วันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ว่านมหาอุดม

ในกลุ่มที่เรียกกันว่าว่านดอกทองนั้น รวมเอาว่านมหาอุดมเข้าไปด้วยนับเป็นดอกทองชนิดหนึ่ง
"ว่านมหาอุดม ลักษณะทั่วไปเหมือนว่านพุทธกวัก ลำต้นสีเขียว ใบสีเขียวมีทางแดงตรงกลางเป็นเส้นเล็กๆ ดนื้อในหัวข้างข้างขาว
สรรพคุณ เป็นว่านที่มีมหานิยมแรงมากน้องๆดอกทอง ระวังอย่าให้ออกดอก จะเป็นมหานิยมเลยเถิด"

ว่านมหานิยมใหญ่

ตอนแรกที่เห็นเข้าใจว่าว่านต้นนี้เป็นไม้นอกใบด่างเอามาตั้งชื่อใหม่ แต่ปรากฎว่ามีบันทึกไว้ในตำราว่านเก่า
"ว่านมหานิยมใหญ่ ลักษณะ ใบเขียวและสั้นกว่าว่านปราบสมุทร แต่ยาวกว่าใบเปราะ มีสีขาววิ่งตามขอบใบ หัวติดกันเป็นพืดดังว่านปราบสมุทร เนื้อสีนวล
สรรพคุณ คงกระพันยิ่งนัก และใช้ทางเสน่ห์เมตตามหานิยมได้อย่างสำคัญยิ่ง"

ว่านดอกทองกระเจา

ว่านดอกทองมีการพูดถึงกันมากมายหลายชนิด ในตำราว่านเก่าๆ ก็มีเช่นกัน
"ว่านดอกทองกระเจา ลักษณะ ช่วงใบเล็กมีสีเขียวขนาดเดียวกับว่าเพชรน้อย ใบบางอ่อน มีสีเขียวอ่อนสลับกับสีเขียวแก่ ปลายใบแหลม ลำต้นเขียวเรียวเล็ก หัวเป็นไหลเล็กๆเท่ากับก้านไม้ขีด สีนวล  กลิ่นหอมเล็กน้อย
สรรพคุณ ใช้ในทางเสน่ห์มหานิยม ปลูกไว้กับบ้านเรีอนร้านค้าท่านว่าดีนักแล"

ว่านแก่นจันทร์

ต้นไม้มีชื่อ จัน จันทร์ หรือ จันทน์ มักใช้เรียกต้นไม้ที่มีกลิ่นหอม แน่นอนว่านชื่อนี้ย่อมมีจุดเด่นที่กลิ่นหอมนั่นเอง
"ว่านแก่นจันทร์ ลักษณะลำต้นและใบเหมือนข่าแต่เล็กกว่ามาก ใบลึกกว่าใบข่า ลำต้นกลมโตสีเม็ดมะขาม ดอกคล้ายดอกข่า โผล่ขึ้มาจากดินต่างหากจากต้น หัวคล้ายข่าแต่เล็กมากขนาดเท่าแกนดินสอดำ เนื้อในมีสรน้ำผึ้งเข้มๆ มีกลิ่นหอมดังกลิ่นธูปกระแจะ
สรรพคุณ ปลูกไว้กับบ้านเป็นสิริมงคลและเป็นมหาเสน่ห์ดีนัก ถ้ากินเข้าไปคงกระพันชาตรีมีกำลังฮึกเหิม"

ว่านพญาไก่ดำ

ว่านตระกูลไก่เป็นว่านเมตตามหานิยมค้าขาย ด้วยดูนิสัยไก่ที่ขยันหากิน
"ว่านพญาไก่ดำ ลักษณะใบเขียวมีเงาสีดำมัวๆคล้ายปีก ก้านเขียว โคนต้นสีม่วงดำ หัวกลมเป็นเลาะคล้ายหัวเฒ่าหนังแห้ง เนื้อในสีขาว รูปร่างลักษณะเหมือนขมิ้นเล็กๆ
สรรพคุณ ใช้เป็นเสน่ห์เมตตามหานิยมทางชู้สาวและเป็นคงกระพันชาตรีดีนัก"

