หัวยาต้นนี้เอามาจากป่าช้างตกตายอำเภอเทพารักษ์ ปลูกใส่กระถางไว้งามดี
ดอกหัวยาข้าวเย็นสวยดีนะ
หัวยาข้าวเย็นเสียดายไม่ได้ผ่าหัวถ่ายรูปเก็บไว้ ตอนนี้ลงกระถางแล้ว
ป่าไม้ในโคราชมีพรรณไม้อยู่อย่างหลากหลายน่าตื่นตาตื่นใจ บ่อยครั้งเวลาขี่มอเตอร์ไซด์ไปตามถนนจะลืมมองทางเพราะเพลินดูแต่ต้นไม้มักสะดุดตากับไม้ง่ายๆที่เริ่มหาได้ไม่ง่าย ดีใจทุกครั้งที่เจอไม้ใหม่ๆที่เคยได้ยินแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นตัวจริง คงตื่นเต้นเหมือนคนเวลาพบดารามั้ง บ่อยครั้งที่เผลอหยุดคุยกับต้นไม้ประมาณว่า เฮ้ดีใจจังที่ได้เจอนาย สุดยอดดดด อะไรประมาณนี้ แต่ก็หวั่นๆคนผ่านไปมาว่าจะสงสัยว่าเราเพี้ยนรึเปล่า
บางต้นเราอยากเขียนถึงมากแต่รูปมีไม่ครบก็ต้องรอๆไปก่อน การเก็บรูปสมุนไพรไม่ใช่เรื่องง่าย เราไม่ใช่ตากล้องมืออาชีพ รูปส่วนใหญ่ที่ถ่ายมาไม่ค่อยดีนัก นานๆจะฟลุคเจอรูปสวยๆซักที
ถ้าใครเคยอ่านพล นิกา กิมหงวน ของ ป อินทปาลิต หนังสือตลกคลาสสิคในยุคเก่า ( สุดยอดเรื่องโปรดอีกเรื่องของเราอีกเล่มเลยอ่ะ) มักจะพูดล้อเลียนถึงการไปเที่ยวผู้หญิงแล้วติดโรคผู้หญิงคือโรคซิฟิลิส ( ที่เมื่อก่อนอาจจะเคยได้ยินว่า "เข้าข้อออกดอก" หมายถึงระยะของโรคที่เชื้อลงไปอยู่ในข้อทำให้ผู้ป่วยปวดตามข้อมาก และกระจายออกมาที่ผิวหนังเป็นดอก ๆ ) มักจะพูดถึงยาสมุนไพรที่ชื่อว่าข้าวเย็นเหนือข้าวเย็นใต้ เป็นอันรู้กันว่าถ้าใครใช้ยาสองตัวนี้ให้ตั้งข้อสังเกตุว่าเป็นโรคผู้หญิงแน่นอน นั่นเป็นครั้งแรกๆที่ได้ยินชื่อของยาข้าวเย็นเหนือข้าวเย็นใต้ พอมาเริ่มคลุกคลีอยู่ในวงการสมุนไพรถึงได้รู้ว่าหมอพื้นบ้านชอบนำมาใช้เป็นยาตำรับเข้าตำรับรักษาโรคมะเร็งเพื่อแก้พิษอักเสบภายใน แต่ตัวยาไม่มีในเมืองไทยต้องสั่งมาจากประเทศจีน
หมอพื้นบ้านของไทยจะใช้ ข้าวเย็นโคกแทน คนอีสานเรียกข้าวเย็นโคกว่า "ยาหัว" หรือ "หัวยาข้าวเย็นโคก" มีขึ้นทั่วไปตามป่าชุมชนหัวไร่ปลายนา
ยาหัวยังแบ่งออกเป็น ข้าวเย็นโคกแดงใช้แทนข้าวเย็นโคกเหนือ และข้าวเย็นโคกขาวใช้แทนข้าวเย็นโคกใต้
หัวยาข้าวเย็น
ข้าวเย็นเหนือ ชื่อสามัญคือ Smilax.ชื่อพฤษศาสตร์ คือ Smilax corbularia Kunth.ชื่อวงศ์ คือ Smilaceae.ชื่ออื่นๆ คือ หัวยาข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นโคกแดง, ยาหัวข้อ, ค้อนกระแต, หัวยาจีนปักษ์เหนือ, เสี้ยมโถ่ฮก, หัวข้าวเย็นวอก
