วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

คัมภีร์โบราณเรื่องราวแห่งกาลเวลา วัฏฏะวน

โดย ปุณณภา  งานสำเร็จ
ศูนย์ศึกษารวบรวมพันธุ์พืชสมุนไพรและภูมิปัญญาไทย  จังหวัดนครราชสีมา


ความหลากหลายของพืชในเมืองไทยทำให้ลำบากในการจดจำ พืชบางชนิดทั้ง๕(ราก ลำต้น ใบ ดอก ผล ) มีสรรพคุณเดียวกันก็ค่อยยังชั่วหน่อย แต่ถ้าสรรพคุณใครสรรพคุณมันอันนั้นหนักหน่อย จำกันไม่หวาดไม่ไหว ถึงเตือนกันอยู่เสมอว่าถ้าไม่รู้ให้ศึกษาอย่างละเอียดถ่องแท้ ต้องให้ถูกต้น ให้ถูกส่วน ยกตัวอย่างเช่น ฝักมะขามเป็นยาระบาย แต่เปลือกมะขามเป็นยาหยุดถ่าย นี่เรียกว่าธรรมชาติมีตัวกันตัวแก้กันอยู่ ต้นไม้บางอย่างมีพิษตัวแก้ก็อยู่ในส่วนอื่นของต้นนั้นก็มีเช่นใบมีพิษเอารากแก้ อันนี้เรียกชงเองกินเอง ทุกวันนี้คนเห็นเงินเป็นใหญ่รู้สรรพคุณของสมุนไพรนิดหน่อยก็เอามาทำขายโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใช้ส่วนไหนของพืช ใช้สดหรือแห้ง ใช้ต้มหรือเผา ฯลฯ มันทำให้นอกจากโรคภัยไม่หายยังเกิดอันตรายได้ นี่เป็นมอดไม้แก่วงการสมุนไพร
แล้วถ้าถามว่าจะทำอย่างไรถึงจะรู้ คำโบราณว่าไว้ เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด เราต้องอ้างถึงคัมภีร์ตำรับตำราต่าง ๆ ที่มีมา เพราะนั่นคือการพิสูจน์ทดลองผ่านยุคสมัยมานาน ผ่านการเป็นตายมามาก จนตกผลึกทางความคิด ค่อยๆศึกษาเรียรู้ซึมซับเรื่องราวต่างๆไป แล้วจะรู้ว่าภูมิปัญญาของบรรพบุรษเรายิ่งใหญ่อลังการ ไม่ล้าสมัย โรคภัยไม่ต่างจากแฟชั่น มันล้าสมัยไปแล้วก็กลับมาใหม่ เทียบกับคัมภีร์โบราณดูจะรู้ว่าโรคที่เกิดขึ้นสมัยนี้เคยเกิดมาแล้วทั้งนั้น มันอาจหายไปและระบาดขึ้นมาใหม่ โลกใบนี้เกิดขึ้นมานาน การเวียนว่ายตายเกิดย่อมยังคงอยู่ ไปอีกนานแสนนาน
อย่างที่บอกในเมื่อเราจำสรรพคุณของพืชแต่ละต้นไม่หวาดไม่ไหว ครูยาโบราณมีวิธีคร่าวๆที่จะบอกสรรพคุณของส่วนของพืชนั้นๆดังนี้
จากคัมภีร์ฉันทศาสตร์ว่าด้วยเรื่องรสของพืช
" จะกล่าวกำเนิด ทั้งที่เกิดที่อยู่ ทั้งฤดูเดือนวัน อายุปันเวลา อาหารฝ่าสำแลง โรคร้ายแรงต่าง ๆ ยาหลายอย่างหลายพรรณ สิ้นด้วยกันเก้ารส จงกำหนดอย่าคลาศ ยารสฝาดชอบสมาน รสยาหวานซาบเนื้อ รสเมาเบื่อแก้พิษ ดีโลหิตชอบชม เผ็ดร้อนลมถอยถด เอ็นชอบรสมันมัน หอมเย็นนั้นชื่นใจ เจ็บ( เค็ม )ซาบในผิวหนัง เสมหะยังชอบส้ม "
