วันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ส้มป่อยกับน้ำตาของการสูญเสีย

ขอยืมรูปจากเวปไซด์คนอื่นละกัน เพราะต้นของเราโดนจนกุดเลย
ส้มป่อย



เรากับส้มป่อยมีอดีตร่วมกัน ตอนอยู่สถานีอนามัยที่อยู่บนเขาชัยภูมิ มีต้นส้มป่อยเกิดขึ้นเองข้างรั้วอนามัยเป็นพุ่มเรื่อยยาวไปถึงวัด ผู้เฒ่า ผู้แก่ จะแวะเด็ดฝักใส่ขันไปทำน้ำมนต์รดเป็นศิริมงคลของชีวิต เราเห็นเค้ายืนพุ่มอยู่อย่างนั้นเป็นเหมือนเพื่อนรักที่คุ้นเคย

เป็นธรรมดาของการทำงานร่วมกันที่ผู้ร่วมงานอาจไม่พอใจกันบ้าง ผู้ร่วมงานของฉันทุกครั้งที่ไม่พอใจฉัน เค้าจะไปตัดต้นส้มป่อนจนเหี้ยนเตียน แต่ธรรมชาติไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ ต้นส้มป่อยแตกยอดแผ่กิ่งใบครั้งแล้วครั้งเล่า จนครั้งสุดท้ายลูกน้องที่เป็นอสมใมบอกว่าพี่โอ่งเที่ยวนี้เค้าตัดและจุดไฟสุมตอเลย มันคงขึ้นอีกไม่ได้แล้ว ฉันทรุดลงร้องไห้โฮอยู่ตรงบันไดอนามัย เป็นความสะเทือนใจที่เกินบรรยาย มันบอกไม่ถูก มันสูญเสีย นึกเห็นภาพผู้เฒ่าผู้แก่ที่คุ้นชินกับการเก็บส้มป่อยแล้วสะเทือนใจมาก เดินดูร่องรอยของการทำลายด้วยหัวใจที่แตกสลาย

พอมาอยู่ที่ใหม่ส้มป่อยต้นใหญ่งามขึ้นพันต้นสะเดาอยู่หน้าตึกทำงาน แต่มีคนเลวโกรธใครก้อไม่รู้ฟันมันทิ้งอีก และทุกครั้งที่เค้าพยายามขึ้นใหม่ก้อมีร่องรอยการตัดจนกุดแล้วกุดอีก ฉันต้องสะเทือนใจกับภาพแบบนี้อีกนานเท่าไหร่ และทำไม....
จุดสังเกตุ คือ ต้นส้มป่อนจะคล้ายต้นชะอมแต่ยอดอ่อนมีสีแดงชิมดูมีรสเปรี้ยว

ส้มป่อย หรือ ส้มขอน (ภาคกลาง) ส้มป่อย (ภาคเหนือ) ส้มใบ ส้มป่อย (ภาคใต้) หม่าหัน
ชื่อวิทยาศาสตร์: Acacia concinna (Willd.) DC.
