วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2552

หมอรักษาพิษงูของโคราชอีกหนึ่งภูมิปัญญาที่คนอีสานควรภูมิใจ

พ่อหมอรักษาพิษงูความภูมิใจของภูมิปัญญาไทย



พ่อสง่า จุฬารมณ์ พ่อหมอรักษาพิษงู

ต้นป่านใช้กับแผลพิษงูเรื้อรังอันเกิดจากเจอพิษแรงหรือใช้เวลานานกว่าจะมาพบพ่อหมอจนเกิดเป้นเนื้อตายต้องรักาแผลตามหลัง



กอมก้อยลอดขอน



ตีนตั่งเตี้ย



ทรายเด่น


เมื่อปลายเดือนที่แล้ว คณะอนุกรรมการพิจารณาตำรับยาสมุนไพรไทย ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศที่เป็นบุญของฉันจริงๆที่ได้พบตัวจริงของท่านเหล่านั้น ซึ่งนอกจาคณะกรรมการชุดนี้ได้มาจัดประชุมที่โคราชแล้วยังมีโปรแกรมพิเศษคือแวะเยี่ยมหมอพื้นบ้านที่ผลงานชัดเจนที่สุดหนึ่งท่าน จึงเป็นหน้าที่ของฉันที่ต้องคิดและคัดจากหมอพื้นบ้านเก่งๆหลายท่านที่มีอยู่
สุดท้ายมาสรุปที่พ่อสง่า จุฬารมภ์ พ่อหมอแก้พิษงูเลื่องชื่อของโคราช

พ่อสง่าอยู่ที่อำเภอห้วยแถลงมีประสบการณ์การรักษาผู้ป่วยที่โดนงูพิษกัดมายาวนาน รักษาผู้ป่วยถูกพิษงูมาหลายพันคน และรอดทุกเคส ภายใต้การดูแลของเภสัชกรหญิง อรุณรัตน์หัวหน้างานเภสัชโรงพยาบาลห้วยแถลง การดูแลที่ว่าคือการติดตาม ศึกษาและบันทึกการรักษาของพ่อหมอ และคอยแนะนำคนไข้เพื่อใช้สิทธิ์ของผู้ป่วยในการรักษากรณีที่มารักษาที่โรงพยาบาล

เภสัชกรอรุณรัตน์ นำเสนอเรื่องราวของพ่อสง่าต่อคณะอนุกรรมการฯ เป็นเรื่องราวที่ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นเภสัชกรทำงานในโรงพยาบาลแห่งนี้มาสิบกว่าปีกับความสนใจเรื่องสมุนไพรเป็นการส่วนตัว รวบรวมหมอพื้นบ้านในพื้นที่ได้ร้อยกว่าคนและเดินป่าในเขตอำเภอและนอกอำเภอมานับไม่ถ้วน เป็นคนรุ่นใหม่ที่ทำให้ภูมิปัญญาไทยมีความหวังเรืองรองขึ้นมาอีกคนหนึ่ง

พ่อสง่า ใช้สูตรการรักษา ด้วยสมุนไพรท้องถิ่น ๓ ชนิด คือ กอมก้อยลอดขอน ตีนตั่งเตี้ย และทรายเด่น ร่วมกับดีงูเหลือม คาถาและการปฏิบัติตัว แต่พิเศษอยู่นิดคือกระบวนการนำสมุนไพรเข้าสู่ร่างกายพ่อหมอจะใช้วิธีสักง่ามมือง่ามเท้า และสามารถสักกันงูกัดหรือกันพิษงูซึ่งสามารถอยู่ได้ตลอดชีวิตเว้นแต่จะเป็นไข้หมากไม้และใช้ยารักษาไข้หมากไม้ฤทธิ์ยาจะเสื่อมต้องมาสักใหม่ เคสที่น่าประทับใจที่สุดเคสหนึ่งคือ เคสรักษาผู้ป่วยที่โดนงูทับสมิงคลากัด เพราะงูทับสมิงคลามีพิษแรงกว่างูสามเหลี่ยม และที่สำคัญที่สุดไม่มีเซรุ่มของพิษงูชนิดนี้ คนไข้รายที่พ่อสง่ารักษานอนโคม่าอยู่ในโรงพยาบาล ชั่วเวลาไม่ถึงครึ่งชัวโมงคนไข้ฟื้นขึ้นมา และกลับมามีชีวิตอีกครั้ง นับเป็นเรื่องมหัศจรรย์จริง ๆ