ว่านไก่กุก

คำว่าไก่กุกนี้ใช้พูดถึง คาถา ไม้ และว่าน เป็นทางเสน่ห์เมตตามหานิยม
"ว่านไก่กุก ลักษณะ ใบ ลำต้น และหัว เหมือนกอกระชายใบเขียว หน้าใบมีขนอุยอ่อนทั้งใบ
สรรพคุณ ใช้ทางเสน่ห์เมตตามหานิยมอย่างยอดเยี่ยม พกหัวติดตัวไปเป็นที่รักใคร่ชื่นชมของผู้พบเห็น"

ว่านจังงัง

ว่านจังงัง เป็นว่านอีกตัวที่มีการเล่นหามาถึงปัจจุบัน หาไม่ยากไม่ง่ายนักในสายนักเล่นว่าน คำว่าจังงังเป็นคำโบราณ แปลว่า หยุด, นิ่งงัน, ตกตะลึง คนเมื่อก่อนจะมีคาถาเรียกว่า คาถา นะจังงัง มีมากมายหลายบทแล้วแต่เกจิ ดังที่ยกตัวอย่างมา
นะหลง นะไหล
นะจับจิต นะจับใจ
พิสมัยในมหานะ ระจุติ
ปฏิสนธิ บังเกิดเป็นนะ
อาคัจฉายะ อาคัจฉาหิ
ติวัตตัพโพ
เอหิจิตตัง ปิยะมะมะ
คาถานะจังงังมหาเมตตา คาถาบทนี้ต้องจุดธูป ดอกขณะท่องคาถา เเล้วเสกเป่าใส่เครื่องแป้งหอม
นำมาผัดหน้าทาตัวเพื่อให้เป็นมงคล เพื่อให้ดลบันดาลด้านเสน่เมตตา ให้คนรักคนหลง
ให้คนนิยมชมชอบในยามเเรกเห็น หรือจะใช้ คาถานะจังงังมหาเมตตา เสกใส่น้ำ ใส่ขนมหวาน ให้คนที่หมายปองดื่มกิน ก็ดีนัก


"ว่านจังงัง ลักษณะคล้ายว่านปราบสมุทร แต่ใบสั้นกว่า ขอบใบย่น หัวเป็นหวีเล็ก มีกลิ่นหอม เนื้อในนวล ใบอ่อนกว่าใบปราบสมุทร
สรรพคุณ  ปลูกไว้กับบ้านเป็นเมตตามหานิยม พกติดตัว สัตว์ไม่ทำร้ายและเป็นเสน่ห์ดียิ่งนัก และเป็นมหาจังงังแก่ศัตรูอีกด้วย"

ว่านฉิมพลี

เป็นชื่อที่ไม่ค่อยได้ยิน วิมานฉิมพลีคือยอดต้นงิ้วที่พญาครุฑพานางกากีไปเสพสุขกัน ฉิมพลีเป็นชื่อของว่านชนิดหนึ่งด้วย
"ว่านฉิมพลี ใบคล้ายว่านเทพรำลึก แต่ใบเรียวและยาวมาก ต้นสีแดงเรื่อๆ หัวเป็นไหล เนื้อคล้ำๆมีสีน้ำผึ้ง
สรรพคุณ เป็นว่านใช้ทางเสน่ห์เมตตามหานิยมอย่างยอด ปลูกไว้จะเป็นสิริมงคลแก่บ้านเรือน จะอยู่เย็นเป็นสุข"

ว่านมหาประสาน

ว่านมหาประสาน ต้นมหาประสานนี้ยังเป็นที่สับสนอยู่ เราเคยรู้ว่าต้นแสยกก็มีอีกชื่อว่ามหาประสาน เพราะมีสรรพคุณช่วยสมานแผลได้ดีพอๆกับสาบเสือ แต่พึ่งมารู้ว่ามีมหาประสานอีกตัวที่เป็นว่าน เลยไปค้นเพิ่มเติม
"ว่านมหาประสาน ใบ ต้น หัว เหมือนกับขมิ้น แต่ใบกว้างกว่าและสั้นกว่า ดังใบหมากผู้หมากเมีย ใบเขียวมีหลายขาวคล้ายกับว่านม้าดีด หัวดังหัวขมิ้นสีขาว
      สรรพคุณ ใช้ประสานแผลดีนัก โดยใช้หัวฝนกับน้ำทาแผลสด จะทำให้แผลหายติดกันได้โดยเร็ว"

