วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ต้นสะตือ ไม้เก่าโบราณ ตำนานไทย

สะตือ 
ชื่อวิทยาศาสตร์   Crudia Chrysantha, K. Schum
วงศ์   Leguminosae
ชื่ออื่น       ดู่ขาว เดือยไก่ (ภาคเหนือ,สุโขทัย) แห้ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.สกลนคร) ประดู่ขาว (ภาคตะวันออก,สุรินทร์)

        สะตือเป็นไม้ต้น สูง 8–25 ม. ลำต้นมักแตกกิ่งต่ำ เรือนยอดเป็นพุ่มกว้าง ถึงค่อนข้างกลม เปลือกสีน้ำตาลเทา เรียบหรือแตกเป็นแผ่นหนา เปลือกชั้นในสีน้ำตาลถึงแดงเข้ม กิ่งอ่อน ยอดอ่อน และใบอ่อนมีขน และเกลี้ยงในเวลาต่อมา ใบ ประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียนสลับ ก้านใบรวมแกนช่อใบยาว 4–10 ซม. มีใบประกอบย่อย 4–6 ใบ เรียงสลับ แผ่นใบย่อยรูปไข่ กว้าง 2–5 ซม. ยาว 3–8 ซม. ปลายเป็นติ่ง โคนสอบ มีเส้นแขนงใบย่อย 8–10 คู่  ดอก เล็ก สีขาว ออกเป็นช่อเดี่ยวตามง่ามใบและปลายกิ่ง  ผล ค่อนข้างแบน รูปรี กว้าง 3–4 ซม. ยาว 5–6 ซม. มีเส้นนูนตามขวางด้านข้างฝักห่างๆ และมีขนสีน้ำตาลคลุมหนาแน่น ปกติมี 1 เมล็ด

        สะตือมีการกระจายพันธุ์ตามชายห้วย หนอง และแม่น้ำลำธาร ในป่าเบญจพรรณและป่าดิบ ที่ความสูงตั้งแต่ระดับทะเลปานกลางถึง 250 ม. ทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในต่างประเทศพบที่ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ออกดอกเดือนมกราคม–กุมภาพันธ์ ผลแก่เดือนกรกฎาคม–สิงหาคม

        เนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อน แก่นสีน้ำตาลถึงน้ำตาลคล้ำ แข็งและเหนียว นิยมใช้ทำด้ามเครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตร เครื่องเรือนและงานก่อสร้างทั่วไป ใบใช้ต้มอาบแก้โรคอีสุกอีใส โรคหัด เปลือกต้นใช้ปรุงเป็นยาแก้ท้องร่วง
ต้นสะตือเป็นไม้เก่าโบราณ เป็นหมุดหมายแห่งประวัติศาสตร์ต้นหนึ่ง มีวัดมีชื่อตามต้นสะตือ และมีชื่อเสียงโด่งดังมาก
- วัดสะตือ อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
หลวงพ่อโต วัดสะตือ อยุธยา พระพุทธไสยาสน์ พระนอนที่ใหญ่ที่สุดของไทย เป็นหนึ่งของการไหว้พระเก้าวัดในจังหวัดอยุธยา วัดสะตือเป็นอีกหนึ่งวัดที่อยู่ในรายชื่อของการท่องเที่ยวทางธรรมะ วัดสะตือเป็นวัดที่หลวงพ่อโต หรือหลวงปู่โต หรือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ซึ่งท่านเป็นผู้แต่งและเรียบเรียงบทสวดมนต์ที่มีความขลังมากที่สุดคือ คาถาชินบัญชร
ในวันหยุดจะมีประชาชนมาเที่ยว ไหว้พระ ขอพรกันไม่ขาดสาย ในบริเวณวัดก็มีตลาดนัดขายสินค้า อาหารมากมาย บ้างก็มารำแก้บน จ้างแตรวงบรรเลง พร้อมๆกัน 4-5วง เสียงดังไปทั่ว ดูสนุกสนาน ที่วัดสะตือนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นวัดที่มีคนมาแก้บนด้วยวิธีรำแก้บนพร้อมแตรวง มากที่สุดวัดหนึ่งของไทย

