูเรื้อรังอันเกิดจากเจอพิษแรงหรือใช้เวลานานกว่าจะมาพบพ่อหมอจนเกิดเป้นเนื้อตายต้องรักาแผลตามหลัง



กอมก้อยลอดขอน



ตีนตั่งเตี้ย



ทรายเด่น


เมื่อปลายเดือนที่แล้ว คณะอนุกรรมการพิจารณาตำรับยาสมุนไพรไทย ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศที่เป็นบุญของฉันจริงๆที่ได้พบตัวจริงของท่านเหล่านั้น ซึ่งนอกจาคณะกรรมการชุดนี้ได้มาจัดประชุมที่โคราชแล้วยังมีโปรแกรมพิเศษคือแวะเยี่ยมหมอพื้นบ้านที่ผลงานชัดเจนที่สุดหนึ่งท่าน จึงเป็นหน้าที่ของฉันที่ต้องคิดและคัดจากหมอพื้นบ้านเก่งๆหลายท่านที่มีอยู่
สุดท้ายมาสรุปที่พ่อสง่า จุฬารมภ์ พ่อหมอแก้พิษงูเลื่องชื่อของโคราช

พ่อสง่าอยู่ที่อำเภอห้วยแถลงมีประสบการณ์การรักษาผู้ป่วยที่โดนงูพิษกัดมายาวนาน รักษาผู้ป่วยถูกพิษงูมาหลายพันคน และรอดทุกเคส ภายใต้การดูแลของเภสัชกรหญิง อรุณรัตน์หัวหน้างานเภสัชโรงพยาบาลห้วยแถลง การดูแลที่ว่าคือการติดตาม ศึกษาและบันทึกการรักษาของพ่อหมอ และคอยแนะนำคนไข้เพื่อใช้สิทธิ์ของผู้ป่วยในการรักษากรณีที่มารักษาที่โรงพยาบาล

เภสัชกรอรุณรัตน์ นำเสนอเรื่องราวของพ่อสง่าต่อคณะอนุกรรมการฯ เป็นเรื่องราวที่ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นเภสัชกรทำงานในโรงพยาบาลแห่งนี้มาสิบกว่าปีกับความสนใจเรื่องสมุนไพรเป็นการส่วนตัว รวบรวมหมอพื้นบ้านในพื้นที่ได้ร้อยกว่าคนและเดินป่าในเขตอำเภอและนอกอำเภอมานับไม่ถ้วน เป็นคนรุ่นใหม่ที่ทำให้ภูมิปัญญาไทยมีความหวังเรืองรองขึ้นมาอีกคนหนึ่ง

พ่อสง่า ใช้สูตรการรักษา ด้วยสมุนไพรท้องถิ่น ๓ ชนิด คือ กอมก้อยลอดขอน ตีนตั่งเตี้ย และทรายเด่น ร่วมกับดีงูเหลือม คาถาและการปฏิบัติตัว แต่พิเศษอยู่นิดคือกระบวนการนำสมุนไพรเข้าสู่ร่างกายพ่อหมอจะใช้วิธีสักง่ามมือง่ามเท้า และสามารถสักกันงูกัดหรือกันพิษงูซึ่งสามารถอยู่ได้ตลอดชีวิตเว้นแต่จะเป็นไข้หมากไม้และใช้ยารักษาไข้หมากไม้ฤทธิ์ยาจะเสื่อมต้องมาสักใหม่ เคสที่น่าประทับใจที่สุดเคสหนึ่งคือ เคสรักษาผู้ป่วยที่โดนงูทับสมิงคลากัด เพราะงูทับสมิงคลามีพิษแรงกว่างูสามเหลี่ยม และที่สำคัญที่สุดไม่มีเซรุ่มของพิษงูชนิดนี้ คนไข้รายที่พ่อสง่ารักษานอนโคม่าอยู่ในโรงพยาบาล ชั่วเวลาไม่ถึงครึ่งชัวโมงคนไข้ฟื้นขึ้นมา และกลับมามีชีวิตอีกครั้ง นับเป็นเรื่องมหัศจรรย์จริง ๆ

ที่สำคัญพ่อสง่าไม่หวงวิชาเพราะท่านอายุมากแล้ว ๗๓ ปี(พ.ศ.2552) แต่แข็งแรงพอสมควร ใครสนใจก็ติดต่อผ่านโรงพยาบาลห้วยแถลง ขอสายเภสัชกรอรุณรัตน์ จำให้ขอมูลได้เป็นอย่างดี คงยังไม่สามารถให้เบอร์โดยตรงได้เนื่องจากไม่ได้ขออนุญาตไว้ แต่อยากจะบอกว่ามีภูมิความรู้อีกหลายอย่าง และสมุนไพรน่าสนใจเฉพาะถิ่นที่มีอยู่ในป่าชุมชนห้วยแถลงป่าเล็กๆที่น่าสนใจอีกป่าหนึ่งทีเดียว

1.กอมก้อลอดขอน ชื่อวิทยาศาสตร์ Elatostema repens (Lour.) Hallier f., วงศ์URTICACEAE ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก ลำต้นอวบน้ำทอดไปตามพื้นดิน หิน หรือขอนไม้ มีขนทั่วไป ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม แต่ขนาดของใบไม่เท่ากัน ใบหนึ่งเล็กมาก ยาว 1-2 มม. ร่วงง่าย อีกใบเป็นใบปรกติ จะเห็นใบปรกติเรียงสลับกัน ใบค่อนข้างอวบน้ำ รูปใบหอก รูปรี หรือรูปรียาว กว้าง 1.5-4 ซม. ยาว 3-11 ซม. ปลายแหลม โคนเฉียงและเว้าเป็นรูปหัวใจ ขอบจักฟันเลื่อยหรือหยักซี่ฟัน เส้นใบออกจากโคนใบ 3 เส้น แผ่นใบด้านล่างมีขน ด้านบนมีผลึกแคลเซียมคาร์บอเนตภายในเซลล์ของผิวใบ (cystolith) เมื่อแห้งเป็นเส้นนูนคล้ายขนกระจายอยู่ทั่วไป ก้านใบยาวประมาณ 5 มม. หูใบเป็นแผ่นบางๆ รูปไข่ปลายเรียวแหลม สีน้ำตาลแดง ยาว 0.5-1 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามง่ามใบ ก้านช่อดอกยาว 5-10 ซม. มีขน ดอกเล็กมาก แยกเพศเป็นดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย กลีบดอกมีชั้นเดียว จำนวน 4 กลีบ สีขาวอมเขียว เกสรเพศผู้ 5 อัน รังไข่มี 1 ช่อง มีออวุล 1 เม็ด ผลแห้งเมล็ดล่อน การกระจายพันธุ์ : อินเดียและภูมิภาคอินโดจีน การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : ทั่วทุกภาค สภาพนิเวศน์ : พบในป่าดิบตามที่ร่มชื้นหรือใกล้น้ำลำธาร 2.ตีนตั่งเตี้ย (นมแมวป่า)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ellipeiopsis ferruginea. (Busc.-Ham. Ex Hook. F. & Thomson) R.E. Fries) ( Uvaria ferruginea. Hamilton ex J. D. Hooker et T. Thomson )
วงศ์ Annonaceae
ลักษณะ
ไม้พุ่มลำต้นตั้งตรงสูงได้ถึง 1. 5 เมตร ทุกส่วนมีขนสีน้ำตาลปกคลุมหนาแน่น ใบเดี่ยวเรียงสลับรูปไข่แกมขอบขนาน รูปวงรีหรือรูปวงรีแกมรูปไข่ มีขนสองด้าน ดอกเดี่ยวออกที่ซอกใบ กลีบดอกสีเหลืองอ่อน ผลกลุ่ม รูปกลมรีดิบเป็นสีเขียวเวลาสุกเป็นสีแดง
สรรพคุณ
แก้ผิดสำแดง
รากเคี้ยวพ่นตากรณีโดนงูเห่าพ่นพิษ
รากผสมกับรากหญ้าคา เหง้าต้นเอื้อง หมายนา และลำต้นอ้อยแดง ทุกอย่างกะด้วยสายตาจำนวน 1 ต่อ 1 นำไปต้มน้ำให้เดือดกินตอนกำลังอุ่นๆ เป็นยาบำรุงเลือด รักษาโรคที่เกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะขุ่นเหลืองแดง มักมีอาการแน่นท้องกินอาหารไม่ได้ที่เรียกว่าโรคไตพิการใช้รากนมแมวป่ามาต้มในน้ำจนเดือดดื่มตอนอุ่นๆ

3.ทรายเด่น (กระเจียน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Polyalthia cerasoides Benth.ex Bedd.
วงศ์ ANNONACEAE
ชื่ออื่น ระไหว ( โคราช ) , ค่าสามซีก (เชียงใหม่), แคหาง (ราชบุรี), จันทน์ดง ทรายเด่น (ขอนแก่น), กะเจียน พญารากดำ (ชลบุรี), โมดดง (ระยอง), สะบันงาป่า (ภาคเหนือ), เสโพลส่า (ไทยใหญ่-แม่ฮ่องสอน), เหลือง (ลำปาง) , ฝีหมอบ
ลักษณะ
ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 5-15 ม. ลำต้นเปลา เปลือกเรียบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน และมักเบี้ยว ใบอ่อนมีขนนุ่มทั่วไป ดอกออกเดี่ยวๆ หรือเป็นกลุ่มไม่เกิน 3 ดอก ตามง่ามใบและเหนือรอยแผลใบตามกิ่ง กลีบเลี้ยง 3 กลีบ กลีบดอกสีเขียวอ่อน เรียงสลับกัน 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก อยู่ชิดกันแน่นเป็นพุ่มกลม ผลเป็นผลกลุ่ม อยู่บนแกนตุ้มกลม แต่ละผลป้อม ปลายเป็นติ่ง ผลอ่อนสีเขียว แก่จัดเป็นสีแสด ก้านผลเรียวเล็ก โคนก้านติดรวมอยู่บนปลายก้านช่อที่โตเป็นตุ้ม
สรรพคุณ
ราก เข้ายาสักกันงูกัด เปลือก-เข้ายาพื้นบ้านบางชนิด
ใบสด รสเฝื่อนเย็น ตำพอกฝี แก้ปวด แก้อักเสบ เนื้อไม้ รสขม ต้มน้ำดื่ม แก้วัณโรคในลำไส้ วัณโรคในปอด แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดหลัง ปวดเอว แก้ปัสสาวะพิการ แก้กระษัย ไตพิการ บำรุงธาตุ เจริญอาหาร ฝนกับน้ำปูนใส ทาเกลื่อนหัวฝี

มีการใช้ทรายเดนในตำรับยามะเร็งอันโด่งดังของวัดคำประมง
สมุนไพรรักษามะเร็ง ของวัดคำประมง จังหวัดสกลนคร
สูตรที่ 1 ยอดยากินแก้มะเร็งทุกชนิด
1.หัวร้อยรู
2.ไม้สักหิน
3. ข้าวเย็นเหนือ
4. โกศจุฬา
5. ข้าวเย็นใต้
6. โกฐเชียง
7. กำแพงเจ็ดชั้น
8.เหงือกปลาหมอ
9. กะเจียน ( นามผีหมอบ )
10. หญ้าหนวดแมว
11. ทองพันชั่ง
ประโยชน์
เนื้อไม้สีขาวอมเหลือง ใช้ทำด้ามเครื่องมือเกษตรกรรมทั่วไป

มีผู้สนใจอยากให้พ่อสง่าช่วย ต้องบอกก่อนค่ะว่าหมอพื้นบ้านส่วนใหญ่ไม่มีโทรศัพท์หรือมีก็ไม่ค่อยพกค่ะ ช่องทางที่จะติดต่อได้คือติดต่อผ่านเภสัชกรหญิงอรุณรัตน์ หัวหน้าฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลห้วยแถลง 044391177 ซักถามรายละเอียดขอความช่วยเหลือและคำแนะนำดูนะคะ เพราะเภสัชอรุณรัตน์ดูแลหมอพื้นบ้านในเขตนั้น น่าจะโทรช่วงบ่ายค่ะ เพราะส่วนใหญ่ตอนเช้าโรงพยาบาลจะยุ่งมากทุกที่

ปุณณภา  งานสำเร็จ เรียบเรียง

วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2552

หนามไข่ปูไม้กินได้ฟอร์มใบสวย

หนามไข่ปู

ต้นหนามไข่ปูที่ขึ้นเรียงรายอยู่ข้างทางผาเดียวดาย
สีสรรไล่ระดับของใบหนามไข่ปูความสวยงามของธรรมชาติที่น่าประทับใจ



