วันศุกร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2553

ตัวต่อแมลงอันตรายกับสรรพคุณทางสมุนไพร

ต่อรังต่ออยู่กับอาคารชั้นสอง
รังนี้มีต่อเป็นร้อย ๆ ตัวเช้าเย็นบินว่อนเต็มบริเวณน่ากลัวมาก รังต่อมีทางเข้าออกหนึ่งถึงสองทาง นักล่าต่อจะรรอให้มืดสนิทแล้วจุดไฟรมเผายัดเข้าไปในรังจนตายทั้งหมดก่อนเก็บเอารังไปขายและเอาตัวอ่อนไปกิน

จริง ๆ ต้องถือว่าตัวต่อมีส่วนในการที่เราเบนเข็มมาศึกษาสมุนไพรเป็นอย่างมาก ตอนอยู่สถานีอนามัยช่วงปีหลัง ๆ ของการทำงานเจอคนไข้และเด็ก ๆ โดนต่อต่อยหลายราย แต่ละรายน่าสงสาร ปวดทรมาน ไข้ขึ้น หนาวสั่น แค่ผึ้งตัวเล็ก ๆ ต่อยเรายังปวดแปล๊บเข้าหัวใจ ใคร ๆ ก็รูว่าพิษต่อโหดกว่านั้นหลายเท่านัก แต่ที่เรากังวลที่สุดคือ อาการ anaphylactic shock เขียนถูกป่ะไม่รู้ชักขี้เกียจค้น คืออาการช๊อคอย่างเฉียบพลันของผู้ป่วยที่ทำให้ทางเดินหายใจอุดตันและถึงแก่ชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว ต้องแก้ด้วย adrenaline ฉีดทันที ซึ่งตัวยาเองก็มีอันตรายพอ ๆ กันต้องกะขนาดให้พอดี ถ้าฉีดเกินขนาด คนไข้ก็มีสิทธิเสียชีวิตเพราะยาอีกเช่นกัน นั่นเป็นจุดเปลี่ยนให้เราตัดสินใจย้ายจากสถานีอนามัยเปลี่ยนตัวเองจากงานรักษาพยาบาลมาเป็นงานสำรวจรวบรวม้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลด้านสมุนไพร ต้องมีทางเลือกอื่นซิน่า
มาทำเรื่องของสมุนไพรเราก็สนใจสมุนไพรแก้พิษเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นพิษสัตว์ พิษพืช พืชสารเคมี จริง ๆก็มาจบง่ายที่หลาย ๆ พิษแก้ได้ด้วยรางจืดดอกสีม่วง และน้ำกระสายที่ดีที่สุดคือน้ำซาวข้าว (จากงานวิจัยมีการเปรียบเทียบน้ำกระสายสำหรับแก้สัตว์พิษสรุปไว้ว่าเป็นน้ำมะนาว ) แต่เราคงไม่ได้เตรียมน้ำซาวข้าวไว้แน่ ก็ตำข้าวสาร ( อันนี้ยังไงคงมีติดบ้านไว้ ) ผสมกับใบรางจืด ละลายกับน้ำพอกินซักหนึ่งแก้ว แล้วพอกทาทั่วตัว อสม.ที่นี่เคยรักษาได้ถึงพิษงูเขียวหางไหม้ ซึ่งคนที่แพ้พิษงูนี้กำลังเริ่มมีอาการแน่นเข้าหัวใจแล้ว ให้รอดตายมาได้
พูดถึงประสบการณ์เรื่องแมลงมีพิษ นึกถึงตอนที่ลูกชายตัวเองเจ้าหยกอายุซักสามขวบ เดินเล่นอยู่ในบ้านแล้วกรีดร้องขึ้นมาด้วยความเจ็บปวด ( ความทรมานของลูกบาดหัวใจไม่เคยลืม ) เค้าบอกตามประสาเด็กว่าโดนตัวไรไม่รู้กัดข้างหู คงไม่มีเวลาสืบเสาะว่าเป็นตัวอะไร เพราะเรื่องพิษเป็นการทำงานแข่งกับเวลา ยิ่งพิษซ่านไปทั่วร่างกายยิ่งปวดมากและรักษายากขึ้น เราตำกระเทียมหนึ่งหัว บีบมะนาวพอกตรงบริเวณที่คาดว่าโดน หยกเงียบเสียงและหยุดเจ็บปวดในเวลาไม่นาน คงพอเป็นทางเลือกของคนที่ไม่ได้มียาอะไรอยู่ใกล้ตัว พอหยิบฉวยอะไรได้ก็ต้องลองดู จริง ๆ เราว่าคงเป็นเพราะน้ำมะนาว พิษของแมลงพวกนี้อาจมีฤทธิ์เป็นด่าง พอเจอกรดจากมะนาวเลยแก้กัน ที่พูดอย่างนี้เพราะเท่าที่สัมภาษณ์ชาวบ้านในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเวลาโดนแมลงกัดต่อย หลายสูตรใช้ต้นไม้ใกล้ตัวร่วมกับน้ำมะนาว
มาว่ากันถึงตัวต่ออีกครั้ง เด็ก ๆ ที่มักโดนตัวต่อต่อย เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไปขว้างปารังต่อตามต้นไม้ โดยรู้จักหรือไม่รู้จักก็แล้วแต่ แล้วเลยโดนตัวต่อรุมเข้า ที่สำคัญต่อต่างจากผึ้งตรงที่ผึ้งต่อยแล้วทิ้งเหล็กไน ( ต่อยได้ทีเดียวตัวเองต้องตาย ) แต่ต่อตัวเดียวสามารถต่อยได้ซ้ำแล้วซ้ำอีกเพราะไม่ทิ้งเหล็กไน
เราอยากบอกสูตรยาหม่องสมุนไพรอีกซักครั้งที่เราพบโดยบังเอิญว่าสามารถรักษาพิษแมลงสัตว์กัดต่อยได้ชะงัดนัก
จริง ๆ เราพาอสม.ทำยาหม่องสูตรนี้เพื่อใช้รักษาอาการปวดเมื่อยธรรมดา แต่โชคดีที่สามารถใช้รักษาพิษแมลงได้ด้วย เราอยากให้ทุกคนทำติดตัว ติดบ้านไว้ โรคบางโรคเราหวังพึ่งแต่หมอไม่ได้ โดยเฉพาะการแพ้พิษถ้าไปไม่ถึง ไปไม่ทัน หมอเทวดาก็ช่วยไม่ทัน
วิธีทำ ใช้ไพลสดแก่ ๆ อายุสองปีขึ้นไปฝานเป็นแผ่นบางๆ ๑ กิโลกรัม ( อยากได้ไพลคุณภาพดีที่ปลูกบนที่สูง เพราะพืชลงหัวเช่น ข่า ขิง ขมิ้น ไพล กระชาย พืชพวกนี้ปลูกได้ดีในที่สูงและสรรพคุณทางยาจะดีที่สุดในหน้าแล้ง ประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงก่อนฝนตก พืชจะลงหัวยุบต้น สารสำคัญทั้งหมดจะรวมกันอยู่ที่หัวของพืช ลองโทรสั่งไอ้บ๊ะมันเป็นลูกหมอสมุนไพรบ้านวังน้ำเขียว บ้านมันปลูกไพลไว้เยอะ เป็นเด็กนิสัยดี โตมากับป่า ติดเบอร์มันไว้ก่อน) ทอดในน้ำมันพืชยี่ห้อไรก็ได้ ๑ ลิตร กะ ๆ เอาก็ได้ว่าเวลาทอดน้ำมันพอท่วมไพลมิดน่ะ ทอดด้วยไฟอ่อน ๆ ๒ ถึง ๓ ชั่วโมง ไม่จำเป็นต้องคนบ่อย จนไพลแห้งกรอบเหมือนมันฝรั่งทอด และน้ำสมุนไพรที่ได้เป็นสีเหลือง จะใส่ขมิ้นฝานเป็นแว่น ๆเพิ่มลงไปพร้อมไพล หรือใส่ฟ้าทะลายโจรทั้งต้น บัวบก รึอะไรที่พอนึก ได้ ใส่ ๆ ลงไป ก่อนจะยกน้ำมันออกจากเตา ก็ไส่กานพลู(เป็นเครื่องเทศที่ใช้ใส่เครื่องพะโล้และอาหารแขก ๆ มีขายตามซุปเปอร์มาเก็ตทั่วไป ) ตัวนี้ป้องกันน้ำมันเสียมีกลิ่นหื่น ซักหยิบมือกะ ๆ เอา แล้วใส่การบูรมากน้อยตามสะดวก เอาซักครึ่งของอันละสิบบาทยี่สิบบาทที่ขายไว้แขวนหน้ารถก็ได้ ใส่ช่วงที่น้ำมันเริ่มอุ่นแล้ว ( ใส่ตอนร้อนระเหิดหมด ) กรองเอาแต่น้ำมันเก็บใส่ขวดสีชาเก็บไว้ใช้ได้นานเป็นปี น้ำมันนี้เรียกว่าน้ำมันไพลเอาไว้นวด ขวดสีชาช่วยให้ไม่โดนแสงโดยตรงเพราะสีเหลืองของน้ำมันไพลจางไวมาก ถ้าไม่มีอะไรก็ทอดแค่ไพลเพียว ๆ เก็บใส่ขวดไว้ก็ไม่ผิดกติกานะ
จากนั้นไปหาส่วนผสมของยาหม่องตามร้านขายยาสมุนไพรรึร้านเคมีภัณฑ์ รึไม่งั้นก็ซื้อยาหม่องยี่ห่ออะไรก็ได้มาซักขวดสองขวด เอาน้ำร้อนเทใส่ชามเอายาหม่องแช่น้ำร้อนจนละลายกลายเป็นน้ำเทออกจากขวดซักครึ่งหนึ่งรึหนึ่งในสาม เทใส่ตลับรึขวดเหลือ ๆ ใช้เก็บไว้ เอาน้ำมันสมุนไพรที่ทอดเก็บไว้ลงไปผสม เอาไม้จิ้มฟันลงไปคน ๆ ให้เข้ากันดี ถ้ามีพิมเสนน้ำที่ซื้อ ๆ เก็บไว้ซักขวด สองขวดก็ผสม ๆ ลงไปซักกะหน่อย จะได้มีกลิ่นหอม ๆ รีบปิดฝาตั้งทิ้งไว้ ให้มันแข็งตัวคืน เนื้อยาหม่องที่ได้จะค่อนข้างเหลวจากน้ำมันสมุนไพรที่ใส่เพิ่มลงไป กลิ่นตามกลิ่นเดิมของยาหม่องรึกลิ่นพิมเสนน้ำที่เพิ่มไป เก็บติดบ้นไว้เป็นยาสามัญประจำบ้านสำหรับพิษต่อ แตน แมลงป่อง แมงมุม ผึ้ง หมาร่า บุ้ง รึแม้แต่แมงกระพรุนไฟ ฯลฯ ตามประสบการณ์ใช้รักษาพิษแมงป่องไม่ถึงครึ่งนาทีคนไข้หายปวด ต่อนานหน่อยและใช้ร่วมกับยาฉีด ผึ้งกับบุ้งนี่แม่เราใช้ประจำ งูเขียวหางไหม้เคยทาให้คนไข้สังเกตอาการดูคนไข้ดีขึ้น แต่ยังต้องใช้ร่วมกับยาอย่างอื่น เคยส่งให้พี่ชายที่ทำงานอยู่กับทะเล ลูกน้องโดนแมลงกระพรุนไฟ ก็ว่าช่วยระงับพิษได้ดี ( อะไรจะขนาดนั้น ) ทำ ๆ ไว้เถอะแล้วก็ไม่ต้องไปกังวลเรื่องสูตรมากนัก เราไม่เคยช่างตวงวัดเลย แต่ละล๊อตที่ออกมาหน้าตาเลยเป็นเอกลักษณ์มาก 555 อยากให้เนื้อยาหม่องเหลวรึแข็งก็ทดสอบดูตอนร้อน ๆ เราหยอดดูเล่นเหมือนหยอดกาละแม ถ้าแข็งไปก็เติมน้ำมันสมุนไพรเพิ่ม ถ้าเหลวไปก็อเติมเนื้อยาหม่องเพิ่ม เติมไปเติมมาอยู่นี่แหล่ะจนกว่าจะพอใจรึจนกว่าม่มีรัยให้เติม ทำเก็บ ๆ ไว้เถอะ ได้ใช้แม้เพียงครั้งเดียวก็เกินคุ้ม เอาไว้ช่วยเหลือเพื่อนบ้านคนรอบตัวก็ได้บุญ ทำแจก ๆ พี่น้องด้วยหัวใจรักและห่วงใยก็ไม่เสียชาติเกิด ว่าไปนั่น แต่ถ้าทำขายต้องมีใบประกอบโรคศิลปสาขาเภสัชกรรมไทย ไม่อยากบอกว่าในอีเบย์ ยาหม่องไทยยี่ห้อหนึ่งเป็นที่นิยมของฝรั่งมาก ๆ มันออร์เดอร์ทีละเยอะ ๆ เลย ดีใจกับสมุนไพรไทยด้วย
กลับมาที่ประโยชน์ของตัวต่อและรังต่อกันบ้าง
ต่อ Polistes mandarinus Saussure
ลักษณะ
แมลงมีปีกลำตัวขอดกลาง ลายปล้องสีเหลืองสลับดำ ตัวอ้วน ก้นแหลม มีเหล็กไนและน้ำพิษ มีพิษรุนแรง ทำอันตรายแก่คนและสัตว์ถึงชีวิตได้ รังมีรูปร่างไม่แน่นอน เช่น เป็นแผ่น รูปเจดีย์ รูปฝักบัว ทรงกลมคล้ายหัวเสือ เนื้อเหมือนกระดาษฟางสีน้ำตาลเทาขาว กลิ่นเฉพาะตัว นำมานึ่งให้สุก เอาตัวอ่อนออกให้หมด ตากแห้งตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ โรยเกลือเล็กน้อย เก็บไว้ทำยา
รังต่อ รสหวานสุขุม มีพิษ ขับลม ถอนพิษ ขับพยาธิ แก้อาการชา แก้ฝีหนอง แก้วัณโรคต่อมน้ำเหลืองระยะเริ่มแรก แก้ฝีชอนทะลุก้น แก้บิด แก้โรคจู๋ แก้ปัสสาวะไหลไม่รู้ตัว
ตัวอ่อน รสหวานเย็น มีพิษ แก้แน่นหน้าอก แน่นท้อง อาเจียนแต่ลมเปล่า
ห้ามใช้ในรายที่ร่างกายอ่อนแอ เลือดน้อย โลหิตจาง และห้ามใช้ร่วมกับขิง ตันเซิน จี่เย้า และเปลือกหอยนางรม
( หนังสือ เครื่องยาไทย ๑ ของ อาจารย์วุฒิ วุฒิธรรมเวช มีจำหน่ายตามร้านหนังสือซีเอด หรือปรึกษาอาจารย์ได้ที่ คลินิกธรรมเวชแพทย์แผนไทย ๐๒-๔๒๐๖๙๘๑,๐๘๑-๘๔๕๙๙๖๗ )
วันหน้าจะได้พูดคุยกันถึงอาจารย์วุฒิที่ท่านน่ารักมาก และเก่งมากด้วย เป็นมายไอดอลคนหนึ่งของเราเลย
อ๊ะจ๊ากกกก หารูปรังต่อไม่เจอ ถ่ายไว้ตั้งเยอะ โอ๊ยหงุดหงิด หายไปได้ไง แง้ๆๆๆๆๆ ติดไว้ก่อนนะ ขอเราไปคุ้ยในกรุสมบัติบ้าเปงพัน ๆ รูปของเราก่อน โอ๊ยรมณ์เสีย เจอแว้วววว

วันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2553

ไส้เดือนและดินขุยไส้เดือนก็เป็นสมุนไพร

ไส้เดือนรูปนี้ยืมเค้ามารูปเล็กเน๊อะ แต่ทุกคนคงรู้จักไส้เดือนอยู่แล้วล่ะ
ดินขุยไส้เดือนอันนี้สวยมาก สูงเป็นคอนโดเลยแฮะ ถ่ายที่จังหวัดสกลนคร

ไหนๆก็เล่นเรื่องสัตว์วัตถุมายาวแล้วต่อให้สุดไปเลยดีกว่า ตอนเด็ก ๆ ชอบแกล้งเพื่อนเป็นที่สุดถ้ารู้ว่าใครกลัวหนอนรึไส้เดือนจะไปหามาแกล้งวิ่งไล่ไม่ร้องไม่เลิก ก็หยะแหยงอยู่บ้างนะ แต่ความอยากแกล้งคนมีมากกว่า


จริง ๆแล้วไส้เดือนถือว่าเป็นสัตว์ที่สะอาดและมีสรรพคุณทางยาที่หลายๆ ประเทศใช้กัน


ในตำราแพทย์แผนโบราณ ใช้ไส้เดือนดินเป็นเครื่องยาอย่างหนึ่ง บางตำราเรียกไส้เดือนดินว่า รากดินหรือไส้ดินก็มี ตำราสรรพคุณยาโบราณได้กล่าวไว้ว่าไส้เดือนดินทั้งตัว (แห้ง ) มีรสเย็น คาว ต้มน้ำดื่ม หรือทำเป็นเม็ด มีสรรพคุณแก้ไข้พิษ ระงับความร้อน แก้อาการเกร็ง แก้ตาแดง แก้อัมพาตครึ่งซีก แก้คอพอก แก้เจ็บปวดตามข้อ และใช้ส่วนขี้เถ้าที่ได้จากการเผาไส้เดือนดิน ซึ่งมีรสเย็น เค็ม มีสรรพคุณแก้ไข แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้ปากคอเปื่อย แก้ทอนซิลอักเสบ แก้ฝีในคอ แก้ปวดกระดูก ( ข้อมูลจาก ชยันต์ และ วิเชียร , 2546 )


ดินขุยไส้เดือนเป็นดินที่ไส้เดือนขึ้นมาขับถ่ายออก กองไว้รอบ ๆ รู ตั้งเป็นแท่งทรงกลม รสเย็น แก้ไข้ที่มีพิษร้อนไข้พิ ไข้กาฬ ไข้ท้องป่อง(หนังสือเครื่องยาไทย ๑ อาจารย์วุฒิ วุฒิธรรมเวช )


นอกจากนี้ เคยมีรายงานหลายฉบับเกี่ยวกับการกินไส้เดือนดิน เพื่อเป็นยารักษาโรค เช่น นิ่ว ดีซ่าน ริดสีดวงทวาร ไข้ ฝีดาษหรือไข้ทรพิษ และในสมัยก่อนเคยมีการใช้เถ้าของไส้เดือนดินทำเป็นผงยาสีฟัน หรือใช้บำรุงผม ด้วย ( ที่มาจาก Strphenson , 1930 ) นอกจากนี้ยังเคยมีการกินไส้เดือนดินเพื่อรักษาการเสริมสมรรถภาพทางเพศของเพศชายที่มีอายุมาก หรือใช้บำรุงหญิงที่เพิ่งคลอดบุตร และใช้ไส้เดือนดินพอกแผลที่ถอนหนามออก นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ได้เคยใช้ไส้เดือนดินในการรักษาด้านการขยายหลอดเลือดด้วย ( ข้อมูลจาก Reynolds and Reynols , 1972 ) และไส้เดือนดินอาจมีส่วนประกอบของสารที่ใช้บำบัดรักษาโรคไขข้อได้ในประเทศจีนได้มีการใช้ไส้เดือนทำยา รักษาโรคหลายชนิด โดยการนำไส้เดือนดินมาตากแห้ง มาบดเป็นยาผง เข้าสูตรยาต่างๆ สำหรับผลิตเป็นยาบำรุงหรือยารักษาโรค ชาวจีนยังมีความเชื่อว่าการกินไส้เดือนดินทำให้สมรรถภาพทางเพศของเพศชายดีขึ้นด้วย ทำให้มีการผลิตยาหรืออาหารเสริมที่มีส่วนผสมของไส้เดือนดินออกจำหน่าย เช่น เอิร์ดรากอน ชึ่งเป็นชื่อทางการค้าของยาแผนโบราณที่มีส่วนผสมของไส้เดือนดิน โดยมีอ้างถึงการใช้ไส้เดือนดินสกุล Lumbricus และใช้สมุนไพรพื้นบ้านของประเทศเวียดนาม ทวีปเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึง จีน เกาหลี และเวียดนาม โดยมีสรรพคุณในการเป็นอาหารเสริม ช่วยต้านอนุมูลอิสระ และบำรุงตับ ในราคาขายประมาณ 27 เหรียญสหรัฐ ต่อ 50 แคปซูลไส้เดือนดินที่นำมาผลิตเป็นยาขนานต่างๆ เหล่านี้ บางส่วนเป็นไส้เดือนดินตากแห้งที่ส่งออกโดยชาวบ้านในอำเภอนาหว้า ซึ่งได้จับไส้เดือนดินที่หนีน้ำท่วมในฤดูฝนเป็นจำนวนมากโดยสามารถจับได้วันละ 20 กิโลกรัม ซึ่งเมื่อตากแห้งจะเหลือ 3 4- กิโลกรัม และส่งออกไปยังประเทศจีน ปีละกว่า 200 ตัน ซึ่งทำเช่นนี้มานานกว่า 20 ปี นำรายได้เข้าประเทศปีละหลายล้านบาท
ตำรับแก้อหิวาต์และอุจจาระร่วงอย่างรุนแรง พ่อสมนึก อ.ปักธงชัย
ใบข่อย ๑ กำมือ ขยี้ใส่ในน้ำ ๑ ขันที่แช่ไส้เดือนเป็นๆไว้ ดื่มแก้อาการ

ทากเจ้าของป่าตัวจริงกับประโยชน์ทางการแพทย์

ทาก ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเขาใหญ่

ชุดฟูลออฟชั่นสำหรับลุยป่าทากและเห็บป่า เสื้อผ้าสีอ่อน ๆ เพื่อให้เห็นเวลาเห็บเกาะ และถุงเท้ากันทาก ในกระเป๋ามีไฟแช็คสำหรับลนเห็บและแฮะ ๆ พิมเสนน้ำป้ายทาก ป้ายปุ๊บตายปั๊บ ร่วงเป๊าะ เราพร้อมลุยแร้วววววว



ทริปนี้คัลเลอร์ฟูล ถุงกันทากสีแดง เขียว ชมพู ขาว มีให้เลือกที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จะโม้ไปไม๊ถ้าบอกว่าทริปนี้เจอเป็นล้านตัวอ่ะ





ทากตัวน้อยมันกำลังไต่ขึ้นรองเท้าก่อนผ่านถุงเท้าเข้าไปอย่างง่ายดาย



นางส้มกับนางเยาว์ปัดเป็นลิงเลยอ่ะทากลามกไต่ขึ้นไปถึงคอ



น้องผู้ชายมันกล้า แต่ทากก็ยังไม่ทันดูดเลือดหรอก

นี่แหล่ะท่าเตรียมพร้อมจู่โจมของเค้าล่ะ ชูสลอนเป็นร้อย ๆ พัน ๆ ตัวก่อนกระดืบ ๆ มาจากทุกทิศทุกทางก็ขนลุกเหมือนกันนะ



ใครกลัวทากคนนั้นโดน เท้าและเลือดของนางส้มสมหวัง ต้องstop bleeding นานพอสมควรกว่าเลือดจะหยุดไหล

