วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2552

กาหลง ชงโค โยทะกา เสน่ห์ไม้ไทย สามใบเถา

รู้จักใม้ตระกูลเสี้ยวต้นแรกคือสามสิบสองประดงหรือชื่อเป็นทางการว่าสิรินธรวัลลี ก้อรู้สึกแปลกดีเพราะใบไม้เค้าจะมีลักษณะเว้าลึกตรงกลาง ทำให้ค่อยๆศึกษาไปเรื่อยๆจนรู้ว่าประเทศไทยมีไม้ตระกูลเสี้ยวอยู่เป็นจำนวนมากถึง ๓๐ กว่าชนิด ไม้ตัวที่น่าจะใช้มากและคุ้นชื่อคงเป็นส้มเสี้ยว ดูชื่อก้อรู้ว่าเป็นใบเสี้ยวที่มีรสเปรี้ยว เรามักจะเจอตำรับยาที่เข้าส้มเสี้ยวอยู่บ่อยๆเพราะมีสรรพคุณช่วยฟอกโลหิต ขับโลหิตและขับเมือกมันในลำไส้ ใช้ประกอบในตำรับยาเพื่อช่วยปรับและฟื้นฟูร่างกาย ในกลุ่มของสามใบเถานี้ ตัวที่เราเห็นบ่อยที่สุดคงจะเป็นชงโค พบเห็นได้ทั่วไปตามข้างทางดอกสีชมพูไปจนถึงสีม่วง ดอกใหญ่ดอกเล็กแล้วแต่สายพันธุ์แต่ก้อสวยดูเพลินจริงๆ กาหลงนั้นคงไม่ค่อยพบขึ้นเองตามข้างทางเป็นไม้ที่หาซื้อได้ตามตลาดค้าไม้ทั่วไปเพราะคนจีนนิยมปลูกมีราคาพอสมควร ส่วนโยทะกานั้นหายากกว่าเพื่อน พึ่งเคยเห็นครั้งเดียวตอนที่ไปประชุมที่สกลนคร แต่เจ้าของเค้าบอกว่าพระเรียกว่าต้นกาหลงคงสอดคล้องกับที่เป็นที่รู้จักในนามพญากาหลง จะอย่างไรก็ตามยังมีข้อสงสัยบางอย่างเกี่ยวกับชื่อและสีที่สับสนกันพอสมควร เอาเป็นว่าถือเป็นความหลากหลายทางสายพันธุ์ก็แล้วกัน ถือว่าโชคดีของคนไทยที่มีพันธุ์ไม้เยอะแยะไปหมด ขอบคุณที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย

โดยส่วนตัวแล้วยอมรับว่าชอบกาหลงมากกว่าเพื่อนเพราะดอกเค้ามีเสน่ห์น่ารักขาวบริสุทธิ์อีกทั้งสรรพคุณทางยาก็น่าสนใจ เราลองมาอ่านกันดูนะคะ

กาหลงมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bauhinia acuminata Linn. อยู่ในวงศ์ Leguminosae (หรือบางแห่งว่า วงศ์ CaeSalpiniaceae) ซึ่งเป็นจำพวกถั่ว เช่นเดียวกับคูน จามจุรี ทองกวาว เป็นต้น เป็นไม้พุ่มผลัดใบขนาดเล็ก สูง 2-4 เมตร กิ่งอ่อนมีขนปกคลุม กิ่งแก่ค่อนข้างเกลี้ยง ใบ เป็นใบเดี่ยว รูปไข่เกือบกลม โคนใบรูปหัวใจ ปลายใบเว้าเข้าตามเส้นกลางใบลึกเกือบครึ่งแผ่นใบ ทำให้มองดูคล้ายเป็นใบแฝด ขอบใบเรียบ ท้องใบมีขนละเอียดปกคลุม ขนาดกว้าง 9-13 เซนติเมตร ยาว 10-14 เซนติเมตร ดอก ออกเป็นช่อตามส่วนยอด ของลำต้นและกิ่ง หรือบริเวณโคนใบ ตามข้อต้น มีช่อละ 5-8 ดอก ทยอยกันบานครั้งละ 2-3 ดอก ดอกมีกลีบ สีขาว 5 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมกันเกสรตัวผู้มีสีขาว 5 อันเกสรตัวเมียสีเขียวอ่อนอยู่กลางดอก ขนาดใหญ่และยาวกว่าเกสรตัวผู้ ขนาดดอกกว้างราว 5 เซนติเมตร กลิ่นหอมอ่อนๆฝัก แบน 1.5-2 เซนติเมตรยาวราว 10 เซนติเมตร เมล็ดอยู่เรียงกันตามยาวเป็นช่องๆมีฝักละประมาณ10 เมล็ดกาหลงเป็นต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิด ในป่าเมืองร้อนของหลายประเทศตั้งแต่อินเดีย พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น