ว่าด้วยภูมิประเทศ
" กำเริมลมที่อยู่เปือก ตอมฟูเยือกเย็น เนื้อหนังเอ็นปูปลา ย่อมภักษาครามครัน เสมหะนั้นโทษให้ ที่อยู่ในชลธาร มันเสพหว่านเนื่องนิจ ดีโลหิตจำเริญ ที่อยู่เถินเนินผา อาหารฝ่าเผ็ดร้อน อนึ่งสัญจรนอนป่า เพื่อภักษางูเห่า กำเริมเร้าร้อนรุม สันนิบาตกุมตรีโทษ นัยหนึ่งโสดกล่าวมา"
ว่าด้วยวันเดือนปีฤดูกาล
" ฤดูว่าเป็นหก ท่านแยกยกกล่าวไว้ เดือนหกในคิมหันต์ ควรเร่งปันเอากิ่ง แรมค่ำหนึ่งถึงเพ็ญ เดือนสิบเป็นคิมหันต์ กับวสันต์ฤดู เป็นสองอยู่ด้วยกัน อย่าหมายมั่นว่าฝน บังบดบนยิ่งร้อน พระทินกร เสด็จใกล้ มาตรแม้นไข้สำคัญ เลือดดีนั้นเป็นต้น แรมลงพ้นล่วงไป ถึงเพ็ญในเดือนยี่อาทิตย์ลีลาศห่าง ฤดูกลางเหมันต์ กับวสันต์เป็นสอง น้ำค้างต้องเยือกเย็น เสมหะเป็นต้นไข้ แรมลงไปเพียงกิ่ง เดือนหกถึงเพ็ญนั้น เข้าคิมหันต์ระคน เหมันต์ปนสีปักษ์ ลมพัดหนักแม้ไข้ กำเริมในวาตา ซึ่งกล่าวมาทั้งนี้ ต้นปลายปีบรรจบ ฤดูครบเป็นหก สี่เดือนยก ควบไว้ ฤดูใดไข้เกิด เอากำเนิดวันนั้น เป็นสำคัญเจ้าเรือน กำเริบเดือนนั้นว่า ในเดือนห้า เดือนเก้า เดือนอ้ายเข้าเป็นสาม เดือนนี้นามปถวี เดือนหกมีกำหนด เดือนสิบหมดเดือนยี่ สามเดือนนี้ธาตุไฟ อนึ่งนั้นในเดือนเจ็ด เดือนสิบเอ็ดเดือนสาม สามเดือนนามธาตุลม เดือนแปดสมเคราะห์เดือนสิบสองเลื่อนเดือนสี่ สามเดือนนี้อาโปกำเริบโรคามี เหตุทั้งสี่กล่าวมา รายเดือนว่าเหมือนกัน"
ว่าด้วยวัย
" อนึ่งสำคัญลมดี กำลังมีไฟ ธาตุภายในแรงยิ่ง อาโปสิ่งทั้งหลาย กำเริบร้ายด้วยเพศ เสมหะเหตุเป็นตน สันนิบาตท้นแรงไข้ กำเนิดในปถวี กำเริบมีกำลัง กำเริบมีกำลัง หนึ่งเด็กยังไม่รุ่น ยามเช้าครุ่นครางไข้ ปฐมวัยพาละ โทษเสมหะพัวพัน หนุ่มสาวนั้นเป็นไป กำลังในโลหิต ไข้แรงพิษเมื่อเที่ยง คนแก่ เพียงพินาศ ไข้บ่ายชาติวาตา ไข้เวลากลางคืน เสมหะฟื้นลมอัคคี สันนิบาตตรีโทษา หนึ่งคลอดมาจากครรภ์ ระวีวันเสารี เตโชมีเป็นอาทิ ศะศิครูปถวี อังคารมีวาโย พุธอาโปศุกร์ด้วย