เดินป่าเขาใหญ่ช่วงหน้าฝนสิ่งที่หนีไม่พ้นคือ ทาก เมื่อก่อนนึกว่าทากจะตัวใหญ่ขนาดไส้เดือน ที่ไหนได้ตัวเล็กนิดเดียว แล้วก็กระโดดไม่ได้ด้วย แต่กระดืบคืบคลานไวชะมัด ไปเขาใหญ่เที่ยวนั้น ไอ้น้องที่มันทำงานอยู่ที่นั่นมันไม่เตือนอะไรเลยว่าจะเจอทีเด็ด กะลังถ่ายรูปกันเพลิน ๆ อยู่ริมหนองน้ำ ได้ยินไอ้ส้มน้องในทีมงานร้องกรี๊ดๆๆๆๆๆ วิ่งชนจนกล้องเกือบหลุดมือนึกว่ามันเจอช้างตกอกตกใจ มันร้องทาก ๆๆๆๆ โถเอ๊ย ตัวนิ๊ดเดียวเอง เท่าก้านไม้ขีดได้มั้ง แต่โอโฮ้มันกระดืบไวโคตะระเลย ถ้ายืนอยู่กับที่ไม่กี่วินาทีมันไต่ขึ้นมาบนตัวแล้ว มันละซิทีนี้ จ้ำอ้าวแบบไม่ห่วงสมุนพง สมุนไพรกันเลย เอาชีวิตออกจากป่าให้ได้ก่อน เสียงไอ้ส้มกรีดร้องโหยหวลอยู่ข้างหลังปัดตามตัวขึ้นมาถึงหัวมั้ง รำคาญไอ้ส้มมากกว่าทากอีก ทากมันไม่รำคาญรึไง กว่าจะหลุดจากป่าเที่ยวนั้นเล่นเอาล้วงหน้าล้วงหลังกันอุตลุต หนองน้ำก็มีทาก ตามขอนไม้ผุก็มีเห็บป่า อันนี้น่ากลัวของจริงใครโดนกัดก็คันไปสามเดือน รึดีไม่ดีเป็นscrub typhus อันนี้น่ากลัวของจริง ตับวายไตวายถึงตายได้ แล้วในป่าเห็บเกาะที่เป็นร้อย ๆ ตัว ตัวเล็กเท่าหัวเข็มหมุดดำเป็นเทือกอยู่ตามตะเข็บกางเกง ต้องเอาไฟเช็คลนเพราะเก็บออกไม่ได้ มันเล็กมากและเยอะมาก ส่วนทากง่ายมาก แค่เอาพิมเสนน้ำป้าย ๆ ลงไปตัวลีบตายทันตาเห็น ห้ามบอกนักอนุรักษ์สัตว์นา โดนด่าตายเลย ทากพันธุ์เขาใหญ่เป็นพันธุ์ที่พบใหม่ในโลกด้วยและที่สำคัญทากเป็นสิ่งที่บ่งบอกความชุ่มชื้นและอุดมสมบูรณ์ของป่า
เราพูดถึงทากไม่ได้เอาสนุกเอามัน แค่จะบอกว่าทากรึปลิงเนี้ยมีการใช้ในวงการแพทย์แผนโบราณมานานมากแล้ว ใช้ดูดเลือดร้ายออกจากร่างกาย ในจารึกวัดโพธิ์มีจารึกที่พูดถึงจุดต่างๆในร่างกายที่ให้ปลิงดูดเลือดร้ายออก วงการแพทย์แผนปัจจุบันมีการนำสารฮีรูดินที่ป้องกันการแข็งตัวของเลือดมาใช้กันอย่างแพร่หลาย เป็นสารที่ช่วยผู้ป่วยลิ่มเลือดอุดตันในอวัยวะสำคัญต่าง ๆ เช่นสมอง หัวใจ ฯลฯ ทุกคนคงรู้จักฮีรูดอยกันนะที่ใช้ลดการแข็งตัวและรอยแผลเป็นงัย ที่นี้พอเดาได้รึยังว่ามันทำมาจากอะไร
ปลิง (Aquatic Leech) และ ทากดูดเลือด (Land Leech) จัดอยู่ในไฟลัมแอนเนลิดา ลักษณะลำตัวเป็นข้อปล้องและยืดหยุ่น ชอบอยู่ในน้ำนิ่งตามหนอง(สำหรับปลิง) และอยู่ตามพื้นที่ชื้นแฉะเช่นบริเวณป่าดงดิบเขตร้อน(สำหรับทากดูดเลือด) ดำรงชีพโดยการดูดเลือดสัตว์อื่น รวมทั้งเลือดมนุษย์เป็นอาหาร
ปลิงดำรงชีวิตด้วยการดูดเลือดจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม, สัตว์เลื้อยคลาน และ ปลาบางชนิดเป็นอาหาร และเนื่องจากไม่มีดวงตาจึงอาศัยการจับแรงสั่นสะเทือนจากการเคลื่อนไหวของเหยื่อด้วยแรงสั่นสะเทือนในน้ำ(สำหรับปลิง) และสำหรบทากดูดเลือด(Land Leech)มันจะคอยชูตัวอยู่ตามพื้นดินหรือไต่ขึ้นไปบนกิ่งไม้ มีสัมผัสที่ไวต่อกลิ่นและอุณหภูมิ เมื่อเหยื่อเข้าใกล้มันจะใช้อวัยวะที่เรียกว่าแว่นดูด(Sucker)เกาะเข้ากับตัวเหยื่อ ซึ่งอวัยวะนี้มีทั้งด้านหน้าและด้านท้าย โดยมันจะใช้แว่นท้ายในการยึดเกาะ
เมื่อมันสามารถเกาะผิวเนื้อของเหยื่อแล้วมันจะค่อยๆ ไต่อย่างแผ่วเบาเพื่อหาที่ซ่อนตัว (ในช่วงนี้ใช้เวลาประมาณ 80-90 วินาที ที่เราจะปัดหรือดึงปลิงออกโดยไม่ต้องเสียเลือด) หลังจากนั้นมันจะใช้แว่นหน้าลงบนผิวเนื้อของเหยื่อเพื่อดูดเลือด โดยปลิงจะปล่อยสารชนิดหนึ่งคล้ายกับยาชาและเวลาที่ปลิงดูดเลือดมันจะปล่อยสารออกมา 2 ชนิด ซึ่งได้แก่ สารฮีสตามีน(Histamine) ช่วยกระตุ้นให้หลอดเลือดขยายตัว และสารฮีรูดีน(Hirudin) มีคุณสมบัติต้านทานการแข็งตัวของเลือด (ด้วยเหตุนี้เลือดของเหยื่อจะไหลไม่หยุด)
เมื่อปลิงหรือทากดูดเลือดอิ่มจนมีลักษณะตัวอ้วนบวมแล้ว มันจะปล่อยตัวร่วงลงสู่พื้นดินเอง
การห้ามเลือดหลังจากโดนปลิง
ใช้ใบสาบเสือ ยาเส้นหรือยาฉุนมาขยี้ปิดบาดแผล
ประโยชน์ทางด้านการแพทย์
วงการแพทย์สมัยโบราณมีการนำปลิงมาดูดพิษหรือเลือดเสียออกจากร่างกาย ในปัจจุบันแพทย์นำคุณสมบัติของปลิงมาทำให้เส้นเลือดในร่างกายไม่อุดตัน โดยเฉพาะเส้นเลือดหัวใจหรือนำมาช่วยให้เลือดในร่างกายหมุนเวียนได้ดีขึ้น
การแก้ไขหลังจากโดนทากดูดเลือดกัด ให้ใช้มวนบุหรี่ ปิดที่แผลที่โดนทากดูด เพราะมวนบุหรี่มีสารนิโคตินที่ช่วยให้เลือดแข็งตัวสังเกตได้จากผู้ที่สูบบุหรี่จะรู้สึกปวดหัว เพราะสารนิโคตินทำให้ให้เลือดใหลไปเลี้ยงสมองช้า
ทาก นั้นก็มีประโยชน์ในวงการแพทย์โบราณของจีนค้นพบมานานแล้วว่า ทาก และปลิง สามารถดูดเลือดเสียได้สารพัด ทาก ถูกใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ครั้งแรกประมาณ 200 ปีก่อนคริสตกาล ในปัจจุบัน ทาก ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ อีกครั้งทั้งตัว ทาก เองและสารที่ได้ประโยชน์มาจาก ทาก ด้วยคุณสมบัติต่อต้านการแข็งตัวของเลือด สาร Hirudin ถูกนำมาใช้ในการทำให้เส้นเลือดในร่างกาย ไม่อุดตัน โดยเฉพาะเส้นเลือดที่หัวใจ ส่วนตัว ทาก ที่มีชีวิตก็จะใช้ดูดเลือดในบางกรณี เพื่อให้เลือดในร่างกายมนุษย์หมุนเวียนได้ดีขึ้น จะเห็นได้ว่า ทาก นั้นก็สามารถ ช่วยชีวิตคนได้อย่างมหาศาลเช่นกัน ในทางนิเวศวิทยา ทาก ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ป่าคงอยู่อย่างยั่งยืน มีผลิตผลต่อเนื่องให้สัตว์กินพืชได้ใช้ประโยชน์ กล่าวคือ เวลาที่มีเก้ง กวาง มากินยอดไม้บริเวณ ที่มี ทาก เก้ง กวาง ก็จะไม่ยืนกินอยู่นานหรือกินแค่พออิ่มก็รีบไป มิฉะนั้นแล้วฝูง ทาก ก็จะเข้ามารุมสกรัม มีผลทำให้ต้นไม้ต้นนั้นไม่โทรมจนตาย สามารถแตกยอด แตกใบ ผลิตอาหารให้กับ เก้ง กวางตัวอื่นที่มาทีหลัง
เคล็ดลับสำหรับคนที่ปลิงเข้ารูทวารและช่องคลอด
ธรรมชาติมีของที่เอาไว้แก้กันคือ ให้กินตั๊กแตนสด ๆ ถ้าตั๊กแตนตัวใหญ่ก็ซัก ๒-๓ ตัว ตั๊กแตนตัวเล็กก็ ๕-๑๐ ตัว ประมาณครึ่งถึงหนึ่งวันปลิงจะค่อย ๆ กระดืบ ๆ ออกมา ถ้าลงน้ำที่มีปลิงอยู่เยอะก็เอาตั๊กแตนผูกเอวกันปลิง

สุรามะริดใช้ดองเหล้าเพิ่มฤทธิ์พืชสมุนไพรจากเขาใหญ่

โดย ปุณณภา  งานสำเร็จ
ศูนย์ศึกษารวบรวมพันธุ์พืชสมุนไพรและภูมิปัญญาไทย  จังหวัดนครราชสีมา


สุรามะริด
ใบสุรามะริดจะมีลักษณะเฉพาะแบบเดียวกับพืชตระกูลอบเชยคือมีเส้นใบสามใบลากยาวจากโคนใบถึงปลายใบ มีกลิ่นหอมลักษณะรากอากาศของสุรามะริด