วงศ์: Leguminosae-Mimosoideae
ลักษณะวิสัย: ส้มป่อยเป็นไม้พุมรอเลื้อยขนาดใหญ่ ตามลำต้นกิ่งก้าน มีหนาม ใบเป็นใบประกอบ แบบขนนกสองชั้นใบย่อยรูปขอบขนาน ปลายและโคนใบมน ดอกมีขนาดเล็กเป็นช่อ กลมเป็นพู่เหมือนดอกกระถิน ออกตามปลาย กิ่ง ฝักแบนยาว คล้ายถั่วลันเตา สีน้ำตาลดำ
ขอบเป็นคลื่น ผิวย่น มีสารกลุ่มซาโปนินสูงถึง 20 % ตีกับน้ำจะเกิดฟองคงทนมาก ขยาย พันธุ์ด้วยเมล็ด
ตำนาน
นิทานจากพรหมจักรชาดก ชาดกล้านนาซึ่งแปลงมาจาก รามเกียรติ์ที่ได้กล่าว ถึงความสำคัญของส้มป่อยว่า ครั้งหนึ่ง มีควายชื่อทรพี คิดอยากเอาชนะพ่อ จึงท้าชนทรพาผู้พ่อ ทั้งสอง ต่อสู้กันจนเวลาล่วงเลย ฝ่ายทรพีเพลี่ยงพล้ำถูกทรพาไล่ขวิดจนถอยร่นไปไกล ขณะนั้นเองทรพี ได้ถอย ไปชนต้นส้มป่อยที่กำลังออกฝักอยู่ ด้วยกำลังที่ชนอย่างแรงทำให้ฝักส้มป่อยหล่นลงมาถูกหัวทรพี ทันใดนั้น กำลังที่เคยอ่อนล้าหมดแรง เกิดฮึกเหิมเพิ่มขึ้น ได้ทีทรพีจึงถาโถมเข้าชนทรพาอย่างเมามัน ผู้เป็นพ่อ เสียที หมดแรงถอยไปชนต้นมะขามป้อม ลูกมะขามป้อมหล่นถูกหัว เรี่ยวแรงที่อ่อนล้ายิ่งหมดไป จึงถูกทรพี ผู้เป็นลูกฆ่าตายในที่สุด
ชาวบ้านเชื่อว่า ส้มป่อยเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ ขจัดสิ่งเลวร้าย อัปมงคล เป็นการปลดปล่อยสิ่งไม่ดีให้หลุดพ้นจากชีวิต
คำว่า ส้ม หมายถึง เปรี้ยว
ป่อย หมายถึง ปลดปล่อย
ชาวบ้านจะเก็บฝักส้มป่อยในช่วงเดือน 5 เหนือ ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน ยิ่งถ้าเก็บในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ จะทำให้ได้ ส้มป่อยศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น
เมื่อได้เวลาเก็บ ชาวบ้านจะเลือกเก็บฝักส้มป่อยที่แก่จัด นำไปตากในกระด้งให้แห้งสนิท เก็บใส่ตะกร้า ไว้ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ทั้งพิธีมงคลและอัปมงคล ก่อนนำไปใช้จะนำฝักส้มป่อยไปผิงไฟพอให้สุก ส้มป่อยจะมี กลิ่นหอมเปรี้ยว จากนั้นหักฝักส้มป่อยเป็นชิ้นเล็กๆ แช่ในน้ำ จะได้น้ำส้มป่อยที่มีสีเหลืองอ่อนๆ สำหรับใช้ ในพิธีกรรมสำคัญ
น้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ชำระสิ่งชั่วร้าย จากพระสงฆ์หรือปู่อาจารย์ที่นับถือ นอกจากคาถาที่ร่ายเป่าลงไปแล้ว ในน้ำยังมีสิ่งสำคัญ ที่ก่อเกิดความเชื่อมั่นแก่ผู้ศรัทธา คือส้มป่อย เป็นส่วนผสมหนึ่งด้วย