ว่านพญาการะเวก

จริงๆเราก็อยากเปิดหาข้อมูลในเน็ท เจอแล้วก็ลอก แต่พอดีว่านหรือต้นไม้ที่เราสนใจไม่ค่อยมีพูดถึง จึงต้องเสาะแสวงหาข้อมูลจากที่ต่างๆมาลงไว้ให้คนอื่นอ่าน
พึ่งได้ว่านมาตัวหนึ่งชื่อพญาการเวก ค้นข้อมูลดูมีกล่าวไว้ในหนังสือว่านเก่า ดังนี้
"ว่านพระยาการะเวก  ต้น ใบ หัว ดังหัวข่า แต่หัวเล็กกว่าหัวข่าเล็กน้อย ต้นอวบกว่าต้นข่า เป็นมันทั้งต้นและใบ สีอ่อนกว่าข่า แต่มีกลิ่นหอมแรงกลิ่นเดียวกันกับว่านสาวหลง
      สรรพคุณ เป็นว่านชั้นเดียวกับว่านสาวหลง ใช้ในทางเสน่ห์เมตตามหานิยม ปลูกไว้ในบ้านหรือร้านค้าเป็นสิริมงคลยิ่งนัก"
ง่ายแล้ว ต้นเหมือนข่า กลิ่นเหมือนสาวหลง

วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ว่าด้วยว่านตระกูลเทพ

ทิ้งร้างห่างหายจากการเขียนบล๊อกไปนาน เนื่องด้วยยิ่งค้นคว้าศีกษามากเท่าไหร่ยิ่งรู้สึกตัวว่ารู้น้อยลงเท่านั้น และในวงการว่านมีการหักล้างข้อมูลกันดิสเครดิตกันพอสมควร แต่ละคนเก่งระดับมือพระกาฬกันทั้งนั้น เลยไปแอบดูอยู่เงียบๆ ปลอดภัยดี
แต่พอดีว่ามีลูกค้าสั่งว่านตระกูลเทพที่เราไม่เคยสนใจมาก่อน กอร์ปกับเริ่มมีหนังสือว่านเก่าบ้างไม่เก่าบ้างเข้ามาเพิ่ม ค้นในเน็มก็มีการพูดถึงน้อยมาก แถมขัดแย้งกัน เลยจะเอาข้อมูลจากหนังสือว่านที่มีมารวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับว่านตระกูลเทพเอาไว้ให้อ่านกัน

ตำราเล่มแรกที่อ้างถึงเล่มแรกคือตำราที่เป็นที่ยอมรับที่สุดเล่มหนึ่งของคนเล่นว่าน  ขื่อตำราคุณลักษณะว่านและวิธีปลูกว่าน ของนายเลื่อน กัณหะกาญจนะ เขียนถึงว่านตระกูลเทพไว้ ๒ ชนิด ดังนี้
" ว่านเทพรำจวน ลักษณะ ต้นเหมือนขมิ้นแต่เล็กกว่า หัวคล้ายหัวแห้วหมู มีรากเลื้อยไปเหมือนรากหญ้าคา สีเนื้อในหัวขาวนวล ใบเหมือนใบว่านเพชรน้อย หรือใบขมิ้นธรรมดาแต่เล็ก (ไม่มีการบรรยายถึงลักษณะและสีของดอก-ผู้รวบรวม)  ประโยชน์ ใช้ในทางเมตตามหานิยม เป็นว่านที่นิยมในทางเจ้าชู้ โดยเอาหัวบดผสมกับขี้ผึ้งสีปาก แล้วเสกด้วย "มะอะอุ สัพพัสสะ ถะปูชิตา สัพพะโก ตะวัทสังติ เอหิมะมะ อิธะเจตะโส ทัมหัง พันจหาหิถามะสา" ไว้สำหรับสีปากในเวลาพูดจากับสตรี
   ว่านเทพรำลึก หัวเล็กและยาว เลื้อยออกไปเหมือนรากหญ้าคา เนื้อในหัวเหมือนสีปูนแห้ง ต้นและใบเหมือนขมิ้นขาวปัดตลอด ดอกเหมือนดอกกระเจียว สีขาวสลับเขียว  ประโยชน์ ใช้ในทางคงกระพันชาตรีและเป็นยอดมหาเสน่ห์ ปลูกเอาไว้ในบ้านใดเป็นมงคลแก่บ้าน ถ้าเอาหัวว่านนี้ติดตัวไปไหนๆด้วย สามารถใช้เป็นคงกระพันชาตรีได้ โดยกินหัวว่าน ก่อนกินเสก "นะโมพุทธายะ" ๓ จบ  ถ้าจะนำติดตัวไปหาลาภผล ให้เสกด้วยคาถา "นะชาลีติ พุทธะสังมิ มะอะอุ" ๓ จบ ใช้ได้ในทางเจริญลาภผล "