เดินป่าเขาใหญ่จะเจอไม้เด่นตัวหนึ่งที่ยืนต้นมีรากอากาศอยู่ตามกิ่งก้านและมีเส้นใบยาวถึงโคนใบสามเส้น(ลักษณะเฉพาะของไม้พวกอบเชย) คนนำทางรู้จักไม้นี้เป็นอย่างดีใช้ส่วนรากมาดองเหล้าบอกว่าให้รสชาติที่ดียิ่งนัก คอสุราคงชอบใจ เราไม่ต่อต้านเรื่องเหล้าดองยา เพราะสมุนไพรประเภทเนื้อไม้และเปลือกไม้หนา ๆ ใช้วิธีต้มหรือชงไม่สามารถนำสารสำคัญที่ออกฤทธิ์มาใช้ได้หมดเป็นการสิ้นเปลือง การดองเหล้าจะดีกว่าด้วยประการทั้งปวง แต่ต้องกินให้เป็นยาคือเช้าเป๊กเย็นเป๊ก ไม่ใช่กินเหล้าเป็นเหล้าคือกินจนเมาไม่รู้เรื่อง ไม้ตัวนี้เรียกว่าสุรามะริด เดินป่าเขาใหญ่ทักทายเค้าได้นะ ภาพที่ได้ไม่ชัดนักแต่ก็พอดูได้นะ
ยังมีข้อสงสัยกับพืชตัวนี้พอสมควรมีข้อมูลที่พูดถึงน้อยมากเอาเท่าที่พอรวบรวมได้ละกันถ้าตามการจัดประเภทของอาจารย์ เต็ม สมิตินันท์ ระบุว่าสุรามะริดเป็นตัวเดียวกับอบเชยไทยดังข้อมูลนี้
อบเชยไทย (C.burmanii) เป็นอบเชยที่มีชื่อเสียงและมีการบริโภคเปลือกกันมากที่สุดในประเทศไทยชาวบ้านแต่ละท้องถิ่นอาจจะเรียกชื่อแตกต่างกันไป เช่น สุรามะริด (C. subavenium)( เติม สมิตินันท์,2523) แต่ในที่นี้ขอเรียกว่า อบเชยไทย เปลือกอบเชยชนิดนี้ที่มีการค้าขายกันอยู่ ได้มาจากป่าธรรมชาติเพียงแหล่งเดียวเท่านั้น การเก็บหาเปลือกอบเชยชนิดนี้ทำโดยการตัดโค่นต้นลง และลอกเก็บเปลือกตามต้นและกิ่งทั้งหมด ถ้าต้นนั้นปรากฎไม่ห่างไกลจากสำนักงานของทางราชการมากนัก ชาวบ้านจะทำการลอกเปลือกรอบลำต้นแทนการตัดโค่น (ภาพที่ 1 ) ซึ่งในที่สุดต้นอบเชยนั้นอาจตายได้ เนื่องจากมีการเก็บหาเปลือกอบเชยชนิดนี้กันมากจนกระทั่งปัจจุบันพบอบเชยชนิดนี้น้อยมากพบเพียงในป่าลึก และเฉพาะในพื้นที่ที่อนุรักษ์ เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จึงทำให้น่าเป็นห่วงว่าอบเชยชนิดนี้จะถูกจัดให้เป็นพันธุ์ไม้หายากของประเทศไทยและอาจจะต้องเสียเงินตราจำนวนมากเพื่อสั่งเข้าเปลือกอบเชยจากต่างประเทศ
อบเชยเป็นสมุนไพรที่ให้กลิ่นหอม มีการใช้สารสกัดจากเปลือกอบเชยเพื่อให้กลิ่นหอมในราชสำนักของราชินีแฮทเชพซุท(Hatshepsut) แห่งอียิปต์เมื่อ ๓,๕๐๐ ปีมาแล้ว นอกจากนี้อบเชยยังเป็นสมุนไพรหลักในยาธาตุ ยาหอม ยานัตถุ์ ทั้งหลาย และยังเป็นเครื่องเทศปรุงอาหารที่ขาดมิได้ในพะโล้ ซึ่งใช้ช่วยย่อยอาหารมันๆ เช่น หมูสามชั้นที่เรานิยมนำมาทำพะโล้หมูสามชันกับไข่นั้นเอง
อบเชยเป็นเครื่องเทศที่มีมากในที่ที่มีอากาศชื้น อบเชยเป็นพืชพื้นเมืองของลังกาและภาคใต้ของอินเดีย ซึ่งเราจะเรียกว่าอบเชยลังกา หรือเรียกติดปากได้อีกอย่างหนึ่งว่า "อบเชยเทศ" ต้นอบเชยเทศนั้นจะมีลักษณะเปลือกบางกว่าอบเชยชนิดอื่นๆ มีชื่อเรียกทางการว่า Cinnamomum verum J.S.Presl ซึ่งครั้งหนึ่งในประว้ติศาสตร์ประเทศอังกฤษกับฮอลแลนด์เคยทำสงครามกัน เพื่อแย่งกันทำการผูกขาดการค้าอบเชยในลังกามาแล้วในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙
ผลสุดท้ายอังกฤษสามารถแย่งการผูกขาดการค้ามาจากฮอลแลนด์ได้สำเร็จแล้วก็เอามาผูกขาดเสียเอง พอเสร็จสงคราม ตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. ๑๘๕๐ เป็นต้นมาอังกฤษทำการปลูกอบเชยในลังกาถึง ๔๐๐๐๐ เอเคอร์ ทำให้ปัจจุบันศรีลังกาเป็นผู้ส่งออกอบเชยรายใหญ่ของโลก
นอกจากอบเชยลังกาที่กล่าวมาแล้ว ยังมี "อบเชยจีน" ซึ่งลักษณะเปลือกจะหนากว่าอบเชยลังกาเล็กน้อย มีชื่อเรียกต้นนี้ว่า Cinnamonum aromaticum Nees และยัง "อบเชยญวน" ซึ่งมีลักษณะเปลือกหนากว่าของลังกาและของจีน และยังมีกลิ่นหอมจัดกว่าชนิดอื่นๆ ด้วย ซึ่งมีชื่อเรียกทางการว่า Cinnamomum loureiriiNees สำหรับชาวไทยของเราก็มีเหมือนกัน เรียกว่า "อบเชยไทย"ซึ่งมีลักษณะเปลือกหนาที่สุดเรียกชื่อเป็นทางการว่า Cinnamomum subavenium Miq.
มาดูลักษณะต้นอบเชยสักหน่อย เพราะคนโดยมากรู้จักหรือเห็นกันเฉพาะเปลือกต้นอบเชย ไม่ว่าจะนำมาปรุงยาหรือที่กำลังอินเทรน์สำหรับผู้นิยมดื่มกาแฟสดทั้งหลาย ก็จะมีสูตรกาแฟกับอบเชยให้ดื่มกัน อบเชยเป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ ๑๕ - ๒๐ เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมรูปเจดีย์ต่ำทึบ เปลือกเรียบสีเทาปนน้ำตาล ใบเป็นใบเดี่ยว ปกติเป็นพืชในป่าดิบทั่วไป แต่ถ้าคนต้องการนำมาปลูก ก็สามารถขึ้นในดินทั่วไป แต่ชอบดินร่วน ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง
การใช้ประโยชน์ของอบเชยนั้น นิยมใช้ส่วนของเปลือกต้นที่มีกลิ่นหอมเนื่องจากมีส่วนประกอบสำคัญคือน้ำมันหอมระเหย หากใครชิมอบเชยจะพบกับรสเผ็ด หวาน สุขุม ซึ่งมีสรรพคุณขับลม ช่วยย่อย บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ ดังนั้นอบเชยจึงเป็นสมุนไพรหลักร่วมกับตัวยาอื่นในยาธาตุ หรือเพียงแต่นำเปลือกอบเชยไปต้มน้ำ ก็ได้ยาธาตุน้ำสูตรอบเชยล้วนๆ กินแก้ท้องอืดท้อง เฟ้ออาหารไม่ย่อย ช่วยขับลมได้เป็นอย่างดี
เปลือกอบเชยยังเป็นส่วนประกอบของยาหอม ใช้ชงน้ำหรือทำเป็นเม็ดรับประทานบำรุงหัวใจ แก้ลมวิงเวียน และในกระแสที่ใครๆก็สนใจอโรมาเธอร์ราปีส์ อบเชยยังถือว่าเป็นอโรมาเธอร์ราปีส์ของไทยมาแต่ดั้งเดิม โดยเป็นส่วนประกอบของส้มโอมือที่ใช้เป็นยาดม ทำให้สดชื่น และเป็นส่วนประกอบหลักของยานัตถุ์ แก้ปวดศรีษะ เปลือกอบเชยยังมีสรรพคุณบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง จึงพบการใช้เปลือกอบเชยร่วมไปกับสมุนไพรชนิดอื่นในตำรับยาแก้กษัย รวมทั้งตำรับยาบำรุงร่างกายอื่นๆ ด้วย
ปัจจุบันมีการนำเปลือกอบเชยมาบดใส่แคปซูลรับประทานด้วยเพื่อช่วยคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งอาจมีที่มาจากการที่มีผู้ป่วยเบาหวานจำนวนหนึ่ง นิยมใช้ยาตำรับแก้กษัยตำรับหนึ่ง กินแล้วทำให้ควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ โดยตำรับแก้กษัยดังกล่าวมีเปลือกอบเชยเป็นส่วนประกอบตัวยาหลัก และเมื่อไม่นานมานี้ มีรายงานการศึกษาพบว่าการรับประทานเปลือกอบเชยวันละครั้งประมาณ หนึ่งในสี่ช้อนชา สามารถช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ในกลุ่มที่เป็นอาสาสมัครซึ่งทำการทดลอง
อย่างไรก็ตามการใช้อบเชยในผู้ป่วยเบาหวานคงต้องมีการศึกษากันต่อไป แต่ถ้าผู้ป่วยเบาหวานท่านใดต้องการใช้ เพื่อเป็นทางเลือกหรือทางเสริมจากการดูแลรักษาตามปกติ ก็ขอถือว่าแคปซูลอบเชย เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย ช่วยขับลม บำรุงธาตุ ซึ่งมีปลอดภัยมีการใช้มายาวนาน แล้วก็ปฏิบัติตัวด้วยการออกกำลังกาย กินอาหารที่เหมาะ และตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงที่เคยพบแพทย์เพื่อติดตามอาการเบาหวานก็ขอให้ทำตามปกติ นอกจากใช้เปลือกอบเชยแล้ว ยังนิยมใช้รากและใบของอบเชยมาต้มน้ำให้สตรีหลังคลอดบุตรใหม่ๆ รับประทาน เพื่อช่วยขับน้ำคาวปลา และแก้ไข้เนื่องจากการอักเสบของมดลูกของสตรีหลังคลอดบุตร ทั้งใบและรากของอบเชยมีรสหอมสุขุม ใช้เป็นยาบำรุงร่างกายบำรุงธาตุ
อบเชย เป็นสุมไพรใช้ประโยชน์ทางยาแล้ว น้ำมันหอมระเหยจากอบเชยยังใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและขนม เช่น คุกกี้ โดนัท ลูกอมดับกลิ่นปาก ยาสีฟัน เป็นต้น ทั้งยังมีการใช้อบเชยร่วมกับสมุนไพรที่ให้กลิ่นหอมชนิดอื่นๆ วางไว้ในตู้เสื้อผ้า เพื่อป้องกันกลิ่นอับและช่วยไล่มดไล่แมลงด้วย
อบเชยจึงเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง ในบ้านเรายังมีสมุนไพรในตระกูลอบเชยที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างใกล้เคียงกัน เช่น ข่าต้น เทพธาโร จวงหอม ฯลฯ ซึ่งพบในป่าดิบชื้นทั่วไป หมอยาพื้นบ้านนิยมใช้ต้นสมุนไพรในกลุ่มนี้ เพื่อใช้เป็นยาธาตุ ยาหอม ยาขับลม เช่นกัน และยังใช้เนื้อไม้ไปทำไม้ตีพริก(สาก)ทำให้น้ำพริกมีกลิ่นหอม ช่วยขับลมในลำไส้
ตำรับยา
ใบสุรามะริดกลั่นเอาน้ำมันเรียกว่าน้ำมันเขียว ใช้ทาภายนอก แก้ลมเข้าข้อ ฟกช้ำใช้ทาบริเวณที่เส้นเอ็นกระตุก ช่วยดับพิษในกระดูกและในเส้นเอ็น และขับโลหิตใหขึ้นสู่ผิวหนัง
ปุณณภา งานสำเร็จ เรื่อง

วันพุธที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2553

ทองกวาวร่วงกราวตามราวป่า

ทองกวาว
ใบทองกวาวเป็นใบประกอบสามใบแบบพืชตระกูลถั่ว


ลักษณะดอกของพืชตระกูลถั่ว


ดอกทองกวาวสวยสะดุดตา

ช่วงนี้มองไปตามข้างทางไม่ต้องถึงตามป่าจะเห็นทองกวาว รึวงการสมุนไพรเรียกว่ากวาวต้น อวดดอกสวยเต็มไปหมดตามสองข้างทาง ถึงจะเป็นไม้ใหญ่แต่ใบประกอบสามใบก็บอกความเป็นพืชตระกูลถั่วที่ช่วยตรึงก๊าซไนโตรเจนให้ผืนดิน และชาวบ้านบอกว่า เมื่อต้นเล็กๆจะมีหัว หัวเค้าเอามากินเป้นอาหารได้ พ่อหมอบอกว่ากาฝากที่ขึ้นกับต้นทองกวาวเอามาบดทาใบหน้าช่วยให้หน้าตึงกระชับ ขาวใสดี นับว่าเป็นไม้สวยมีประโยชน์มากอีกตัวหนึ่งทีเดียว เนื่องจากเป็นพืชวงศ์เดียวกับกวาวเครือขาว กวาวเครือแดงที่นิยมนำมาใช้ในวงการความสวยความงามในปัจจุบัน น่าแปลกที่คนไม่ใช้กวาวต้นที่หาง่ายกว่าเยอะและเป็นการใช้แค่ส่วนเปลือกลำต้นที่ไม่ทำให้ดับแนวเหมือนการใช้หัวกวาวเครือขาวและแดง เราอยากให้คนทุกวันนี้เหลืออะไรไว้ให้รุ่นลูกหลานเราเค้าได้มีใช้บ้าง วันข้างหน้าเด็ก ๆ คงลำบากกว่ารุ่นพวกเรามาก




ทองกวาว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Butea monosperma (Lam.)Taubert
วงศ์: LEGUMINOSAE-PAPILIONOIDEAE
ชื่อสามัญ: Bastard Teak, Bengal Kino, Flame of the Forest[1]
ชื่ออื่นๆ: กวาว ก๋าว (ภาคเหนือ), จอมทอง (ภาคใต้), จ้า (เขมร), ทองธรรมชาติ ทองพรหมชาติ ทองต้น (ภาคกลาง), ดอกจาน (อิสาน)
ลักษณะ




เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 12-18 เมตร เปลือกต้นเป็นปุ่มปม กิ่งอ่อนมีขนละเอียดสีน้ำตาลหนา การแตกกิ่งก้านไปในทิศทางที่ไม่ค่อยเป็นระเบียบ
ใบ: เป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ เรียงสลับใบย่อยที่ปลายรูปไข่ กลีบแกมสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ใบย่อยด้านข้างเป็นรูปไม่เบี้ยว กว้าง 8-15 เซนติเมตร ยาว 9-17 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ
ดอก: ออกเป็นช่อคล้ายดอกทองหลาง สีแดงส้ม มีความยาว 6-15 เซนติเมตร มีดอกย่อยเกาะเป็นกลุ่ม เวลาบานมี 5 กลีบ จะออกดอกดกที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี
ผล: ผลมีลักษณะเป็นฝักสีน้ำตาลอ่อน แบน โค้งงอเล็กน้อย ไม่แตก ด้านบนหนาแตกเป็น 2 ซีก มีเมล็ดขนาดเล็กอยู่ภายใน 1 เมล็ด ฝักยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร




สรรพคุณ





ดอก ต้มดื่มเป็นยาแก้ปวด ถอนพิษไข้ ขับปัสสาวะ
ฝัก ต้มเอาน้ำเป็นยาขับพยาธิ
ยาง แก้ท้องร่วง
เปลือก มีงานวิจัยพบว่า สารสกัดจากเปลือก ช่วยเพิ่มขนาดหน้าอกให้ใหญ่ขึ้น แต่จะลดจำนวนอสุจิ
เมล็ด บดผสมมะนาว ทาบริเวณผื่นคัน
ใบ ต้มกับน้ำ แก้ปวด ขับพยาธิ ท้องขึ้น ริดสีดวงทวาร
ราก ต้มรักษาโรคประสาท บำรุงธาตุ




ในปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยพบสารสำคัญหลายชนิดและพบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สำคัญดังนี้ ต้านการอักเสบ (แก้ฝี แก้สิว แก้ปวด ลดไข้ ),ฤทธิ์เหมือนเอสโตรเจน (ช่วยบำรุงผิวพรรณให้เต่งตึง ),ต้านเชื้อแบคทีเรีย (แก้ฝี ),ขับพยาธิ ,ต้านการปฎิสนธิยับยั้งการฝังตัวของตัวอ่อนที่มดลูก ,ทำให้แท้ ง(หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทาน )และ เป็นพิษต่อตับ
ไม้มงคล
คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นทองกวาวไว้ประจำบ้านจะทำให้มีเงินมีทองมาก เพราะทองกวาวเป็นไม้มงคลนาม คือสามารถมีทองได้ตามธรรมชาติหรือมีทองมากนั่นเอง นอกจากนี้ดอกยังมีความสวยเรืองรองดั่งทองธรรมชาติ
ตำแหน่งที่ปลูกและผู้ปลูก
ควรปลูกต้นทองกวาวไว้ทางทิศใต้จะเป็นมงคลยิ่ง ผู้ปลูกควรปลูกในวันเสาร์เพราะโบราณเชื่อ ว่าการปลูกไม้เพื่อเอาคุณทั่วไปให้ปลูกในวันเสาร์ ถ้าให้เป็นสิริมงคลยิ่งขึ้นผู้ปลูกควรเป็นผู้ใหญ่ที่ควรเคารพนับถือ และเป็นผู้ที่ประกอบคุณงามความดีก็จะเป็นสิริมงคลยิ่งนัก

คำมอกหลวงหมากฝรั่งในป่าดง

คำมอกหลวง
ลักษณะลำต้นของคำมอกหลวงต้นนี้ถ่ายในสำนักงาน

ดอกอ่อนสีขาวพอแก่สีเหลืองสวยดีนะ
ผลคำมอกหลวงเหมือนฝรั่งเลยอ่ะ


นั่นไงๆมองเห็นแต่ไกลเลยอย่างนี้ใครดีใครได้


ส่วนของเรซิ่นสีส้มนี่แหล่ะที่แย่งกันเอามาเคี้ยวเป็นหมากฝรั่งเวลาเดินป่า 555 รู้สึกดีจังแฮะ คิดถึงป่าจัง




เวลาเดินป่าเราชอบเวลาที่พ่อหมอหยิบไอ้นั่นเด็ดไอ้นี่ให้ชิม ใบบ้าง ดอกบ้าง ผลบ้าง บางอย่างก็รสชาติใช้ได้ แต่บางอย่างก็โดนแกล้ง ขมบ้าง ฝาดบ้าง ตามเรื่องไป แต่ก็ทำให้การเดินป่ามีสีสรรดี ของกินในป่าถึงรสชาติไม่ค่อยได้เรื่องนักแต่ก็น่าตื่นเต้นเสมอ เหมือนเรากลับไปเป็นเด็ก เรียนรู้โลกมหัศจรรย์ใหม่อีกครั้ง มีต้นหนึ่งที่เราชอบเพราะยอดอ่อนเค้าเคี้ยวเล่นเพลิน ๆ เหมือนกินหมากฝรั่งแก้เหงาปาก ถึงไม่มีรสชาติอะไร แต่ก็เพลินดีนะ





ชื่อวิทยาศาสตร์ Gardenia sootepensis Hutch.

ชื่อวงศ์ RUBIACEAE








ชื่ออื่น คำมอกข้าง แสลงหอมไก๋ ไข่เน่า คำมอก ยางมอกใหญ่ หอมไก๋
ลักษณะ

เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 5-8 ม. มีขนนุ่มที่กิ่งก้าน ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามกว้าง 4-13 ซม. ยาว 8-25 ซม. ก้านใบยาว 0.4-1.5 ซม. หูใบอยู่ระหว่างก้านใบร่วงง่าย แผ่นใบค่อนข้างหนา รูปไข่กลับแกมรี โคนใบรูปลิ่ม ปลายแหลมขอบเรียบผิวด้านล่างปกคลุมด้วยขนสั้นนุ่มหนาแน่นกว่าที่ด้านบน ดอกเดี่ยวมีหลายดอกเกิดที่ซอกใบ ปกคลุมด้วยขนสั้นนุ่ม ยกเว้นกลีบดอกด้านใน กว้าง 6-11 ซม. ยาว 4-9 ซม. ก้านดอกยาว 0.2-0.7 ซม. หรือไม่มีก้าน ประกอบด้วยวงกลีบเลี้ยงปลายแยก 5 แฉก แต่ละแฉกปลายแหลม วงกลีบดอกปลายแยก 5 แฉก สีเหลืองรูปไข่หรือรูปขอบขนาน เกสรเพศผู้จำนวน 5 อัน โผล่เกือบพ้นหลอดวงกลีบดอก เกสรเพศเมีย จำนวน 1 อันอยู่ใต้วงกลีบ ผลแห้ง เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ผลไม่แตก กว้าง 2-3 ซม. ยาว 3.2-4.5 ซม. รูปรี ปกคลุมด้วยขนสั้นนุ่มมียอดเกสรตัวเมียติดที่ปลายผล
สรรพคุณ
เมล็ดต้มเคี่ยวกับน้ำ เป็นยาสระผมฆ่าเหา

คอนสวรรค์ไม้ปราบเซียน

คอนสวรรค์

ใบและดอกคอนสวรรค์มีลักษณะเฉพาะ

ต้นคอนสวรรค์ไม้เลื้อยลีลาสวยมีการพัฒนาเป็นไม้ประดับแล้ว
เราเคยเจอพ่อหมอสมุนไพรที่เก่งมากๆรู้จักไม้ทุกต้นอย่างไม่น่าเชื่อ ชี้ต้นไหนบอกได้หมดไม่มีติดขัดจะเป็นป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ท่านรู้เยอะจริง ๆ หาได้น้อยที่จะเจอคนชำนาญไม้ในป่าต่างประเภทกันแบบนี้ เราก็ชอบลองของก็พยายามถามๆเป็นอาทิตย์เผื่อจะเจอซักต้นที่พ่อหมอท่านนี้จะไม่รู้จัก จนหมดภูมิ เดินดูต้นไม้เล่น ๆ ข้างบ้านท่านเห็นต้นนี้เราชี้หมับว่าต้นคอนสวรรค์ พ่อหมอหันมาถามเราว่าต้นอะไรนะ เราก็บอกแกงงๆว่าต้นคอนสวรรค์ แกบอกว่าต้นนี้แกไม่รู้จัก โอ้ก๊อด เป็นไปได้อย่างไร ฉันดันไปรู้จักไม้ที่เซียนระดับนี้ไม่รู้จัก ภูมิใจได้ป่ะนะ เห็นวงการไม้ประดับชอบเอาไม้มาเปลี่ยนชื่อจนนึกกลัวว่าสักวันคนจะไม่รู้จักแล้วจะไม่รู้ว่าสมุนไพรที่ปรากฏอยู่ในตำรับตำราโบราณหมายถึงตัวไหน เหมือนอย่างลั่นทมที่ตอนนี้ใครๆพากันเรียกว่าลีลาวดี แต่ฉันอยากจะขอร้องว่าช่วยเรียกชื่อเดิมทีเถอะ


คอนสวรรค์


ชื่อวิทยาศาสร์ Ipomoea quamoclit. Linn.


ตระกูล CONVOLVULACEAEชื่อสามัญ Indian Pink.


ชื่ออื่นๆ (Other Name) : เข็มแดง พันสวรรค์ สนก้างปลา แข้งสิงห์สะตอเทศ ผักหนองบก ผักก้านถิน


ลักษณะ


ต้น คอนสวรรค์เป็นไม้เถาล้มลุก มีอายุประมาณ 1 ปี เมื่อให้ดอกแล้วก็จะแห้งตายไป ลำต้นหรือเถาจะ เลื้อยพันกันแน่น และจะต้องมีหลักหรือซุ้ม เพื่อให้เถาคอนสวรรค์เลื้อยพันขึ้นได้ ลำต้นหรือเถาจะ มีขนาดเล็กและเรียว ผิวของลำต้นจะเกลี้ยง ใบ คอนสวรรค์มีใบเป็นรูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ขอบใบเป็นจักแฉกลึกแบบขนตก จะมีแฉกข้างละ ประมาณ 10-19 แฉก แฉกจะอยู่ตรงข้ามกันหรือสลับกัน ส่วนก้านใบจะสั้น โดยมีความยาวประมาณ 4 มิลลิเมตรดอก ออกดอกเป็นช่อตามง่ามใบ ช่อหนึ่งมีดอกประมาณ 4-6 ดอก มีก้านช่อดอกยาวประมาณ 10-14 เซน ติเมตร และมีก้านดอกสั้น ซึ่งยาวประมาณ 20 มิลลิเมตร มีกลีบรองกลีบดอกเป็นรูปขอบขนานกัน หรือเป็นรูปช้อนแกมขอบขนาน ตรงปลายมน ส่วนกลีบดอกจะเชื่อมติดกันเป็นทรงแจกัน และมี ความยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ปลายกลีบดอกจะแยกออกเป็นแฉกแหลมมี 5 แฉก ดอกจะมีสีแดง


สรรพคุณ


ทั้งต้น ใช้เป็นยารุ แก้งูกัด บดเป็นผงทำยานัตถุ์
ใบ ตำละเอียดพอกริดสีดวงทวารที่แตก สิวหัวช้าง ฝีฝักบัว
เมล็ด ใช้เป็นยาระบาย บรรเทาอาการปวดท้อง


ข้าวสารค่างไม้แปลกหายาก

ข้าวสารค่าง
ข้าวสารค่างเลื้อยพันหลักไม้ผลของมันมีเอกลักษณ์มากแปลกตาดี

เราชอบไม้ต้นนี้เพราะผลของเค้าแปลกดีไปเจออยู่ที่ลพบุรีเลยเอามาลงไว้เป็นกลุ่มสมุนไพรที่หาข้อมูลยากไม่ค่อยมีใครพูดถึง พ่อหมอน้อยเรียกต้นนี้ว่าองคต


ข้าวสารค่าง.
ชื่อพฤกษศาสตร์, : Cardiopteris quinqueloba (Hassk.) Hassk.
วงศ์, : Cardiopteridaceae.
ชื่ออื่นๆ, : ขะล๊านข่าง ตุ๊กตู่
ลักษณะ
ไม้เลื้อยเนื้ออ่อน ทุกส่วนมียาง สีขาว ใบเรียงเวียน ฐานใบรูปหัวใจ ขอบใบเว้า ดอกออกเป็นช่อแบบกระจะ กลีบดอกสีขาว ผลสีเขียวรูปไข่กลับแกมรูปรี แบนมี ๒ ปีก ส่วนปลายผลเว้าเป็นรูปหัวใจมีติ่งของยอดเกสรเพศเมียติดอยู่
สรรพคุณ
ยาพื้นบ้านล้านนา ใช้ใบตำผสมเหง้าไพลและมันหมูห่อใบตองหมกไฟประคบรักษาผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา

ชันโรงสัตว์วัตถุแห่งผืนป่า

ชันโรง ชันโรงที่ขึ้นกับต้นไม้ที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช อ.ปักธงชัย

ชันโรงที่ขึ้นกับต้นไม้ เขาสลัดได อ.วังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
ชันดรงที่ขึ้นกับแผ่นหินขนาดใหญ่ป่าดอยเจดีย์ อ.เทพารักษ์ จังหวัดนครราชสีมา ไปครั้งหลังหายไปแล้ว





ชันโรงที่ขึ้นจากดินเจอที่ป่าตะกุดรังอ.ปักธงชัยจ.นครราชสีมา น้องมือบอนเดินตามหลังหักเก็บทันที ชันโรงชนิดนี้ใช้ทำเบี้ยแก้ดีนัก


เรามักเข้าใจกันว่าสมุนไพรหมายถึงพืชเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วสมุนไพรหมายถึง พืช สัตว์ และแร่ธาตุ วันนี้เราอยากพูดถึงสมุนไพรที่หมายถึงสัตว์บ้าง เวลาไปเดินป่าหลายครั้งที่เจอสิ่งนี้ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่เกิดจากสัตว์ คือเจ้าชันโรงนั่นเอง เจอค่อยข้างบ่อย ประมาณป่าเบญจพรรณที่มีแผ่นหินเยอะ ๆ เราจะเจอกับแมลงตัวเล็ก ๆ ผึ้งก็ไม่ใช่ แมลงวันก็ไม่เชิงตอมเนื้อตอมตัวเราจนน่ารำคาญ มารู้จักคุณประโยชน์อันน่ามหัศจรรย์ของเค้ากัน


ชันโรง


ชื่อพื้นเมือง (Local name) แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค แต่ละชนเผ่าของมนุษย์ ที่เรียกแมลงกลุ่มนี้ อาทิ ชื่อพื้นบ้านในภาคเหนือเรียกว่า ตัวขี้ตังนี หรือ แมลงขี้ตึงสำหรับชันโรงที่มีตัวขนาดเล็ก (ขนาดเท่าแมลงวี่) โดยคำว่าขี้ตึงนั่นก็คือชันยางพลวงนั่นเอง เพราะ คำว่า "ตึง" หรือ ตองตึง เป็นชื่อพื้นบ้านที่เรียกไม้พลวง (หรือยางพลวง) โดยที่พลวง เป็นไม้สกุลยางชนิดหนึ่ง ที่ชาวบ้านเจาะน้ำยางหรือชัน มาใช้ประโยชน์เช่นเดียวกับยางนา คือใช้จุดไฟขี้ไฟเป็นขี้ไต้ สำหรับในกรณีชันโรงที่ตัวขนาดใหญ่ (ขนาดเท่าแมลงวัน) เรียกว่า แมลงขี้ย้า
ชื่อพื้นบ้านของชันโรงในภาคใต้ เรียกกันว่า "อุง" ซึ่งมีอยู่หลายชนิด ถ้าเป็นชันโรงตัวขนาดเล็กเรียกว่า อุงแมงโลม คำว่า " แมงโลม" คำนี้เพี้ยนมาจาก " แมลงโลม" หมายถึง แมลงวี่ อันหมายถึงชันโรงที่ขนาดตัวเท่าแมลงวี่นั่นเอง แต่ถ้าหากเป็นชันโรงที่มีขนาดตัวใหญ่เรียกว่า อุงหมี (อุงแดง) หรือ( อุงดำ) แตกต่างกันไปตามสีตัวชันโรงในแต่ละชนิด
ชื่อพื้นบ้านของชันโรงในภาคอีสาน เรียกว่า " แมลงขี้สูด " ซึ่งขี้ชันของแมลงขี้สูดนี้เองที่นำไปอุดรูแคน แผ่นไม้ระนาดเอก โปงลางจนกลายมาเป็นเครื่องดนตรีที่มีความไพเราะอย่างยิ่งและกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยอีสานและพี่น้องลาวมาจนถึงปัจจะบัน ชื่อพื้นบ้านของชันโรงในภาคตะวันตก เรียกว่า " ตัวตุ้งติ้ง" หรือ ตัวติ้ง
ชื่อพื้นบ้านของชันโรงในภาคตะวันออกเรียกว่า'ตัวชำมะโรง"หรือ"แมลงอีโลม"โดยคำว่าอีโลมในทีนี้ไม่ได้หมายถึงแมลงโลมหรือแมลงวี่แต่หมายถึงแมลงที่บินมาตอมไต่ตามร่างกายของคนเรายังกะเป็นการเล้าโลมประมาณนั้น เพราะช่วงที่เราเดินป่าตามตัวตามร่างกายเราจะขับเหงื่อออกมาเยอะมากพร้อมๆเกลือแร่ที่เหงื่อขับออกมา เป็นสิ่งล่อให้ชันโรงเข้ามาไต่ตอมเพื่อกินเกลือแร่ดังกล่าว จนสร้างความรำคาญเป็นอย่างมากในป่าผลัดใบและป่าดงดิบของบ้านเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้าร้อนและชันโรงที่บินมาไต่ตอมส่วนใหญ่เป็นชันโรงขนาดตัวเล็ก




ลักษณะสัณฐานวิทยาของชันโรง
สำหรับขนาดตัวของชันโรงโดยเฉลี่ยมีขนาดเล็กกว่า ผึ้งพันธุ์ประมาณ 2-3 เท่า เป็นแมลงที่รวมกันอยู่เป็นสังคมเช่นเดียวกับ ผึ้งรวง (ผึ้งมิ้ม ผึ้งหลวง และผึ้งเลี้ยง) ภายในสังคมแบ่งออกเป็น 3 วรรณะ คือ นางพญา(Queen) ตัวงาน (Worker) และตัวผู้ (Male) โดยที่ขนาดลำตัวระหว่างนางพญา กับชันโรงตัวงานมีขนาดแตกต่างกันมาก ตัวผู้มีขนาดใกล้เคียง หรือเล็กกว่านางพญาเล็กน้อย
ลักษณะทั่วไปของนางพญา ส่วนหัวมีตารวม มีหนวด 1 คู่ ตาเดี่ยว 3 ตา ช่วงท้อง(Metasoma) ไม่เป็นรูปปิระมิดมีลิ้นเป็นงวงยาว ขา3 คู่ ขาคู่หน้าและ คู่กลาง ค่อนข้างเล็กขาหลังเรียวไม่แผ่แบน ไม่มีเหล็กใน
ลักษณะทั่วไปของชันโรงตัวงาน ตัวของชันโรงตัวงานมีจำนวน 12 ปล้อง มีคล้ายนางพญาแต่ขนาดลำตัวเล็กกว่า กรามพัฒนาดีต่อการใช้งาน ขาคู่หลังแผ่กว้างเป็นใบพายมีขนจำนวนมาก รูปร่างคล้ายหวีสำหรับใช้เก็บละอองเรณูของดอกไม้มีปีกปกคลุมยาวเกินส่วนท้อง และไม่มีเหล็กใน
ลักษณะทั่วไปของชันโรงตัวผู้ ตัวของชันโรงตัวผู้มีจำนวน 13 ปล้อง คล้ายนางพญา มีขนาดเล็กกว่า หรือใกล้เคียงกัน ตารวมเจริญพัฒนาดี กรามพัฒนาไม่ดีพอต่อการใช้งาน หนวดยากกว่าวรรณะทั้งสองโค้งเว้าเป็นรูปดัวยู ปลายส่วนท้องปล้องสุดท้ายมีครีบสำหรับผสมพันธุ์ (genitalia) ส่วนของขาคล้ายกับชันโรงตัวงาน แต่ขาคู่หลังของชันโรงตัวผู้เล็กกว่า
รังและพฤติกรรมการสร้างรัง
ลักษณะรัง การสร้างรังของชันโรงในป่าธรรมชาติเกิดจากการที่ชันโรงตัวงานบางตัวเสาะหาแหล่งที่จะสร้างรังใหม่เนื่องจากประชากรในรังเก่ามาก แออัดมาก และมีนางพญารุ่นลูก (daughter queen) เกิดขึ้นมา ทำให้ต้องแยกรังออกไปสร้างใหม่ ซึ่งพฤติกรรมนี้เกิดขึ้นในช้วงที่ฤดูผสมพันธุ์ของชันโรง
การสร้างรังของชันโรงขึ้นอยุ่กับชนิดของชันโรง แต่ละชนิดเลือกสถานที่สร้างรังต่างกันสามารถแยกลักษณะของการสร้างออกได้ 4 กลุ่มมีดังนี้
1. กลุ่มที่สร้างอยู่รูอยู่ตามชอกหลืบต้นไม้ที่มีโพรงของต้นไม้ขนาดใหญ่ ทั้ง ที่ยืนต้นมีชีวิตที่อยู่ และยืนต้นตาย (Trunk nesting) เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่พบในบ้านเรา เช่น แมลงขี้สูด (Trigona apicalis) ขี้ย้าแดง (T. fimbriata Smith) ฯลฯ
2. กลุ่มที่สร้างรังอยู่ในโพรงใต้ดิน (Ground nesting) โดยรังจะถูกสร้างอยู่ใต้ดิน บริเวณจอมปลวก ชนิดที่พบในบ้านเรา คือ อุงดิน (Trigona Collina)
3. กลุ่มที่สร้างรังอยู่ในโพรงตามกิ่งไม้ (Branch nesting)ของไม้ยืนต้นขนาดใหญ่
4.กลุ่มที่สร้างอยู่ตามสิ่งก่อสร้างในเมืองหรือยู่ใกล้กับ(Anthropophilous)ที่ปรับตัวในนิเวศเขตเมืองพบว่าอุงแมงโลม (Trigona laeviceps) สามาถสร้างรังได้ในท่อ เหล็ก ท่อประปา รูเสาบ้านไปจนถึงรูเสาไฟฟ้าเป็นต้น
ตัวชันโรงนี้จะสร้างปากรังออกมาเป็นหลอดกลมหรือแบนที่สร้างด้วยยาง หรือชันไม้โดยที่ชันโรงแต่ละชนิดมีรูปร่างปากรูใกล้เคียงกันหรือแตกต่างกันไปตามชนิดของชันโรงภายในรังมีการสร้างเป็นเซลล์ หรือ หน่วยๆ เพื่อให้นางพญาวางไข่ และตัวงานเก็บ ละอองเรณู น้ำหวานเพื่อใช้เลี้ยงตัวอ่อน เซลล์เรียงตัวเป็นชั้นๆ ไปตามแนวนอน ตามพื้นที่ภายในรังจะอำนวย วกวนไปมาหลายๆชั้นโดยที่ผนังเซลล์แต่ละหน่วยถูกสร้างเป็นผนังบางๆ จากชันยางไม้ผสมไขที่ชันโรงสร้างเคลือบเอาไว้ ภายในรังสามารถแยกเซลล์ออกเป็น หลอดนางพญา หลอดตัวงาน หลอดเก็บเกสร และหลอดเก็บน้ำผึ้ง




ประโยชน์




ครุหาบน้ำ ที่สานจากไม้ไผ่เอาขี้สูดทาเครือบไว้ กันน้ำรั่ว เห็นตาแถวบ้านเล่นว่าวจุฬา เอาขี้สูดติดตรงรอยต่อของสะนูว่าวปล่อยว่าวลอยลมขึ้นฟ้าเสียงสะนูดังกล้องท้องทุ่งทั้งคืน แคนที่เป็นเครื่องดนตรีดึกดำบรรพ์ของโลก ก็เอาขี้สูดติดที่เต้าแคนกับลำแคนที่ทำมาจากต้นอ้อ โหวตเครื่องเป่าก็ใช้ขี้สูดติด ระนาดเอย หน้ากลองเอย ชาวบ้านก็เอาขี้สูดติด กลิ่นของขี้สูดมักมีกลิ่นหอมแปลก ๆ ของยางไม้หรือเกสรดอกไม้




(ขอบคุณข้อมูลจากบล๊อคของอาจารย์เกียรติศักดิ์ สิทธิราช)




สรรพคุณ




รสเปรี้ยวฝาดหวาน แก้ปวดบวม บำรุงร่างกาย สมานแผล




โบราณมีความเชื่อว่าชันรงทำรังอยู่ใต้ดิน จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และมักชอบทำรังในบริเวณพื้นที่ค่อนข้างเงียบสงบ ห่างไกลจากผู้คนและสัตว์อื่นๆ เมื่อเวลามันถ่ายออกมาจะมีสีดำเหนียวมีกลิ่นหอมประหลาด ซึ่งมันก็จะนำไปสร้างรังให้กับพวกมันนั่นเอง โบราณถือกันว่าชันโรงเป็นของทนสิทธิ์ ทีอาถรรพ์ลี้ลับ อานุภาพของชันโรงใต้ดินนั้นดีทางป้องกันไฟ กันคุณไสยมนต์ดำ มหาอุดแคล้วคลาด นักไสยเวทย์นิยมนำมาอุดที่หลังเบี้ยแก้ และทำเครื่องรางต่างๆ.

