วันพุธที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2553

ลั่นทมระทมท่วมทุกข์ท้น

โดย ปุณณภา  งานสำเร็จ
ศูนย์ศึกษารวบรวมพันธุ์พืชสมุนไพรและภูมิปัญญาไทย  จังหวัดนครราชสีมา




ลั่นทมเป็นไม้ดอกสวยมีเสน่ห์จัด แม้แต่ตอนร่วงยังดูดีมากๆ สปาถึงนิยมใช้ดอกลั่นทมเป็นสัญญลักษณ์ ดอกลั่นทมเป็นไม้มียางที่กินได้แต่ต้องเก็บเฉพาะดอกขาวและดอกที่ร่วงจากต้นเท่านั้น นำมาชุบแป้งทอด

ลั่นทมระทมท่วมทุกข์ท้น

หยาดน้ำตาเกลื่อนกล่นหม่นหมอง

ครวญคร่ำร่ำไห้ไร้ทำนอง

จำจองวิญญาณรานรอน

ลั่นทมเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดมหาสารคาม ไม่เข้าใจว่าทำไมคนถึงได้กลัวชื่อลั่นทมกันนัก หาว่านามไม่เป็นมงคล ไม่เหมาะนำมาปลูกในบ้านจะทำให้ระทมไม่มีความสุข จริงๆแล้วเหตุผลที่ซ่อนอยู่ของคนโบราณคือลั่นทมเป็นไม้กิ่งเปราะต้นสูงปานกลาง แผ่กิ่งน่าปีนป่ายเป็นที่สุด ถ้าบ้านไหนมีเด็กคงอดใจปีนต้นลั่นทมไม่ได้แน่ คนเฒ่าคนแก่กลัวเด็กได้รับอุบัติเหตุตกลงมาจากกิ่งที่ปีนง่ายแต่เปราะของลั่นทม จึงห้ามเอาไว้ แต่คนโบราณมักไม่บอกเหตุผลตรงๆ เลยทำให้ลั่นทมต้องมีวิบากกรรม ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นลีลาวดีเพื่อนำมาใช้เชิงการค้า ใครเคยไปลาวจะเห็นลั่นทมเต็มไปหมด ต้นใหญ่เด่นเห็นเรียงรายข้างทางเป็นไม้ประจำประเทศของเค้าเลย น่าภูมิใจแทน ตอนเราทำงานอยู่บนเขาที่ชัยภูมิ คนที่นั่นก้อเรียลั่นทมว่า จำปาลาว ปลูกง่ายสุดๆ แค่หักกิ่งแล้วปักลงไปไม่ยักตาย ตามวัดหลวงพ่อเล่าให้ฟังว่าสมัยกระแสไม้ต้นนี้บูมกันใหม่ๆ ขายมีราคามาก  เป็นที่ต้องการอย่างมาก  มันเข้าไปหักไปขุดในวัดไปขาย พระท่านได้แต่ปักป้ายขอร้องไว้ เงินตัวเดียวแท้ๆ อยากบอกว่าช่วยเรียกเค้าด้วยชื่อเดิมเถอะ ก่อนที่จะไม่มีใครรู้ว่าลั่นทมคือต้นอะไร ตำรับยาโบราณที่เข้าตัวยาลั่นทมจะพลอยสูญไปด้วย

เพลงลาวม่านแก้ว
ล่องลอยเอย จากพิมาน ข้ามสีทันดร ตระการ สู่แคว้นแดนไทย กลิ่นจอมขวัญ ปักใจพี่มั่น ตรึงหมาย กี่ชาติกี่ภพ ไม่มีคลอนคลาย รักเจ้าไม่หน่าย ไม่คลายจากกัน
แจ่มจันทร์ขวัญฟ้า ขอเทพเทวาเป็นพยาน วันดีศรีสุข สองเราสมัครสมาน พี่ขอรัก นงคราญ จวบจนรักนั้น นิรันดร์กาลเอย ดอกเอย เจ้าดอกจำปาลาว ตัวพี่รักเจ้า เท่าท้องนภาเอย