ลูกหนามไข่ปูกะจิริดน่ารักกินเพลิน

ผาเดียวดายและหนามไข่ปู

มีโอกาสได้ไปผาเดียวดายจนได้ ก่อนหน้านี้ลังเลที่จะไปชมทั้งที่ได้ยินชื่อมานาน ชื่อของหน้าผาที่ฟังแล้วหดหู่ใจพิกล ยังไม่หมดเท่านั้นน้องที่เป็นไกด์นำทางยังบอกว่ามีอีกผาชื่อผาตรอมใจ เฮ้อ...เอาเข้าไป แต่ความที่อยากเห็นต้นฝอยลมมากๆ ทำให้ต้องไปเขาใหญ่อีกครั้งจนได้ของแถมมาเยอะมาก

ผาเดียวดาย เป็นจุดชมวิวทิวทัศน์หนึ่งของยอดเขาเขียว เป็นผาที่ยี่นออกมาจากเขาสูง ว่ากันว่ารูปร่างของผาเดียวดายมีลักษณะคล้ายผานกเค้าที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย อันโด่งดัง แต่ต้องเดินลงไปจากถนน ประมาณ ๒๐๐ เมตร และเดินอ้อมกลับอีกทางหนึ่งในระยะทางเท่า ๆ กัน สามารถชมวิวได้สวยงามอยู่ในส่วนที่เรียกว่าเขาเขียวซึ่งเป็นจุดสูงสุดของเขาใหญ่ และสูงที่สุดในภาคกลาง คือ ๔,๒๓๓ เมตร เป็นที่ตั้งของสถานีเรด้าร์ ซึ่งสร้างขึ้นในปี ๒๕๐๗ โดยการสนับสนุนของกองทัพสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันสถานีเรดาร์แห่งนี้มีความสำคัญในการป้องกันภัยทางอากาศ โดยเริ่มสร้างถนนขึ้นเขาเขียวในปี ๒๕๐๓ ใครที่ไม่เคยไปเห็นเราอยากให้ไป ใครที่ชอบต้นไม้และบรรยากาศชื้นๆเต็มไปด้วยเฟรินและมอสแบบป่าดงดิบไปดูเถอะสวยทีเดียว
บนนี้ไม่เห็นฝอยลมหรอกเพราะมอสกับเฟรินขึ้นเต็มไปหมด แต่ไม้ชนิดหนึ่งที่สวยและกินได้อร่อยดีที่ไปเจอมาคือ ต้นหนามไข่ปู มีข้อมูลเกี่ยวกับพืชตัวนี้ไม่มากนักคงต้องติดค้างสรรพคุณทางสมุนไพรไว้ก่อน เอาเป็นว่าเป็นไม้กินได้ใบสวยไปก่อนละกัน

หนามไข่ปู Rubus rugosus
ชื่อสามัญ ราสเบอร์รี่ ( Raspberry)
ชื่ออื่น มะฮะไข่ปู ไข่ปูลิ้นแลน มะฮู้
ราสเบอร์รี่ ( Raspberry) เป็นผลไม้ชนิดหนึ่งโดยมีมากมายหลายสายพันธุ์ มีต้นกำเนิดมาจากแถบยุโรป ผลราสเบอร์รี่สามารถรับประทานได้โดยมีทั้งรสหวานและเปรี้ยว ผลมีสีแดงขนาดเล็กและยังเป็นผลไม้ทางการค้าที่สำคัญ สามารถเจริญเติบโตได้อย่างกว้างขวางทุกสภาพภูมิอากาศทั่วโลกแต่นิยมปลูกกันในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเช่นยุโรปและอเมริกา 
ลำต้นและตัวต้นก็มีความแข็งแรงมากสามารถขยายพันธุ์ไปได้เรื่อยๆไม่มีขีดจำกัด ถึงขนาดที่ว่าหากปลูกราสเบอร์รี่ในสวนและทิ้งไว้ไม่ได้ดูแลอย่างดี มันก็สามารถจะยึดสวนทั้งสวนได้เลยทีเดียว ซึ่งเป็นผลมาจากการที่มันสามารถงอกลำต้นใหม่จากลำต้นเดิมได้และรากของมันจะเจาะลึกลงไปในดิน
ส่วนใบก็สามารถนำไปทำยาได้
การเก็บเกี่ยวนิยมเก็บเกี่ยวในช่วงที่ผลสุกงอมโดยให้ดูจากผลจะมีสีเข้มสด (สีแดง, ม่วง, ดำ) ในช่วงนี้ผลจะมีความหวานมากจึงเหมาะสำหรับนำไปรับประทานหรือนำไปทำแยมผลไม้และเหมาะที่จะนำไปทำอาหารอย่างอื่นทั้งของคาวและของหวาน
ราสเบอร์รี่ ในภาษาท้องถิ่นของไทยเรียกว่า หนามไข่ปู ในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์บนพื้นที่ภูเขาสูง
ประโยชน์ ผลกินได้ ใบตากแห้งชงชา

ปุณณภา  งานสำเร็จ เรียบเรียง

วันพุธที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2552

กะตังบายสมุนไพรดีที่หาง่ายในอีสาน

กะตังบาย
กะตังบายต้นนี้พบที่ข้างทางไปสวนสมุนไพรมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตสกลนคร อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร

กะตังบายต้นนี้พบที่สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ที่นี่มีไม้ที่ขึ้นตามธรรมชาติอยู่มาก ที่พักสะดวกสบายพอสมควรอยู่ใกล้กับพระธาตุนาดูน


กะตังบายต้นนี้อยู่ที่อำเภอปากช่อง ใบแก่ ใบอ่อน ดอก ผลครบ

ผลกะตังบาย

กระตังใบหรือกระตังบาย เป็นไม้ที่ได้ยินชื่อมานาน บางคนอาจจะบอกว่าหายาก แต่แถบภาคอีสาน เราเห็นมีทุกป่าชุมชน ( เกือบทุกป่า ) เห็นอยู่ทั่วไป ถือเป็นไม้ชายป่าที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ไม่ได้มีปริมาณมากนักในแต่ละป่า เป็นไม้ที่ค่อนข้างมีเอกลักษณ์จำง่าย เราเคยเห็นหมู่บ้านแลนด์แอนเฮาส์ในโคราชเอาไปจัดสวนเป็นไม้ประดับด้วยก็สวยดี ตอนนี้เอามาพัฒนาเป็นไม้ประดับ มีชื่อการค้าในตลาดต้นไม้ว่า ต้นสตางค์ เอากันเข้าไป

ภาคเหนือนิยมใช้กะตังบายกันมาก ตอนนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กำลังวิจัยสรรพคุณอยู่นัยว่าเป็นไม้ดีมีประโยชน์ที่จะโชว์เป็นไม้เด่นเลย จำไว้ว่าเมื่อไหร่ได้ยินคำว่า "เขืองแข้งม้า" มันคือกะตังบายนั่นเอง

กะตังใบ (Leea rubra)
วงศ์ : Leeaceae สกุล : Leea ชื่อพฤกษศาสตร์ : Leea rubra
ชื่อไทย : กะตังใบ ชื่ออื่นๆ : กะตังแดง (กรุงเทพ) , เขือง / บังใบ / กะตังใบ / กะตังบาย (ภาคกลาง) , กะลังใบ / เขืองแขงม้า (ภาคเหนือ) ขี้หมาเปียก ( โคราช )
ถิ่นกำเนิด : เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กะตังใบเป็นไม้พุ่มสูง 1-3 เมตร ลำต้นและกิ่นก้านเป็นเหลี่ยม 8-10 เหลี่ยม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ก้านใบมักจะแผ่เป็นกาบหุ้มกิ่งเอาไว้ ใบย่อยจำนวนมากปลายแหลม โคนมน ขอบใบจักเป็นซี่เล็กๆ ดอกสีแดงเข้มออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ก้านช่อดอกยาว ดอกขนาดเล็กมีจำนวนมากอัดกันแน่น กลีบดอกปลายแยกเป็น 5 แฉก ผลค่อนข้างกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร มี 3 พู เมื่อสุกเป็นสีดำ ออกดอกตลอดปี แต่จะดกในช่วงหน้าฝน
ประโยชน์ : รากใช้ขับเหงื่อ แก้ไข้ แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้บิดและแก้ท้องร่วง
ยาพื้นบ้านอีสานใช้รากผสมลำต้นขมิ้นเครือ ลำต้นเมื่อยดูกและรากตากวาง ต้มน้ำดื่มแก้ท้องเสีย
ภาคเหนือใช้เข้าตำรับยาดองเหล้าบำรุงกำลังเรียกว่าเขืองแข้งม้า โดยใช้ส่วนของรากรากแก้ปวดเมื่อยตามร่างกายและช่วยขับลม

ปุณณภา  งานสำเร็จ เรียบเรียง 

กะตังใบเตี้ยไม้เลียดดินแสนสวย

กะตังใบเตี้ยหรือต้างไก่แดง


กะตังใบเตี้ยต้นเลียดพื้นต้องก้มๆหาเวลาเดินป่า


ต้างไก่เตี้ยพบมากในป่าอำเภอบัวลายต้นนี้มีเมล็ด


เราชอบต้างไก่เตี้ยมาก มันต้นเล็กๆแต่มีรายละเอียดในตัวเองน่ารักดี ใบสวย ดอกสวย ฟอร์มต้นสวย

หัวใต้ดินของต้างไก่เตี้ย รูปนี้ยืมมาจากสารานุกรมออนไลน์ ก็ตอนไปเจอไม่รู้ว่าสรรพคุณอยู่ที่หัวไม่ได้ขุดขึ้นมาถ่ายรูปไว้

กะตังใบเตี้ย
วันที่ 3 ตุลาคม 2550
Leea thorelii Gagnep.
Leeaceae
ไม้ลัมลุกอายุหลายปีทอดนอนตามพื้นดินหรืออาจสูงได้ถึง 1 ม. มีหัวใต้ดิน หูใบติดบนก้านใบเป็นปีกแคบๆ กว้าง 0.3-0.5 ซม. ยาว 1-3 ซม. ใบมี 3 ใบย่อยหรือใบประกอบย่อย 1-3 ใบ แกนกลางยาวได้ประมาณ 10 ซม. มีขนละเอียด บางครั้งเป็นปีกแคบๆ ก้านใบยาว 3-10 ซม. ใบย่อยมีหลายรูปแบบ ส่วนมากรูปไข่ รูปขอบขนานหรือเกือบกลม ยาว 3-12 ซม. มีขนกระจาย ขอบจักฟันเลื่อยหรือจักมนเป็นคลื่น ปลายกลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบกลมหรือรูปลิ่ม ไม่เท่ากัน ก้านใบย่อยยาวได้ถึง 0.8 ซม. มีปีกแคบๆ ดอกออกเป็นช่อ ยาวประมาณ 8 ซม. มีขนกระจาย ดอกแน่น ใบประดับรูปสามเหลี่ยมยาวประมาณ 0.3 ซม. ติดทน ก้านช่อดอกยาว 1-5 ซม. กลีบดอกและกลีบเลี้ยงมีจำนวนอย่างละ 5 กลีบ กลีบเลี้ยงติดเป็นหลอดยาวประมาณ 0.2 ซม. กลีบยาวประมาณ 0.1 ซม. หลอดกลีบดอกยาวเท่าๆ หลอดกลีบเลี้ยง กลีบดอกยาวประมาณ 0.2 ซม. หลอดเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันยาวประมาณ 0.1 ซม. ปลายแยกกัน ยาวประมาณ 0.1 ซม. รังไข่มี 4-6 ช่อง ก้านเกสรเพศเมีย ยาว 0.1-0.2 ซม. ผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลางยาว 0.5-0.8 ซม. สีม่วงดำ เมล็ดมี 4-6 เมล็ด กลม เส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 0.3 ซม.กะตังใบเตี้ยมีเขตการกระจายพันธุ์เฉพาะในภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบแทบทุกภาคยกเว้นภาคเหนือตอนบน และภาคใต้ ขึ้นหนาแน่นตามทุ่งหญ้าในป่าเต็งรัง หรือป่าเบญจพรรณ ระดับความสูงจนถึงประมาณ 250 เมตร




สรรพคุณ




ยาพื้นบ้านอีสานใช้หัวใต้ดินผสมรากชงโคขาว ต้มน้ำดื่ม ช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงกำลัง
ศิริพร กลมกล่อม เรื่อง - ภาพ