ต้นรักที่ไม่ใช่ต้นรักที่เรารู้จัก ไม้พิษที่ควรระวังเวลาเดินป่า

ต้นรักหรือต้นน้ำเกลี้ยงไม้มีพิษ

ต้นรักร้อยมาลัยเป็นพุ่มเตี้ยพบขึ้นอยู่ทั่วไปตามชนบทข้างทางมีสีขาวและม่วง


ดอกรักชนิดที่ร้อยมาลัยชนิดนี้ยางคันนิดหน่อยไม่มีพิษรุนแรง


รักใหญ่หรือต้นน้ำเกลี้ยง





เปลือกต้นน้ำเกลี้ยงมีสีเทาน้ำตาล


มีอยู่๒ครั้งที่เดินป่าเต็งรังแล้วถูกเพื่อนร่วมทีมผลักออกจากไม้ต้นหนึ่ง เค้าบอกว่าเป็นต้นน้ำเกลี้ยงที่มีพิษมาก ถ้าคนแพ้จะคันจนไหม้ปวดแสบปวดร้อนทรมาน เล่นเอาตกใจเหมือนกันเพราะเป็นคนแพ้ง่ายสุด ๆ คนอีสานเรียกต้นไม้ชนิดนี้ว่าน้ำเกลี้ยงหรือต้นรัก ที่เป็นคนละต้นกับต้นรักที่เอามาร้อยมาลัย เราเคยเห็นในบางเวปไซต์ที่เขียนว่าเป็นต้นเดียวกัน ยางรักจากต้นรักร้อยมาลัยอาจจะกัดให้คันยิบ ๆ บ้าง แต่จะไม่ปวดแสบปวดร้อนไหม้พองเหมือนต้นรักใหย๋หรือน้ำเกลี้ยงนี้แน่นอน เคยเจอคนไข้ที่โดนพิษของต้นน้ำเกลี้ยงนี้ครั้งหนึ่ง เป็นตุ่มใสทั่วตัว บางที่เป็นสีน้ำตาลเหมือนไหม้ เห็นแล้วน่าสงสาร บางคนก็ว่าต้องแก้เคล็ดด้วยการเอาขี้เถาไปกองใต้ต้น แต่เค้าก็ว่าทำแล้วแต่ไม่ดีขึ้น เลยนึกห่วง ๆ ว่าพวกเราที่รักการเดินป่าก็ระวังไว้บ้าง





แต่บอกตรง ๆ ว่าไม่มั่นใจว่ารูปที่ถ่ายมาถูกต้องรึเปล่าเพราะมาใส่ชื่อทีหลัง รบกวนผู้รู้ว่าถ้าใครรู้ว่าผิดช่วยบอกหน่อยนะ ถือว่าเป็นวิทยาทาน เบอร์เรา 086-2555629 ช่วยกันเห็นคนแพ้แล้วสงสารจริง ๆ


น้ำเกี้ยง
ชื่อทั่วไป รักใหญ่
ชื่อวิทยาศาสตร์ Gluta usitata (Wall.) Ding Hou
วงศ์ Anacardiaceae
ลักษณะ
น้ำเกี้ยงเป็นไม้ยืนต้น ต้นตั้งตรง สูง 5-15 เมตร เปลือกเรียบสีน้ำตาลเทา ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบและโคนใบแหลม ผิวใบมีขนทั้งสองด้าน เป็นดอกช่อแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาว ผลเป็นผลสด รูปทรงกลม สีแดง และมีปีกที่เกิดจากส่วนของกลีบเลี้ยง สีแดง ติดอยู่จนกระทั่งเป็นผล นำเกี้ยงมีน้ำยางที่เป็นพิษรุนแรง คนที่แพ้หรือถูกไอจากต้นน้ำเกลี้ยงจะทำให้เกิดผื่นคัน ปวดแสบปวดร้อนมาก
สรรพคุณ
คนอีสานเรียกน้ำเกี้ยงว่า ไม้กินคน เพราะน้ำยางที่เป็นพิษ น้ำยางของน้ำเกลี้ยงมีประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมการลงรักปิดทอง ในทางสมุนไพรจะใช้เปลือกหรือใบผสมรากหางนกกี้ ใบหรือรากหวดข่า เปลือกต้นแจง แก่นฝาง และเครือเขาคำ ต้มนำดื่ม รักษาโรคน้ำเหลืองเสีย มีแผลเปื่อยทั้งตัวต้นน้ำเกลี้ยง หรือ ต้นรัก

กระเจี๊ยบเขียวสมุนไพรฆ่าพยาธิตัวจี๊ด

กระเจี๊ยบเขียว

พยาธิตัวจี๊ด
รูปเล็กจังแฮะ แต่ทุกคนก็รู้จักอยู่แล้วล่ะเน๊อะ





กระเจี๊ยบเขียวจะมีเหลี่ยมที่ต่างกันเริ่มจาก๕เหลี่ยมไปจนถึงเจ็ดเหลี่ยม


หลังจากเรียนจบพยาบาลชั้นต้น(พยาบาลเทคนิค)เราลงปฏิบัติงานที่สถานีอนามัยอยู่เกือบยี่สิบปี ใกล้ชิดกับโลกภัยไข้เจ็บของชาวบ้านตามชนบท อยู่กับโรคภัย ความไม่รู้และความไม่มี ทุก ๆ วัน บางครั้งเราถามตัวเองถึงโรคบางโรคที่ยาแผนปัจจุบันไม่มีตัวยาที่ใช้รักษา เช่น พยาธิตัวจี๊ด ซึ่งไม่มียาแผนปัจจุบันที่จะฆ่ามันได้ ผู้ป่วยต้องอยู่กับพยาธิตัวนี้ไปห้าสิบปีไม่รู้คนหรือพยาธิจะตายก่อน วันดีคืนดีถ้าเผลอไปกินของคาวก็เป้นเรื่อง พยาธิมันจะไต่ยุบยิบขึ้นมาใต้ผิวหนังเจ็บๆคันๆ ทรมานพอสมควร แต่ที่กลัวกันก็คือถ้าพยาธินี่มันขึ้นไปถึงอวัยวะที่สำคัญเช่น สมอง ลูกตา ก็เรื่องใหญ่ละ โชคดีที่พยาธิตัวนี้ไม่สามารถขยายพันธุ์ในตัวคนได้ เข้าไปหนึ่งตัวก็อยู่หนึ่งตัวไม่มากขึ้นไปกว่านั้น


พอเราได้มาศึกษาเรื่องสมุนไพรเราถึงได้รู้จักสมุนไพรที่ใช้จัดการกับพยาธิตัวนี้เป็นสมุนไพรบ้าน ๆ หาง่ายมีทั่วไป นั่นคือ กระเจี๊ยบเขียวหรือกระเจี๊ยบมอญ นั่นเอง วันนี้ขอสลับเขียนถึงสมุนไพรง่าย ๆ นะคะ แล้วก็อย่างเคยไม่ได้ถ่ายรูปไว้เอง ยืมรูปจากเวปไซด์คนอื่นล้วน ๆ แฮะๆ ประเทศญี่ปุ่นสั่งกระเจี๊ยบเขียวจากไทยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า ๒๐๐ ล้านบาท ต่อปี ซึ่งก็สอดคล้องกับที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่รับประทานปลาดิบเป็นอันดับหนึ่งของโลก


พยาธิตัวจี๊ด โดย : คณะกรรมการแผ่นพับเพื่อการประชาสัมพันธ์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล


สาเหตุของโรคโรคพยาธิตัวจี๊ดมีสาเหตุมาจากพยาธิตัวกลมที่มีชื่อเรียกว่า พยาธิตัวจี๊ด และมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า แนธโธสโตมา สไปนิจิรุม (Gnathostoma spinigerum) พยาธิมีรูปร่างลักษณะอย่างไรตัวแก่ของพยาธิทั้งตัวผู้และตัวเมียยาวประมาณ 1.5-3.0 ซม. มีลักษณะลำตัวกลมยาว หัวคล้ายลูกฟักทองทั้งหัวและตัวของพยาธิพวกนี้จะมีหนาม ตัวอ่อนของพยาธิในระยะติดต่อมีลักษณะคล้ายพยาธิตัวเต็มวัยแต่มีหนามน้อยกว่าและมีขนาดเล็กกว่า มักจะพบขดตัวอยู่ในถุงหุ้มซึ่งฝังตัวอยู่ในเนื้อของสัตว์พาหะ ส่วนพยาธิที่พบในคนจะเคลื่อนที่ไปเรื่อย ๆ และมีขนาดยาวประมาณ 0.4-0.9 ซม.


แหล่งระบาดของพยาธิและโรคในประเทศไทยมีสัตว์ประมาณ 44 ชนิดที่ตรวจพบว่ามีตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิตัวจี๊ดอยู่ ได้แก่ ปลาน้ำจืด เช่น ปลาช่อน ปลาไหล ปลาดุก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น กบ สัตว์เลื้อยคลาน เช่น ตะกวด สัตว์จำพวกนก รวมทั้งเป็ดและไก่ สัตว์จำพวกหนู กระแต ส่วนสัตว์ที่เป็นโรคพยาธิตัวจี๊ดมีหลายชนิด รวมทั้งสุนัขและแมวการสำรวจปลาไหลในเขตจังหวัดภาคกลาง พบว่ามีการกระจายของพยาธิตัวจี๊ดอยู่หลายจังหวัด เช่น อ่างทอง อยุธยา ราชบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ลพบุรี สระบุรี เป็นต้น อาหารที่ปรุงแบบสุก ๆ ดิบ ๆ หรืออาหารหมักที่ทำจากปลาน้ำจืด เช่น ส้มฟัก ปลาร้า ปลาเจ่า หรือเนื้อสัตว์อื่น ๆ อาจพบว่ามีตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิตัวจี๊ดอยู่เช่นกันวงจรชีวิตตัวแก่ของพยาธิทั้งตัวผู้และตัวเมียจะอาศัยอยู่ในกระเพาะอาหารของสุนัขและแมว หลังจากพยาธิผสมพันธุ์แล้ว พยาธิตัวเมียจะปล่อยไข่ออกมากับอุจจาระของสัตว์เหล่านี้ เมื่อไข่ลงน้ำจะฟักตัวออกมาเป็นตัวอ่อนระยะที่ 1 ตัวกุ้งไร (cyclops) จะกินตัวอ่อนระยะนี้และไปเจริญเป็นตัวอ่อนระยะที่ 2 เมื่อปลากินกุ้งไรที่มีพยาธิ พยาธิจะเจริญในปลาเป็นตัวอ่อนระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะติดต่อ ถ้าสุนัขหรือแมวกินปลานี้เข้าไป พยาธิก็จะไปเจริญเป็นตัวแก่ในกระเพาะอาหาร แต่ถ้าคนกินปลาซึ่งมีพยาธิระยะติดต่อเข้าไป พยาธิก็จะคืบคลานหรือไชไปตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ยังไม่มีรายงานว่าพยาธินี้เจริญเป็นตัวแก่จนสามารถออกไข่ได้ในคนการติดต่อโรคที่เกิดจากพยาธิตัวจี๊ดนี้ สามารถติดต่อไปในคนทุกเพศทุกวัย โดยการกินตัวอ่อนระยะติดต่อที่ปะปนอยู่ในเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุกโดยเฉพาะปลาน้ำจืด หรืออาจติดต่อ จากมารดาสู่ทารกในครรภ์โดยไชผ่านทางรก นอกจากนี้พยาธิยังสามารถไชเข้าทางผิวหนังบริเวณที่เป็นแผล โดยเฉพาะในคนบางกลุ่มที่ใช้เนื้อสัตว์สด ๆ เช่น กบ ปลา พอกแผล เพื่อทำให้หายเร็วขึ้น