ที่สำคัญพ่อสง่าไม่หวงวิชาเพราะท่านอายุมากแล้ว ๗๓ ปี(พ.ศ.2552) แต่แข็งแรงพอสมควร ใครสนใจก็ติดต่อผ่านโรงพยาบาลห้วยแถลง ขอสายเภสัชกรอรุณรัตน์ จำให้ขอมูลได้เป็นอย่างดี คงยังไม่สามารถให้เบอร์โดยตรงได้เนื่องจากไม่ได้ขออนุญาตไว้ แต่อยากจะบอกว่ามีภูมิความรู้อีกหลายอย่าง และสมุนไพรน่าสนใจเฉพาะถิ่นที่มีอยู่ในป่าชุมชนห้วยแถลงป่าเล็กๆที่น่าสนใจอีกป่าหนึ่งทีเดียว

1.กอมก้อลอดขอน ชื่อวิทยาศาสตร์ Elatostema repens (Lour.) Hallier f., วงศ์URTICACEAE ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก ลำต้นอวบน้ำทอดไปตามพื้นดิน หิน หรือขอนไม้ มีขนทั่วไป ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม แต่ขนาดของใบไม่เท่ากัน ใบหนึ่งเล็กมาก ยาว 1-2 มม. ร่วงง่าย อีกใบเป็นใบปรกติ จะเห็นใบปรกติเรียงสลับกัน ใบค่อนข้างอวบน้ำ รูปใบหอก รูปรี หรือรูปรียาว กว้าง 1.5-4 ซม. ยาว 3-11 ซม. ปลายแหลม โคนเฉียงและเว้าเป็นรูปหัวใจ ขอบจักฟันเลื่อยหรือหยักซี่ฟัน เส้นใบออกจากโคนใบ 3 เส้น แผ่นใบด้านล่างมีขน ด้านบนมีผลึกแคลเซียมคาร์บอเนตภายในเซลล์ของผิวใบ (cystolith) เมื่อแห้งเป็นเส้นนูนคล้ายขนกระจายอยู่ทั่วไป ก้านใบยาวประมาณ 5 มม. หูใบเป็นแผ่นบางๆ รูปไข่ปลายเรียวแหลม สีน้ำตาลแดง ยาว 0.5-1 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามง่ามใบ ก้านช่อดอกยาว 5-10 ซม. มีขน ดอกเล็กมาก แยกเพศเป็นดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย กลีบดอกมีชั้นเดียว จำนวน 4 กลีบ สีขาวอมเขียว เกสรเพศผู้ 5 อัน รังไข่มี 1 ช่อง มีออวุล 1 เม็ด ผลแห้งเมล็ดล่อน การกระจายพันธุ์ : อินเดียและภูมิภาคอินโดจีน การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : ทั่วทุกภาค สภาพนิเวศน์ : พบในป่าดิบตามที่ร่มชื้นหรือใกล้น้ำลำธาร 2.ตีนตั่งเตี้ย (นมแมวป่า)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ellipeiopsis ferruginea. (Busc.-Ham. Ex Hook. F. & Thomson) R.E. Fries) ( Uvaria ferruginea. Hamilton ex J. D. Hooker et T. Thomson )
วงศ์ Annonaceae
ลักษณะ
ไม้พุ่มลำต้นตั้งตรงสูงได้ถึง 1. 5 เมตร ทุกส่วนมีขนสีน้ำตาลปกคลุมหนาแน่น ใบเดี่ยวเรียงสลับรูปไข่แกมขอบขนาน รูปวงรีหรือรูปวงรีแกมรูปไข่ มีขนสองด้าน ดอกเดี่ยวออกที่ซอกใบ กลีบดอกสีเหลืองอ่อน ผลกลุ่ม รูปกลมรีดิบเป็นสีเขียวเวลาสุกเป็นสีแดง
สรรพคุณ
แก้ผิดสำแดง
รากเคี้ยวพ่นตากรณีโดนงูเห่าพ่นพิษ
รากผสมกับรากหญ้าคา เหง้าต้นเอื้อง หมายนา และลำต้นอ้อยแดง ทุกอย่างกะด้วยสายตาจำนวน 1 ต่อ 1 นำไปต้มน้ำให้เดือดกินตอนกำลังอุ่นๆ เป็นยาบำรุงเลือด รักษาโรคที่เกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะขุ่นเหลืองแดง มักมีอาการแน่นท้องกินอาหารไม่ได้ที่เรียกว่าโรคไตพิการใช้รากนมแมวป่ามาต้มในน้ำจนเดือดดื่มตอนอุ่นๆ