ข้าวเย็นใต้ ชื่อสามัญคือ Smilax.ชื่อพฤษศาสตร์ คือ Smilax microchina T. koyamaชื่อวงศ์ คือ Smilaceae.ชื่ออื่นๆ คือ ข้าวเย็นโคกขาว, ยาหัวข้อ, หัวยาจีนปักใต้, เตียวโถ่ฮกทั้งข้าวเย็นเหนือ และ ข้าวเย็นใต้ นิยมใช้คู่กัน เรียกว่า ข้าวเย็นทั้งสอง มีสรรพคุณ เหมือนกัน คือ แก้พยาธิในท้อง, แก้กามโรค, แก้ปัสสาวะและเส้นเอ็นพิการ, แก้น้ำเหลืองเสีย, แก้ร้อนในกระหายน้ำ, แก้พุพองผื่นคัน, รักษาริดสีดวงทวารจากการสืบค้นไม่พบว่า สมุนไพรที่ผู้ป่วยใช้มีฤทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับการลดระดับน้ำตาลในเลือด จึงไม่เหมาะจะใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
สรรพคุณ
หัวเข้ายาแก้ผิดกระบูน แก้ประดง แก้คุดทะราด น้ำเหลืองเสีย แผลฝี แผลเน่าเปื่อย ใช้เป็นยาแก้อักเสบ
ตำรับยาอีสานที่ใช้
ยาขี้โม้( เป็นภาษาอีสานน่าจะหมายถึงโรคกามโรค )
ขนานที่หนึ่ง ให้เอายาหัวหนัก 3 ฮ้อย ฮากหญ้าคา 3 ฮ้อย ฮากไม้ไผ่บ้าน 3 ฮ้อย ฮากพร้าวไฟ 3 ฮ้อย สารโด่เด 3 ฮ้อย ต้มกินดีแล
ขนานที่สอง เอาดูกชั่ง 1 ฮากหญ้าคา 3 ฮ้อย เขากวาง 5 บาท ต้มกินดีแล
ขนานที่สาม เอาต้นมูก 1 หัวข่า 1 ต้นตากวาง 1 ยาหัว 1 อ้อยดำ 1 ชั่งเอาอย่างละถ่อกัน ส่วนต้นตากวางนั้นให้เอาน้อยกว่าหมู่ ต้มกินดีแล
หมายเหตุ เวลาจะต้มยานี้ให้แต่งเครื่องดังนี้
ซวย 2 ซวย ใส่ปากหม้อ
หมากคำหนึ่ง
เทียน 4 คู่
เหล้าก้อง ไข่หน่วย
เงิน 1 บาท เครื่องทั้งหมดนี้ ให้เอาบูชาไว้นำก้อนเส้าและเวลาดังไฟต้มนั้น บ่ให้เปลี่ยนต้นฟืนเบื้องใดไว้เบื้องนั้นแล
ยาขี้โม้เข้าเอ็นเข้ากระดูก ให้เอาหัวขิงแดง 1 ข่าโคม 1 ยาหัว 1 อ้อยดำ 1 ข้าวจ้าว 1 เอาอย่างละถ่อกันต้มกินดีแล
ยาขี้โม้ค้าง ให้เอาต้นตีนนก 1 เครือหมากร่าง 1 ยาหัว 1 ต้มกินดีแล อีกขนานหนึ่ง เอาต้นเสียวน้อย 1 แก่นส้มโฮง 1 หัวข่าป่า 1 หัวข่าบ้าน 1 แก่นตากวาง 1 น้ำตาล ่ 1 ยาหัว 1 ให้เอาพอสมควรต้มกิน ดีแล
ตำรับอีสานแก้มะเร็ง
ใช้หัวข้าวเย็นโคกชนิดขาวและแดง ลำต้นส้มกุ้ง เปลือกต้นสะเดาช้างและลำต้นขมิ้นเครือ ต้มน้ำดื่มแก้มะเร็ง ผสมลำต้นขี้เหล็กและลำต้นหนามหัน ต้มน้ำดื่มแก้มะเร็ง รักษากามโรค ผสมรากเล็บเหยี่ยวและรากทองพันชั่ง ต้มน้ำดื่ม รักษาแผลเรื้อรัง
ตำรับภาคกลางแก้มะเร็ง ใช้รากฆ้อนกระแต หัวข้าวเย็นเหนือ ผสมลำต้นและใบทองพันชั่ง ลำต้นหรือรากเถาวัลย์ยั้ง ลำต้นข่อยน้ำ และลำต้นหรือรากขันทองพยาบาท ต้มน้ำดื่มแก้มะเร็ง
อีกตำรับของพ่อหมอขาว ขมวดทรัพย์ 20 ม.5 บ้านห้วยวังปลา ต.ศรีธาตุ อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี เป็นตัวยาแก้โรคกระเพาะอาหาร ประกอบด้วยยาหัวต้น (ข้าวเหนียวเหนือ) ,ยาหัวค้อนกระแต (ข้าวเหนียวใต้) , รากหิ่งโห่ ว่านพระอินทร์ , หัวสับปะรด (ราก) ,ผักชีช้าง นำสมุนไพรทั้งหมดนี้มาตากแดดให้แห้ง และเลือกเอาสมุนไพรจำนวนเท่าๆกันมามัดรวมกันแล้วต้มดื่ม เช้า-เย็น
ศิริพร กลมกล่อม เรื่อง - ภาพ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น