              หนังสือกบิลว่าน  ฉบับสมบูรณ์ รวบรวมโดย ร.ต.สวิง กวีสุทธิ์ ร.น. พิมพ์เมื่อพ.ศ.๒๕๐๘ กล่าวไว้ ๑ ชื่อ ดังนี้ " ว่านเทพรำลึก ลักษณะลำต้นใบเหมือนขมิ้นชัน หัวเล็กยาว สีในหัวสีชมพู ดอกคล้ายดอกกระเจียว กลีบของดอกนั้นมีทั้งขาวและม่วง สรรพคุณใช้ในทางเสน่ห์มหานิยม " 

               หนังสือ กบิลว่าน ๑๐๘ ของสมาน  คัมภีร์  กล่าวไว้ ๓ ชื่อ ดังนี้  
" ว่านเทพรัญจวน ลักษณะทั่วไป ใบเขียวอ่อนบางเรียวถ้าปลูกในกระถางใหญ่จะขึ้นเป็นพุ่มดูสวยงามนักเล่นว่านนิยมปลูกกระถางเคลือบหรือลายครามใหญ่ตั้งไว้หน้าบ้าน หัวเหมือนดังหัวแห้วหมูมีไหลชอนตามพื้นดินเหมือนขมิ้น ดอกสีม่วงแซมขาว ใบบางเนื้อของหัวสีนวลขาว สรรพคุณของว่านนี้ ปลูกไว้จะเป็นศิริมงคลมีเมตตามหานิยม เกิดความผาสุขอยู่ดีกินดี ท่านว่าปลูกไว้ในบ้านดีนักแล
   ว่านเทพรำลึก  ลักษณะทั่วไปของว่านนี้ใบและต้นเขียวคล้ายกับขมิ้นขาวเสน่ห์ แต่ใบกว้างและสั้นกว่าเล็กน้อย ช่อของดอกมี ๒-๓ ชั้น สีเขียวปลายชั้นกลีบสีขาว กลีบของดอกสีม่วงแซมขาว หัวเป็นปุ่มแทงไหลไปใต้ผิวดิน เนื้อของหัวสีปูนแห้ง มีกลิ่นหอมดังกลิ่นกระแจะ
   ว่านเทพรำพึง  ลักษณะของว่าน ใบสีเขียวขนาดเดียวกับว่านเทพรำลึกแต่ก้านยาวกว่าและกว้างกว่า หัวเป็นไหลแทงหน่อใหม่ๆมีสีแดงเรื่อๆ ช่อเสี้ยว ดอกสีเขียวเป็นชั้นๆ๓-๔ชั้น ตัวดอกสีขาวส่วนเกสรเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอมดังกลิ่นน้ำหอม เนื้อของหัวสีขาวเรื่อๆ สรรพคุณนับว่าเป็นยอดของว่านประเภทเมตตามหานิยมด้วยกัน คือมีสรรพคุณสูงในด้านเสน่ห์เมตตามหานิยมแรง ปลูกไว้หน้าบ้านก็เป็นศิริมงคลยิ่งนัก "