ลั่นทม เป็นไม้ดอกยืนต้นในสกุล Plumeria มีหลายชนิดด้วยกัน บางคนมีความเชื่อว่า ไม่ควรปลูกต้นลั่นทมในบ้าน เนื่องจากมีชื่อเป็นอัปมงคล คือไปพ้องกับคำว่า 'ระทม' ซึ่งแปลว่า เศร้าโศก ทุกข์ใจ แต่ปัจจุบันนิยมเรียกชื่อใหม่ ว่า ลีลาวดี และนิยมปลูกกันแพร่หลายอย่างมาก ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ ได้แก่ จำปา, จำปาลาว และจำปาขอม เป็นต้น (สำหรับชื่อภาษาอังกกฤษ ได้แก่ Frangipani, Plumeria, Templetree)
ลั่นทม เป็นไม้ที่นำมาจากเขมร ทางภาคใต้ เรียกชื่อว่า "ต้นขอม" "ดอกอม" ส่วนใหญ่ที่ปลูกกันเป็น "ลั่นทมขาว" เล่ากันว่า ไม้นี้นำเข้ามาปลูกในไทย เมื่อคราวไปตีนครธม ได้ชัยชนะ นำต้นไม้นี้เข้ามาปลูก และเรียกชื่อเป็นที่ระลึกว่า "ลั่นธม" "ลั่น" แปลว่ ตี เช่น ลั่นฆ้อง ลั่นกลอง "ธม" หมายถึง "นครธม" ภายหลัง "ลั่นธม" เพี้ยนเป็น "ลั่นทม"
ลั่นทมเป็นพืชนิยมปลูกเพราะดอกมีสีสันหลากหลาย สวยงาม ได้แก่ขาว เหลืองอ่อน แดง ชมพู ฯลฯ บางดอกมีมากกว่า 1 สี
ดอกลั่นทมยังเป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศลาว และพบได้มากบริเวณทางขึ้นพระธาตุที่เมืองหลวงพระบาง สำหรับในประเทศไทยนั้นมักพบต้นลั่นทมตามธรรมชาติทางภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่

คนโบราณมีความเชื่อว่า ต้นลั่นทมนั้น ไม่ควรปลูกในบ้าน ด้วยมีชื่ออัปมงคล คือไปพ้องกับคำว่า ระทม ซึ่งแปลว่า เศร้าโศก ทุกข์ใจ, จึงได้มีการเรียกชื่อเสียใหม่ให้เป็นมงคล ว่า ลีลาวดี