3.ทรายเด่น (กระเจียน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Polyalthia cerasoides Benth.ex Bedd.
วงศ์ ANNONACEAE
ชื่ออื่น ระไหว ( โคราช ) , ค่าสามซีก (เชียงใหม่), แคหาง (ราชบุรี), จันทน์ดง ทรายเด่น (ขอนแก่น), กะเจียน พญารากดำ (ชลบุรี), โมดดง (ระยอง), สะบันงาป่า (ภาคเหนือ), เสโพลส่า (ไทยใหญ่-แม่ฮ่องสอน), เหลือง (ลำปาง) , ฝีหมอบ
ลักษณะ
ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 5-15 ม. ลำต้นเปลา เปลือกเรียบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน และมักเบี้ยว ใบอ่อนมีขนนุ่มทั่วไป ดอกออกเดี่ยวๆ หรือเป็นกลุ่มไม่เกิน 3 ดอก ตามง่ามใบและเหนือรอยแผลใบตามกิ่ง กลีบเลี้ยง 3 กลีบ กลีบดอกสีเขียวอ่อน เรียงสลับกัน 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก อยู่ชิดกันแน่นเป็นพุ่มกลม ผลเป็นผลกลุ่ม อยู่บนแกนตุ้มกลม แต่ละผลป้อม ปลายเป็นติ่ง ผลอ่อนสีเขียว แก่จัดเป็นสีแสด ก้านผลเรียวเล็ก โคนก้านติดรวมอยู่บนปลายก้านช่อที่โตเป็นตุ้ม
สรรพคุณ
ราก เข้ายาสักกันงูกัด เปลือก-เข้ายาพื้นบ้านบางชนิด
ใบสด รสเฝื่อนเย็น ตำพอกฝี แก้ปวด แก้อักเสบ เนื้อไม้ รสขม ต้มน้ำดื่ม แก้วัณโรคในลำไส้ วัณโรคในปอด แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดหลัง ปวดเอว แก้ปัสสาวะพิการ แก้กระษัย ไตพิการ บำรุงธาตุ เจริญอาหาร ฝนกับน้ำปูนใส ทาเกลื่อนหัวฝี

มีการใช้ทรายเดนในตำรับยามะเร็งอันโด่งดังของวัดคำประมง
สมุนไพรรักษามะเร็ง ของวัดคำประมง จังหวัดสกลนคร
สูตรที่ 1 ยอดยากินแก้มะเร็งทุกชนิด
1.หัวร้อยรู
2.ไม้สักหิน
3. ข้าวเย็นเหนือ
4. โกศจุฬา
5. ข้าวเย็นใต้
6. โกฐเชียง
7. กำแพงเจ็ดชั้น
8.เหงือกปลาหมอ
9. กะเจียน ( นามผีหมอบ )
10. หญ้าหนวดแมว
11. ทองพันชั่ง
ประโยชน์
เนื้อไม้สีขาวอมเหลือง ใช้ทำด้ามเครื่องมือเกษตรกรรมทั่วไป