นับว่ามีถิ่นกำเนิดกว้างขวางกว่าต้นไม้ส่วนใหญ่ที่เคยนำเสนอมาแล้ว ในประเทศไทยพบขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในป่าเบญจพรรณของทุกภาคของประเทศคนไทยรู้จักคุ้นเคยกับกาหลงมานานหลายร้อยปีแล้ว ดังปรากฏอยู่ในวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอ ซึ่งเชื่อว่าแต่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอน ต้นราว 600 ปีมาแล้ว นอกจากนั้นยังปรากฏชื่ออยู่ในวรรณคดีไทยเรื่อง ต่างๆ ต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น ในนิราศของสุนทรภู่ เป็นต้น แสดงว่าคนไทยรู้จักคุ้นเคยและนิยมชมชอบกาหลงมาโดยไม่ขาดตอนเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้วชื่อกาหลงที่คนไทยภาคกลางใช้เรียกต้นไม้ชนิดนี้ไม่ทราบว่ามีความเป็นมาอย่างไร ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ พ.ศ.2416 ของหมอปรัดเล ให้คำอธิบายไว้ว่า "กาหลง ; ต้นไม้ไม่สู้โต ดอกขาวบานเป็นสี่กลีบ ไม่สู้หอม ใช้ทำยาบ้าง, กาซ่อนของไว้ลืมเสีย" ช่วงท้ายที่เขียนว่า "กาซ่อนของไว้ลืมเสีย" นั้น คงเป็นอีกความหมายหนึ่งของคำว่ากาหลง คงมิได้เป็นความหมายต่อเนื่องของต้นไม้ที่ชื่อกาหลง แต่ในคำอธิบายของหนังสืออักขราภิธานศรับท์ ก็ยังมีข้อผิดพลาด คือดอกกาหลงมีกลีบสีขาว 5 กลีบ มิใช่ 4 กลีบดังในคำอธิบาย นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของความ "หลง"ที่เกิดจากต้นไม้ชนิดนี้ นอกจากนั้นยังมีตำราในปัจจุบันบางเล่ม อธิบายว่า ดอกกาหลงมี 6 กลีบ นี่ก็หลงอีกเหมือนกันน่าแปลกที่กาหลงทำให้ตำราต่างๆ "หลง" อธิบายผิดๆ ได้หลายตำราซึ่งไม่เคยพบในพืชชนิดอื่นๆ จะคิดว่าเป็นเรื่องบังเอิญก็ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะเกิดขึ้นกับผู้เขียนตำราหลายท่าน นอกจากหลงเรื่องจำนวน กลีบของดอกกาหลงแล้ว ตำราอีกอย่างน้อย 2 ฉบับที่ผู้เขียนพบก็ยังหลงในเรื่องใบของกาหลงด้วย คืออธิบายว่าใบกาหลงเป็นใบแฝด (2 ใบติดกัน) ทั้งที่ความจริงเป็นใบเดี่ยว ที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากใบไม้ส่วนใหญ่เท่านั้น ปกติใบไม้ทั่วไปจะมีปลายใบแหลมตรงกลางที่เป็นเส้นกลางใบ เช่น ใบโพธิ์ ใบมะม่วง ใบพลู เป็นต้น แต่ใบกาหลงกลับตรงกันข้าม กล่าวคือส่วนปลายของเส้นกลางใบกลับเว้าเข้าหาโคนใบลึกลงเกือบถึงกลางใบ จึงมองดูคล้ายเป็น 2 ใบอยู่ติดกัน บนก้านเดียว ทำให้เกิดเข้าใจผิด หรือ "หลง" ได้อีกเรื่องหนึ่ง นอกเหนือไปจากจำนวนกลีบของดอกที่มี 5 กลีบ แต่มีผู้นับเป็น 4 และ 6 กลีบผู้ที่ตั้งชื่อต้นไม้ชนิดนี้ว่า "กาหลง" คงจะพบปรากฏการณ์ดังกล่าว มานี้เช่นเดียวกัน จึงตั้งชื่อว่ากาหลง โดยเปรียบเทียบกับกา ซึ่งนับว่าเป็นสัตว์ฉลาดก็ยังหลงได้ ดังนั้น คนทั่วไปจึงอาจหลงไปด้วยเช่นกันชื่อของกาหลงมีอีกหลายชื่อ เช่น ส้มเสี้ยว (ภาคกลาง) เสียวน้อย เสี้ยวดอกขาว (เชียงใหม่) ภาษาอังกฤษเรียกว่า Orchid treeพืชในสกุลเดียวกับกาหลง (Bauhinia sp.) ในเมืองไทยมีด้วยกันมากกว่า 30 ชนิด นับว่าเป็นพืชที่แพร่หลายที่สุดอย่างหนึ่ง