ดอกลีลาวดี
ลีลาวดี ถ้าแปลตามความหมายตามอักษรแล้ว ก็คือต้นดอกไม้ที่มีท่วงท่าสวยงามอ่อนช้อย ไม้นี้เดิมเรียก ลั่นทม เป็นไม้ยืนต้นในเขตร้อน ที่เห็นทั่วๆไปมีดอกสีขาว แดง ชมพู ชื่อเดิมของพันธุ์ไม้นี้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าคำนี้ มาจากคำว่า ระทม ซึ่งหมายถึงความเศร้าโศก จึงไม่เป็นที่นิยมปลูกในบริเวณบ้านหรือที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตามมีผู้มีความรู้ด้านภาษาไทยกล่าวถึงคำว่า ลั่นทม ว่า ลั่นทมที่เรียกกันแต่โบราณ หมายถึง การละแล้วซึ่งความโศกเศร้าแล้วมีความสุข ดังนั้นคำว่า ลั่นทม แท้จริงแล้วเป็นคำผสมจาก ลั่น+ทม โดยคำแรกหมายถึง แตกหัก ละทิ้ง และคำหลังหมายถึงความทุกข์โศก [ต้องการอ้างอิง]
มีตำนานเล่าขานถึงที่มาของลั่นทมในลักษณะต่าง ๆ กัน อย่างไรก็ตามพันธุ์ไม้นี้ตามหลักสากลมีชื่อว่า ฟรังกีปานี (frangipani) และเรียกกันทั่วไปว่า พลูมมีเรีย (plumeria)ถ้าจะสืบประวัติที่แน่ชัด ที่จริงแล้วถิ่นกำเนิดของต้นลั่นทมนั้นอยู่ในอเมริกาใต้ อเมริกากลาง และหมู่เกาะแถบทะเลแคริบเบียน ไม่ใช่เป็นต้นไม้ในแถบบ้านเรา
เข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณราวพุทธ ศตวรรษที่ 17 โดยเข้ามาทางอาณาจักรขอม (ประเทศกัมพูชา) ในยุคสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่2 (พ.ศ. 1650 – 1700) เป็นกษัตริย์ผู้ทรงสร้างพระนครวัด ในครั้งนั้นเจ้าฟ้างุ้ม พระโอรสแห่งเมืองลาวมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งทำให้พลัดพรากจากชาติภูมิ ไปพำนักที่เขมรตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และต่อมาได้เป็นมหาดเล็กในราชสำนัก เมื่อโตขึ้นจึงคิดจะกลับเมืองลาว ครั้งที่เจ้าฟ้างุ้มเดินทางจากเขมร มีบันทึกว่าได้เข้ามาตั้งค่ายอยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ก่อนที่จะเดินทางเข้าเมืองลาว สันนิษฐานว่าเจ้าฟ้างุ้มน่าจะนำต้นไม้ชนิดกลับไปยังประเทศลาวด้วย เพราะจากบันทึกของประเทศลาวได้กล่าวถึงต้นไม้ชนิดหนึ่งมีชื่อว่า จำปา (ชื่อเรียกต้นลั่นทมในภาษาลาว) นอกจากนี้ประเทศลาวเอง ยังมีเมืองสำคัญแห่งหนึ่งชื่อ จำปาสัก ซึ่งหมายถึงต้นลั่นทม นั่นเอง แต่ยังไม่มีหลักฐานที่ปรากฏแน่ชัดว่ามีการเดินทางมายังประเทศไทยในช่วงนี้ แต่เป็นที่น่าคิดว่า สมัยสุโขทัยที่มีการยึดอำนาจอาณาจักรขอมน่าจะนำเอาต้นไม้ชนิดนี้เข้ามาบ้าง
พลูมมีเรีย หรือ พลัมมีเรีย (plumieria) เป็นชื่อที่เรียก ลั่นทม หรือลีลาวดี ตามชื่อของนักพฤกษ์ศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ชาร์ล พลัมเมอร์ (ค.ศ. ๑๖๔๖-๑๗๐๖) ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากกษัตริย์ประเทศฝรั่งเศส ให้แสวงหาพันธุ์พืชใหม่ๆ ในเขตร้อน เขาได้เดินทางไปยังหมู่เกาะ แคริเบียนถึง ๓ ครั้ง ซึ่งเป็นแหล่งที่ได้พบต้นไม้ที่มีดอกสวยงามและรูปทรงแปลกๆ จึงได้นำกลับมาที่ประเทศฝรั่งเศส ในศตวรรษที่ 17 และเขาได้ริเริ่มจัดระบบของต้นใม้และดอกไม้ในเขตร้อนให้เป็นหมวดหมู่ ภายหลังนักพฤกษ์ศาสตร์ชาวฝรั่งเศสนาม ทัวนีฟอร์ท ได้ตั้งชื่อต้นลั่นทมว่า พลัมเมอร์เรีย (plumieria) เพื่อเป็นเกียรติแก่นาย ชาร์ล พลัมเมอร์ แต่ภายหลังได้เรียกชื่อเพี้ยนไปเป็น พลูมมีเรีย (plumeria) ต้นไม้ชนิดนี้มีชื่อเรียกทางวิชาการว่า ฟรังกีปานี (frangipani) ซึ่งมีสมมุติฐานว่ามาจากคำในภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า ฟรังกีปาเนีย (frangipanier) ซึ่งมาจากรากศัพท์ว่า กลิ่นหอม (fragrance) อีกสมมุติฐานของชื่อนี้คำว่า ฟรังกีปานี มีความหมายถึง ยางสีขาวข้นเหนียวของต้นลั่นทม เมื่อชาวฝรั่งเศสผู้ไปตั้งรกรากในหมู่เกาะแคริเบียนได้สังเกตเห็นยางของลั่นทมจึงเรียกว่า ฟรังกีปานีเออร์ (frangipanier) ซึ่งในภาษาฝรั่งเศส แปลว่านมข้น จึงเป็นไปได้ว่าชื่อสากลของพันธุ์ไม้นี้มาจากภาษาฝรั่งเศส