มีประวัติศาสตร์บันทึกเกี่ยวกับต้นสะตือ
ตามรอยพระเจ้าตาก ไปวัดลุ่มฯ
                       วัดลุ่มที่ว่านี้ ชื่อเต็มๆ ว่า วัดลุ่มมหาชัยชุมพล หรือชื่อเดิมคือวัดลุ่มมหาชัยชุมภูพล ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล อ.เมือง จ.ระยอง วัดนี้ไม่มีประวัติความเป็นมาว่าผู้ใดสร้าง และเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าสร้างมา 300 กว่าปีแล้ว เพราะมีจารึกในประวัติหน้าหนึ่งว่า พระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พาทหารและพลเรือนอพยพมาผูกช้าง ม้าพักแรมที่โคนต้นสะตือใหญ่ ซึ่งเป็นบริเวณวัดลุ่มกับวัดเนินติดต่อกัน ก่อนจะจะบุกไปเมืองจันทบุรี เพื่อรวบรวมไพร่พลและจัดตั้งทัพ กลับมากอบกู้เอกราชคืนจากพม่า

                       ต้นสะตือ ที่ว่านี้ ก็ต้องมีอายุมากกว่า 300 ปี และยังคงปรากฏอยู่ มีขนาดใหญ่โต แผกิ่งก้านสาขาให้ความร่มรื่นเป็นบริเวณกว้าง บริเวณใกล้กัน ทางวัดลุ่มได้จัดสร้างศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช รูปทรงแบบจัตุรมุข โดยด้านในมีพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชขนาดเท่าองค์จริงและศาลที่ประทับ เพื่อให้ลูกหลานไทย-จีน ได้ตระหนักถึงวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ในประวัติศาสตร์ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนทุกปีจะมีประชาชนเข้าไปกราบไหว้สักการะจำนวนมาก

                       บริเวณด้านหน้าศาล มีบอร์ดนิทรรศการ แสดงอัตชีวประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสิน และเส้นทางยาตราทัพสมัยดำรงพระยศเป็นพระยาตาก ตั้งแต่ที่นำกำลังส่วนหนึ่งออกจากค่ายพิชัย ฝ่าข้าศึกมาทางนครนายก ข้ามลำน้ำปราจีนบุรี มาตั้งทัพอยู่ตรงข้ามกับทัพพม่าที่ตั้งทัพอยู่ปากน้ำเจ้าโล้ หรือปากน้ำโจ้โล้ จ.ฉะเชิงเทรา ก่อนจะเคลื่อนทัพผ่านฉะเชิงเทรา ชลบุรี มาถึงระยอง ซึ่งเจ้าเมืองระยองให้การต้อนรับด้วยดี ใช้เวลาไม่นานก็ประกาศยึดเมืองระยอง บริเวณกลางทุ่งนา และได้ประทับแรมที่วัดลุ่ม มีเรื่องเล่าว่า ระหว่างประกาศแสดงแสนยานุภาพ เกิดพายุหมุนทำให้ต้นตาลต้นหนึ่งหมุนตัวเป็นเกลียว พอพายุสงบ ต้นตาลนั้นก็ยังขดเกลียว จนชาวบ้านเรียกตาลขด ทุกวันนี้ก็ยังมีให้เห็นอยู่ บริเวณหน้าวัดประดู่ ที่อยู่ไม่ไกลกัน

                       หลังจากนั้นบรรดาแม่ทัพที่สวามิภักดิ์ ก็พร้อมกันใจยกให้พระยาตากเป็นผู้นำขบวนในการกอบกู้แผ่นดิน และเรียกพระยาตากว่า เจ้าตาก ก่อนจะบุกยึดเมืองจันทบุรีต่อไป วัดลุ่มมหาชัยชุมพล จึงกลายเป็นหนึ่งในสถานที่ประวัติศาสตร์ชาติไทย และเป็นประวัติศาสตร์ของเมืองระยองไปด้วย ในปี 2463 สมเด็จพระสังฆราช กรมพระวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศ สมัยดำรงสมณศักดิ์ที่พระญาณวราภรณ์ ได้รวมเอาวัดลุ่มกับวัดเนินเป็นวัดเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนได้มีความสามัคคีรักใคร่กลมเกลียวกัน ทำให้วัดมีพื้นที่มากขึ้น รวมทั้งหมด 35 ไร่เศษ ทางวัดได้จุดสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ใหม่ รวมทั้งอุโบสถ เสนาสนะ หอสวดมนต์ ศาลาการเปรียญ โรงเรียนปริยัติธรรม เนื่องจากของเก่ากลายเป็นซากปรักหักพัง บางส่วนเกินจะบูรณะ จึงเก็บไว้เป็นของเก่า เช่น อุโบสถ ที่อยู่ใกล้กับศาลสมเด็จพระนเรศวร ดูโครงสร้างภายนอก ยังสวยงาม ทั้งลวดลายแกะสลักซุ้มด้านหน้า และใบระกา ที่ยังคงมีอยู่ให้เห็น ส่วนด้านหน้าประดิษฐานองค์เจ้าแม่กวนอิม และพระสังกัดจายน์  เป็นที่เคารพกราบไหว้ของคนทั่วไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น