พิธีการสำนึกบุญคุณและขอขมาผู้ใหญ่ที่นับถือ หรือการดำหัวในเทศกาลปี๋ใหม่เมือง ผู้น้อยถือขันข้าวตอก ดอกไม้ ธูป เทียน สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ น้ำส้มป่อย ที่ผู้ใหญ่ใช้ลูบหัวหลังเสร็จการให้พร แล้วสะบัดพรมให้ลูกหลาน เพื่อเป็นสิริมงคลทั้งตนเองและผู้ที่รัก
ประเพณีงานบุญที่พ่อแม่ทุกคนต่างรอคอยโอกาสสร้างกุศลใหญ่ เพื่อปรารถนาให้ลูกชายพาไปพบชีวิตที่ดี ในโลกหน้าคือการบวชลูกแก้ว (บวชพระหรือเณร) น้ำส้มป่อยก็เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการชำระล้างเนื้อตัว ให้บริสุทธิ์ก่อนเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ์ปฏิบัติธรรม
เหตุการณ์ที่ทุกคนไม่อาจหลีกพ้นได้ คือ ความตาย น้ำส้มป่อยก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในงาน ใช้อาบน้ำศพ เพื่อให้ผู้จากไปได้พบสิ่งดีสู่สุคติ นำร่างไปเผาที่ป่าช้า กลับมาผู้ที่ยังอยู่จะใช้น้ำส้มป่อยล้างมือ ลูบผมเพื่อป้องกัน สิ่งชั่วร้ายและไล่เสนียดจัญไรออกจากตัว ถ้าเป็นการเผาผีตายโหง ฝักส้มป่อยที่นำติดตัวสามารถล้างอาถรรพ์ จากผีไม่ให้ติดตามมาได้
การสืบชะตา สะเดาะเคราะห์ ประกอบพิธีไหว้ครู เช่น ครูซอ ครูหมอเมือง (หมอสมุนไพรพื้นบ้าน) หรืออื่นๆ ล้วนมีน้ำส้มป่อย เข้ามาช่วยให้ขลัง
ชาวบ้านยังมีความเชื่อว่า ถ้าใครไปทำสิ่งไม่ดีที่เรียกว่า ขึด ทำให้ตนเจอะเจอความชั่วร้าย ไม่เป็นมงคล สิ่งที่ช่วยให้บรรเทาเบาบางลงคือ น้ำส้มป่อย
ครูอาจารย์ ผู้มีเวทมนตร์คาถา ที่นั่งผีปู่ย่า (คนทรง) เมื่อทำผิดข้อห้ามของครูอาจารย์หรือบรรพบุรุษ ที่เรียกกันว่า ผิดครู น้ำส้มป่อยก็ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น และมีของดีในตัวได้ดังเดิม
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือ เช่น พระพุทธรูป พระเครื่อง ชาวบ้านจะนำน้ำส้มป่อยใส่น้ำอบน้ำหอม เพื่อสรงน้ำพระ ในวันปีใหม่เมือง เช่นกัน
ส้มป่อย เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ชอบขึ้นตามพื้นที่ลุ่มต่ำ ชื้นแฉะ ลักษณะใบคล้ายใบชะอม มีรสเปรี้ยว ชาวบ้านจะใช้ยอดอ่อนใส่แกงให้ได้รสเปรี้ยวแทนมะนาว ชาวบ้านนิยมใส่ในต้มส้มไก่เมือง ปลา หรือต้ม ส้มขาหมู จะได้รสชาติเปรี้ยวอร่อยและหอมกลิ่นส้มป่อย มีผลเป็นฝักแบนๆ เป็นข้อ คล้ายฝักฉำฉา หรือฝักกระถินเทศ แต่จะสั้นและบางกว่า จะมีหนามตลอดที่ต้นและกิ่งก้าน