ต้นลั่นทมได้แพร่หลายในอเมริกาสมัยบุกเบิก ซึ่งต่อมามีการผสมข้ามพันธุ์ทำให้มีสีสันมากมายและหลากลักษณะ นักพฤกษ์ศาสตร์ชาวอเมริกันชื่อ วูดสัน (woodson) ได้แบ่งชนิดของลั่นทมออกเป็น 7 ลักษณะ ตามแหล่งดั้งเดิมของที่มา ดังต่อไปนี้
1. พลูมมีเรีย อินโนโดรา แหล่งเดิมมาจากประเทศ โคลัมเบีย และ บิตริสกีนา
2. พลูมมีเรีย พูดิกา ประเทศโคลัมเบีย เวเนซูเอลา และ มาตินิค
3. พลูมมีเรีย รูบรา ประเทศในอเมริกากลาง
4. พลูมมีเรีย ซับเซสซิลิส ประเทศฮิสปานิโอลา
5. พลูมมีเรีย ออบทูซ่า หมู่เกาะบาฮามัส ประเทศ คิวบา จาไมกา ฮิสปานิโอลา ปอร์โตริโก บริติสฮอนดูรัส
6. พลูมมีเรีย ฟิลิโฟเลีย ประเทศ คิวบา
7. พลูมมีเรีย อัลบา ประเทคปอร์โตริโก เวอร์จินไอแลนด์ส และ เลสเซอร์ เอนทิเลส
นอกจากการแบ่งตามแหล่งที่มาแล้ว ยังมีการแบ่งชนิดของลั่นทมตามลักษณะใบ ช่อดอก และสี อีกด้วย การตั้งชื่อชนิดของลั่นทมได้มีอย่างกว้างขวางไปทั่วทุกแหล่งที่นิยมปลูก ประเทศที่ให้ความสำคัญถึงกับมีการตั้งสมาคม ก็คือ สหรัฐอเมริกา โดยมีการจดทะเบียนชื่อตามลักษณะต่างๆ ดังที่กล่าวถึงกว่า 300 ชื่อ จากจำนวนของลั่นทมที่มีอยู่เดิม (generic) และที่มีการผสมพันธุ์ (hybrid) กว่า 1,000 ชนิดทั่วโลก
ราชอาณาจักรไทยกับบันทึกของลั่นทม
ในช่วงปี พ.ศ. 2232 – 2238 ชาร์ลส์ พลูมิเยร์ (Charles Plumier) ผู้เขียนเรื่อง The Flora of Tropical America ) ชาวฝรั่งเศสเดินทางไปแถบหมู่เกาะเวสต์อินดีสเพื่อคันหาพืชพันธุ์ใหม่ๆ ตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และพบพันธุ์ไม้พื้นเมืองชนิดหนึ่งซึ่งนิยมปลูกตามสุสาน ดอกมีกลิ่นหอม ต้นไม้ที่ว่านั้นคือดอกลั่นทม ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ตรงกับสมัยพระนารายณ์มหาราชแห่งราชอาณาจักรสยาม มีการเจริญสันพันธ์ไมตรีกับประเทศฝรั่งเศส แต่คาดว่าต้นลั่นทมอาจจะยังไม่เข้ามาสู่ประเทศไทยในช่วงนี้ พิจารณาได้จากจดหมายเหตุและพงศาวดารพระราชอาณาจักรสยามครั้งสมัยกรุง ศรีอยุธยา ปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ.2230 โดยมองซเออร์ เดอ ลาลูแบร์ ( Monsieur de LaLoubere) เอกอัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่14 ผู้เข้ามาทูลเกล้า ฯ ถวายพระราชสาสน์ ณ กรุงสยาม ในคณะทูตานุทูตฝรั่งเศสชุดที่2 ได้เขียนเล่าเรื่องราวของกรุงสยามเป็นภาษาฝรั่งเศสและบันทึกถึงชื่อต้นไม้ ที่ชื่อลั่นทม เหตุอย่างหนึ่งอาจเกิดจากพื้นที่ของอยุธยาเป็นที่ราบลุ่ม ในฤดูน้ำหลากมักเกิดน้ำท่วมขัง ซึ่งไม่เหมาะกับการปลูกพืชชนิดนี้ จีงยังไม่นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย ต่อมาในสมัยสมเด็จพระสรรเพชญที่9 (พระเจ้าท้ายสระ) ราวปี พ.ศ.2260 กรุงศรีอยุธยาได้ติดต่อทำการค้ากับประเทศสเปน ในช่วงนี้มีการนำเอาต้นลั่นทมเข้ามามากที่สุดจากฟิลิปปินส์ โดยทหารสเปนที่เข้ามายึดฟิลิปปินส์เป็นอาณานิคมนำลั่นทมจากประเทศแถบละตินอ เมริกาเข้ามายังภูมิภาคนี้ สมัยปลายกรุงศรีอยุธยาพบหลักฐานทางวรรณคดีที่เอ่ยถึงลั่นทม เรื่องบุณโณวาทคำฉันท์ของพระมหานาค วัดท่าทราย เข้าใจว่าแต่งในราวปี พ.ศ.2293 – 2301 ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปรากฏตอนพรรณนาถึงลานพระพุทธบาท สระบุรี ดังนี้ “ลั่นทม ระดมดาษ ดุจราชประพัตรา แก้วกรรณิกากา- รเกษกลิ่นกำจรลม” ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเริ่มปรากฏหลัก ฐานเด่นชัดเกี่ยวกับลั่นทมมากขึ้น โดยพบจากงานเขียนในวรรณคดีหลายเรื่องดังความ ในนิราศพระบาทของสุนทรภู่ที่ว่า “ศาลา มีทั้งระฆังห้อย เขาตีบ่อยไปยังค่ำไม่ขาดเสียง ดงลั่นทมร่มรอบคิรีเรียง มีกุฎิ์เคียงอยู่บนเขาเป็นหลั่นกัน” และสมัยรัชกาลที่4 มีการสร้างพระราชวังที่จังหวัดเพชรบุรี ชื่อพระนครคีรี หรือเขาวัง โดยนำเอาลั่นทมสีขาว (Plumeria obtuse L.) มาปลูกเรียงรายขึ้นไป แลเห็นเป็นเสมือนภูเขาลั่นทมเช่นเดียวกันกับพระราชฐานฤดูร้อนที่เกาะสีชัง ซึ่งรัชกาลที่5 ทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น และพระราชทานนามว่า “จุฑาธุชราชฐาน” ปี พ.