วันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2555

พรมมิ กระแสที่จางหาย สมุนไพรคืนความทรงจำ

โดย ปุณณภา  งานสำเร็จ
ศูนย์ศึกษารวบรวมพันธุ์พืชสมุนไพรและภูมิปัญญาไทย  จังหวัดนครราชสีมา


เคยได้ยินเรื่องพรมมิเมื่อสองสามปีมาแล้ว แต่กระแสของสมุนไพรก็เป็นอย่างนี้มีขึ้นลงเป็นแฟชั่น เล่นกระแสตามงานวิจัย  วิจัยเสร็จก็ผ่านไป  อีกอย่างเราไม่คุ้นกับพืชชนิดนี้ เลยไม่รู้จะพูดถึงว่ายังไง  ไม่เคยเห็นมีใครขายรึกินเป็นผักพื้นบ้าน  พอดีพึ่งได้เค้ามากระถางหนึ่งจึงบันทึกเอาไว้่เพื่อการค้นคว้่าเพิ่มเติมว่าคนแถวไหนกินเจ้าต้นนี้เป็นอาหาร ค้นแล้วค้นอีกก็มีแค่ข้อมูลซ้ำๆกันอยู่นิดเดียวด้วยประโยคเดิมๆ
พรมมิ ผักพื้นบ้าน ไม้ประดับและสมุนไพรในต้นเดียวกัน พืชที่ในอนาคตอันใกล้คงจะบูมอย่างแน่นอน เนื่องจากสรรพคุณในการบำรุงฟื้นฟูเซลสมอง ซึ่งมีคุณบัติที่สูงและเหนือชั้นกว่า Ginkgo และมะขามป้อมอีกทั้ง สามารถพบได้กลาดเกลื่อน สามารถขยายพันธุ์และเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ผลผลิตสูงจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจยิ่งที่จะได้ทำความรู้จักกับพืชชนิดนี้  ดังที่จะได้อ่านจากบทความต่อไปนี้

พรมมิ หรือ Bacopa monnieri L.Wettst. เป็นผักพื้นบ้านที่พบได้ทั่วไปใน ประเทศไทยโดยมีถิ่นกำเนิดในเนปาลและอินเดีย เป็นพืชสะเทินน้ำสะเทินบก ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะ เช่นขอบสระน้ำ ลักษณะลำต้นใหญ่ อวบน้ำ ไม่มีขน เลื้อยทอดไปตามพื้นและชูยอดขึ้น

ใบเป็นใบเดี่ยวรูปไข่ค่อนข้างยาว โคนใบแคบ ปลายใบกว้างมนกลม ขอบใบเรียบ แตกจากลำต้นแบบตรงกันข้าม ออกเป็นดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบกลีบดอกสีขาวหรือสีครามอ่อน ตอนโคนติดกันเป็นหลอดตอนปลายแยกเป็น 5 กลีบ เกสรตัวผู้มี 4 อัน ติดอยู่กับกลีบดอก

ประโยชน์ :
ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับในตู้ปลาหรือในสวนน้ำ รับประทานเป็นผักพื้นบ้าน

มีสรรพคุณทางการแพทย์อายุรเวท ในด้านการบำรุงความจำ
นักวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์  มหาวิทยาลัยนเรศวรร่วมกับนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้พัฒนาสารสกัดและการควบคุมคุณภาพสมุนไพรพรมมิ เพื่อใช้ในเชิงอุตสาหกรรม

และ ศึกษาพบว่าสารสกัดพรมมิ มีผลต่อการเสริมความจำและการเรียนรู้ รวมทั้งมีผลป้องกันเซลล์ประสาท โดยไม่ทำให้เกิดพิษในสัตว์ทดลองเมื่อให้ติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือนนับเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพในการพัฒนาต่อไป