ประโยชน์ของกาหลงในด้านสมุนไพรรักษาโรค คนไทยใช้ส่วนต่างๆ ของกาหลงดังนี้ใบ : รักษาแผลในจมูกต้น : แก้โรคสตรี แก้ลักปิดลักเปิด แก้เสมหะราก : แก้ไอ แก้ปวดศีรษะ ขับเสมหะ แก้บิดดอก : แก้ปวดศีรษะ ลดความ ดันเลือด แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้เสมหะ แก้อาเจียนเป็นเลือดในด้านไม้ดอกไม้ประดับ กาหลงมีรูปร่างใบและทรงพุ่มงดงาม จัดแต่งทรงพุ่มได้ง่าย ออกดอกได้ยาวนาน และปลูกดูแลรักษาได้ง่าย จึงนิยมนำมาปลูกในบริเวณอาคารบ้านเรือน และที่สาธารณะปกติกาหลงผลัดใบในฤดูหนาว (พฤศจิกายน-ธันวาคม) เริ่มแตกใบอ่อนในฤดูร้อน (เมษายน-พฤษภาคม) และเริ่มออกดอกช่วงฤดูฝนกาหลงปลูกง่าย ขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด ไม่ต้องการปุ๋ยมาก เพราะเป็นพืชตระกูลถั่ว สามารถจับปุ๋ยจากอากาศได้เอง ชอบแดดจัดและขยายพันธุ์ได้ง่าย ทั้งการตอนและเพาะเมล็ด หากปลูกจากเมล็ดใช้ เวลาราว 2-4 ปี ก็จะออกดอกติดฝักได้แล้วคนจีนในอดีตนิยมปลูกกาหลง ไว้ในบริเวณบ้านเชื่อว่าเป็นมงคลให้คุณแก่เจ้าของบ้านและผู้อยู่อาศัยท่านผู้อ่านที่มีบริเวณพอจะปลูกกาหลงได้ก็น่าจะหากาหลงมาปลูกเอาไว้บ้าง แม้ท่านจะไม่มีเชื้อสายคนจีน ก็คงได้รับสิ่งดีๆ จากกาหลงได้เช่นเดียวกัน

โยทะกา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bauhinia monandra kurz อยู่ในวงศ์ (AESALPINIACEAE และอยู่ในสกุล BAUHINIA เช่นเดียวกับกาหลงและชงโค) จึงมีลักษณะหลายอย่างคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะลักษณะใบ ซึ่งมีรูปร่างคล้ายรอยเท้าโคหรือใบแฝด ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของต้นไม้สกุลนี้

ชงโค มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Bauhinia Purpurea Linn. อยู่ในวงศ์ Leguminosae เช่นเดียวกับกาหลง ซึ่งนอกจากอยู่ในวงศ์เดียวกันแล้วยังอยู่ในสกุลเดียวกันด้วย (สกุล Bauhinia) จึงมีลักษณะต่างๆ คล้ายกันมากโดยเฉพาะรูปร่างของใบ ซึ่งมีลักษณะแปลกเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ชงโคเป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อมสูงประมาณ ๕-๑o เมตร กิ่งอ่อนมีขนปกคลุม ใบเป็นใบเดี่ยวรูปหัวใจ ปลายใบเว้าลึกมาก ปลายใบทั้งสองด้านกลมมน มองดูคล้ายใบแฝดติดกัน (คล้ายใบกาหลง แต่เว้าลงลึกกว่า) ใบทั้งสองด้านมักพันเข้าหากันเหมือนปีกผีเสื้อ ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นใบแฝด (เหมือนกาหลง) เพราะปกติใบไม้ทั่วไปจะมีปลายใบแหลม หรือกลมมน ลักษณะของชงโคเป็นพุ่มค่อนข้างกว้างและใบดกทึบ เป็นต้นไม้ผลัดใบในฤดูหนาว (พฤศจิกายน-ธันวาคม) แล้วผลิใบ ใหม่ราวเดือนเมษายน-พฤษภาคมดอก ชงโคจะเริ่มออกดอกหลังจากผลิใบชุดใหม่ออกมาแล้ว