ศ. 2435 ครั้งนั้นมีการปลูกต้นลั่นทมเป็นจำนวนมากที่เกาะสีชังจนกลายเป็นสัญลักษณ์ ของเกาะนี้ในเวลาต่อมา ส่วนลั่นทมชนิดดอกแดง (Plumeria ruba L.) นั้น พระยาอัชราชทรงสิริเป็นผู้นำมาจากปีนัง และนำมาปลูกที่จังหวัดภูเก็ตคราวพระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จ ประพาสปีนัง (พ.ศ. 2467)ตั้งแต่นั้นมาจึงเริ่มเห็นดอกลั่นทมสีต่างๆ มากขึ้น เล่าเรื่องชื่อ ประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียมีการเรียกชื่อพื้นเมืองของลั่นทมแตกต่างกันไป อย่างประเทศเพื่อนบ้านเรายังเรียกชื่อที่แตกต่างกัน เขมร เรียกว่า จำไป และ จำปาซอ ถ้ามาเลเซียจะเรียกว่า กำโพชา จำปากะ อินโดนีเซียเรียกว่า กำโพชา อินเดียเรียกว่า พหูล แคร์จำปา ซอนจำปา จินจำปา พม่าเรียกว่า ต่ายกสะกา แม้แต่ไทยเองยังเรียกแตกต่างกัน ทางพายัพ เรียก จำปาลาว อีสานเรียก จำปาขาว ปักษ์ใต้เรียก จำปาขอม ภาคกลางเรียก ลั่นทม ส่วนความหมายของชื่อมีแตกต่างกันไปดังนี้ ลั่นทม แปลว่า ดอกไม้ใหญ่ ลั่น แปลว่าใหญ่ หรือดัง ทม แปลว่าดอกไม้ ลั่นทม แปลว่า ละทิ้งจากความโศกเศร้า ลั่นแปลว่าทิ้ง ทม แปลว่าระทม ลั่นทม แปลว่า รักอันยิ่งใหญ่ เพี้ยนมาจากคำว่า สรัลทม (ภาษาเขมร) ลั่นทม เพี้ยนมาจากคำว่าลานธม ในอดีตของชาวเขมรบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นครธม เขาจะไปยังลานหินแล้วนำเอาดอกไม้ชนิดนี้ไปวางที่ “ลานธม” จีงเพี้ยนกลายเป็นดอกลั่นทม
Tips ของการปลูกลั่นทม
1. ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ถ้าโตเต็มที่จะสูงประมาณ 8 เมตร ลำต้นสีเทาปนเขียว มียางสีขาว รูปทรงแผ่เห็นกิ่งก้านสวยงาม ดอกมีหลายสี เช่นสีขาว แดง ชมพู เหลือง และมีสีผสม บางชนิดมีกลิ่นหอม ผลจะออกเป็นฝักคู่สีน้ำตาล 2. เติบโตดีในดินร่วนปนทราย การให้น้ำปานกลาง และต้องการแสงแดดเต็มวัน 3. โรคที่มักพบบ่อยคือ ราสนิม หากพบไม่มากควรเด็ดใบทิ้งแล้วนำไปทำลายให้ห่างจากต้น แต่ถ้าต้องการกำจัดอาจจะต้องใช้สารเคมี คือ แมนโคเซ็บ คลอโรทาโลนิล หรือคาร์เบนดาซิม ตามฉลากแนะนำ 4. การขยายพันธุ์ทำได้หลายวิธี ได้แก่ เพาะเมล็ด ปักชำ เสียบยอด หรือติดตาพันธุ์ดีบนต้นตอเพาะเมล็ด ส่วนต้นใหญ่ที่นำมาปลูกใช้วิธีขุดล้อม สามารถขุดให้รากเปลือยแล้วนำไปปลูกใหม่ได้ แต่ต้องปลิดใบออกบางส่วนเพื่อลดการคายน้ำ รอไม่นานก็แตกใบใหม่สวยงามเหมือนเดิม ชอบแสงแดดจัด ปลูกง่าย และไม่ต้องดูแลมากนัก ชอบแสงแดดจัด ขึ้นได้ในดินทุกชนิด เป็นพันธุ์ไม้ทนแล้งตามสภาพความเป็นอยู่ ถ้าได้รับการบำรุงดูแลให้ปุ๋ยให้น้ำ หรือบำรุงปุ๋ยสูตร 16-16-16 หรือ 14-14-21 ประมาณ 2-3 เดือนต่อครั้ง สลับกับแคลเซียมไนเตรท 15-0-0 ลั่นทมก็จะให้ความสวยงามสดชื่นตลอดปี แต่ไม่ชอบดินแฉะที่มีน้ำท่วมขัง
ในปัจจุบันนี้ต้นลั่นทม หรือเรียกชื่อใหม่ว่า ลีลาวดี กำลังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก ราคาในท้องตลาดขยับราคาสูงขึ้นจากเดิมมาก และ ในความเชื่อที่เปลี่ยนไปจากเดิมทำให้นิยมนำไปใช้ตกแต่งในสถานที่ต่างๆ มากขึ้น ยิ่งต้นใหญ่ยิ่งราคาแพง ต้นลั่นทมขนาดใหญ่มักจะมาจากแถบอีสาน หรือมีการลักลอบมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ค่านิยมในการปลูกลั่นทมนี้อาจจะเป็นแฟชั่นเหมือนกับโป๊ยเซียน ชวนชม ที่เมื่อนิยมก็ปั่นราคาจนสูงเกินความเป็นจริง แทนที่จะปลูกชื่นชมเพื่อความสวยงามเหมือนต้นไม้อื่นๆ