มีรายงานการวิจัยที่ศึกษาถึงผลของพรมมิต่อความจำ และการเรียนรู้เป็นการศึกษาในสัตว์ทดลอง โดยพบว่าสารสกัดจากพรมมิในขนาด10 มล./กก. ป้อนให้หนูขาวกินนาน 24 ชม. จะทำให้หนูขาวมีการเรียนรู้ดีขึ้น เมื่อทดลองในโมเดลของสัตว์ทดลองที่ถูกทำให้เกิดอัลไซเมอร์

การ ป้อนสารสกัดมาตรฐานจากพรมมิ (ซึ่งมีประมาณสาร bacoside A 82.0 ? 0.5%) ให้สัตว์ทดลองในขนาด 5 และ 10 มก./กก. นาน 14 วัน จะช่วยลดการสูญเสียความจำได้ และเมื่อทดลองให้สารสกัดจากพรมมิขนาด 40 มก./กก. นาน 7 วัน ในสัตว์ทดลอง ร่วมกับยากันชัก Phenytoin สามารถลดผลข้างเคียงของยาที่ไปทำให้การรับรู้ของสัตว์ทดลองเสียไปได้

ข้อมูลจาก : สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัย


ในต่างประเทศโดยเฉพาะอินเดีย ญี่ปุ่น พรมมิถูกพัฒนาเป็นยาและอาหารเสริมในหลากหลายรูปแบบ ทั้งสารสกัดออกฤทธิ์ ยาสระผม  น้ำมันนวด ชา แต่ในบ้านเรานั้นยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ส่วนมากรู้จักกันในนามไม้ประดับตู้ปลา และทานเป็นผักพื้นบ้านกัน โดยเฉพาะทางอีสาน ซึ่งเรียกกันว่า ผักมิ

ผักมิต้นจะไม่มีขนใบจะหนาอวบน้ำ และขอบใบมนไม่แหลมเหมือนต้นลานไพลิน แต่เป็นพืชกลุ่มเดียวกัน

ที่ ร้านขายไม้น้ำสังเกตุลักษณะไปให้ครบแต่ว่าถ้าต้นมันไม่พ้นน้ำ ใบมันจะออกบางหน่อย แต่พอพ้นน้ำแล้วใบมันจะหนามากขึ้น สังเกตุว่าต้นจะไม่มีขน ถ้ามีขนจะเป็นลานไพลิิน

ถ้าอยู่ต่างจังหวัด ก็หาตามท้องร่องเอาไปหาตามตลาดที่ขายผักพื้นบ้าน แล้วเอามาชำก็ได้

สารซาโปนิน ที่พบในพรมมิเป็นสารชนิดเดียวกับที่พบในโสม หรือ แปะก๊วย (ginkgo) ซึ่งพรมมิเป็นสมุนไพรของอินเดียในศาสตร์อายุรเวช แต่เป็นพืชล้มลุกที่สามารถเพาะปลูกและขยายพันธุ์ได้ง่ายในประเทศไทย ดังนั้น หากมีการนำพรมมิมาใช้ก็จะถือเป็นการลดการนำเข้าสมุนไพรอย่างโสม หรือ แปะก๊วย ที่เป็นสมุนไพรที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
ต้นพรมมิ ปลายใบมน ใบอวบน้ำไม่มีขน
ต้นลานไพลิน  ไม้น้ำไม้ประดับ  ปลายใบแหลม  ใบมีขน