ธาตุนี้ม้วยกับตน โรคระคนทั่วไป ปรึกษาไข้จงมั่น ฤดูนั้นเข้าจับ อายุกับเพลา เดือนวันมาประมวณคงใคร่ครวญด้วยโทษ นัยหนึ่งโสดไข้นั้น แทรกซ้ำกันบางที วาโยดีเจือกัน เสมหะนั้นกับดี เสมหะมีกับลม ใคร่ให้สมอย่าเบา อย่าฟังเขาผู้อื่น คัมภีร์ยื่นเป็นแน่ กำหนดแก้เจ้าเรือน อายุเดือนวันเพลา กำเริบมาเป็นแทรก ไข้มาแซกอย่ากลัว ถึงมุ่นมัวซบเซา ถ้าไข้เจ้าเรือนไป ไข้แขกไม่อาจอยู่ อนึ่งเล็งดูในไข้ พอยาได้จึงยา ไม่รู้อย่าควรทำ จะเกิดกรรมเกิดโทษ ฯ"
เรื่องของนาฬิกาชีวิตคนโบราณกล่าวถึงมานานแล้ว ว่าด้วยกาล ( เวลา )
" จะกล่าวเพศชีพจรจำ เดือนขึ้นค่ำฝ่าบาทา เร่งรีบให้กินยา ตามตำราสะดวกดี สองค่ำอยู่หลังบาท อาจสามารถแก้โรคี กินยาสะดวกดี ตามคัมภีร์ที่มีมา สามค่ำอยู่ศีรษะ ชัยชนะแก่โรคา เร่งถ่ายเร่งผายยา ดีนักหนาอย่างสงสัย สี่ค่ำประจำแขน ตามแบบแผนอันพึ่งใจ ผายยามิเป็นไร โรคใดๆ อันตรธาน ห้าค่ำประจำลิ้น ยาที่กินแล่นเฉียวฉาน วาโยย่อมกล้าหาญ ขึ้นตามตนราก อาเจียน หาค่ำย่อมเรียงราย ทั่วทั้งกายให้คลื่นเหียน ป่วนปั่นให้วิงเวียน ย่อมติเตียนตำรายา เจ็ดค่ำประจำแข้ง ตามตำแหน่งให้ผายยา ระงับดับวาตา ในอุราไม่แดกดัน แปดค่ำอยู่ท้องน้อย ระยำย่อยห้ามกวดขัน กำเริบทุกข์สาระพัน ตำรานั้นว่ามิติ( ดี ) เก้าค่ำประจำมื้อ เร่งนับถือเป็นศุขี ระงับดับโรคี จำเริญศรีอายุนา สิบค่ำประจำก้น ดีล้นพ้นต้องตำรา ชะนะแก่โรคา ดับวาตาถอยลงไป สิบเอ็ดค่ำประจำฟัน ซึ่งห้ามนั้นอย่าสงสัย มักรากลำบากใจ โรคภายในกำเริบมา สิบสองค่ำประจำคาง อย่างละวางในตำรา กำเริบร้ายโรคา อย่าวางยาจะถอยแรง สิบสามค่ำอยู่ขาดี อันโรคีไม่ระแวง ทั้งโรคร้ายก็หน่ายแหนง อย่าควรแคลงเร่งวางยา สิบสี่ค่ำประจำหลัง อย่าพลาดพลั้งเร่งศึกษา ห้ามไว้ในตำรา ทุเลายาลำบากกาย สิห้าค่ำประจำใจ ท่านกล่าวไว้สำหรับชาย อย่าประจุยารุถ่าย อย่ามักง่ายว่าตามมี แรมค่ำหนึ่งจำใจใส่ ประจำใต้ฝ่าตนดี สองค่ำประจำที่ หลังตื่นมีอายุนา สามค่ำอยู่สะดือ อย่านับถือมักรากรา สี่ค่ำอยู่ทันตา จะมรณาม้วยบรรลัย ห้าค่ำประจำสิ้น ห้ามอย่ากินรากพ้นไป หกค่ำอยู่เศียรไซร้ ดับโรคภัยสิ้นทั้งปวง เจ็ดค่ำประจำตัว