สรรพคุณ ทั้งต้น ใช้ปรุงเป็นยารักษาโรคลำไส้พิการของม้าใบ เอาใบแห้งมาชงน้ำร้อนใช้รักษาโรคหอบหืด หรือนำใบสดมาลนไฟให้ร้อนแก้ปวดบวมเปลือกราก ใช้เป็นยารักษาโรคหนองใน เป็นยาถ่าย แก้โรคไขข้ออักเสบ ขับลมเปลือกต้น นำมาต้มเป็นยาถ่าย ขับฤดู แก้ไข้ แก้โรคโกโนเรีย หรือให้ผสมกับน้ำมันมะพร้าว ข้าวและมันเนย ซึ่งจะเป็นยาแก้ท้องเดิน ยาถ่าย ขับปัสสาวะดอก ใช้ทำธูป แต่ถ้าใช้ผสมกับพลูเป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้มาลาเรียเนื้อไม้ เป็นยาแก้ไอ ในประเทศเขมร ใช้เป็นยาถ่าย ขับพยาธิยางจากต้น เป็นยาถ่าย รักษาโรคไขข้ออักเสบ ทำให้เกิดผื่นแดง ถ้าใช้ผสมกับไม้จันทร์และการบูรเป็นยาแก้คัน แก้ปวดฟัน

ปุณณภา  งานสำเร็จ  เรื่อง/ภาพ