สรรพคุณทางยา ต้น แก้น้ำตาพิการ ใบ แก้โรคตา เป็นยาถ่าย ขับเสมหะ ชำระเมือกมันใน ลำไส้ แก้บิดฟอกล้างประจำเดือน ดอก รักษาโรคเส้นพิการ ผล ใช้แก้น้ำลายเหนียว ราก ใช้แก้ไข้ ฝักแห้ง นำไปปิ้งให้เหลืองชงน้ำจิบแก้ไอและขับเสมหะ เป็นยาทำให้อาเจียน ใช้ฟอกผมแก้รังแค ช่วยให้ผมดกดำ เป็นเงางาม ไม่แตกปลาย แก้ไข้จับสั่น แก้โรคผิวหนัง เมล็ด นำไปคั่วแล้วบด ให้ละเอียดใช้นัตถุ์ให้คันจมูก ทำให้จามดี ส่วนใบ ตำให้ละเอียดใช้ประคบช่วยคลายเส้นได้
ข้อมูลจากนิตยสารหมอชาวบ้านได้กล่าวถึงส้มป่อยไว้อย่างละเอียด ทำให้เรารับรู้ถึงความผูกพันที่ชาวบ้านมีกับส้มป่อยตั้งแต่เกิดจนตาย คงไม่เกินเลยไปถ้าเราจะร้องไห้เพราะส้มป่อยกอนั้นด้วยความรู้สึกผูกพันทางจิตวิญญาณจริงๆ ลองอ่านกันดู
สมุนไพรมงคล ขับพ้นสิ่งชั่วร้าย คนไทยใหญ่ใช้ฝักส้มป่อยในพิธีกรรมหลายอย่างโดยเฉพาะงานสะเดาะเคราะห์ เพราะเชื่อว่า ส้มป่อยเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ ช่วยขจัด ปลดปล่อยความโชคร้าย เคราะห์กรรม ความอัปมงคล ให้หลุดพ้นจากชีวิต ถ้าคนไหนไม่สบายใจ ไม่สบายตัว เจ็บไข้ เขาจะเอาส้มป่อยมาต้มอาบ หรือล้างหัว ล้างหน้า ถ้าไปดูดวงแล้วดวงตกหรือโชคไม่ค่อยดี เขาก็จะอาบน้ำส้มป่อย ถ้าเจอผีก็อาบส้มป่อย พิธีรดน้ำมนต์ส่วนมากก็ใช้น้ำฝักส้มป่อย นอกจากนี้ งานมงคลสำคัญของชาวไทยใหญ่ เช่น งานบวชลูกแก้ว (บวชพระหรือเณร) น้ำส้มป่อยก็เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการชำระล้างเนื้อตัวให้บริสุทธิ์ก่อนเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วไทยใหญ่เรียกส้มป่อยว่า หมากขอน หม่าหันหม่าหัน...ตำนานแม่นากภาคไทยใหญ่มีนิทานพื้นบ้านที่เกี่ยวกับหม่าหันว่า กาลครั้งหนึ่ง มีผัวเมียข้าวใหม่ปลามันคู่หนึ่ง ตั้งบ้านเรือนอยู่ท้ายหมู่บ้าน ผัวต้องออกตระเวนไปค้าขายต่างถิ่น ในขณะที่เมียกำลังตั้งท้อง ต่อมาเมียก็คลอดลูกตาย ขณะที่เพื่อนบ้านจะเคลื่อนย้ายศพของเมียไปฝังที่ป่าช้านั้น ร่างคนตายก็ร่วงลงมาตรงบันไดบ้าน ตามธรรมเนียมชาวไทยใหญ่เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ หมายถึง ผู้ตายไม่อยากไปป่าช้า ชาวบ้านจึงนำศพฝังไว้ที่บ้าน เมื่อผัวกลับมาเป็นช่วงเวลากลางคืนก็พบเมียหุงหาสำรับกับข้าวไว้รอท่า ก็อยู่กินกันตามปกติ รุ่งขึ้นผัวออกไปพบชาวบ้านคนอื่นๆ ในหมู่บ้าน เพื่อนบ้านก็บอกว่าเมียแกคลอดลูกตาย แต่ชายหนุ่มหาเชื่อไม่ ปฏิเสธว่าไม่จริงก็ยังอยู่กินกันตามปกติ แต่เมื่อไปพบใครๆ ก็บอกเช่นนั้น จึงเริ่มสงสัยขึ้นมาบ้าง วันหนึ่งหลังกินข้าวเย็นเสร็จเรียบร้อย ผัวทำตะบันหมากตกลงไปใต้ถุนบ้านตั้งใจจะลงไปเก็บ เมียก็บอกว่าเดี๋ยวน้องไปเก็บให้ พอผัวคล้อยหลังได้เหลียวไปเห็นเมียเอาลิ้นไปม้วนเก็บตะบันตำหมากนั้นขึ้นมาบนเรือน พอแน่ใจแล้วว่าเมียของตนคงตายไปแล้วจริงๆ จึงออกอุบายบอกเมียว่าจะไปทำถ่ายเบาตรงนอกชาน แล้วรีบไปเจาะกระบอกไม้ไผ่ที่เก็บน้ำไว้ตรงนอกชานเพื่อให้เกิดเป็นเหมือนเสียงปัสสาวะ จากนั้นก็รีบวิ่งไปในหมู่บ้านแบบไม่คิดชีวิต เมียเมื่อเห็นผัวปัสสาวะไม่เสร็จเสียทีจึงออกมาดูก็พบว่าผัวไม่อยู่แล้ว จึงวิ่งออกไปตะโกนเรียกหา ส่วนผัวเมื่อรู้ว่าเมียตามมาจึงรีบหลบในพุ่มของหมากขอน (ส้มป่อย) เมียมองไม่เห็นผัวที่หลบอยู่ใต้พุ่มหมากขอน วิ่งมาจนถึงหมู่บ้านไปพบบ้านช่างตีเหล็กกำลังตีเหล็กไฟลุกโชนอยู่ จึงถามว่าเห็นผัวของฉันไหม ช่างตีเหล็กรู้ว่าผู้หญิงคนนี้ตายแล้ว จึงบอกว่า ก้มลงซิ เมื่อหล่อนก้มลง ช่างตีเหล็กก็ใช้ค้อนที่เผาไฟลุกแดงตีลงไป สาวเจ้าก็ได้กลายเป็นหิ่งห้อยลอยตามหาผัวต่อไป นับแต่นั้นมาคนไทยใหญ่ก็จะเรียกหมากขอนว่าหม่าหันซึ่งแปลว่าไม่เห็น หมายถึงผีมองไม่เห็นนั่นเอง และเชื่อว่าหิ่งห้อยคือวิญญาณของเมียที่ตามหาผัวของตนเอง นอกจากคนไทยใหญ่แล้วคนเฒ่าคนแก่ในภาคเหนือและภาคอีสานรวมถึงประเทศลาว ต่างใช้ฝักของส้มป่อยเพื่อปัดเป่าภัยร้ายเช่นกัน ดังเช่น ในวันสงกรานต์ที่คนโบราณเชื่อกันว่าเป็นวันที่มีอาถรรพ์แรง เพราะเศียรของท้าวผกาพรหมอาจหล่นมาสู่โลกเกิดไฟประลัยกัลป์ได้ จึงต้องมีการรดน้ำดำหัวกันด้วยน้ำฝักส้มป่อย เพื่อล้างอาถรรพ์สร้างสวัสดิมงคล ใช้ในพิธีเสริมสิริมงคล พิธีไหว้ครู สะเดาะเคราะห์ แก้อาถรรพ์ไล่ภูติผีปีศาจ ใช้ล้างมือ ล้างหน้า หลังจากกลับจากงานศพ หรือใช้อาบน้ำศพ เพื่อให้ผู้จากไปได้พบสิ่งดีสู่สุคติ หรือการนำฝักส้มป่อยติดตัวไปด้วยในงานเผาศพผีตายโหง เป็นต้นการเก็บฝักส้มป่อยที่จะนำมาใช้ในการทำพิธีกรรมต่างๆ นั้นต้องเก็บในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔ จึงจะศักดิ์สิทธิ์ หรืออย่างน้อยก็ต้องไปเก็บก่อนฟ้าร้อง หรือก่อนฝนตกลงมา เพราะหากฟ้าร้องฝนตกแล้วถือว่าไม่เป็นยา ไม่ขลัง ถือว่าข้ามปีไปแล้ว เมื่อได้เวลาเก็บ ชาวบ้านจะเลือกเก็บฝักส้มป่อยที่แก่จัด นำไปตากในกระด้งให้แห้งสนิท เก็บใส่ตะกร้า ไว้ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ก่อนนำไปใช้นิยมนำฝักส้มป่อยไปผิงไฟพอให้สุก ส้มป่อยจะมีกลิ่นหอมอมเปรี้ยว ผู้ที่เคยล้างหน้าหรืออาบด้วยน้ำส้มป่อยแล้ว ย่อมรู้สึกได้ถึงความมีสิริมงคล เพราะกลิ่นหอมแทรกรสเปรี้ยวของส้มป่อยช่วยให้สดชื่นฟื้นชีวิตชีวาขึ้นมาทันทีทันใด ส้มป่อย สมุนไพรแห่งการขอลดโทษ...