ย่อมเกรงกลังปะทะทรวง แปดค่ำว่าหนักหน่วง อยู่ในทรวงย่อมจะตาย เก้าค่ำประจำคางเป็นปานกลางคลื่นลงสาย สิบค่ำแขนสบาย ลงง่ายดายเร็วหนักหนา สิบเอ็ดค่ำประจำมือ เร่งนับถือตามตำรา สิบสองค่ำอยู่นาสา หายโรคาอย่าสงสัย สิงสามค่ำอยู่กรรณ์ พยาธินั้นสิ้นสูญไป สิบสี่ค่ำอยู่ปากไซร้ ห้ามมากไว้สิ้นชีวี สิบห้าค่ำอยู่คอ จงรั้งรอตามวิธี กินยาว่ามิดี ห้ามทั้งนี้ตามตำรา ชีพจรนี้สำคัญข้างขึ้นนั้นแลแรมหนา เหมือนกันดังกล่าวมา จะผายยาดูให้ดี บุราณท่านตั้งไว้ คัมภีร์ไซร้สำหรับมี ดับพยาธิโรคี อายุยืนเจริญเอย ฯ "
ว่าด้วยกาลและรสยา น้ำกระสาย
" จะสำแดงสมุฏฐาน กำหนดกาลที่เกิดไข้ ท่านตั้งไว้ประการสี่ ตามคัมภีร์คิริมานนท์ ให้นรชนพึงรู้ สังเกตดูเพลากาล วันหนึ่งท่านแบ่งสี่ยาม คืนหนึ่งตามยามมีสี่ กลางวันมีโมงสิบสอง กลางคืนร้องเรียกว่าทุ่ม แม้นประชุมทุ่มเข้าสาม เรียกว่ายามเหมือนกัน ถ้ากลางวันสามโมงเล่า ท่านนับเข้าว่ายามหนึ่ง ขอท่านพึงกำหนดเถิด ยามเช้าเกิดแต่เสมหัง ยามสองตั้งด้วยโลหิต ยามสามติดเพื่อดี ตกยามสี่เพื่อวาตา ครั้นเพลาพลบค่ำ ยามหนึ่งทำด้วยกองลม ยามสองระดมดีซึมทราบ ยามสามอาบด้วยโลหิต ยามสี่ติดด้วยเสมหะ สมุฏฐานะดังกล่าวมา จงวางยาแซก กระสาย เสมหะร้ายแซกด้วยเกลือ น้ำนมเสือใส่ประกอบ โลหิตชอบกระสายเปรี้ยว ดีสิ่งเดียวชอบรสขม ฝ่ายข้างลมชอบเผ็ดร้อน แพทย์จงผ่อนตามเวลา กระสายยาแซกพลันหาย จะภิปรายในเรื่องรส เปรี้ยวปรากฎเคยสำเหนียก ส้มมะขามเปียกฝักส้มป่อย เปรี้ยวอร่อยน้ำส้มซ่า ขมธรรมดาบรเพ็ดกระดอม ขมเปนจอมดีงูเหลือม เผ็ดพอเอื้อมขิงดีปลี ภิมเสนมีให้ใส่แซก อนึ่งเค็มแปลกนอกจากเกลือ รู้ไว้เผื่อแก้ไม่หยุด มูตร์มนุษย์เปลือกลำภู สองสิ่งรู้เถิดเค็มกร่อย อ่านบ่อยๆให้จำได้ จะได้ใช้แซกจูงยา ในตำราป่วงแปดประการ ตามคัมภีร์โบราณ ซึ่งท่านแต่ก่อนกล่าวเอย "

ดูความละเอียดละออของคนโบราณเถิด ด้วยความห่วงลูกหลานท่านจึงบันทึกความรู้เหล่านี้ไว้ เหมือนท่านมีทิพยญาณว่าในอนาคตลูกหลานจะถึงทางตันในการรักษา
ขอกราบระลึกน้อมถึงคุณครูบาอาจารย์และบรรพบุรุษของเรา








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น