วันพุธที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2552

กะตังบายสมุนไพรดีที่หาง่ายในอีสาน

กะตังบาย
กะตังบายต้นนี้พบที่ข้างทางไปสวนสมุนไพรมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตสกลนคร อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร

กะตังบายต้นนี้พบที่สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ที่นี่มีไม้ที่ขึ้นตามธรรมชาติอยู่มาก ที่พักสะดวกสบายพอสมควรอยู่ใกล้กับพระธาตุนาดูน


กะตังบายต้นนี้อยู่ที่อำเภอปากช่อง ใบแก่ ใบอ่อน ดอก ผลครบ

ผลกะตังบาย

กระตังใบหรือกระตังบาย เป็นไม้ที่ได้ยินชื่อมานาน บางคนอาจจะบอกว่าหายาก แต่แถบภาคอีสาน เราเห็นมีทุกป่าชุมชน ( เกือบทุกป่า ) เห็นอยู่ทั่วไป ถือเป็นไม้ชายป่าที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ไม่ได้มีปริมาณมากนักในแต่ละป่า เป็นไม้ที่ค่อนข้างมีเอกลักษณ์จำง่าย เราเคยเห็นหมู่บ้านแลนด์แอนเฮาส์ในโคราชเอาไปจัดสวนเป็นไม้ประดับด้วยก็สวยดี ตอนนี้เอามาพัฒนาเป็นไม้ประดับ มีชื่อการค้าในตลาดต้นไม้ว่า ต้นสตางค์ เอากันเข้าไป

ภาคเหนือนิยมใช้กะตังบายกันมาก ตอนนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กำลังวิจัยสรรพคุณอยู่นัยว่าเป็นไม้ดีมีประโยชน์ที่จะโชว์เป็นไม้เด่นเลย จำไว้ว่าเมื่อไหร่ได้ยินคำว่า "เขืองแข้งม้า" มันคือกะตังบายนั่นเอง

กะตังใบ (Leea rubra)
วงศ์ : Leeaceae สกุล : Leea ชื่อพฤกษศาสตร์ : Leea rubra
ชื่อไทย : กะตังใบ ชื่ออื่นๆ : กะตังแดง (กรุงเทพ) , เขือง / บังใบ / กะตังใบ / กะตังบาย (ภาคกลาง) , กะลังใบ / เขืองแขงม้า (ภาคเหนือ) ขี้หมาเปียก ( โคราช )
ถิ่นกำเนิด : เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กะตังใบเป็นไม้พุ่มสูง 1-3 เมตร ลำต้นและกิ่นก้านเป็นเหลี่ยม 8-10 เหลี่ยม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ก้านใบมักจะแผ่เป็นกาบหุ้มกิ่งเอาไว้ ใบย่อยจำนวนมากปลายแหลม โคนมน ขอบใบจักเป็นซี่เล็กๆ ดอกสีแดงเข้มออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ก้านช่อดอกยาว ดอกขนาดเล็กมีจำนวนมากอัดกันแน่น กลีบดอกปลายแยกเป็น 5 แฉก ผลค่อนข้างกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร มี 3 พู เมื่อสุกเป็นสีดำ ออกดอกตลอดปี แต่จะดกในช่วงหน้าฝน
ประโยชน์ : รากใช้ขับเหงื่อ แก้ไข้ แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้บิดและแก้ท้องร่วง
ยาพื้นบ้านอีสานใช้รากผสมลำต้นขมิ้นเครือ ลำต้นเมื่อยดูกและรากตากวาง ต้มน้ำดื่มแก้ท้องเสีย
ภาคเหนือใช้เข้าตำรับยาดองเหล้าบำรุงกำลังเรียกว่าเขืองแข้งม้า โดยใช้ส่วนของรากรากแก้ปวดเมื่อยตามร่างกายและช่วยขับลม

ปุณณภา  งานสำเร็จ เรียบเรียง 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น