ทางธรรมคนล้านนายังเชื่อว่าส้มป่อยเป็นสมุนไพรในการขอลดโทษทางธรรม กล่าวคือเมื่อทำผิดพลั้งไป เช่น ถ้าใครไปทำสิ่งไม่ดีที่เรียกว่า ขึด ทำให้ตนเจอะเจอความชั่วร้าย สิ่งที่ช่วยให้บรรเทาเบาบางลงคือ น้ำส้มป่อยหรือครูอาจารย์ ผู้มีเวทมนตร์คาถา ที่นั่งผีปู่ย่า (คนทรง) เมื่อทำผิดข้อห้ามของครูอาจารย์หรือบรรพบุรุษ ที่เรียกกันว่า ผิดครู น้ำส้มป่อยก็จะช่วยให้ของขลังของดีมีในตัวได้ดังเดิม ส้มป่อย สมุนไพรไล่เมฆมรสุม พายุร้ายนอกจากจะใช้ส้มป่อยในการปลดปล่อยสิ่งชั่วร้ายและสร้างสิริมงคลให้กับตัวเองแล้ว คนกะเหรี่ยงและคนพื้นเมืองหลายพื้นที่ในภาคเหนือ ในคราที่พายุลมแรง ฝนฟ้าคะนอง ฟ้าแลบ ฟ้าร้องเปรี้ยงปร้าง น่าหวาดกลัว เขาจะเผาฝักส้มป่อยให้เกิดเป็นควันโขมง สักพักทุกอย่างก็จะสงบลง ผู้ที่เคยเห็นเหตุการณ์ต่างยืนยันเช่นนั้น ส้มป่อย ยาสระผมธรรมชาติแชมพูสระผมปัจจุบันทำจากสารเคมี ไม่ว่าสูตรไหนๆ ก็จะมีสรรพคุณในการชำระล้างน้ำมันธรรมชาติของเส้นผมและหนังศรีษะ ทำให้ผมแห้ง เป็นรังแค ผมหงอกก่อนวัย สมัยก่อนคนในแถบเอเชียต่างใช้น้ำจากฝักส้มป่อยสระผมอันงามสลวย ปัจจุบันในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือยังมีการใช้อยู่ในทางชีวเคมี ฝักส้มป่อยมีสารกลุ่มซาโพนิน (Zaponin) หลายชนิด เช่น สารอะคาซินินเอ (Acacinin A) และสารอะคาซินินบี (Acacinin B ) รวมกันแล้วสูงถึงร้อยละ ๒๐ สารเหล่านี้เป็นแชมพูธรรมชาติที่เป็นกรดอ่อนๆ เหมาะที่จะใช้ในการสระผมอย่างยิ่ง ช่วยรักษารังแค ผมหงอกก่อนวัย เพียงนำฝักส้มป่อยมาหักกวนตีกับน้ำแรงๆ สารซาโพนินจะแตกฟองที่คงทนมากมีฤทธิ์ในการชำระล้างได้ดีโดยไม่ทำลายธรรมชาติของผมและผิวบนหนังศีรษะ การอาบหรือแช่น้ำส้มป่อยทั้งตัวจะช่วยให้ร่างกายสะอาดปราศจากคราบไคล ช่วยให้สดชื่น แก้ผดผื่นคันในหน้าร้อนและโรคผิวหนังได้หลายชนิด ไม่เพียงแต่ผิวกายและหนังศีรษะเท่านั้น น้ำส้มป่อยยังใช้แช่และขัดเครื่องทองให้เหลืองอร่ามสุกปลั่งเหมือนทองใหม่ได้อีกด้วยส้มป่อย สุดยอดผักกำจัดพิษ ช่วยแก้ไอ...