มีผู้สนใจอยากให้พ่อสง่าช่วย ต้องบอกก่อนค่ะว่าหมอพื้นบ้านส่วนใหญ่ไม่มีโทรศัพท์หรือมีก็ไม่ค่อยพกค่ะ ช่องทางที่จะติดต่อได้คือติดต่อผ่านเภสัชกรหญิงอรุณรัตน์ หัวหน้าฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลห้วยแถลง 044391177 ซักถามรายละเอียดขอความช่วยเหลือและคำแนะนำดูนะคะ เพราะเภสัชอรุณรัตน์ดูแลหมอพื้นบ้านในเขตนั้น น่าจะโทรช่วงบ่ายค่ะ เพราะส่วนใหญ่ตอนเช้าโรงพยาบาลจะยุ่งมากทุกที่

ปุณณภา  งานสำเร็จ เรียบเรียง

วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2552

หนามไข่ปูไม้กินได้ฟอร์มใบสวย

หนามไข่ปู

ต้นหนามไข่ปูที่ขึ้นเรียงรายอยู่ข้างทางผาเดียวดาย
สีสรรไล่ระดับของใบหนามไข่ปูความสวยงามของธรรมชาติที่น่าประทับใจ



ลูกหนามไข่ปูกะจิริดน่ารักกินเพลิน

ผาเดียวดายและหนามไข่ปู

มีโอกาสได้ไปผาเดียวดายจนได้ ก่อนหน้านี้ลังเลที่จะไปชมทั้งที่ได้ยินชื่อมานาน ชื่อของหน้าผาที่ฟังแล้วหดหู่ใจพิกล ยังไม่หมดเท่านั้นน้องที่เป็นไกด์นำทางยังบอกว่ามีอีกผาชื่อผาตรอมใจ เฮ้อ...เอาเข้าไป แต่ความที่อยากเห็นต้นฝอยลมมากๆ ทำให้ต้องไปเขาใหญ่อีกครั้งจนได้ของแถมมาเยอะมาก

ผาเดียวดาย เป็นจุดชมวิวทิวทัศน์หนึ่งของยอดเขาเขียว เป็นผาที่ยี่นออกมาจากเขาสูง ว่ากันว่ารูปร่างของผาเดียวดายมีลักษณะคล้ายผานกเค้าที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย อันโด่งดัง แต่ต้องเดินลงไปจากถนน ประมาณ ๒๐๐ เมตร และเดินอ้อมกลับอีกทางหนึ่งในระยะทางเท่า ๆ กัน สามารถชมวิวได้สวยงามอยู่ในส่วนที่เรียกว่าเขาเขียวซึ่งเป็นจุดสูงสุดของเขาใหญ่ และสูงที่สุดในภาคกลาง คือ ๔,๒๓๓ เมตร เป็นที่ตั้งของสถานีเรด้าร์ ซึ่งสร้างขึ้นในปี ๒๕๐๗ โดยการสนับสนุนของกองทัพสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันสถานีเรดาร์แห่งนี้มีความสำคัญในการป้องกันภัยทางอากาศ โดยเริ่มสร้างถนนขึ้นเขาเขียวในปี ๒๕๐๓ ใครที่ไม่เคยไปเห็นเราอยากให้ไป ใครที่ชอบต้นไม้และบรรยากาศชื้นๆเต็มไปด้วยเฟรินและมอสแบบป่าดงดิบไปดูเถอะสวยทีเดียว
บนนี้ไม่เห็นฝอยลมหรอกเพราะมอสกับเฟรินขึ้นเต็มไปหมด แต่ไม้ชนิดหนึ่งที่สวยและกินได้อร่อยดีที่ไปเจอมาคือ ต้นหนามไข่ปู มีข้อมูลเกี่ยวกับพืชตัวนี้ไม่มากนักคงต้องติดค้างสรรพคุณทางสมุนไพรไว้ก่อน เอาเป็นว่าเป็นไม้กินได้ใบสวยไปก่อนละกัน

