วันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2555

วิธีการเข้าหาหมอพื้นบ้าน

โดย ปุณณภา  งานสำเร็จ
ศูนย์ศึกษารวบรวมพันธุ์พืชสมุนไพรและภูมิปัญญาไทย  จังหวัดนครราชสีมา


ไม่เคยคิดว่าจะต้องเขียนเรื่องนี้ แต่เมื่อวานได้รับโทรศัพท์จากคนๆหนึ่งฟังจากเสียงก็คงประมาณรุ่นลูก เค้าขึ้นต้นประโยคว่า "ใช่ที่ชื่อโอ่งไม๊คะ" ด้วยน้ำเสียงที่แข็งๆ หลังจากที่เราบอกว่าใช่อย่างงงๆเพราะดูแล้วก็คงไม่ใช่เพื่อน ไม่ใช่เจ้าหนี้ ไม่ใช่ลูกค้า ไม่ใช่ใครที่เรารู้จัก เค้าแนะนำตัวว่าเป็นนักศึกษาเรียนแพทย์แผนตะวันออก ( จากมหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังที่ใครๆก็รู้จัก )   เค้าต้องการรู้เบอร์โทรของพ่อสง่าหมองู  เพราะอยากจดสูตรยาสมุนไพรจากพ่อสง่า  เราก็เลยให้เบอร์พี่พบพรหมอพื้นบ้านและนักอนุรักษ์ป่าหนึ่งในแกนนำสำคัญของอำเภอห้วยแถลงไปเพราะเราไม่มีเบอร์พ่อสง่าโดยตรง  แต่มานั่งนึกทีหลังว่า  เราอาจพลาดไปหน่อยตรงที่ไม่สกรีนคน   เพราะดูลักษณะแล้ว คนที่อยากได้ความช่วยเหลือจากคนอื่นแต่เริ่มต้นด้วยประโยคแบบนี้  มันดูเสียมารยาทไปหน่อย  รึอาจจะเสียมารยาทมากทีเดียว เพราะมีคำที่สุภาพกว่านี้อีกเยอะในการโทรศัพท์หาคนแปลกหน้า  ที่เรากังวลก็คือ  เวลาที่เค้าไปพบหมอพื้นบ้านเพื่อสัมภาษณ์ เค้าจะรู้จักมีมารยาทหรือนอบน้อมหรือให้เกียรติรึเปล่า  การศึกษาไม่ได้บอกว่าคุณเหนือกว่าคนอื่น คุณไม่ได้มีค่าไปกว่าหมอพื้นบ้านที่ได้ช่วยชีวิตคนมากมาย  มันคงต้องเริ่มปรับตั้งแต่ทัศนคติว่าหมอพื้นบ้านมีศักดิ์ศรีและมีเกียรติสมควรที่เราจะให้ความนับถือและเคารพ ถ้าเราจะไปหาควรไปด้วยความจริงใจที่จะขอเรียนรู้เพราะเห็นคุณค่าในภูมิปัญญาของท่าน  และที่สำคัญที่สุด เราควรบันทึกชื่อของท่านในภูมิปัญญานั้นๆด้วย  มีหลายๆคนนึกว่าตัวเองเป็นคนไปช่วยเก็บรวบรวมบันทึกเพื่อให้ภูมิปัญญานั้นคงอยู่ แต่จริงๆมันไม่จำเป็นเลย  ไม่มีพวกคุณภูมิปัญญาก็อยู่มานานแล้วในกลุ่มของผู้สืบทอด  ต่อไปนี้ถ้าไม่ใช่คนป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือ  หรือสื่อมวลชนที่ต้องการยกย่องเชิดชูหมอพื้นบ้าน  เราคงต้องคัดกรองคนที่จะขอเข้าพบหมอพื้นบ้านว่ามีจิตสำนึกหรือทัศนคติที่ถูกต้องหรือมีมารยาทหรือไม่  ไม่งั้นก็ไม่จำเป็นอะไรที่จะต้องไปรบกวนท่าน 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น