แม้แต่นายเกษตร คอลัมนิสต์ที่เชี่ยวชาญเรื่องต้นไม้และสมุนไพรประจำหนังสือพิมพ์ไทยรัฐยังพูดถึงพรมมิเอาไว้ว่า "ผู้อ่านไทยรัฐ ที่ชอบเรื่องพืชกินได้ที่มีสรรพคุณเป็นสมุนไพร อยากทราบว่าต้น “พรมมิ” ที่เป็นข่าวดังด้านงานวิจัยว่ามีคุณสมบัติทางการแพทย์ ช่วยในด้านความจำ บำรุงสมอง และลดอาการขี้หลงขี้ลืม หรือ อัลไซเมอร์ ได้ มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์อย่างไร เป็นต้นเดียวกันกับต้นลานไพลินหรือไม่ และมีต้นขายที่ไหน ซึ่ง ความจริงแล้วต้น “พรมมิ” หาซื้อยากมาก เพิ่งพบ ว่ามีต้นวางขายที่ งานสมุนไพรแห่งชาติ จัดขึ้นที่อิมแพค เมืองทองธานี บริเวณฮอลล์ 7-8 โซนต้นไม้ ร้านคุณตุ๊ก โดยงานจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 31 ส.ค. ถึงวันที่ 4 ก.ย. 54 จึงแจ้งให้ทราบทันที

ส่วนที่สงสัยว่าเป็นต้นเดียวกับต้น ลานไพลิน หรือไม่นั้น ขอยืนยันว่าเป็นคนละต้นกัน แต่เป็นพืชในวงศ์เดียวกัน มีข้อแตกต่างคือ “พรมมิ” ต้นจะไม่มีขน ใบหนาอวบน้ำ ปลายใบมน ไม่แหลมเหมือนกับใบต้นลานไพลิน และ ต้นลานไพลินจะมีขน

พรมมิ หรือ BACOPA MONNIERI L.WETTST. มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นผักพื้นบ้าน พบได้ทั่วไปในประเทศไทย มีถิ่นกำเนิดจากประเทศเนปาล และ อินเดีย เป็นพืชสะเทินน้ำสะเทินบก ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะ ลำต้นอวบน้ำไม่มีขน ทอดเลื้อยไปตามพื้นได้ยาวกว่า 1 ฟุต ชูยอดขึ้นใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม เป็นรูปไข่ค่อนข้างยาว ปลายใบกว้างกลมมนโคนใบแคบ ขอบใบเรียบ สีเขียวสด

ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆตามซอกใบ ลักษณะดอกโคนเชื่อมกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นกลีบดอก 5 กลีบ ลักษณะกลีบดอกเป็นรูปรี ปลายตัด ดอกเป็นสีขาว หรือ สีครามอ่อนๆ มีเกสรตัวผู้ 4 อัน ดอกออกตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำต้น

ในต่างประเทศ เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น ต้น “พรมมิ” ถูกนำไปสกัดเป็นยาและทำเป็นอาหารเสริมหลายรูปแบบ ทั้งทำเป็นสารสกัดออกฤทธิ์ ทำยาสระผม น้ำมันทาถูนวดแก้อาการชา ในประเทศไทยบ้านเรา ชาวบ้านทางภาคอีสานเรียก “พรมมิ” ว่า “ผักมิ” นิยมรับประทานเป็นผักพื้นบ้าน"  นั่นแสดงว่าพรมมิไม่ใช่ผักพื้นบ้านที่ใครๆแม้แต่คนสนใจเรื่องสมุนไพรจะรู้จักหรือใช้กันมากนัก"


ข้อมูลจากหมอสุวิ  ผู้เชี่ยวชาญแพทย์แผนไทยในเวปพลังจิต  พูดถึง พรมมิ เปรียบเทียบกับบัวบก  และแปะก๊วย
 "ใบแป๊ะก้วย ขยายเส้นโลหิตในสมองก็จริงอยู่  แต่มีข้อเสียลึกๆ หากกินนานเกิน และกินมากเกิน จะทำให้เส้นเลือดเปราะ ปริซึมได้ง่าย  แต่ใบบัวบก และกระชายเหลืองกินคู่กัน ก็ช่วยขยายเส้นโลหิตในสมอง และยังทำให้เส้นเลือดยืดหยุ่นดี แถมปึ๋งปั๋งอีกตากหาก  หญิงกินได้ ชายกินดี อยู่กันยืด