หนามไข่ปู Rubus rugosus
ชื่อสามัญ ราสเบอร์รี่ ( Raspberry)
ชื่ออื่น มะฮะไข่ปู ไข่ปูลิ้นแลน มะฮู้
ราสเบอร์รี่ ( Raspberry) เป็นผลไม้ชนิดหนึ่งโดยมีมากมายหลายสายพันธุ์ มีต้นกำเนิดมาจากแถบยุโรป ผลราสเบอร์รี่สามารถรับประทานได้โดยมีทั้งรสหวานและเปรี้ยว ผลมีสีแดงขนาดเล็กและยังเป็นผลไม้ทางการค้าที่สำคัญ สามารถเจริญเติบโตได้อย่างกว้างขวางทุกสภาพภูมิอากาศทั่วโลกแต่นิยมปลูกกันในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเช่นยุโรปและอเมริกา 
ลำต้นและตัวต้นก็มีความแข็งแรงมากสามารถขยายพันธุ์ไปได้เรื่อยๆไม่มีขีดจำกัด ถึงขนาดที่ว่าหากปลูกราสเบอร์รี่ในสวนและทิ้งไว้ไม่ได้ดูแลอย่างดี มันก็สามารถจะยึดสวนทั้งสวนได้เลยทีเดียว ซึ่งเป็นผลมาจากการที่มันสามารถงอกลำต้นใหม่จากลำต้นเดิมได้และรากของมันจะเจาะลึกลงไปในดิน
ส่วนใบก็สามารถนำไปทำยาได้
การเก็บเกี่ยวนิยมเก็บเกี่ยวในช่วงที่ผลสุกงอมโดยให้ดูจากผลจะมีสีเข้มสด (สีแดง, ม่วง, ดำ) ในช่วงนี้ผลจะมีความหวานมากจึงเหมาะสำหรับนำไปรับประทานหรือนำไปทำแยมผลไม้และเหมาะที่จะนำไปทำอาหารอย่างอื่นทั้งของคาวและของหวาน
ราสเบอร์รี่ ในภาษาท้องถิ่นของไทยเรียกว่า หนามไข่ปู ในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์บนพื้นที่ภูเขาสูง
ประโยชน์ ผลกินได้ ใบตากแห้งชงชา

ปุณณภา  งานสำเร็จ เรียบเรียง

วันพุธที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2552

กะตังบายสมุนไพรดีที่หาง่ายในอีสาน

กะตังบาย
กะตังบายต้นนี้พบที่ข้างทางไปสวนสมุนไพรมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตสกลนคร อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร

กะตังบายต้นนี้พบที่สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ที่นี่มีไม้ที่ขึ้นตามธรรมชาติอยู่มาก ที่พักสะดวกสบายพอสมควรอยู่ใกล้กับพระธาตุนาดูน


กะตังบายต้นนี้อยู่ที่อำเภอปากช่อง ใบแก่ ใบอ่อน ดอก ผลครบ

ผลกะตังบาย

กระตังใบหรือกระตังบาย เป็นไม้ที่ได้ยินชื่อมานาน บางคนอาจจะบอกว่าหายาก แต่แถบภาคอีสาน เราเห็นมีทุกป่าชุมชน ( เกือบทุกป่า ) เห็นอยู่ทั่วไป ถือเป็นไม้ชายป่าที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ไม่ได้มีปริมาณมากนักในแต่ละป่า เป็นไม้ที่ค่อนข้างมีเอกลักษณ์จำง่าย เราเคยเห็นหมู่บ้านแลนด์แอนเฮาส์ในโคราชเอาไปจัดสวนเป็นไม้ประดับด้วยก็สวยดี ตอนนี้เอามาพัฒนาเป็นไม้ประดับ มีชื่อการค้าในตลาดต้นไม้ว่า ต้นสตางค์ เอากันเข้าไป