ฉัตรพระอินทรไม้ดอกสวยที่ไร้คนสนใจ

ฉัตรพระอินทร์



ต้นฉัตรพระอินทร์ขึ้นข้างทางมองเห็นแต่ไกล

ลักษณะใบของฉัตรพระอินทร์

เป็นช่อฉัตรสมชื่อฉัตรพระอินทร์


กิ่งแขนงแตกหลายกิ่งสูงต่ำลดลั่นกัน


ฉันสะดุดตากับไม้ต้นนี้มาเป็นปีๆตอนนั่งรถผ่านแถวๆอำเภอด่านขุนทด เป็นไม้ที่ขึ้นข้างทางเห็นอยู่ทั่วๆไป ชอบที่เป็นไม้ฟอร์มสวย สง่า ทำไมไม่มีใครสนใจเอาไปปลูกเป็นไม้ประดับนะรูปก็งามนามก็เพราะ ดีกว่าไม้นอกหน้าตาประหลาดอีกหลาย ๆ ตัวด้วยซ้ำ ถามใครก็ไม่มีใครรู้จักว่าชื่อต้นอะไรจนต้องค้นเอง แต่บางทีก็เจอว่าเรียกต้นนมสวรรค์ว่าฉัตรพระอินทร์ ต้องทำใจการใช้ชื่อต่าง ชื่อซ้ำ ชื่อพ้องและใช้ชื่อผิด จะให้ดีชี้ต้นกันเลยดีกว่า




กว่าจะได้ถ่ายรูปเค้าจริง ๆ จัง ๆ ก็เพราะเห็นต้นหนึ่งขึ้นอยู่ใกล้ๆ ที่ทำงาน เพราะถ้าไกลกว่านี้คงลำบาก รถยนต์ก็ไม่มีกับเค้า ( ถึงมีก็ขับไม่เป็นอยู่ดี ) ถือว่าสวรรค์จัดให้แล้วกัน ขาตั้งกล้องก็ไม่มี กว่าจะถ่ายออกมาได้ชัดเล่นเอาต้องพักแขนอยู่หลายรอบ รูปที่ได้ไม่ถูกใจนัก แต่คงได้เต็มที่เท่านี้ วันหลังจะไปดูอีกว่าเค้าโรยหมดรึยัง ค้นดูข้อมูลในอินเตอร์เน็ทถูกจัดเป็นพวกวัชพืชซะนี่ เฮ้อ... ใครก็ได้ช่วยเอาไม้ตัวนี้ไปเพาะขยายที




ฉัตรพระอินทร์




ชื่อวิทยาศาสตร์ : Leonotis nepetifolia ( L.) R.Br.วงศ์ : Labiatae




ชื่อสามัญ : Lion 's ear, Hallow stalk




ชื่ออื่น : เสกฉัตร เสกกษัตริย์ ( ชัยภูมิ ) จ่อฟ้า ( ตาก )




ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่มล้มลุก ลำต้นสูงชะลูด แตกกิ่งแขนงมากบริเวณใกล้ปลายยอด ลำต้นสูงประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นมีสีเขียวเป็นเหเลี่ยม ใบ เป็นใบเดี่ยวออกจากลำต้นแบบตรงข้าม แผ่นใบกว้าง แข็งและหนา ขอบใบหยัก ปลายใบแหลม ใบมีสีเขียว เข้ม ก้านใบยาว ดอก ออกเป็นช่อเป็นคู่ตรงข้ามกัน สีส้มสด หรือแดงอมส้ม กลุ่มดอกย่อยจะเกิดติดกันรอบๆ ลำต้น และมีใบแซมออกจากก้านรอบทิศทางมีลักษณะคล้ายฉัตร จะเริ่มออกดอกเมื่อต้นเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ผล มีรูปร่างกลม ขนาดเล็ก เปลือกผลมีสีเขียว เมล็ดกลม พบขึ้นในบริเวณที่มีความชุ่มชื้น ดินร่วนซุย ตามป่าละเมาะ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด พืชในสกุล Leonotis นี้มีอยู่ด้วยกันราว 30 ชนิดมีทั้งชนิดที่เป็นไม้ล้มลุก ,ไม้เนื้ออ่อนอายุหลายปี และไม้พุ่มเขียวตลอดปีไม่ผลัดใบ (แต่ถ้าขึ้นในที่อากาศเย็นจะผลัดใบ)




ประโยชน์ : ช่อผลนำมาตากแห้ง ใช้ปักแจกัน ประดับเพื่อความสวยงาม




สรรพคุณ




เป็นยาสมุนไพร รักษาโรคมาเลเรีย แก้แผลถูกไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก แก้ไข้ โรคปวดข้อ เป็นยาระบาย ขับระดู แก้คัน กลากเกลื้อน




ใบ บำรุงกำลัง เป็นยาระบาย แก้ไข้จับสั่น แก้ซาง




ขี้เถ้าจากดอก แก้แผลถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แก้คัน แก้กลากเกลื้อน




เมล็ด รักษาโรคมาลาเรีย ทั้งต้น ขับระดู บีบมดลูก แก้ปวดตามข้อ แก้ไข้จับสั่น แก้ไข้ เป็นยาบำรุง เป็นยาระบาย และเสพติด




ยาพื้นบ้านอีสานใช้ทั้งต้นผสมลำต้นสบู่ดำ ต้มน้ำแช่เท้าแก้ปวดขา




สารสำคัญ : chromen-2-one,4,6,7-trimethoxy-5-methyl; labdane III; labellenic acid; lionotinin; leonotin; linoleic acid; myristic acid; nepetaefolin; nepetefolin; methoxy; nepetnefolinol; oleic acid; palmitic acid; stearic acid
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต้านแบคทีเรีย ลดความดันโลหิต
ศิริพร กลมกล่อม เรื่อง - ภาพ

วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เปล้าใหญ่ไม้ง่ายๆที่เริ่มจะหาไม่ได้ง่าย

ต้นเปล้าขึ้นอยู่ตามข้างทางมองเห็นทั่วๆไป

ยอดอ่อนของต้นเปล้า

ใบแก่ของเปล้าใหญ่ตกกระสีสนิมขนาดของใบประมาณ๒คืบขอบใบจัก


จุดสังเกตุที่ชัดเจนของต้นเปล้าคือคือใบแก่สีส้มสวย


เปล้าใหญ่




หลังจากที่ไม่ได้สะพายกล้องคู่ใจออกหาเก็บภาพต้นไม้มาเป็นเดือนๆภาษาสุภาพเรียกว่ารออารมณ์ศิลปินภาษาไม่สุภาพเรียกว่าขี้เกียจตัวเป็นขน พอลมหนาวแรกเริ่มมาเยือนทำให้รู้สึกคึกคักบอกกับตัวเองว่าได้เวลาออกล่าเหยื่ออีกแล้ว




โคราชเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลมีพืชหลากหลายชนิดอยู่เป็นจำนวนมาก บางทีไม่จำเป็นต้องเข้าป่าเสี่ยงอันตรายร้อยแปดแค่เลาะเลียบตามข้างทางก็มีไม้แปลกๆเยอะแยะไปหมด




วันนี้จะเล่นไม้ง่ายๆพื้นๆที่ไม่ค่อยมีใครสนใจ คือต้นเปล้าใหญ่เรารู้จักเปล้าใหญ่ครั้งแรกเมื่อหกเจ็ดปีที่แล้วตอนพาอสม.ทำลูกประคบเพราะในสูตรลูกประคบต้องใช้ใบเปล้า ใบหนาด โดยสรรพคุณของใบเปล้าตามที่สถาบันการแพทย์แผนไทยกระทรวงสาธารณสุขระบุไว้คือ ถอนพิษผิดสำแดง(ไม่รู้จริงๆว่าแปลว่าอะไรแต่สมัยนั้นท่องตามนี้เป๊ะๆ)นั่นเป็นที่มาที่ทำให้ต้องรู้จักเปล้าใหญ่ไม้พื้นๆข้างทางที่หรอยหรอลงทุกวัน




เปล้าใหญ่




ชื่อวิทยาศาสตร์ : Croton roxburghii N. P. Balakr . วงศ์ : EUPHORBIACEAE ชื่ออื่น : เซ่งเค่คัง คัวะวู เปวะ เปล้าหลวง สกาวา ส่ากูวะ ห้าเยิ่ง
ลักษณะทั่วไป



ลักษณะทั่วไป : ไม้ยืนต้น ขนาดเล็กผลัดใบ แต่แตกใบเร็ว สูง 4-8 เมตร แตกกิ่งต่ำ เปลือกสีเทาค่อนข้างเรียบ ยอดอ่อน ใบอ่อน ช่อดอกอาจรวมทั้งกิ่งอ่อน มีเกล็ดสีเทาเป็นแผ่นเล็กๆ ปกคลุม ใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับรูปหอก รูปขอบใบขนานหรือรูปไข่ กว้าง 6-7 เซนติเมตร ยาว 16-19 เซนติเมตร โคนใบมน ส่วนที่ติดกับปลายก้านใบมีตุ่มปรากฏอยู่สองข้าง ปลายใบมน หรือสอบเรียวแหลม เส้นแขนงใบมี 12-16 คู่ ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยถี่ ๆ ดอก ออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ออกดอกประมาณเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ขนาด 0.2-0.3 เซนติเมตร กลีบดอกสีเหลืองแกมเขียว ดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกันหรือแยกต้น ผล รูปทรงกลมมี 3 พู ผลจะแก่จากปลายช่อลงมาเปลือกของผลจะแตกจากโคนผล เมล็ด ในแต่ละพูจะมีเมล็ดลักษณะรี 1 เมล็ด นิเวศวิทยาและการแพร่กระจาย : พบในที่ดอน กระจายอยู่ทั่วไปในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชาวไทใหญ่เรียกเปล้าใหญ่ว่าไม้หางเยือง การขยายพันธุ์ๆได้แก่การปักชำราก



ด้านสมุนไพร เปลือกต้น และกระพี้ ช่วยย่อยอาหาร




ใบและลำต้น ต้มน้ำอาบแก้โรคผัวหนังผื่นคัน บำรุงธาตุ แก้ปวดเมื่อยร่างกาย กระจายเลือดลม




เปลือกต้นใบใบ แก้ท้องเสีย บำรุงโลหิต แก้ตับอักเสบ แก้ปวดข้อ ช่วยย่อยอาหาร ลดไข้




ดอกและแก่น ขับพยาธิ




รากขับลม แก้โรคผิวหนัง ผื่นคันน้ำเหลืองเสีย แก้ปวดท้อง ถ่ายเป็นมูกเลือด แก้ปวดเมื่อย




ผล ดองสุราดื่มขับเลือดหลังคลอด
เมล็ด เป็นยาถ่าย
ศิริพร กลมกล่อม เรื่อง - ภาพ

วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ต้นเสนีนดชื่อไม่เพราะแต่เป็นยาดีมีคุณค่า


ต้นเสนียด

วันนี้สองทุ่มครึ่งโดยประมาณถูกปลุกโดยน้องวัยรุ่นคนหนึ่งที่เข้ามาอ่านบล๊อคเรื่องสบู่เลือดแล้วสนใจเลยโทรมาถามอยากจะร้องอ่ะจ๊ากดัง ๆ เพราะหลับแล้ว ( เวลานอนตั้งแต่พระอาทิตย์ตกดินไปถึงตีสอง) ไม่รู้จะภูมิใจที่มีคนหลงทางมาอ่านเจอรึจะ...ดี เฮ้ออออ


ดีใจที่มีเด็กรุ่นใหม่สนใจสมุนไพรเสน่ห์ของต้นไม้มีมนต์ขลังที่ใครหลุดเข้ามาแล้วต้องชอบ


จริงๆการศึกษาต้นไม้ใหม่ๆถ้าจะให้ดีอ่านหนังสือรึค้นหาเยอะๆแล้วมีไม้ในดวงใจทีละต้นสองต้นแล้วเลือกที่จะดูไปตามความสนใจเพราะป่าแต่ละป่าจะมีไม้เฉพาะของเค้า


ไม้ตัวแรกๆที่เราชอบคือดองดึง ค้างคาวดำและหมอกบ่อวายหลงเสน่ห์ดอกสวยแล้วเราก็เลือกป่าที่น่าจะมีกับบริเวณที่น่าจะพบจากคนนำทาง มันจะง่ายกว่าเยอะถ้าระบุไม้มาว่าต้องการดูต้นอะไร เคยมีน้องจากกระทรวงสาธารณสุขคนหนึ่งเก่งมากเรื่องสมุนไพร(หมอกระดาษ)สอบผ่านใบประกอบโรคศิลปแล้วอยากเห็นว่านขันหมากแล้วจะไปลุยป่าซับลังกาทั้งๆที่น้ำหนักร้อยกว่าโลถ้าอย่างนี้จัดให้ดูป่าง่ายๆตามข้างๆทางแถวเขาแถววังน้ำเขียวก็ได้เพราะป่าซับลังกาเป็นป่าโหดแต่ว่านขันหมากเป็นไม้ชายป่าไม่ต้องขี่ช้างจับตั๊กแตนคือเข้าป่ายากเพื่อหาไม้ง่ายๆ