ภาพที่นำมาให้ดู เรียกเต็มยศว่า ต้น พรมมิ (มีหลายต้น รูปร่างแตกต่างกันเล็กน้อย-ชาวบ้านทั่วไปเรียกรวมๆกันว่า ผักมิ)

สรรพคุณทางยาของพรมมิ เหมือนกับใบบัวบก+กระชายเหลือง ขยายเส้นเลือดฝอย เพิ่มความเหนียวนุ่มให้เส้นเลือด โดยเฉพาะเส้นเลือดฝอยในสมอง แต่ไม่ค่อยเด่นทางปึ๋งปั๋งสักเท่าใด

สรุป
ใบ/ต้น พรมมิ ดีกว่า ใบบัวบก และใบแป๊ะก้วย

เคยเดินหาเอามาทำยา หาจำนวนมากๆไม่ได้เลย เก็บได้ไม่มาก และขึ้นอยู่ในชายน้ำ ที่ค่อนข้างสกปก
มันดีกว่าก็จริง แต่จากข้อจำกัดข้างต้น ยาของหมอสุวิ จึงเลี่ยง ไม่ทำจากสมุนไพรตัวนี้

หากใครปลูกไว้ มีความสะอาดดี เก็บตากแห้งไว้ จำนวนมากพอ ใช้ทำยาได้
บอกมานะ จะได้ปรุงยา " บันทึกไว้เพื่อเป็นข้อมูลสืบค้นในโอกาสต่อไป"


ทำให้รู้ว่าแม้แต่ในวงการแพทย์พื้นบ้านหรือวงการเกษตรก็พูดถึงเจ้าตัวนี้น้อยมาก  บังเอิญตัวเองเป็นคนที่ถ้ามีอาการเจ็บคอจะต้องกินยาเขียวปกติจะกินยาเขียวตราใบห่อ  แต่บางร้านไม่มีขาย มีแต่ยาเขียวตราดอกบัว ซึ่งผลิตโดยบริษัทบุญส่งโอสถ(ตราเด็กในพานทอง) 556-558 ต.เขาพระ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี 035-578040-1  ยาเขียวตราดอกบัวมีส่วนประกอบของใบพรมมิ  น่าแปลกใจว่าพอเขียนเรื่องพรมมิ บังเอิญเจ็บคอ เลยไปค้นๆมากิน ลองอ่านดูส่วนผสม  ยาเขียวตำรับนี้มีใบพรมมิเป็นส่วนประกอบ เลยเชื่อเรื่องกฏแห่งการดึงดูด  ซึ่งจริงๆก็ส่งผลหลายครั้ง  ทางพุทธศาสนาคือกฏแห่งกรรม(การกระทำ) หรือเป็นผลของปัญญาญาณ  คือการทรงไว้ซึ่งจิตที่ว่าง (ปราศจากความคิดฟุ้งซ่านรบกวน)  เราจะพบคำตอบของคำถามอย่างง่ายดาย  เรื่องปัญญานี้  โอโช่ นักปราชญ์ชาวอินเดียนักเขียนชื่อดัง
เรยกสิ่งนี้ว่า   Intuition  แปลเป็นไทยว่า  ปัญญาญาณ  หรือศัพท์เฉพาะว่า "ปิ๊งแว๊บ" คือความรู้หรือคำตอบที่ผุดขึ้นมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยในเวลาที่จิตผ่อนคลาย ว่างเบา  นักวิทยาศาสตร์ นักแต่งเพลง นักเขียนหนังสือชื่อดัง ระดับโลก  ล้วนสร้างผลงานจากปิ๊งแว๊บนี้ คนทุกคนมีสิ่งนี้อยู่ในตัว  แต่ถูกบดบังด้วยความคิดและอารมณ์รกๆเต็มสมอง  ต้องกลับไปฝึกสมาธิและวิปัสสนากรรมฐาน   แม้ศาสดาเอกของโลกที่ท่านมีความรู้ผุดขึ้นมามากมาย  ท่านก็เกิดจากปรากฏการณ์นี้  แต่เป็นระดับเหนือโลก  คือท่านสามารถกำจัดเครื่องบดบังได้ทั้งหมดอย่างสิ้นเชิง 
ไปไกลเลย  มาพูดถึงสูตรยาเขียวตำรับนี้  ส่วนประกอบ ใน ๖๓๐ กรัม  ประกอบด้วย ใบพิมเสน ๓๑๕ กรัม แก่นจันทร์เทศ ๑๕ กรัม ใบพรมมิ ๑๕  กรัม จันทร์แดง ๑๕  กรัม 
วิธีใช้  ผู้ใหญ่รับประทานครั้งละ ๒-๓ ช้อนกาแฟ เด็กรับประทานครึ่งหนึ่ง  ชงกับน้ำร้อน
สรรพคุณ แก้ไข้ ร้อนใน กระหายน้ำ ถอนพิษไข้ เด็กออกหัด  อีสุกอีใส เหมาะสำหรับท่านที่มีอาการร้อนในคล้ายจะเป็นไข้ หรือพึ่งสร่างจากอาการไข้  เป็นยาสามัญประจำบ้าน ขนาดบรรจุ ซองละ ๕ กรัม ราคา ๖ บาท  บันทึกไว้เป็นข้อมูลสำหรับค้นคว้าต่อไป