ภาคเหนือนิยมใช้กะตังบายกันมาก ตอนนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กำลังวิจัยสรรพคุณอยู่นัยว่าเป็นไม้ดีมีประโยชน์ที่จะโชว์เป็นไม้เด่นเลย จำไว้ว่าเมื่อไหร่ได้ยินคำว่า "เขืองแข้งม้า" มันคือกะตังบายนั่นเอง

กะตังใบ (Leea rubra)
วงศ์ : Leeaceae สกุล : Leea ชื่อพฤกษศาสตร์ : Leea rubra
ชื่อไทย : กะตังใบ ชื่ออื่นๆ : กะตังแดง (กรุงเทพ) , เขือง / บังใบ / กะตังใบ / กะตังบาย (ภาคกลาง) , กะลังใบ / เขืองแขงม้า (ภาคเหนือ) ขี้หมาเปียก ( โคราช )
ถิ่นกำเนิด : เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กะตังใบเป็นไม้พุ่มสูง 1-3 เมตร ลำต้นและกิ่นก้านเป็นเหลี่ยม 8-10 เหลี่ยม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ก้านใบมักจะแผ่เป็นกาบหุ้มกิ่งเอาไว้ ใบย่อยจำนวนมากปลายแหลม โคนมน ขอบใบจักเป็นซี่เล็กๆ ดอกสีแดงเข้มออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ก้านช่อดอกยาว ดอกขนาดเล็กมีจำนวนมากอัดกันแน่น กลีบดอกปลายแยกเป็น 5 แฉก ผลค่อนข้างกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร มี 3 พู เมื่อสุกเป็นสีดำ ออกดอกตลอดปี แต่จะดกในช่วงหน้าฝน
ประโยชน์ : รากใช้ขับเหงื่อ แก้ไข้ แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้บิดและแก้ท้องร่วง
ยาพื้นบ้านอีสานใช้รากผสมลำต้นขมิ้นเครือ ลำต้นเมื่อยดูกและรากตากวาง ต้มน้ำดื่มแก้ท้องเสีย
ภาคเหนือใช้เข้าตำรับยาดองเหล้าบำรุงกำลังเรียกว่าเขืองแข้งม้า โดยใช้ส่วนของรากรากแก้ปวดเมื่อยตามร่างกายและช่วยขับลม

ปุณณภา  งานสำเร็จ เรียบเรียง 

กะตังใบเตี้ยไม้เลียดดินแสนสวย

กะตังใบเตี้ยหรือต้างไก่แดง


กะตังใบเตี้ยต้นเลียดพื้นต้องก้มๆหาเวลาเดินป่า


ต้างไก่เตี้ยพบมากในป่าอำเภอบัวลายต้นนี้มีเมล็ด


เราชอบต้างไก่เตี้ยมาก มันต้นเล็กๆแต่มีรายละเอียดในตัวเองน่ารักดี ใบสวย ดอกสวย ฟอร์มต้นสวย

หัวใต้ดินของต้างไก่เตี้ย รูปนี้ยืมมาจากสารานุกรมออนไลน์ ก็ตอนไปเจอไม่รู้ว่าสรรพคุณอยู่ที่หัวไม่ได้ขุดขึ้นมาถ่ายรูปไว้