เรายินดีนะเวลาที่เจอคนสนใจเรื่องนี้ ถ้าพาไปดูได้จะพาไป แต่อยากให้มีไม้ในดวงใจอย่างที่ว่ารู้ป่ะบรรดาเซียนๆน่ะเวลาเข้าป่าเค้าจะตั้งใจเลยว่าไปดูไม้ตัวนี้เห็นแล้วกลับเลยแต่เราอ่ะไม่ใช่เซียนหรอกดูดะจนกว่าขาลากแต่เราจะมีไม้ที่อยากเห็นมากๆเหมือนกันแล้วเลือกป่าเอาถามหาไปเรื่อยๆจนกว่าจะเจอคนที่รู้จักไม้ตัวนี้


เอาเรื่องต้นเสนียดละกันวันนี้


เคยได้ยินผ่านหูบ่อยๆมากระแทกปังตอนไปร่วมกลุ่มหมอพื้นบ้าน๑๐จังหวัดที่อุดรพ่อหมอยาภาคอีสานแกเรียกต้นเสนียดว่าฮูฮาทำเอางงกันพักใหญ่กว่าจะรู้ว่าเป็นตัวเดียวกันไม้นี้น่าสนใจเพราะพบในตำรับยาพื้นบ้านอีสานหลายตำรับแต่ไม่เคยเจอในป่าซักวันคงต้องไปหาถามๆดูในป่าแต่มือใหม่อย่างเราแยกเอกลักษณ์ไม่ออกเพราะไม่มีจุดเด่นเลยต้นนี้ไปเจอที่บ้านพ่อหมออำเภอสูงเนินใครจะไปรู้ว่าไม้ต้นนี้เอามาทำเป็นยาแก้ไอที่ชื่อแสนจะคุ้นในทีวี

เสนียด
ชื่ออื่น ๆ : ฮูฮา (เลย), หูรา (นครพนม), เสนียดโมรา , โมรา (ภาคกลาง), กะเหนียด(ภาคใต้),โมราขาว (เชียงใหม่), กุลาขาว, บัวฮาขาว, บัวลาขาว (ภาคเหนือ)
ชื่อสามัญ : Adhatoda, Vassica, Malabar Nut tree
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Adhatoda vasica Ness.
วงศ์ : ACANTHACEAE
ลักษณะทั่วไป : ต้น : เป็นพรรณไม้พุ่ม แตกกิ่งก้านสาขามากมายรอบ ๆ ต้น ลำต้นสูงประมาณ 3 เมตรใบ : เป็นไม้ใบเดี่ยว แต่ก็ค่อนข้างจะใหญ่สักหน่อย ลักษณะของใบเป็นรูปหอก ปลายแหลม โคนใบแหลมสอบ ขอบใบเรียบ พื้นใบเป็นสีเขียว และมีขนอ่อน ๆ ปกคลุมอยู่ ขนาดของใบกว้างประมาณ 1.5-2.5 นิ้วยาว 3.5-7 นิ้วดอก : ออกเป็นช่ออยู่ตรงง่ามใบส่วนยอดของต้น ช่อดอกจะรวมกันเป็นแท่ง ใบเลี้ยงที่รองรับดอกมีสีเขียวเรียงกันเป็นชั้น ๆ กลีบดอกแยกออกเป็นปาก ด้านบนมี 2 แฉกสีขาว ส่วนด้านล่างมี 3 แฉกสีขาวประม่วง เกสรมี 2 อันการขยายพันธุ์ : เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง เจริญเติบโตได้ดีในดินที่ร่วนซุยและมีความชุ่มชื้นปานกลาง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และปักชำเป็นไม้ที่พบมากในป่าเต็งรัง(ป่าไหนน๊อ)
ส่วนที่ใช้ : ทั้งต้น ใบ และรากสรรพคุณ : ทั้งต้นและราก ปรุงเป็นยาบำรุงปอด และรักษาวัณโรคใบ ใช้ห้ามเลือด หรือเข้ายาหลายอย่างที่เกี่ยวกับเลือด เช่น บำรุงเลือด ฯลฯ แก้ฝี แก้หืด แก้ไอและขับเสมหะซึ่งจะนำเอาน้ำคั้นจากใบสดประมาณ 15 มล. ผสมกับน้ำผึ้งหรือน้ำขิงสดก่อนอื่น ๆ

ยาแผนปัจจุบัน มีทำเป็นหลายรูปแบบ เช่น ยาเม็ด, ยาน้ำ, ยาสูดดม, ยาน้ำเชื่อม, และยาฉีด มีชื่อทางการค้าว่า "Bisolvon" โดยใช้ อนุพันธ์ของ vasicine คือ N-cyclohexyl-N-methyl (Bromhexine) จะดีกว่าการใช้ vasicine เพราะไม่ทำให้เกิดการระคาย เคืองต่อทางเดินอาหาร Bisolvon ใช้เป็นยาขับเสมหะใน โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ได้ผลดี : ตัวยาของต้นเสนียดนี้เป็นอนุพันธ์ของ Vasicine คือ Bromhexine ซึ่งจะมีฤทธิ์ลดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร จึงใช้เป็นยาขับเสมหะ ในปัจจุบันนี้เป็นยาที่ผลิตออกมาได้หลายรูปแบบ เช่นแบบยาเม็ด แบบยาสูดดม ยาน้ำ ยาฉีด และยาจิบน้ำเชื่อมถิ่นที่อยู่ สารเคมีที่พบ : ในใบพบสาร vasakin vasicinine, และมีอัลคาลอยด์ vasicine ซึ่งจะออกซิไดซ์ให้vasicinone

ศิริพร กลมกล่อม เรื่อง - ภาพ

วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2552

กาหลง ชงโค โยทะกา เสน่ห์ไม้ไทย สามใบเถา

รู้จักใม้ตระกูลเสี้ยวต้นแรกคือสามสิบสองประดงหรือชื่อเป็นทางการว่าสิรินธรวัลลี ก้อรู้สึกแปลกดีเพราะใบไม้เค้าจะมีลักษณะเว้าลึกตรงกลาง ทำให้ค่อยๆศึกษาไปเรื่อยๆจนรู้ว่าประเทศไทยมีไม้ตระกูลเสี้ยวอยู่เป็นจำนวนมากถึง ๓๐ กว่าชนิด ไม้ตัวที่น่าจะใช้มากและคุ้นชื่อคงเป็นส้มเสี้ยว ดูชื่อก้อรู้ว่าเป็นใบเสี้ยวที่มีรสเปรี้ยว เรามักจะเจอตำรับยาที่เข้าส้มเสี้ยวอยู่บ่อยๆเพราะมีสรรพคุณช่วยฟอกโลหิต ขับโลหิตและขับเมือกมันในลำไส้ ใช้ประกอบในตำรับยาเพื่อช่วยปรับและฟื้นฟูร่างกาย ในกลุ่มของสามใบเถานี้ ตัวที่เราเห็นบ่อยที่สุดคงจะเป็นชงโค พบเห็นได้ทั่วไปตามข้างทางดอกสีชมพูไปจนถึงสีม่วง ดอกใหญ่ดอกเล็กแล้วแต่สายพันธุ์แต่ก้อสวยดูเพลินจริงๆ กาหลงนั้นคงไม่ค่อยพบขึ้นเองตามข้างทางเป็นไม้ที่หาซื้อได้ตามตลาดค้าไม้ทั่วไปเพราะคนจีนนิยมปลูกมีราคาพอสมควร ส่วนโยทะกานั้นหายากกว่าเพื่อน พึ่งเคยเห็นครั้งเดียวตอนที่ไปประชุมที่สกลนคร แต่เจ้าของเค้าบอกว่าพระเรียกว่าต้นกาหลงคงสอดคล้องกับที่เป็นที่รู้จักในนามพญากาหลง จะอย่างไรก็ตามยังมีข้อสงสัยบางอย่างเกี่ยวกับชื่อและสีที่สับสนกันพอสมควร เอาเป็นว่าถือเป็นความหลากหลายทางสายพันธุ์ก็แล้วกัน ถือว่าโชคดีของคนไทยที่มีพันธุ์ไม้เยอะแยะไปหมด ขอบคุณที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย

โดยส่วนตัวแล้วยอมรับว่าชอบกาหลงมากกว่าเพื่อนเพราะดอกเค้ามีเสน่ห์น่ารักขาวบริสุทธิ์อีกทั้งสรรพคุณทางยาก็น่าสนใจ เราลองมาอ่านกันดูนะคะ

กาหลงมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bauhinia acuminata Linn. อยู่ในวงศ์ Leguminosae (หรือบางแห่งว่า วงศ์ CaeSalpiniaceae) ซึ่งเป็นจำพวกถั่ว เช่นเดียวกับคูน จามจุรี ทองกวาว เป็นต้น เป็นไม้พุ่มผลัดใบขนาดเล็ก สูง 2-4 เมตร กิ่งอ่อนมีขนปกคลุม กิ่งแก่ค่อนข้างเกลี้ยง ใบ เป็นใบเดี่ยว รูปไข่เกือบกลม โคนใบรูปหัวใจ ปลายใบเว้าเข้าตามเส้นกลางใบลึกเกือบครึ่งแผ่นใบ ทำให้มองดูคล้ายเป็นใบแฝด ขอบใบเรียบ ท้องใบมีขนละเอียดปกคลุม ขนาดกว้าง 9-13 เซนติเมตร ยาว 10-14 เซนติเมตร ดอก ออกเป็นช่อตามส่วนยอด ของลำต้นและกิ่ง หรือบริเวณโคนใบ ตามข้อต้น มีช่อละ 5-8 ดอก ทยอยกันบานครั้งละ 2-3 ดอก ดอกมีกลีบ สีขาว 5 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมกันเกสรตัวผู้มีสีขาว 5 อันเกสรตัวเมียสีเขียวอ่อนอยู่กลางดอก ขนาดใหญ่และยาวกว่าเกสรตัวผู้ ขนาดดอกกว้างราว 5 เซนติเมตร กลิ่นหอมอ่อนๆฝัก แบน 1.5-2 เซนติเมตรยาวราว 10 เซนติเมตร เมล็ดอยู่เรียงกันตามยาวเป็นช่องๆมีฝักละประมาณ10 เมล็ดกาหลงเป็นต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิด ในป่าเมืองร้อนของหลายประเทศตั้งแต่อินเดีย พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น นับว่ามีถิ่นกำเนิดกว้างขวางกว่าต้นไม้ส่วนใหญ่ที่เคยนำเสนอมาแล้ว ในประเทศไทยพบขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในป่าเบญจพรรณของทุกภาคของประเทศคนไทยรู้จักคุ้นเคยกับกาหลงมานานหลายร้อยปีแล้ว ดังปรากฏอยู่ในวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอ ซึ่งเชื่อว่าแต่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอน ต้นราว 600 ปีมาแล้ว นอกจากนั้นยังปรากฏชื่ออยู่ในวรรณคดีไทยเรื่อง ต่างๆ ต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น ในนิราศของสุนทรภู่ เป็นต้น แสดงว่าคนไทยรู้จักคุ้นเคยและนิยมชมชอบกาหลงมาโดยไม่ขาดตอนเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้วชื่อกาหลงที่คนไทยภาคกลางใช้เรียกต้นไม้ชนิดนี้ไม่ทราบว่ามีความเป็นมาอย่างไร ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ พ.ศ.2416 ของหมอปรัดเล ให้คำอธิบายไว้ว่า "กาหลง ; ต้นไม้ไม่สู้โต ดอกขาวบานเป็นสี่กลีบ ไม่สู้หอม ใช้ทำยาบ้าง, กาซ่อนของไว้ลืมเสีย" ช่วงท้ายที่เขียนว่า "กาซ่อนของไว้ลืมเสีย" นั้น คงเป็นอีกความหมายหนึ่งของคำว่ากาหลง คงมิได้เป็นความหมายต่อเนื่องของต้นไม้ที่ชื่อกาหลง แต่ในคำอธิบายของหนังสืออักขราภิธานศรับท์ ก็ยังมีข้อผิดพลาด คือดอกกาหลงมีกลีบสีขาว 5 กลีบ มิใช่ 4 กลีบดังในคำอธิบาย นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของความ "หลง"ที่เกิดจากต้นไม้ชนิดนี้ นอกจากนั้นยังมีตำราในปัจจุบันบางเล่ม อธิบายว่า ดอกกาหลงมี 6 กลีบ นี่ก็หลงอีกเหมือนกันน่าแปลกที่กาหลงทำให้ตำราต่างๆ "หลง" อธิบายผิดๆ ได้หลายตำราซึ่งไม่เคยพบในพืชชนิดอื่นๆ จะคิดว่าเป็นเรื่องบังเอิญก็ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะเกิดขึ้นกับผู้เขียนตำราหลายท่าน นอกจากหลงเรื่องจำนวน กลีบของดอกกาหลงแล้ว ตำราอีกอย่างน้อย 2 ฉบับที่ผู้เขียนพบก็ยังหลงในเรื่องใบของกาหลงด้วย คืออธิบายว่าใบกาหลงเป็นใบแฝด (2 ใบติดกัน) ทั้งที่ความจริงเป็นใบเดี่ยว ที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากใบไม้ส่วนใหญ่เท่านั้น ปกติใบไม้ทั่วไปจะมีปลายใบแหลมตรงกลางที่เป็นเส้นกลางใบ เช่น ใบโพธิ์ ใบมะม่วง ใบพลู เป็นต้น แต่ใบกาหลงกลับตรงกันข้าม กล่าวคือส่วนปลายของเส้นกลางใบกลับเว้าเข้าหาโคนใบลึกลงเกือบถึงกลางใบ จึงมองดูคล้ายเป็น 2 ใบอยู่ติดกัน บนก้านเดียว ทำให้เกิดเข้าใจผิด หรือ "หลง" ได้อีกเรื่องหนึ่ง นอกเหนือไปจากจำนวนกลีบของดอกที่มี 5 กลีบ แต่มีผู้นับเป็น 4 และ 6 กลีบผู้ที่ตั้งชื่อต้นไม้ชนิดนี้ว่า "กาหลง" คงจะพบปรากฏการณ์ดังกล่าว มานี้เช่นเดียวกัน จึงตั้งชื่อว่ากาหลง โดยเปรียบเทียบกับกา ซึ่งนับว่าเป็นสัตว์ฉลาดก็ยังหลงได้ ดังนั้น คนทั่วไปจึงอาจหลงไปด้วยเช่นกันชื่อของกาหลงมีอีกหลายชื่อ เช่น ส้มเสี้ยว (ภาคกลาง) เสียวน้อย เสี้ยวดอกขาว (เชียงใหม่) ภาษาอังกฤษเรียกว่า Orchid treeพืชในสกุลเดียวกับกาหลง (Bauhinia sp.) ในเมืองไทยมีด้วยกันมากกว่า 30 ชนิด นับว่าเป็นพืชที่แพร่หลายที่สุดอย่างหนึ่ง
ประโยชน์ของกาหลงในด้านสมุนไพรรักษาโรค คนไทยใช้ส่วนต่างๆ ของกาหลงดังนี้ใบ : รักษาแผลในจมูกต้น : แก้โรคสตรี แก้ลักปิดลักเปิด แก้เสมหะราก : แก้ไอ แก้ปวดศีรษะ ขับเสมหะ แก้บิดดอก : แก้ปวดศีรษะ ลดความ ดันเลือด แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้เสมหะ แก้อาเจียนเป็นเลือดในด้านไม้ดอกไม้ประดับ กาหลงมีรูปร่างใบและทรงพุ่มงดงาม จัดแต่งทรงพุ่มได้ง่าย ออกดอกได้ยาวนาน และปลูกดูแลรักษาได้ง่าย จึงนิยมนำมาปลูกในบริเวณอาคารบ้านเรือน และที่สาธารณะปกติกาหลงผลัดใบในฤดูหนาว (พฤศจิกายน-ธันวาคม) เริ่มแตกใบอ่อนในฤดูร้อน (เมษายน-พฤษภาคม) และเริ่มออกดอกช่วงฤดูฝนกาหลงปลูกง่าย ขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด ไม่ต้องการปุ๋ยมาก เพราะเป็นพืชตระกูลถั่ว สามารถจับปุ๋ยจากอากาศได้เอง ชอบแดดจัดและขยายพันธุ์ได้ง่าย ทั้งการตอนและเพาะเมล็ด หากปลูกจากเมล็ดใช้ เวลาราว 2-4 ปี ก็จะออกดอกติดฝักได้แล้วคนจีนในอดีตนิยมปลูกกาหลง ไว้ในบริเวณบ้านเชื่อว่าเป็นมงคลให้คุณแก่เจ้าของบ้านและผู้อยู่อาศัยท่านผู้อ่านที่มีบริเวณพอจะปลูกกาหลงได้ก็น่าจะหากาหลงมาปลูกเอาไว้บ้าง แม้ท่านจะไม่มีเชื้อสายคนจีน ก็คงได้รับสิ่งดีๆ จากกาหลงได้เช่นเดียวกัน

โยทะกา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bauhinia monandra kurz อยู่ในวงศ์ (AESALPINIACEAE และอยู่ในสกุล BAUHINIA เช่นเดียวกับกาหลงและชงโค) จึงมีลักษณะหลายอย่างคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะลักษณะใบ ซึ่งมีรูปร่างคล้ายรอยเท้าโคหรือใบแฝด ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของต้นไม้สกุลนี้

ชงโค มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Bauhinia Purpurea Linn. อยู่ในวงศ์ Leguminosae เช่นเดียวกับกาหลง ซึ่งนอกจากอยู่ในวงศ์เดียวกันแล้วยังอยู่ในสกุลเดียวกันด้วย (สกุล Bauhinia) จึงมีลักษณะต่างๆ คล้ายกันมากโดยเฉพาะรูปร่างของใบ ซึ่งมีลักษณะแปลกเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ชงโคเป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อมสูงประมาณ ๕-๑o เมตร กิ่งอ่อนมีขนปกคลุม ใบเป็นใบเดี่ยวรูปหัวใจ ปลายใบเว้าลึกมาก ปลายใบทั้งสองด้านกลมมน มองดูคล้ายใบแฝดติดกัน (คล้ายใบกาหลง แต่เว้าลงลึกกว่า) ใบทั้งสองด้านมักพันเข้าหากันเหมือนปีกผีเสื้อ ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นใบแฝด (เหมือนกาหลง) เพราะปกติใบไม้ทั่วไปจะมีปลายใบแหลม หรือกลมมน ลักษณะของชงโคเป็นพุ่มค่อนข้างกว้างและใบดกทึบ เป็นต้นไม้ผลัดใบในฤดูหนาว (พฤศจิกายน-ธันวาคม) แล้วผลิใบ ใหม่ราวเดือนเมษายน-พฤษภาคมดอก ชงโคจะเริ่มออกดอกหลังจากผลิใบชุดใหม่ออกมาแล้ว คือหลังเดือนเมษายนเป็นต้นไป ดอกออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ช่อยาวกว่าดอกกาหลง แต่ละช่อมีดอกย่อยราว ๖-๑o ดอก แต่ละดอกมีกลีบย่อย ๕ กลีบ รูปทรงคล้ายดอกกล้วยไม้ ตรงกลางดอกมีเกสรตัวผู้เป็นเส้นยาว ๕ เส้น ยื่นไปด้านหน้าและปลายโค้งขึ้นด้านบน มีเกสรตัวเมียอยู่ตรงกลาง ๑ เส้น มีความยาวและโค้งขึ้นสูงกว่าเกสรตัวผู้ ดอกบานเต็มที่กว้างราว ๗-๙ เซนติเมตร มีกลิ่นหอมอ่อนๆ กลีบดอกชงโคมีสีชมพูถึงม่วงแดง ผันแปรไปตามสายพันธุ์ของแต่ละต้นที่เกิดจากการเพาะเมล็ด หากต้องการให้มีสีเดียวกัน ต้องใช้วิธีขยายพันธุ์ด้วยกิ่ง เช่น ติดตาหรือทาบกิ่ง ดอกชงโคติดต้นอยู่ได้นานนับเดือนผล ลักษณะเป็นฝักแบนคล้ายฝักถั่ว แก่ประมาณเดือนกันยายน-ธันวาคม ขนาดกว้างราว ๑.๕ เซนติเมตร ยาว ๑๕-๒o เซนติเมตร เมล็ดค่อนข้างแบน ฝักแก่จะแตกออกเป็นสองซีกตามความยาวของฝักถิ่นกำเนิดเดิมของชงโคอยู่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินเดีย พม่า ไทย กัมพูชา มาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นต้น ในประเทศไทยพบขึ้นปะปนอยู่กับต้นไม้ชนิดอื่นๆ ในป่าโปร่งผสม และป่าเบญจพรรณ ทางภาคเหนือและภาคกลางจะพบมากกว่าภาคอื่น คนไทยรู้จักชงโคมาตั้งแต่อพยพมาอยู่พื้นที่ประเทศ ไทยปัจจุบัน ชื่อชงโคมีปรากฏอยู่ในวรรณคดีไทย สมัยอยุธยาเป็นต้นมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ พ.ศ. ๒๔๑๖ อธิบายเกี่ยวกับชงโคไว้ว่า"ชงโค เป็นชื่อต้นไม้อย่างหนึ่งเหมือนอย่างต้นกาหลง แต่สีมันแดง" แสดงว่าคนไทยกรุงเทพฯ สมัย ๑๓๒ ปีก่อนโน้น รู้จักทั้งกาหลงและชงโคเป็นอย่างดี ว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกัน ต่างกันที่สีของดอกเท่านั้น เพราะกาหลงมีกลีบดอกสีขาว ส่วนชงโคกลีบดอกออกไปทางสีแดง (ชมพู-ม่วง) ชื่อที่เรียกกันในเมืองไทยคือ ชงโค (กรุงเทพฯ-ภาคกลาง) เสี้ยวหวาน (แม่ฮ่องสอน) เสี้ยวดอกแดง (เหนือ) ภาษาอังกฤษ เรียก ORCHID TREE ประโยชน์ของชงโค ชงโคมีสรรพคุณด้านสมุนไพร ตามตำราแพทย์แผนไทย ดังนี้
เปลือกต้น : แก้ท้องเสีย แก้บิด
ดอก : แก้พิษไข้ร้อนจากเลือดและน้ำดี เป็นยาระบาย
ใบ : ฟอกฝี แผล
ราก : ขับลม
ชาวฮินดูถือว่าชงโคเป็นต้นไม้ของสวรรค์ขึ้นอยู่ในเทวโลก และนับถือว่าเป็นต้นไม้ของพระลักษมีพระชายาของพระนารายณ์ จึงนับเป็นต้นไม้มงคลยิ่งชนิดหนึ่ง ควรแก่การเคารพบูชา และปลูกเอาไว้ในบริเวณบ้านเรือน หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ในฐานะต้นไม้ประดับ ชงโคเหมาะสำหรับปลูกตามสถานที่ต่างๆ มากมายเพราะปลูกง่ายไม่เลือกดินฟ้าอากาศ (ในเขตร้อน) ดูแลรักษาง่าย แข็งแรง ทนทาน ขนาดไม่ใหญ่โตเกินไป ทรงพุ่มใบ ดอกงดงาม ดอกบาน ทนนาน การปลูกหากใช้การเพาะเมล็ด ที่จะออกดอกภายในเวลา ๓-๕ ปี ซึ่งนับว่าไม่นาน หากปลูกจากกิ่งจะเร็วกว่านี้อีกประมาณเท่าตัว
ชงโคอาจจะได้รับความนิยมมากกว่านี้ หากมีชื่อที่ไพเราะถูกใจคนไทย (ภาคกลาง) สันนิษฐานว่าเหตุที่ใช้ชื่อชงโค อาจจะมาจากลักษณะใบแฝดติดกัน คล้ายรอยเท้าวัวก็เป็นได้ แต่ไม่ว่าจะชื่ออะไร ชงโคก็คงมีคุณสมบัติที่ดีงามดั้งเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ดังเช่นที่เคยเป็นมาจากอดีต

โยทะกาเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ใบรูปไข่ค่อนข้างกลม ปลายและโคนใบเว้าลึก มองเหมือนใบแฝดติดกัน เช่นเดียวกับใบกาหลงและใบชงโค ดอกใหญ่ออกเป็นช่อ มีกลีบสีเหลือง เมื่อบานได้ ๒ วัน สีกลีบจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูเข้ม ทรงดอกเป็น ๕ กลีบ คล้ายดอกกล้วยไม้ เมื่อดอกร่วงหล่นจะติดฝักรูปร่างแบน ยาว ราว ๙-๑๕ เซนติเมตร เมื่อฝักแก่จัดจะแตกออกจากกัน เปลือกของโยทะกาเป็นเส้นใย ใช้ทำเชือกปอได้มีโยทะกาอีกชนิดหนึ่ง ชื่อ Bauhinia flanifera ride อยู่ในสกุลเดียวกัน เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ซึ่งมีลักษณะอื่นๆ คล้ายคลึงกับโยทะกาชนิดแรก สันนิษฐานว่าคนไทยเรียกชื้อโยทะกาทั้ง ๒ ชนิดนี้รวมๆ กันมาตั้งแต่เดิม เพราะชื่อที่ใช้เรียกตามท้องถิ่นต่างๆ บ้างก็บ่งบอกว่าเป็นไม้เถา เช่น ชงโคย่าน (ตรัง) เถาไฟ (กรุงเทพฯ) เป็นต้นโยทะกาเป็นต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในประเทศไทย เช่นเดียวกับกาหลงและชงโค พบได้ในป่าธรรมชาติของทุกภาค จึงปรากฏชื่ออยู่ในวรรณคดีไทย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ดังเช่นในสักกบรรพคำฉันท์ ซึ่งแต่งในสมัยอยุธยา ตอนหนึ่งบรรยายถึง” ปรูประประยงค์ ชงโคตะโกโยธกา” คำว่า โยทะกา ในอดีตนิยมใช้เขียนว่า “โยธกา” มาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์แล้วจึงเปลี่ยนเป็น “โยทะกา” ในหนังสือ อักขราภิธานศรับ ของหมอบรัดเล พ.ศ. ๒๔๑๖ มีบรรยายว่า “โยทะกา เปนคำเรียกของสำหรับทอดสมอให้เรืออยู่ แต่มันมีสันถานเหมือนหนามต้นโยทะกา”น่าสังเกตว่าโยทะกาใช้เรียกเครื่องมือที่ใช้ทอดสมอ รูปร่างคล้ายหนามต้นโยทะกา แสดงว่าต้นโยทะกาเป็นที่มาของชื่อนี้ แต่ต้นโยทะกาที่เรารู้จักในปัจจุบัน เป็นพืชไม่มีหนาม ซึ่งอาจจะเป็นคนละต้นกับโยทะกาของอักขราภิธานศรับหรือต้นโยทะกา อาจมีมากกว่า ๒ ต้นก็ได้ (ในสมัยนั้น) ปัจจุบันยังมีโยทะกาสมัยใหม่อีกชนิดหนึ่ง เป็นต้นไม้ขนาดเล็ก สูง ๒-๕ เมตร ดอกสีเหลืองล้วนตั้งแต่เริ่มบานจนร่วงโรย ลักษณะดอกห่อไม่บานเต็มที่ ดอกออกจากยอดตลอดปี นิยมปลูกในสวนเป็นไม้ประดับ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Bauhinisa tomentora Linn ชื่อที่เรียกในเมืองไทยคือ โยทะกา (ภาคกลาง) เถาไฟ (กรุงเทพฯ) ย่ายชิวโค (ตาก) ปอลิง (สุราษฎร์ธานี) ปอโคย่าน (ตรัง) เล็บควายใหญ่ (ยะลา-ปัตตานี) ภาษาอังกฤษเรียก Pink orchid Tree, One – Stemened Bauhinia, Jerusalim Date, Butterfly Flower

วันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ยา หัว หัวยาข้าวเย็นโคก ฆ้อนกระแตสมุนไพรอีสานใช้รักษามะเร็ง

หัวยาข้าวเย็น



หัวยาต้นนี้เอามาจากป่าช้างตกตายอำเภอเทพารักษ์ ปลูกใส่กระถางไว้งามดี

ดอกหัวยาข้าวเย็นสวยดีนะ



ผลของหัวยาข้าวเย็น


หัวยาข้าวเย็นเสียดายไม่ได้ผ่าหัวถ่ายรูปเก็บไว้ ตอนนี้ลงกระถางแล้ว


จริงๆโดยส่วนตัวเป็นคนสนใจไม้ยากๆ เพราะมักเจอปัญหากับตัวเองว่าเวลาค้นข้อมูลหรือเวลาที่อยากรู้ข้อมูลแล้วไม่รู้จะไปเอาจากที่ไหน บ่อยครั้งที่ซื้อหนังสือเป็นเล่มเพื่อเอาข้อมูลเพียงวรรคเดียว (จนตอนนี้ไม่มีที่เก็บหนังสือแล้ว) ในอินเตอร์เน็ทเองไม่ใช่มีทุกอย่างที่เราอยากได้ และหลายๆข้อมูลก้อเป็นการเขียนเดาๆไปเรื่อยๆผิดๆถูกๆ จึงอยากบันทึกบางส่วนที่เกิดจากการค้นคว้าตำราหรือสอบถามผู้รู้เอาเก็บไว้ถ้าบังเอิญเจอผู้รู้กว่ามาอ่านพบเข้าอย่างน้อยก็จะได้มีการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรหายากแต่ละตัวเอาไว้ให้มีพอให้ได้อ่านหรือแลกเปลี่ยนกันบ้าง


ป่าไม้ในโคราชมีพรรณไม้อยู่อย่างหลากหลายน่าตื่นตาตื่นใจ บ่อยครั้งเวลาขี่มอเตอร์ไซด์ไปตามถนนจะลืมมองทางเพราะเพลินดูแต่ต้นไม้มักสะดุดตากับไม้ง่ายๆที่เริ่มหาได้ไม่ง่าย ดีใจทุกครั้งที่เจอไม้ใหม่ๆที่เคยได้ยินแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นตัวจริง คงตื่นเต้นเหมือนคนเวลาพบดารามั้ง บ่อยครั้งที่เผลอหยุดคุยกับต้นไม้ประมาณว่า เฮ้ดีใจจังที่ได้เจอนาย สุดยอดดดด อะไรประมาณนี้ แต่ก็หวั่นๆคนผ่านไปมาว่าจะสงสัยว่าเราเพี้ยนรึเปล่า


บางต้นเราอยากเขียนถึงมากแต่รูปมีไม่ครบก็ต้องรอๆไปก่อน การเก็บรูปสมุนไพรไม่ใช่เรื่องง่าย เราไม่ใช่ตากล้องมืออาชีพ รูปส่วนใหญ่ที่ถ่ายมาไม่ค่อยดีนัก นานๆจะฟลุคเจอรูปสวยๆซักที

ถ้าใครเคยอ่านพล นิกา กิมหงวน ของ ป อินทปาลิต หนังสือตลกคลาสสิคในยุคเก่า ( สุดยอดเรื่องโปรดอีกเรื่องของเราอีกเล่มเลยอ่ะ) มักจะพูดล้อเลียนถึงการไปเที่ยวผู้หญิงแล้วติดโรคผู้หญิงคือโรคซิฟิลิส ( ที่เมื่อก่อนอาจจะเคยได้ยินว่า "เข้าข้อออกดอก" หมายถึงระยะของโรคที่เชื้อลงไปอยู่ในข้อทำให้ผู้ป่วยปวดตามข้อมาก และกระจายออกมาที่ผิวหนังเป็นดอก ๆ ) มักจะพูดถึงยาสมุนไพรที่ชื่อว่าข้าวเย็นเหนือข้าวเย็นใต้ เป็นอันรู้กันว่าถ้าใครใช้ยาสองตัวนี้ให้ตั้งข้อสังเกตุว่าเป็นโรคผู้หญิงแน่นอน นั่นเป็นครั้งแรกๆที่ได้ยินชื่อของยาข้าวเย็นเหนือข้าวเย็นใต้ พอมาเริ่มคลุกคลีอยู่ในวงการสมุนไพรถึงได้รู้ว่าหมอพื้นบ้านชอบนำมาใช้เป็นยาตำรับเข้าตำรับรักษาโรคมะเร็งเพื่อแก้พิษอักเสบภายใน แต่ตัวยาไม่มีในเมืองไทยต้องสั่งมาจากประเทศจีน

หมอพื้นบ้านของไทยจะใช้ ข้าวเย็นโคกแทน คนอีสานเรียกข้าวเย็นโคกว่า "ยาหัว" หรือ "หัวยาข้าวเย็นโคก" มีขึ้นทั่วไปตามป่าชุมชนหัวไร่ปลายนา

ยาหัวยังแบ่งออกเป็น ข้าวเย็นโคกแดงใช้แทนข้าวเย็นโคกเหนือ และข้าวเย็นโคกขาวใช้แทนข้าวเย็นโคกใต้
หัวยาข้าวเย็น





ชื่ออื่น ละคอนโคก ( ภาคตะวันออก ) พายสะเมา , ยาข้าวเย็น ( อุบล )
ข้าวเย็นเหนือ ชื่อสามัญคือ Smilax.ชื่อพฤษศาสตร์ คือ Smilax corbularia Kunth.ชื่อวงศ์ คือ Smilaceae.ชื่ออื่นๆ คือ หัวยาข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นโคกแดง, ยาหัวข้อ, ค้อนกระแต, หัวยาจีนปักษ์เหนือ, เสี้ยมโถ่ฮก, หัวข้าวเย็นวอก

ข้าวเย็นใต้ ชื่อสามัญคือ Smilax.ชื่อพฤษศาสตร์ คือ Smilax microchina T. koyamaชื่อวงศ์ คือ Smilaceae.ชื่ออื่นๆ คือ ข้าวเย็นโคกขาว, ยาหัวข้อ, หัวยาจีนปักใต้, เตียวโถ่ฮกทั้งข้าวเย็นเหนือ และ ข้าวเย็นใต้ นิยมใช้คู่กัน เรียกว่า ข้าวเย็นทั้งสอง มีสรรพคุณ เหมือนกัน คือ แก้พยาธิในท้อง, แก้กามโรค, แก้ปัสสาวะและเส้นเอ็นพิการ, แก้น้ำเหลืองเสีย, แก้ร้อนในกระหายน้ำ, แก้พุพองผื่นคัน, รักษาริดสีดวงทวารจากการสืบค้นไม่พบว่า สมุนไพรที่ผู้ป่วยใช้มีฤทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับการลดระดับน้ำตาลในเลือด จึงไม่เหมาะจะใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
สรรพคุณ
หัวเข้ายาแก้ผิดกระบูน แก้ประดง แก้คุดทะราด น้ำเหลืองเสีย แผลฝี แผลเน่าเปื่อย ใช้เป็นยาแก้อักเสบ

ตำรับยาอีสานที่ใช้

ยาขี้โม้( เป็นภาษาอีสานน่าจะหมายถึงโรคกามโรค )
ขนานที่หนึ่ง ให้เอายาหัวหนัก 3 ฮ้อย ฮากหญ้าคา 3 ฮ้อย ฮากไม้ไผ่บ้าน 3 ฮ้อย ฮากพร้าวไฟ 3 ฮ้อย สารโด่เด 3 ฮ้อย ต้มกินดีแล
ขนานที่สอง เอาดูกชั่ง 1 ฮากหญ้าคา 3 ฮ้อย เขากวาง 5 บาท ต้มกินดีแล
ขนานที่สาม เอาต้นมูก 1 หัวข่า 1 ต้นตากวาง 1 ยาหัว 1 อ้อยดำ 1 ชั่งเอาอย่างละถ่อกัน ส่วนต้นตากวางนั้นให้เอาน้อยกว่าหมู่ ต้มกินดีแล
หมายเหตุ เวลาจะต้มยานี้ให้แต่งเครื่องดังนี้
ซวย 2 ซวย ใส่ปากหม้อ
หมากคำหนึ่ง
เทียน 4 คู่
เหล้าก้อง ไข่หน่วย
เงิน 1 บาท เครื่องทั้งหมดนี้ ให้เอาบูชาไว้นำก้อนเส้าและเวลาดังไฟต้มนั้น บ่ให้เปลี่ยนต้นฟืนเบื้องใดไว้เบื้องนั้นแล
ยาขี้โม้เข้าเอ็นเข้ากระดูก ให้เอาหัวขิงแดง 1 ข่าโคม 1 ยาหัว 1 อ้อยดำ 1 ข้าวจ้าว 1 เอาอย่างละถ่อกันต้มกินดีแล
ยาขี้โม้ค้าง ให้เอาต้นตีนนก 1 เครือหมากร่าง 1 ยาหัว 1 ต้มกินดีแล อีกขนานหนึ่ง เอาต้นเสียวน้อย 1 แก่นส้มโฮง 1 หัวข่าป่า 1 หัวข่าบ้าน 1 แก่นตากวาง 1 น้ำตาล ่ 1 ยาหัว 1 ให้เอาพอสมควรต้มกิน ดีแล