ค้นข้อมูลเพิ่มเติมจาก พจนานุกรมสมุนไพรไทย  ของศดร.วิทย์  เที่ยงบุญธรรม  พูดถึงพรมมิแดงไว้ว่า

พรมมิแดงชื่ออื่น ๆ : ผักเบี้ย (ภาคกลาง-ราชบุรี), พรมมิแดง (ประจวบฯ), อือล้งไฉ่, อุยลักก๊วยโชะ
(จีน)

ชื่อสามัญ : -

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Trianthema triquetra Willd.

วงศ์ : AIZOACEAE

ลักษณะทั่วไป : ต้น : เป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นเตี้ย และจะแตกกิ่งก้านสาขาตามบริเวณโคนต้น ส่วนกิ่งที่แตกออกมานั้นจะทอดเลื้อยไปกับพื้นดิน

ใบ : จะออกตรงข้ามกัน มีลักษณะเป็นรูปใบเรียวแคบ ใบจะมีความยาวประมาณ 0.15-0.7 ซม. และกว้างประมาณ 0.05-0.2 ซม. ก้านใบสั้น ส่วนโคนก้านใบจะแผ่ออกเป็นกาบ

ดอก : จะออกเป็นกระจุก ตามง่ามใบ กลีบดอกมีประมาณ 5 กลีบ

เกสร : เกสรตัวผู้จะมีอยู่ ถ อัน จะอยู่สลับกันกลีบดอก

เมล็ด (ผล) : ผลนั้นจะออกเป็นฝัก และมีขนาดเล็ก ฝักนั้นยาวประมาณ 3 มม. ภายในจะมีเมล็ดประมาณ 2 เม็ด มีลักษณะเป็นรูปไต และเป็นสีดำ

การขยายพันธุ์ : โดยการเพาะเมล็ด

ส่วนที่ใช้ : ใบ ดอก และต้น ใช้เป็นยา

สรรพคุณ : ใบ ใช้เป็นยาขับเสมหะ

ดอก ใช้รักษาโรคเลือดประจำเดือนที่จางใส

ต้น จะมีรสเย็น และขมเล็กน้อย ใช้เป็นยาขับเลือด ใช้ดับพิษไข้หัว เช่น รักษาไข้อาการกระหายน้ำ อาการร้อนใน เป็นฝีดาด ส่วนมากจะใช้ปรุงเป็นยาเขียวดับพิษร้อน