กะตังใบเตี้ย
วันที่ 3 ตุลาคม 2550
Leea thorelii Gagnep.
Leeaceae
ไม้ลัมลุกอายุหลายปีทอดนอนตามพื้นดินหรืออาจสูงได้ถึง 1 ม. มีหัวใต้ดิน หูใบติดบนก้านใบเป็นปีกแคบๆ กว้าง 0.3-0.5 ซม. ยาว 1-3 ซม. ใบมี 3 ใบย่อยหรือใบประกอบย่อย 1-3 ใบ แกนกลางยาวได้ประมาณ 10 ซม. มีขนละเอียด บางครั้งเป็นปีกแคบๆ ก้านใบยาว 3-10 ซม. ใบย่อยมีหลายรูปแบบ ส่วนมากรูปไข่ รูปขอบขนานหรือเกือบกลม ยาว 3-12 ซม. มีขนกระจาย ขอบจักฟันเลื่อยหรือจักมนเป็นคลื่น ปลายกลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบกลมหรือรูปลิ่ม ไม่เท่ากัน ก้านใบย่อยยาวได้ถึง 0.8 ซม. มีปีกแคบๆ ดอกออกเป็นช่อ ยาวประมาณ 8 ซม. มีขนกระจาย ดอกแน่น ใบประดับรูปสามเหลี่ยมยาวประมาณ 0.3 ซม. ติดทน ก้านช่อดอกยาว 1-5 ซม. กลีบดอกและกลีบเลี้ยงมีจำนวนอย่างละ 5 กลีบ กลีบเลี้ยงติดเป็นหลอดยาวประมาณ 0.2 ซม. กลีบยาวประมาณ 0.1 ซม. หลอดกลีบดอกยาวเท่าๆ หลอดกลีบเลี้ยง กลีบดอกยาวประมาณ 0.2 ซม. หลอดเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันยาวประมาณ 0.1 ซม. ปลายแยกกัน ยาวประมาณ 0.1 ซม. รังไข่มี 4-6 ช่อง ก้านเกสรเพศเมีย ยาว 0.1-0.2 ซม. ผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลางยาว 0.5-0.8 ซม. สีม่วงดำ เมล็ดมี 4-6 เมล็ด กลม เส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 0.3 ซม.กะตังใบเตี้ยมีเขตการกระจายพันธุ์เฉพาะในภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบแทบทุกภาคยกเว้นภาคเหนือตอนบน และภาคใต้ ขึ้นหนาแน่นตามทุ่งหญ้าในป่าเต็งรัง หรือป่าเบญจพรรณ ระดับความสูงจนถึงประมาณ 250 เมตร




สรรพคุณ




ยาพื้นบ้านอีสานใช้หัวใต้ดินผสมรากชงโคขาว ต้มน้ำดื่ม ช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงกำลัง
ศิริพร กลมกล่อม เรื่อง - ภาพ

ฉัตรพระอินทรไม้ดอกสวยที่ไร้คนสนใจ

ฉัตรพระอินทร์



ต้นฉัตรพระอินทร์ขึ้นข้างทางมองเห็นแต่ไกล

ลักษณะใบของฉัตรพระอินทร์

เป็นช่อฉัตรสมชื่อฉัตรพระอินทร์


กิ่งแขนงแตกหลายกิ่งสูงต่ำลดลั่นกัน


ฉันสะดุดตากับไม้ต้นนี้มาเป็นปีๆตอนนั่งรถผ่านแถวๆอำเภอด่านขุนทด เป็นไม้ที่ขึ้นข้างทางเห็นอยู่ทั่วๆไป ชอบที่เป็นไม้ฟอร์มสวย สง่า ทำไมไม่มีใครสนใจเอาไปปลูกเป็นไม้ประดับนะรูปก็งามนามก็เพราะ ดีกว่าไม้นอกหน้าตาประหลาดอีกหลาย ๆ ตัวด้วยซ้ำ ถามใครก็ไม่มีใครรู้จักว่าชื่อต้นอะไรจนต้องค้นเอง แต่บางทีก็เจอว่าเรียกต้นนมสวรรค์ว่าฉัตรพระอินทร์ ต้องทำใจการใช้ชื่อต่าง ชื่อซ้ำ ชื่อพ้องและใช้ชื่อผิด จะให้ดีชี้ต้นกันเลยดีกว่า