คือหลังเดือนเมษายนเป็นต้นไป ดอกออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ช่อยาวกว่าดอกกาหลง แต่ละช่อมีดอกย่อยราว ๖-๑o ดอก แต่ละดอกมีกลีบย่อย ๕ กลีบ รูปทรงคล้ายดอกกล้วยไม้ ตรงกลางดอกมีเกสรตัวผู้เป็นเส้นยาว ๕ เส้น ยื่นไปด้านหน้าและปลายโค้งขึ้นด้านบน มีเกสรตัวเมียอยู่ตรงกลาง ๑ เส้น มีความยาวและโค้งขึ้นสูงกว่าเกสรตัวผู้ ดอกบานเต็มที่กว้างราว ๗-๙ เซนติเมตร มีกลิ่นหอมอ่อนๆ กลีบดอกชงโคมีสีชมพูถึงม่วงแดง ผันแปรไปตามสายพันธุ์ของแต่ละต้นที่เกิดจากการเพาะเมล็ด หากต้องการให้มีสีเดียวกัน ต้องใช้วิธีขยายพันธุ์ด้วยกิ่ง เช่น ติดตาหรือทาบกิ่ง ดอกชงโคติดต้นอยู่ได้นานนับเดือนผล ลักษณะเป็นฝักแบนคล้ายฝักถั่ว แก่ประมาณเดือนกันยายน-ธันวาคม ขนาดกว้างราว ๑.๕ เซนติเมตร ยาว ๑๕-๒o เซนติเมตร เมล็ดค่อนข้างแบน ฝักแก่จะแตกออกเป็นสองซีกตามความยาวของฝักถิ่นกำเนิดเดิมของชงโคอยู่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินเดีย พม่า ไทย กัมพูชา มาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นต้น ในประเทศไทยพบขึ้นปะปนอยู่กับต้นไม้ชนิดอื่นๆ ในป่าโปร่งผสม และป่าเบญจพรรณ ทางภาคเหนือและภาคกลางจะพบมากกว่าภาคอื่น คนไทยรู้จักชงโคมาตั้งแต่อพยพมาอยู่พื้นที่ประเทศ ไทยปัจจุบัน ชื่อชงโคมีปรากฏอยู่ในวรรณคดีไทย สมัยอยุธยาเป็นต้นมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ พ.ศ. ๒๔๑๖ อธิบายเกี่ยวกับชงโคไว้ว่า"ชงโค เป็นชื่อต้นไม้อย่างหนึ่งเหมือนอย่างต้นกาหลง แต่สีมันแดง" แสดงว่าคนไทยกรุงเทพฯ สมัย ๑๓๒ ปีก่อนโน้น รู้จักทั้งกาหลงและชงโคเป็นอย่างดี ว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกัน ต่างกันที่สีของดอกเท่านั้น เพราะกาหลงมีกลีบดอกสีขาว ส่วนชงโคกลีบดอกออกไปทางสีแดง (ชมพู-ม่วง) ชื่อที่เรียกกันในเมืองไทยคือ ชงโค (กรุงเทพฯ-ภาคกลาง) เสี้ยวหวาน (แม่ฮ่องสอน) เสี้ยวดอกแดง (เหนือ) ภาษาอังกฤษ เรียก ORCHID TREE ประโยชน์ของชงโค ชงโคมีสรรพคุณด้านสมุนไพร ตามตำราแพทย์แผนไทย ดังนี้
เปลือกต้น : แก้ท้องเสีย แก้บิด
ดอก : แก้พิษไข้ร้อนจากเลือดและน้ำดี เป็นยาระบาย
ใบ : ฟอกฝี แผล
ราก : ขับลม
ชาวฮินดูถือว่าชงโคเป็นต้นไม้ของสวรรค์ขึ้นอยู่ในเทวโลก และนับถือว่าเป็นต้นไม้ของพระลักษมีพระชายาของพระนารายณ์ จึงนับเป็นต้นไม้มงคลยิ่งชนิดหนึ่ง ควรแก่การเคารพบูชา และปลูกเอาไว้ในบริเวณบ้านเรือน หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ในฐานะต้นไม้ประดับ ชงโคเหมาะสำหรับปลูกตามสถานที่ต่างๆ มากมายเพราะปลูกง่ายไม่เลือกดินฟ้าอากาศ (ในเขตร้อน) ดูแลรักษาง่าย แข็งแรง ทนทาน ขนาดไม่ใหญ่โตเกินไป ทรงพุ่มใบ ดอกงดงาม ดอกบาน ทนนาน การปลูกหากใช้การเพาะเมล็ด ที่จะออกดอกภายในเวลา ๓-๕ ปี ซึ่งนับว่าไม่นาน หากปลูกจากกิ่งจะเร็วกว่านี้อีกประมาณเท่าตัว