ทั้งปวง

ถิ่นที่อยู่ : พรรณไม้นี้ มักพบขึ้นตามดินปนทรายทั่ว ๆ ไป

ดูจากรูปวาดแล้วคล้ายต้นพรมมิ แต่ถ้าหาข้ีอมูลจากคำว่าผักเบี้ยจะกลายเป็นพืชอีกตัวหนึ่ง
ข้อมูลล่าสุดจากลูกค้าเล่าให้ฟังว่า  เด็กนักเรียนที่มีปัญหาการเรียนไม่ดี  หรือมีอาการลมชัก  เมื่อได้กินพรมมิแคปซูลต่อเนื่องกันเดือนกว่า  เด็กมีผลการเรียนดีขึ้น  อาการลมชักหายไป



ตำรับที่ 68 รักษาอัมพฤกษ์อัมพาต

หญ้าปากควาย ใบพลูแก่ ใบผักคราดหัวแหวน ใบแมงลัก ใบพรมมิ ข่าตาแดง สารส้ม เกลือทะเล


สัดส่วนเท่ากัน ทำเป็นยาผง ละลายสุราแทรกพิมเสนหยิบมือ รับประทานก่อนอาหารเช้า-เย็น หายจากลิ้นกระด้างคางแข็ง (ตำราของพระสังฆราชสุก ไก่เถื่อน)

ปุณณภา  งานสำเร็จ รวบรวม

4 ความคิดเห็น:

  1. สถาบันวิจัยยากลาง หรือ CDRI อินเดีย พบ Bacoside A & B จากต้น Bhrami หรือพรมมิ ซึ่งเป็นสารที่ช่วยแก้ปัญหาสมาธิสั้น อาการเสื่อมทางสมอง เช่นหนัก มึน ปวดศรีษะบ่อย หลงลืมง่าย เรียนไม่เก่ง เครียดง่าย นอนไม่หลับ ไฮเปอร์ ออทิสติก อัลไซเมอร์ พากินสัน ดาวซินโดม หรือการเสื่อมทางสมองมาจากเส้นเลือดตีบ แตกในสมอง หรืออุบัติเหตุ ที่มีผลทางสมอง ในไทยพืชนี้ ได้รับความสนใจมีงานวิัจัยจาก ม.มหิดล ม.นเรศวร ข้อมูลเพิ่มเติม http://cdriindia.org ในข้อ A memory enhancer developed by CDR และ CDRI ขอเชิญผู้สนใจเข้ารับฟังงานวิจัยได้ ลงทะเบียน 300 บ. รับผลิตภัณฑ์ฟรีมูลค่า 1089 บ. ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ในวันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน 2555 เวลา 12.30 น. สอบถามโทร 086 455 0345

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆค่ะ รู้สึกกระแสเริ่มกลับมาอีกครั้ง

      ลบ
  2. ตอนนี้ผมปลูกไว้เข้าใจว่าใช่ลำต้นอวบน้ำใบมนใหญ่ตอนบนใบออกตรงข้ามกันเมล็ดออกเป็นกล่มตามซอกใบ แต่ขณะนี้กำลังเฝ้าดูฝักถ้าฝักถูกต้องตามลักาณะที่กล่าวไว้ก็คงใช่่เลย ขอขอบคุณข้อมูล จากคุุณคุณปุณนภา ขอเผยแพร่นะครับเป็นความรู้

    ตอบลบ
  3. Herbal One พรมมิชนิดแคปซูลขวดละ 310 บาท
    ปัจจุบันมีการวิจัยพบว่า พรมมิช่วยเพิ่มความจำ บำรุงสมอง เพิ่มการเรียนรู้ เพิ่มความสนใจในการเรียนรู้ ลดความกังวล มีสารบำรุงประสาท ป้องกันสมองไม่ให้ความจำเสื่อม อ่านงานวิจัยได้ที่นี่ค่ะ http://wp.me/p74RkJ-1T
    จากการวัจัยทางคลีนิค พรมมิไม่มีสารอันตรายใดๆเลย และไม่ก่อผลข้างเคียง จึงสามารถมั่นใจได้ค่ะ

    ตอบลบ