ตำรับอีสานแก้มะเร็ง






ใช้หัวข้าวเย็นโคกชนิดขาวและแดง ลำต้นส้มกุ้ง เปลือกต้นสะเดาช้างและลำต้นขมิ้นเครือ ต้มน้ำดื่มแก้มะเร็ง ผสมลำต้นขี้เหล็กและลำต้นหนามหัน ต้มน้ำดื่มแก้มะเร็ง รักษากามโรค ผสมรากเล็บเหยี่ยวและรากทองพันชั่ง ต้มน้ำดื่ม รักษาแผลเรื้อรัง

ตำรับภาคกลางแก้มะเร็ง ใช้รากฆ้อนกระแต หัวข้าวเย็นเหนือ ผสมลำต้นและใบทองพันชั่ง ลำต้นหรือรากเถาวัลย์ยั้ง ลำต้นข่อยน้ำ และลำต้นหรือรากขันทองพยาบาท ต้มน้ำดื่มแก้มะเร็ง

อีกตำรับของพ่อหมอขาว ขมวดทรัพย์ 20 ม.5 บ้านห้วยวังปลา ต.ศรีธาตุ อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี เป็นตัวยาแก้โรคกระเพาะอาหาร ประกอบด้วยยาหัวต้น (ข้าวเหนียวเหนือ) ,ยาหัวค้อนกระแต (ข้าวเหนียวใต้) , รากหิ่งโห่ ว่านพระอินทร์ , หัวสับปะรด (ราก) ,ผักชีช้าง นำสมุนไพรทั้งหมดนี้มาตากแดดให้แห้ง และเลือกเอาสมุนไพรจำนวนเท่าๆกันมามัดรวมกันแล้วต้มดื่ม เช้า-เย็น

ศิริพร กลมกล่อม เรื่อง - ภาพ

วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ว่านสาวหลง หลงกลิ่นเจ้าเฝ้ารำพัน







ไหนๆก็ไหนๆพูดถึงเรื่องว่านแล้วก็ต่อไปเรื่อยๆแล้วกัน บางคนเรียกเครือเขาหลงว่าว่านสาวหลง แต่ว่านสาวหลงที่ใช้ในกลุ่มเวชสำอางค์สมุนไพร จะเป็นตัวนี้ เราเจอว่านสาวหลงครั้งแรกที่งานมหกรรมแพทย์แผนไทยน่าจะปีสองปีมาแล้ว คนขายบอกว่าจุดสังเกตง่ายมากจับดูใต้ท้องใบจะนิ่มๆ และขยี้ใบดูจะหอมเย็นดมแล้วชื่นใจ กลิ่นของเค้านี้เองที่ทำให้สาวๆหลงไหล มักใช้เป็นมวลสารหุงเป็นน้ำมันในกลุ่มวัตถุมงคล แต่ถ้าไปเดินตามป่าเห็นต้นคล้ายว่ายสาวหลงลูบใต้ท้องใบนิ่มคล้ายกันบางทีอาจเป็นต้นข่าคม ต้องแยกกันที่กลิ่น ลักษณะดอกและผล งานมหกรรมแพทย์แผนไทยที่เมืองทองปีที่แล้วมีคนสกัดว่านสาวหลงเป็นน้ำมันหอมระเหยเป็นเรื่องเป็นราว ปีนี้ใครว่างไปดูได้ งานมหกรรมแพทย์แผนไทยที่เมืองทองเริ่มตั้งแต่วันที่๒-๖กันยายน ๒๕๕๒
ว่านสาวหลง





ชื่ออื่นๆ ว่านฤาษีผสม ว่านฤาษีสร้าง
ชื่อพฤกษศาสตร์ Amomum biflorum Jack
วงศ์ ZINGIBERACEAE
ว่านสาวหลงมีต้นและใบเหมือนต้นข่า แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก ต้น ไม้เนื้ออ่อน อายุหลายปี มีเหง้าทอดเลื้อย ต้นเทียมเกิดจากกาบใบอัดกันแน่น ใบ เดี่ยว เรียงสลับ ใบเป็นรูปใบหอกแคบ ปลายใบเรียว แหลม ขอบใบบิด ใบสีเขียว กลางใบสีแดงเรื่อๆ ใบมีขนนุ่มปกคลุม ดอกช่อ ปลายช่อโค้ง กลีบปากสีเหลือง ดอกย่อย สีเหลือง ก้านดอกยาว ผล เป็นช่อคล้ายช่อพริกไทย การขยายพันธุ์ แยกกอ เพาะเมล็ด ประโยชน์ ปลูกไว้กับบ้านเป็นมงคล เป็นว่านเมตตามหานิยม





สรรพคุณ สกัดทำน้ำมันหอม ใช้เป็นสมุนไพร ทาตามตัวให้เป็นเสน่ห์ ต้ม อบ หรืออาบสมุนไพร บำรุงผิวพรรณ เหง้า ขับลมในลำไส้ ทุกส่วนกลิ่นหอมแรง ว่านสาวหลงชอบขึ้นตามป่าที่ชุ่มชื้น มีแสงแดดรำไร





ความเชื่อ





เป็นว่านทางเสน่ห์เมตตามหานิยม โบราณว่ามีค่าพันตำลึง ผู้ที่ปลูกไว้มักหวงแหนมา ให้ผลดีทางด้านชู้สาวและค้าขาย อีกทั้งไม่มีพิษภัยสามารถใช้เป็นส่วนผสมของน้ามันว่านต่างๆ สีผึ้ง ใช้พกติดตัว
ศิริพร กลมกล่อม เรื่อง - ภาพ

วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2552

อาลัย(ต้น)ลาน

ต้นลาน

ต้นลาน เห็นกระจัดกระจายทั่วไปตามข้างทางในเขตตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี

เห็นช่อดอกลานเด่นมาแต่ไกลตอนแรกนึกว่าต้นสน ฝอยดอกลานสวยไม่ง่ายที่จะได้เห็น
ส่วนสีดำของกาบใบลานเป็นส่วนที่แข็งมากถ้าใช้มีดฟันถึงกับบิ่นเป็นส่วนที่พระภิกษุใช้ทำคันกรดมีความแข็งทนทานมาก
วิธีการหมักเมล็ดลานของอุทยานแห่งชาติทับลานต้องหมักทิ้งไว้จนมันเน่าและงอกราก เวลานำต้นลานลงถุงปลูกต้องหงายส่วนเมล็ดที่มีรากงอกขึ้นข้างบนเพราะจะเป็นส่วนที่ต้นอ่อนจะงอกขึ้นมา กล้าของต้นลานที่ทางอุทยานแห่งชาติทับลานเพาะไว้เพื่อปลูกคืนสู่ป่าในวันที่ ๒๖ มิถุนายน นี้
นิราศลาน
แสนอาลัยใจหายเสียดายนัก

เห็นลานปักช่อชูพู่ไสว

เป็นสัญญาณว่าต้นลานนั้นต้องตาย

ทิ้งลูกไว้ก่อนจากเหมือนฝากลา

โอ้ลานรักลานร้างต้องห่างเจ้า
เคยแผ่กิ่งทิ้งเงาเจ้าเปิดเผย
มีประโยชน์มากมายไฉนเลย
โอ้ลานเอ๋ยถึงคราวลาน้ำตาริน
เมื่อวานเรามีโอกาสได้ไปที่อุทยานแห่งชาติทับลานเพื่อติดต่อราชการ
พอข้ามเขตวังน้ำเขียวเข้าสู่เขตตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี สองข้างทางจะพบเห็นต้นลานเรียงราย หลายต้นตั้งช่อชูไสวสวยงามมาก ถ้าใครเคยได้ยินเรื่องของต้นลานมาบ้าง จะพบว่าต้นลานเป็นไม้อาภัพ หลังจากที่ยืนต้นประมาณ ๖๐-๘๐ ปีเมื่อไหร่ที่ออกดอกและมีลูก ลานต้นนั้นจะตาย อุทยานแห่งชาติทับลานถือเป็นป่าลานผืนใหญ่ป่าสุดท้ายของโลก เนื่องจากลูกลานมีน้ำหนักมากนกไม่สามารถคาบไปกินเพื่อขยายพันธุ์ได้ เว้นก้อแต่ค้างคาว ดังนั้นการจะขยายพันธุ์ต้นลานเพื่อให้แพร่ไปยังถิ่นอื่นต้องอาศัยเพียงคนเท่านั้นที่จะนำพาไป
วันนี้ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๒ อุทยานแห่งชาติทับลานมีโครงการคืนต้นลานสู่ป่า ซึ่งถือเป็นความพยายามของหน่วยงานภาครัฐร่วมกับเอกชนในการแพร่ขยายพันธุ์ลานกลับสู่ธรรมชาติ ใครที่สนใจสร้างโลกสีเขียวช่วยต้นลานให้แพร่ลูกหลานต่อไป แต่ไปไม่ทันงาน สามารถไปติดต่อกับทางอุทยานให้ช่วยพาไปเก็บเมล็ดลานเอาไปปลูกได้ปีนี้ลานมีลูกน้อยแต่ก้อคงได้เป็นรถปิคอัพถ้าเราต้องการ ช่วยๆกันนะคะ ปลูกลานวันนี้เพื่อลูกหลานของเราเพื่อโลกของเรา
ลานหรือไม้ลาน
เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่อยู่ในตระกูลปาล์ม เป็นพันธุ์ไม้ดึกดำบรรพ์ ที่ไม่ขึ้นแพร่หลายนัก มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาและแถบเมดิเตอร์เรเนียน ส่วนใหญ่จะชอบขึ้นอยู่ในที่มีอากาศชื้นเย็น มีฝนตกมาก ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีที่สุด ในดินที่มีความชื้นสูง ดินมีการระบายน้ำได้ดี ไม่ชอบน้ำขัง ต้นลานมีความคงทนต่อภัยธรรมชาติเป็นอย่างดี ต้นเล็กถึงแม้จะถูกไฟไหม้ก็จะงอกขึ้นได้ในโอกาสต่อไป เพราะรากของต้นลาน ฝังลงในดินลึกมาก ต้นลานที่พบในประเทศไทยมี 3 ชนิดคือ 1.Corypha lecomtei มีชื่อสามัญเรียกว่า ลานป่า Lan pa ในธรรมชาติพบในประเทศเวียดนามและประเทศไทย แต่ไม่ใหญ่เท่าชนิดที่ 3 ในเวียดนามและไทยนิยมนำมาใช้เขียนหรือจารึกอักษร ลานชนิดนี้พบมากที่บ้านทับลาน บ้านขุนศรี บ้านวังมืด ตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี บ้านท่าฤทธิ์ ตำบลวังม่วง อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี บริเวณผานกเค้า อำเภอผานกเค้า จังหวัดขอนแก่น นอกจากนี้ยังพบ ทั่วไปบริเวณจังหวัดลพบุรี , ตาก ,พิษณุโลก,นครปฐม ลานชนิดนี้มีอยู่ในอุทยานแห่งชาติทับลาน จัดว่าเป็นพันธุ์ไม้ดั้งเดิมของไทย 2.Corpha utan มีชื่อพ้องคือ Corypha elata ชื่อสามัญเรียกว่า ลานพรุ Lan phru หรือ ebang Palm ชอบขึ้นตามแนวชายฝั่งแม่น้ำหรือในพื้นที่ชุ่มน้ำมีการกระจายตั้งแต่อินเดียจนถึงฟิลิปปินส์ และทางตอนเหนือของออสเตรเลียในประเทศไทยพบมากในแถบภาคใต้เขตอำเภอเชียรใหญ่และอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอระโนด จังหวัดสงขลาและตามเส้นทางจากจังหวัดกระบี่ถึงพังงา ลานพรุมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากลานชนิดอื่น คือ ลำต้นสูงคล้ายต้นตาลขึ้นอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากตามที่ราบท้องทุ่ง แม้พื้นที่น้ำท่วมขัง 3. Corepha umbraculifera เป็นปาล์มที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีชื่อสามัญว่า ลานวัดหรือลานหมื่นเถิดเทิง หรือ Fan palm, Lontar palm, Talipotpalm ลานชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในศรีลังกาและอินเดีย จนเป็นต้นไม้ประจำชาติของศรีลังกา ประเทศไทยไม่พบในธรรมชาติ แต่มีการนำเอามาปลูกในภาคเหนือของประเทศไทย ลานถือได้ว่าเป็นไม้เศรษฐกิจประเภทหนึ่งของไทย โดยอาศัยผลผลิตที่ได้จากต้นลาน นำมาใช้ประโยชน์เพื่อการดำรงชีวิต ทั้งด้านอุปโภคและบริโภค นับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ส่วนต่าง ๆ ของต้นลานที่นำมาใช้ประโยชน์ได้แก่
1. ยอดลานอ่อน (ใบลานอ่อน) เป็นที่จารึก หนังสือพระธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา โดยการใช้เหล็กแหลมจารบนใบลานแล้วใช้ยางรักทา เอาทรายลบยางรักจะแทรกในตัวหนังสือที่จารเป็นเส้นดำ หรือจะใช้เขม่าไฟแทนก็ได้ เรียกหนังสือใบลานเหล่านี้ว่า "คัมภีร์ใบลาน" นอกจากนี้ ยังนิยมนำมาพิมพ์เป็นการ์ด นามบัตร ที่คั่นหนังสือต่าง ๆ ใช้จักสานทำผลิตภัณฑ์ของใช้ อาทิ เช่น หมวก งอบ พัด กระเป๋า เสื่อ ภาชนะในครัวเรือน เครื่องประดับตกแต่งบ้าน เช่น โมบายรูปสัตว์ ปลาตะเพียน ฯลฯ ส่วนภาคใต้นำยอดลานพรุ มาฉีกเป็นใบ สางออกเป็นเส้น ปั่นเป็นเส้นยาวคล้ายด้าย นำไปทอเป็นแผ่น เรียกว่า ห่งอวนหรือหางอวน ทำเป็นถุงรูปสามเหลี่ยมสำหรับไว้ต่อปลายอวน ใช้เป็นถุงจับกุ้งและเคยสำหรับทำกะปิ สานเป็นถุงใส่เกลือ วองใส่ยาเส้นและซองใส่แว่นตา
2. ใบลานแก่ ใช้มุงหลังคาและทำผนังหรือฝาบ้าน บางแห่งใช้ใบลานเผาไฟเป็นยาดับพิษอักเสบฟกช้ำบวมได้เป็นอย่างดี ซึ่งเรียกทั่วไปว่า "ยามหานิล"
3. ก้านใบ ใช้ทำโครงสร้าง ไม้ขื่อ ไม้แป และผนัง บางแห่งใช้มัดสิ่งของแทนเชือกเหนียวมาก ส่วนกระดูกลาน (ใกล้กับบริเวณหนามแหลม) มีความแข็ง และเหนียวมากกว่าส่วนอื่นของก้านใบ ใช้ทำคันกลดพระธุดงค์ นอกจากนี้ยังใช้ทำขอบภาชนะจักสานทั่วไป เช่น ขอบกระด้ง ตะแกรง กระบุง ตะกร้า เป็นต้น
4. ลำต้น นำมาตัดเป็นท่อน ๆ สำหรับนั่งเล่นหรือใช้ตกแต่งประดับสวน ทำฟืนเป็นเชื้อเพลิงหุงต้ม ภาคใต้บางแห่งใช้ทำครกและสาก
5. ผล ลูกลานอ่อนนำเนื้อในมารับประทานแบบลุกชิดหรือลูกจาก ส่วนเปลือกรับประทานเป็นยาขับระบายดี บางแห่งใช้ลูกลานทุบทั้งเปลือก โยนลงน้ำทำให้ปลาเมา แต่ไม่ถึงตาย สะดวกแก่การจับปลา
ศิริพร กลมกล่อม เรื่อง - ภาพ

วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552

อีโก่ยองุ่นป่าที่ฉันตามหามานาน

ขนุนดินพืชกาฝากที่ขึ้นกับรากอีโก่ย


อีโก่ยหรือองุ่นป่ากำลังออกช่อ ต้นนี้อยู่ที่ส่วนลุงโชค จอมปราชญ์แห่งอำเภอวังน้ำเขียว




ลักษณะโค่นต้นขององุ่นป่ากว่าจะตามรอบเค้าเจอ



ใบและช่ออ่อนขององุ่นป่า
องุ่นป่าช่อนี้ยังไม่ทันสุก
เรารู้จักองุ่นป่าเป็นครั้งแรกเพราะเดินป่าไปเจอขนุนดินซึ่งเป็นพืชเบียนรากหรือพืชกาฝากที่อาศัยดูดน้ำเลี้ยงของพืชอื่น ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าทำไมขนุนดินถึงไปเกิดได้มีข้อสันนิฐานแต่เพียงว่าอาจเป็นเพราะสัตว์ป่าที่คุ้ยเขี่ยอาหารแล้วนำสปอร์(เรียกถูกป่ะไม่รู้)ของขนุนดินติดไปด้วย พอบังเอิญไปขุดขุยดินจนรากของต้นไม้เกิดเป็นแผลสปอร์ของขนุนดินจึงฝังตัวและเกิดที่ต้นไม้นั้น แต่ไม่ใช่ว่าขนุนดินจะขึ้นได้กับไม้ทุกต้น มีเพียงบางต้นเท่านั้นที่เหมาะแก่การอิงอาศัยของขนุนดินและหนึ่งในนั้นคือองุ่นป่ารึอีโก่ยนั่นเองที่ขนุนดินจะชอบไปขึ้นที่ราก จึงเป็นที่มาที่ทำให้เราสนใจอยากรู้ว่าองุ่นป่าหน้าตาเป็นยังงัย แต่การดูต้นไม้ในป่าที่สมบูรณ์นั้น บางทีไม่ง่าย อย่างขนุนดินเค้าเป็นไม้เถาพอเวลาที่ขึ้นในป่ารกทึบไม่เรือนยอดสูงๆ เค้าก็ต้องพยายามเลื้อยขึ้นไปเหนือเรือนยอดของไม้นั้นเป็นอันว่าเราจะไม่เห็นหน้าตาเค้าหรอก
องุ่นป่า
ชื่อสามัญ Common name : องุ่นป่า , เถาเปรี้ยว ชื่อวิทยาศาสตร์ Sciencetific name : Ampelocissus martinii Planch. ชื่อวงศ์ Family name: VITACEAE (VITIDACEAE) ชื่ออื่น Other name: เครืออีโกย (อีสาน) กุ่ย (อุบล) เถาวัลย์ขน (ราชบุรี) ส้มกุ้ง (ประจวบฯ)ตะเปียงจู องุ่นป่า (สุรินทร์)

ลักษณะทั่วไป : ไม้เลื้อยล้มลุก หลายฤดู ลำต้น ไม่มีเนื้อไม้ ใบ เดี่ยวรูปหัวใจเว้าลึกเป็น 5 พู ผิว ใบอ่อนมีขน เป็นเส้นใยแมงมุมปกคลุม มีขนอ่อนสีชมพูที่มีต่อมแซม (glandularhair )ขอบใบหยักฟันเลื่อย ดอก ออกเป็นช่อแบบพานิเคิล (panicle) ดอกย่อยมีขนาดเล็กสีชมพูอ่อน กลีบดอก 4 กลีบ การขยายพันธุ์ ด้วยเมล็ดหรือแตกยอดใหม่จากเหง้าใต้ดิน นิเวศวิทยาและการแพร่กระจาย พบทั่วไปตามป่าเบญจพรรณในที่ร่มชื้น เถาจะงอกในช่วงฤดูฝน ประโยชน์และความสำคัญ ทางอาหาร ยอดอ่อน รับประทานเป็นผักสดมีรสหวานอมเปรี้ยว ผลอ่อนต้มตำน้ำพริก หรือใส่ส้มตำ เพราะมีรสเปรี้ยว ถ้ารับประทานดอกมากจะทำให้ระคายคอ ชาวบ้านจะจิ้มเกลือก่อน รับประทานจะลดอาการระคายคอหรือนำผลสุกมาตำใส่ส้มตำ ที่มา : สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล
นอกจากนี้จากคุณสมบัติที่ทนทานและหากินเก่งขององุ่นป่าจึงมีการนำมาเป็นต้นตอขององุ่นพันธุ์ต่างๆ ซึ่งก็จะช่วยให้องุ่นป่าของเราไม่สูญพันธุ์ไป
สรรพคุณ
ยาพื้นบ้านอีสานใช้ รากฝนดื่มแก้ไข้ ผสมลำต้นหรือรากรสสุคนธ์ เหง้าสัปปะรด ลำต้นไผ่ป่า ลำต้นไผ่ตง งวงตาล เปลือกต้นสะแกแสง ลำต้นหรือรากเถาคันขาว ผลมะพร้าว ลำต้นรักดำ ลำต้นก้อม ลำต้นโพ หญ้างวงช้างทั้งต้น รากกระตังบาย เปลือกต้นมะม่วง ลำต้นหนามพรม รากลำเจียก ลำต้นอ้อยแดง ลำต้นเครือพลูช้าง เหง้าหัวยาข้าวเย็นโคก และเปลือกต้นกัดลิ้น ต้มน้ำดื่ม รักษาฝีแก้อาการบวม
ศิริพร กลมกล่อม เรื่อง - ภาพ


ฝอยลมเจ้าปลิวไปตามลมเกาะอยู่ตามไม้ใหญ่ในป่าดิบชื้น

ฝอยลม





ไม้ยืนต้น ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สังเกตดีๆจะเห็นกระจุกของฝอยลมเกาะอยู่เป็นระยะๆทั้งต้น

ฝอยลมที่อาศัยอยู่กับเปลือกต้นไม้ใหญ่

ฝอยลมเกาะกิ่งไม้ความเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ

กิ่งไม้น้อยๆก้อยังมีเจ้าฝอยลมเกาะเกี่ยว
ฝอยลมตากแห้งที่พร้อมเอามาปรุง


ความฝันของคนที่สนใจเรื่องสมุนไพรคืออยากเห็นต้นจริงๆของสมุนไพรต่างๆ ช่วงที่ผ่านมาอยากเห็นฝอยลมมาก เห็นพวกหมอพื้นบ้านบอกว่าพวกที่หาสมุนไพรจะต้องใช้หนังสติ๊กยิงให้ตกลงมาเพราะอยู่สูงมากเราก้อเริ่มรู้สึกว่ามันคงยากที่จะได้เห็นแต่ก้อไม่ละความพยายาม จนมีโอกาสได้เจอกับลุงล้วนนักอนุกรมวิธานแห่งเขาใหญ่ ท่านบอกว่าฝอยลมอยู่กับต้นไม้ที่ไม่สูงก้อมี แทบจะกระโดดด้วยความดีใจ ให้ลุงล้วนพาไปดูทันที ไม้ในป่าเขาใหญ่มีเสน่ห์มากเป็นการพึ่งพากันของมอส เฟิรน ไลเคน ทุกๆต้นจะมีสีเขียวของไม้เล็กๆโอบคลุมอยู่บ่งบอกถึงความชุ่มชื้นของอากาศและความสมบูรณ์ของธรรมชาติเป็นอย่างดี


ฝอยลม
ชื่ออื่น หญ้าพองลม ปู่เจ้าลอยท่า
ลักษณะ ฝอยลมเป็นพืชตระกูล ไลเคน เป็นพืชที่ขึ้นในที่มีอากาศชื้นสูงและบริสุทธิ์มากๆ ลักษณะจะเป็นฝอยสีเขียวอ่อน เกาะตามกิ่งไม้ ฝอยลมนี้ สามารถใช้เป็นเครื่องวัดความบริสุทธิ์ของอากาศได้เป็นอย่างดี ถ้าที่ใดมีฝอยลมอยู่ แสดงว่าที่นั้นมีอากาศที่บริสุทธิ์มาก จะพบเห็นฝอยลมเกาะตามกิ่งไม้และไม้ใหญ่ไม้ยืนต้นในป่าดิบชื้น ในโคราชพบได้ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
สรรพคุณ
ทั้งต้น รสจืดเย็น ดับพิษ ถอนพิษ แก้ไข้ตัวร้อน แก้ร้อนใน กระสับกระส่าย หมอพื้นบ้านใช้แก้โรคกระเพาะอาหาร โรคเบาหวาน แก้ไซนัสอักเสบ
แต่ในความเห็นของเราคิดว่าสมุนไพรที่หายากๆหรือมีน้อยควรเอาไว้ใช้ในตำรับที่มีความจำเป็นมากๆ แต่บางตำรับที่หายาตัวอื่นทดแทนได้อยากให้เลือกใช้สมุนไพรที่หาง่ายๆว่านี้ เพราะฝอยลมมีขนาดเล็กนิดเดียวกว่าจะพอได้ต้มซักหม้อหนึ่งคงหมดไปครึ่งค่อน
อย่าลืมว่า"ทรัพยากรธรรมชาติมีเพียงพอสำหรับคนทุกคนบนโลกนี้ แต่ไม่พอสำหรับคนโลภเพียงคนเดียว"
เรายังมีลูกหลานของเรา และลูกหลานของคนอื่นๆที่จะต้องอาศัยโลกนี้ต่อไปจากเรา คิดถึงพวกเค้ามากๆ เหลือทรัพยากรไว้ให้พวกเค้าได้ใช้บ้าง

ศิริพร กลมกล่อม เรื่อง - ภาพ