กว่าจะได้ถ่ายรูปเค้าจริง ๆ จัง ๆ ก็เพราะเห็นต้นหนึ่งขึ้นอยู่ใกล้ๆ ที่ทำงาน เพราะถ้าไกลกว่านี้คงลำบาก รถยนต์ก็ไม่มีกับเค้า ( ถึงมีก็ขับไม่เป็นอยู่ดี ) ถือว่าสวรรค์จัดให้แล้วกัน ขาตั้งกล้องก็ไม่มี กว่าจะถ่ายออกมาได้ชัดเล่นเอาต้องพักแขนอยู่หลายรอบ รูปที่ได้ไม่ถูกใจนัก แต่คงได้เต็มที่เท่านี้ วันหลังจะไปดูอีกว่าเค้าโรยหมดรึยัง ค้นดูข้อมูลในอินเตอร์เน็ทถูกจัดเป็นพวกวัชพืชซะนี่ เฮ้อ... ใครก็ได้ช่วยเอาไม้ตัวนี้ไปเพาะขยายที




ฉัตรพระอินทร์




ชื่อวิทยาศาสตร์ : Leonotis nepetifolia ( L.) R.Br.วงศ์ : Labiatae




ชื่อสามัญ : Lion 's ear, Hallow stalk




ชื่ออื่น : เสกฉัตร เสกกษัตริย์ ( ชัยภูมิ ) จ่อฟ้า ( ตาก )




ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่มล้มลุก ลำต้นสูงชะลูด แตกกิ่งแขนงมากบริเวณใกล้ปลายยอด ลำต้นสูงประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นมีสีเขียวเป็นเหเลี่ยม ใบ เป็นใบเดี่ยวออกจากลำต้นแบบตรงข้าม แผ่นใบกว้าง แข็งและหนา ขอบใบหยัก ปลายใบแหลม ใบมีสีเขียว เข้ม ก้านใบยาว ดอก ออกเป็นช่อเป็นคู่ตรงข้ามกัน สีส้มสด หรือแดงอมส้ม กลุ่มดอกย่อยจะเกิดติดกันรอบๆ ลำต้น และมีใบแซมออกจากก้านรอบทิศทางมีลักษณะคล้ายฉัตร จะเริ่มออกดอกเมื่อต้นเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ผล มีรูปร่างกลม ขนาดเล็ก เปลือกผลมีสีเขียว เมล็ดกลม พบขึ้นในบริเวณที่มีความชุ่มชื้น ดินร่วนซุย ตามป่าละเมาะ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด พืชในสกุล Leonotis นี้มีอยู่ด้วยกันราว 30 ชนิดมีทั้งชนิดที่เป็นไม้ล้มลุก ,ไม้เนื้ออ่อนอายุหลายปี และไม้พุ่มเขียวตลอดปีไม่ผลัดใบ (แต่ถ้าขึ้นในที่อากาศเย็นจะผลัดใบ)




ประโยชน์ : ช่อผลนำมาตากแห้ง ใช้ปักแจกัน ประดับเพื่อความสวยงาม




สรรพคุณ




เป็นยาสมุนไพร รักษาโรคมาเลเรีย แก้แผลถูกไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก แก้ไข้ โรคปวดข้อ เป็นยาระบาย ขับระดู แก้คัน กลากเกลื้อน




ใบ บำรุงกำลัง เป็นยาระบาย แก้ไข้จับสั่น แก้ซาง




ขี้เถ้าจากดอก แก้แผลถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แก้คัน แก้กลากเกลื้อน




เมล็ด รักษาโรคมาลาเรีย ทั้งต้น ขับระดู บีบมดลูก แก้ปวดตามข้อ แก้ไข้จับสั่น แก้ไข้ เป็นยาบำรุง เป็นยาระบาย และเสพติด




ยาพื้นบ้านอีสานใช้ทั้งต้นผสมลำต้นสบู่ดำ ต้มน้ำแช่เท้าแก้ปวดขา




สารสำคัญ : chromen-2-one,4,6,7-trimethoxy-5-methyl; labdane III; labellenic acid; lionotinin; leonotin; linoleic acid; myristic acid; nepetaefolin; nepetefolin; methoxy; nepetnefolinol; oleic acid; palmitic acid; stearic acid
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต้านแบคทีเรีย ลดความดันโลหิต
ศิริพร กลมกล่อม เรื่อง - ภาพ