สมุนไพรในยุคหวัด 2009ใบส้มป่อยและฝักใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญของยาอบ ผลจากการที่มีรสเปรี้ยวช่วยขับเหงื่อ ช่วยกำจัดสิ่งสกปรกออกจากร่างกายใบส้มป่อยยังใช้เป็นยาประคบ แทบทุกตำรับจะใช้ใบส้มป่อยเดี่ยวๆ หรือผสมสมุนไพรตัวอื่นใส่ในลูกประคบเพื่อแก้ปวดเมื่อย และยังนำใบส้มป่อยมาต้มดื่มได้น้ำต้มใบส้มป่อยมีรสเปรี้ยวเป็นยาสตรีช่วยถ่ายระดูขาว ฟอกโลหิตประจำเดือนให้งาม ช่วยล้างเมือกมันในทางเดินอาหารและใช้เป็นยาระบาย ช่วยกำจัดพิษออกจากระบบทางเดินอาหาร ช่วยลดน้ำหนักได้เช่นกัน นอกจากนี้ ความเปรี้ยวของส้มป่อยยังช่วยละลายเสมหะ แก้ไอได้อีกด้วยดังนั้นส้มป่อยจึงเป็นสมุนไพรกำจัดพิษแบบไทยๆ อย่างดีทีเดียว ที่น่าสนใจคือใบของส้มป่อยถือเป็นผักที่มีวิตามินเอและบีตาแคโรทีนสูงมากเป็นอันดับต้นๆ ผลจากการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของยอดส้มป่อยพบว่ามีสูงมาก นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่าสารซาโพนินในฝักส้มป่อยทำให้ทีเซลล์ (T cells) ทำงานได้ดีขึ้น ช่วยทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายดีขึ้นส้มป่อยเป็นยาตำรับยาแก้รังแค คันศรีษะ รักษาผมหงอกก่อนวัย นำฝักส้มป่อยที่ปิ้งไฟประมาณ ๑๐ ฝักต้มรวมกับลูกมะกรูดที่หมกไฟดีแล้ว ๒ ลูก ในน้ำ ๕ ลิตร ต้มเดือดจนแตกฟองดี แล้วนำมาใช้หมักและสระผมได้โดยไม่ต้องผสมกับแชมพูเคมีใดๆ เลย หากสระผมด้วยแชมพูธรรมชาติส้มป่อยสัปดาห์ละ ๒-๓ ครั้ง รับรองว่าอาการคันบนหนังศีรษะและรังแคจะหายไปเป็นปลิดทิ้งตำรับยาแก้ไอตำรับ 1 เอาเปลือกแช่น้ำกินทำให้ชุ่มคอแก้ไอได้ตำรับ 2 นำฝักปิ้งไฟให้เหลืองชงน้ำกินแก้ไอตำรับยาแก้ไข้ ท้องอืดใช้ยอดส้มป่อยต้มกินกับข้าวต้ม ตำรับยาแก้ฝีตำรับ ๑ นำยอดอ่อนของส้มป่อยมาตำรวมกับขมิ้นอ้อยใส่น้ำมันพืชเล็กน้อย หมกไฟพออุ่นและนำไปพอกจะช่วยแก้พิษฝี ทำให้ฝีแตกเร็วหรือยุบไปตำรับ ๒ ใช้รากฝนใส่น้ำปูนใสทาฝีตำรับยาแก้โรคตับใช้เปลือกต้มกิน ตำรับยาแก้ท้องร่วง ใช้รากส้มป่อยต้มน้ำดื่มอาหารจากส้มป่อย1. ต้มส้มป่อย (อุ้ยกำ จาอินต๊ะ สัมภาษณ์ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2552) ส่วนผสม ปลาช่อน 1 ตัวหั่นเป็นชิ้นใหญ่ ยอดส้มป่อย 1 กำ พริกสด 5 เม็ด กระเทียม 1 หัว ข่า 3 แว่น ตะไคร้ 1 ต้น เกลือ น้ำปลา วิธีทำ บุบพริกสด กระเทียม ตะไคร้ ลงในหม้อ ใส่น้ำครึ่งหม้อตั้งไฟให้เดือด ใส่ปลาลงไป ปรุงด้วยเกลือ น้ำปลา ใส่ยอดส้มป่อย สักพักยกลง กินได้2. แกงส้มปลาดุกใส่ยอดส้มป่อย (อุ้ยกำ จาอินต๊ะ สัมภาษณ์ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2552) ส่วนผสม ปลาดุก 1 ตัวหั่นเป็นชิ้นใหญ่ ยอดส้มป่อย 1 กำ เครื่องแกง (พริกสด 5 เม็ด ขมิ้น 3 แง่ง ตะไคร้ 1 ต้น หอมแดง 4 หัว กระเทียม 2 หัว รากผักชี 3 ต้น กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ) ผักชี ผักชีฝรั่ง ต้นหอม มะเขือเทศ น้ำมะนาว ผักสำหรับแกงส้ม (ผักบุ้ง หรือมะละกอ หรือผักกระดาด-ทางเหนือเรียกส้มตูน) วิธีทำ ตำเครื่องแกงให้ละเอียดผสมน้ำครึ่งหม้อ ตั้งไฟให้เดือด ใส่ปลาดุก ใส่น้ำมะนาวเพื่อดับกลิ่นคาวปลา ต้มให้ปลาสุก ใส่ผักสำหรับแกงส้ม ผักชีซอย ต้นหอมซอย มะเขือเทศ ยอดส้มป่อย ปรุงรสให้อร่อยยกลง กินได้3. แกงเขียดน้อยใส่ยอดส้มป่อย ยอดส้มป่อยแกงหรือต้มใส่อึ่ง ใส่เขียดเป็นอาหารเฉพาะถิ่นของคนอีสาน ดังคำที่คนอีสานพูดว่า "ข่อนสิแจ้ง ไปได้เขียดน้อยมาแกง มาต้ม ใส่ยอดส้มป่อยคักแท่ๆ" ส่วนผสม เขียดน้อย 1 ถ้วย ยอดส้มป่อย 1 กำ ปลาร้า เครื่องแกง (พริก 10 เม็ด กระเทียม 2 หัว ตะไคร้ 2 ต้น ใบมะกรูด 3 ใบ) วิธีทำ นำเขียดน้อยควักไส้แล้วล้างน้ำให้สะอาด เก็บยอดส้มป่อยมาล้างน้ำให้สะอาด ตำเครื่องแกงให้ละเอียด ต้มน้ำให้เดือดแล้วใส่เครื่องแกงลงไป ใส่เขียด เมื่อสุกนำยอดส้มป่อยใส่ลงไป แล้วปรุงรสด้วยน้ำปลา ปลาร้า ตามแต่ชอบ ซดน้ำร้อนๆ อร่อยมาก4. ข้าวผัดดอกส้มป่อยหรือข้าวผัดปลาส้มแม่ม่าย ส่วนผสม ดอกส้มป่อย กระเทียม เกลือ น้ำตาลทรายแดง ข้าวสวย น้ำมันพืช วิธีทำ นำดอกส้มป่อยมาล้างให้สะอาด จากนั้นแกะกระเทียมลงผัดในหม้อน้ำมันตามด้วยข้าวสวยและดอกส้มป่อย ปรุงด้วยเกลือ น้ำตาลทรายแดง จะมีสีชมพู มีรสเปรี้ยวนิดหน่อย เหมือนปลาส้ม จึงได้ชื่อว่าปลาส้มแม่ม่าย 5. ยอดส้มป่อยอ่อง ส่วนผสม ยอดส้มป่อย หอมแดง กระเทียม มะเขือเทศ พริกขี้หนู เกลือ น้ำตาลทรายแดง ปลา น้ำมันพืช วิธีทำ นำเอาหอมแดง กระเทียม มะเขือเทศ พริกขี้หนูกับนำมันพืช ใส่เกลือ น้ำตาลทรายแดง อุ๊บไว้ให้เครื่องสุก พอเครื่องสุกแล้วใส่น้ำต้ม จากนั้นเอาปลามาปิ้งให้สุกแล้วแกะเอาเนื้อปลาใส่ลงไปในหม้อต้ม (ปลานั้นจะเป็นปลาดุกย่างหรือปลาอย่างอื่นย่าง ปิ้ง ก็ได้ไม่บังคับปลา) จากนั้นพอรสชาติเข้าที่แล้วเอายอดส้มป่อยมาปิดใส่ลงไปในหม้อต้มเป็นอันเสร็จ