ชงโคอาจจะได้รับความนิยมมากกว่านี้ หากมีชื่อที่ไพเราะถูกใจคนไทย (ภาคกลาง) สันนิษฐานว่าเหตุที่ใช้ชื่อชงโค อาจจะมาจากลักษณะใบแฝดติดกัน คล้ายรอยเท้าวัวก็เป็นได้ แต่ไม่ว่าจะชื่ออะไร ชงโคก็คงมีคุณสมบัติที่ดีงามดั้งเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ดังเช่นที่เคยเป็นมาจากอดีต

โยทะกาเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ใบรูปไข่ค่อนข้างกลม ปลายและโคนใบเว้าลึก มองเหมือนใบแฝดติดกัน เช่นเดียวกับใบกาหลงและใบชงโค ดอกใหญ่ออกเป็นช่อ มีกลีบสีเหลือง เมื่อบานได้ ๒ วัน สีกลีบจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูเข้ม ทรงดอกเป็น ๕ กลีบ คล้ายดอกกล้วยไม้ เมื่อดอกร่วงหล่นจะติดฝักรูปร่างแบน ยาว ราว ๙-๑๕ เซนติเมตร เมื่อฝักแก่จัดจะแตกออกจากกัน เปลือกของโยทะกาเป็นเส้นใย ใช้ทำเชือกปอได้มีโยทะกาอีกชนิดหนึ่ง ชื่อ Bauhinia flanifera ride อยู่ในสกุลเดียวกัน เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ซึ่งมีลักษณะอื่นๆ คล้ายคลึงกับโยทะกาชนิดแรก สันนิษฐานว่าคนไทยเรียกชื้อโยทะกาทั้ง ๒ ชนิดนี้รวมๆ กันมาตั้งแต่เดิม เพราะชื่อที่ใช้เรียกตามท้องถิ่นต่างๆ บ้างก็บ่งบอกว่าเป็นไม้เถา เช่น ชงโคย่าน (ตรัง) เถาไฟ (กรุงเทพฯ) เป็นต้นโยทะกาเป็นต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในประเทศไทย เช่นเดียวกับกาหลงและชงโค พบได้ในป่าธรรมชาติของทุกภาค จึงปรากฏชื่ออยู่ในวรรณคดีไทย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ดังเช่นในสักกบรรพคำฉันท์ ซึ่งแต่งในสมัยอยุธยา ตอนหนึ่งบรรยายถึง” ปรูประประยงค์ ชงโคตะโกโยธกา” คำว่า โยทะกา ในอดีตนิยมใช้เขียนว่า “โยธกา” มาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์แล้วจึงเปลี่ยนเป็น “โยทะกา” ในหนังสือ อักขราภิธานศรับ ของหมอบรัดเล พ.ศ. ๒๔๑๖ มีบรรยายว่า “โยทะกา เปนคำเรียกของสำหรับทอดสมอให้เรืออยู่ แต่มันมีสันถานเหมือนหนามต้นโยทะกา”น่าสังเกตว่าโยทะกาใช้เรียกเครื่องมือที่ใช้ทอดสมอ รูปร่างคล้ายหนามต้นโยทะกา แสดงว่าต้นโยทะกาเป็นที่มาของชื่อนี้ แต่ต้นโยทะกาที่เรารู้จักในปัจจุบัน เป็นพืชไม่มีหนาม ซึ่งอาจจะเป็นคนละต้นกับโยทะกาของอักขราภิธานศรับหรือต้นโยทะกา อาจมีมากกว่า ๒ ต้นก็ได้ (ในสมัยนั้น) ปัจจุบันยังมีโยทะกาสมัยใหม่อีกชนิดหนึ่ง เป็นต้นไม้ขนาดเล็ก สูง ๒-๕ เมตร ดอกสีเหลืองล้วนตั้งแต่เริ่มบานจนร่วงโรย ลักษณะดอกห่อไม่บานเต็มที่ ดอกออกจากยอดตลอดปี นิยมปลูกในสวนเป็นไม้ประดับ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Bauhinisa tomentora Linn ชื่อที่เรียกในเมืองไทยคือ โยทะกา (ภาคกลาง) เถาไฟ (กรุงเทพฯ) ย่ายชิวโค (ตาก) ปอลิง (สุราษฎร์ธานี) ปอโคย่าน (ตรัง) เล็บควายใหญ่ (ยะลา-ปัตตานี) ภาษาอังกฤษเรียก Pink orchid Tree, One – Stemened Bauhinia, Jerusalim Date, Butterfly Flower

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น