อาการที่พบบ่อยที่สุดคือ อาการที่เกิดจากพยาธิไชอยู่ใต้ผิวหนัง ตามลำตัว แขน ขา และบริเวณใบหาน้า ทำให้บวมแดงบริเวณนั้น หรือเห็นเป็นรอยทางแดง ๆ ตามแนวที่พยาธิไชผ่านไป อาการบวมแดงนี้ จะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์แล้วจะหายไปเองแม้ไม่ได้รับการรักษาหลังจากนั้นอาจจะบวมขึ้นมาใหม่ในบริเวณอื่นใกล้ ๆ กัน แถบเดียวกันบางครั้งทำให้เกิดเป็นก้อนคล้ายเนื้องอกตามอวัยวะต่าง ๆ นอกจากที่ผิวหนังแล้ว พยาธิอาจไชไปอวัยวะที่สำคัญอื่น ๆ เช่น ตา ปอด กระเพาะปัสสาวะ โดยเฉพาะถ้าไปที่สมองจะทำให้เกิดอาการปวดศรีษะอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง ปวดตามเส้นประสาทได้


การวินิจฉัยการจะบอกว่าเป็นโรคพยาธิตัวจี๊ดแน่นอน ต้องตรวจพบตัวพยาธิ ซึ่งอาจจะไชออกมาทางผิวหนังเอง แต่โดยทั่วไปมักไม่พบพยาธิแม้จะผ่าเข้าไปในบริเวณที่บวม ดังนั้นการที่จะบอกว่าเป็นโรคนี้ จึงมักดูจากอาการของโรคว่ามีอาการเจ็บ ปวด บวมเคลื่อนที่ได้ และมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรือไม่ และเจาะเลือดหรือน้ำไขสันหลังเพื่อตรวจด้วยวิธีทางอิมมิวโนวินิจฉัย


การรักษาโดยทั่วไปจะรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดบวม ยาแก้แพ้แก้คัน เป็นต้น ยารักษาโรคพยาธิชนิดที่ให้ผลเป็นที่พอใจ คือ อัลเบนดาโซน ขนาด 400-800 มิลลิกรัม วันละ ครั้งหรือ 2 ครั้งเป็นเวลา 21 วันติดต่อกันการป้องกันไม่รับประทานเนื้อสัตว์สุก ๆ ดิบ ๆ เช่น อาหารประเท ยำ ลาบ หมก พล่า รวมทั้งปลาร้า ปลาเจ่า ส้มฟัก ไม่ใช้เนื้อสด โดยเฉพาะเนื้อกบ ปลา พอกบริเวณบาดแผล
กระเจี๊ยบเขียว (Abelmochus esculentus L Moench)
รู้จักกันดีในหลายชื่อ เช่น Okra Gumbo, Lady's Finger, Quimbamto(แอฟริกา) ในประเทศไทยเรียกชื่อกระเจี๊ยบเขียวแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น กระต้าด มะเขือมอญ มะเขือมื่น ถั่วแระ เป็นต้น
คุณค่าทางโภชนาการ
ฝักกระเจี๊ยบเขียวให้คุณค่าทางอาหารสูง มีรายงานว่าในส่วนที่รับประทานได้ 100 กรัม มี แคลเซียม 72.7 มิลลิกรัม เหล็ก 0.8 มิลลิกรัม วิตามินเอ 79.8 ยูนิต วิตามินบี 0.5 มิลลิกรัม วิตามินซี 39.7 มิลลิกรัม น้ำมัน 14% โปรตีน 20%

ชื่ออื่น กระเจี๊ยบ มะเขือควาย มะเขือมอญ(กลาง) มะเขือพม่า มะเขือมื่น มะเขือมอญมะเขือละโว้ (เหนือ) กระเจี๊ยบเขียว

ลักษณะทั่วไป ของ กระเจี๊ยบมอญ () กระเจี๊ยบเขียว ไม้ล้มลุกสูง 1-2 เมตร ลำต้นและใบมีขนหยาบลำต้นมีสีเขียวกลม เส้นผ่าศูนย์กล่างเฉลี่ย 1-3 เซนติเมตร ใบ เป็นใบเดี่ยวรูปมือ เป็นแฉกลึกกว้าง 7 - 26 เซนติเมตร ยาว 10-30 เซนติเมตร ดอก ออกตามซอกใบ กลีบดอกสีเหลือง โคนกลีบด้านในสีม่วงแดง ก้านชู อับเติดกันเป็นหลอด เป็นพืชผสมตัวเอง มีทั้งเกษรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน ผล เป็นผลแคปซูล ผลของ กระเจี๊ยบมอญ ()มีรูปร่างเรียวยาวเป็นเหลี่ยม 5 เหลี่ยม ผลตั้งชูขึ้นมีสีเขียวอ่อน หรือเขียวแก่ ขึ้นอยู่กับพันธุ์ เมล็ด สีดำ จำนวน 200 เมล็ด หนักประมาณ 10 กรัม


สรรพคุณ


ผล รสหวานเย็น แก้แผลในกระเพาะอาหาร ฆ่าพยาธิตัวจี๊ด ฆ่าพยาธิไส้เดือน ลดน้ำตาลในเลือด ลดคอเลสเตอรอล มีสารเพคตินและเมือกเมือกช่วยเคลือบกระเพาะอาหาร แก้โรคแผลในกระเพาะอาหาร ใช้ผลแก่บดเป็นผงผสมน้ำดื่ม ในอินเดียใช้เป็นยาแก้บิด ไอ หวัด ขัดเบา หนองใน ในมาเลเซียใช้รากแช่น้ำรักษาโรคซิฟิลิส ดอก ใช้ตำพอกฝี
โดยฝักกระเจี๊ยบเขียวมีสารประกอบจำพวกกัม และเพคตินในปริมาณสูง ทำให้มีลักษณะเป็นเมือกเมื่อต้มสุก มีรายงานว่า เมือกกระเจี๊ยบเขียวมีคุณสมบัติช่วยป้องกันอาการหลอดเลือดตีบตัน สามารถรักษาโรคความดันโลหิตสูง บำรุงสมอง ลดอาการโรคกระเพาะอาหาร และยังมีสารขับพยาธิตัวจี๊ด มีสรรพคุณในการกัดเสมหะ แก้ไอ โดยทั่วไป เมือก คือ สารที่พืชสร้างขึ้นตามธรรมชาติ จัดเป็นกัมชนิดหนึ่ง ไม่ละลายน้ำ แต่สามารถพองตัวได้ในน้ำ ให้สารละลายที่มีลักษณะเหนียวข้น แต่ไม่มีคุณสมบัติเป็นกาว เมือกเป็นกากใยอาหารประเภท soluble dietary fiber ( เส้นใยอาหารชนิดที่ละลายในน้ำได้ (Soluble Fiber) คือ เส้นใยอาหารส่วนที่มีคุณสมบัติในการละลายน้ำได้และสามารถดูดซับสารที่ละลายในน้ำไว้กับตัว เช่น น้ำตาลกลูโคส ฯลฯ)ที่ให้คุณประโยชน์ในการช่วยขับถ่าย.

วิธีใช้ฆ่าพยาธิตัวจี๊ด ใช้ครั้งละ ๗ ฝักนึ่งกินกับอาหารตามปกติ ติดต่อกันอย่างน้อย ๗ วัน

อีกหนึ่งสูตรที่ใช้รักษาพยาธิตัวจี๊ด ใช้ใบทองหลางใบมน กินเป็นผักเมี่ยง กับเมี่ยงปลาทูก็ได้ ติดต่อกัน สามวัน แก้พยาธิตัวจี๊ด

วันจันทร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2553

ตองแตกสมุนไพรที่ช่วยให้ขี้แตก

ตองแตกใบแก่ของตองแตก บางใบเป็นแฉก บงใบไม่มีแฉก บางใบมีแฉกข้างเดียว

ลูกของตองแตกแตกไปแล้วน่าเสียดาย มัวแต่ผลัดวันประกันพรุ่งจนลืม


ดอกตองแตกออกตามซอกใบสีขาวกะจิริดน่ารักดี
ไม้ต้นนี้มีเอกลักษณ์ ในต้นเดียวกันมีทั้งใบแฉกและไม่แฉก สองแฉกและสามแฉก แล้วแต่ความพอใจของเค้า อ.วุฒิ วุฒิธรรมเวชเคยพูดติดตลกว่าอย่าว่าแต่กินเลยแค่เดินผ่านต้นก็ขี้แตกแล้ว อะไรจะขนาดนั้น แต่ตอนฉันถ่ายรูปเสร็จก็ต้องรีบเข้าส้วมทันทีเหมือนกัน อุปทานน่า



ตองแตก




ชื่อวิทยาศาสตร์ : Baliospermum montanum Muell.A ชื่อพ้อง : Baliospermum solanifolium (Burm.) Suresh
ชื่อสามัญ :
วงศ์ : EUPHORBIACEAE
ชื่ออื่น : ตองแต่ (ประจวบคีรีขันธ์) ถ่อนดี ทนดี (ภาคกลาง, ตรัง) โทะโคละ พอบอเจ๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) นองป้อง ลองปอม (เลย)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 1-2 เมตร แตกแขนงจากโคนต้น ก้านใบเรียวยาว ยาว 2-6 ซม. ยอดอ่อนมีขน ใบ เดี่ยวเรียงสลับ มีขนาดและรูปร่างต่างๆ กัน ใบที่อยู่ตามปลายยอดรูปใบหอกหรือรูปรี กว้างประมาณ 3.5 ซม. ยาวประมาณ 7 ซม. ใบที่ตามโคนต้นมักจักเป็นพู 3-5 พู รูปขอบขนานแกมรูปไข่ หรือเกือบกลม กว้างประมาณ 7.5 ซม. ยาว 15-18 ซม. โคนสอบหรือมน มีต่อม 2 ต่อม ปลายแหลม ขอบหยักแบบฟันเลื่อยห่างๆ ไม่สม่ำเสมอ มีเส้นใบออกจากโคนใบ 3-5 เส้น และออกสองข้างของเส้นกลางใบ ข้างละ 5-8 เส้น เส้นใบด้านล่างเห็นชัดกว่าด้านบน เนื้อบาง ดอก ออกเป็นช่อตามง่ามใบ ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่บนต้นเดียวกัน หรือบนช่อเดียวกัน ช่อดอกเล็กเรียว ยาว 3.5-12 ซม. ดอกเพศผู้ มีจำนวนมาก อยู่ทางตอนบนของช่อ ดอกมีรูปร่างกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 มม. ก้านดอกย่อยเล็กเรียวคล้ายเส้นด้าย ยาว 3-5 มม. กลีบเลี้ยงมี 4-5 กลีบ รูปกลม ไม่มีกลีบดอก ฐานดอกมีต่อม 4-6 ต่อม เกสรเพศผู้มี 15-20 อัน อับเรณูคล้ายรูปถั่ว ดอกเพศเมียออกที่โคนช่อ กลีบเลี้ยงรูปไข่ปลายแหลม ขอบจัก ฐานดอกเป็นรูปถ้วยสั้นๆ รังไข่มี 3 พู ก้านเกสรเพศเมียแยกเป็น 2 แฉก ม้วนออก ผล เป็น 3 พู กว้างประมาณ 1 ซม. ยาว 0.8 ซม. ปลายบุ๋ม มีก้านเกสรเพศเมียติดอยู่ 2 อัน โคนผลกลม มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ ผลแก่แตกตามยาวที่กลางพู แต่ละพูมี 1 เมล็ด เมล็ด รูปขอบขนาน ตองแตก ขึ้นในป่าดิบ ป่าไผ่ และตามที่รกร้างทั่วไป ถึงระดับความสูง 700 เมตร เขตกระจายพันธ์ ตั้งแต่อินเดีย (พบไม้ต้นแบบ) ปากีสถาน บังคลาเทศ ลงมาถึงพม่า อินโดจีน คาบสมุทรมาเลเซียส่วนที่ใช้ : ราก ใบ เมล็ด
สรรพคุณ :
ราก - เป็นยาถ่าย ถ่ายไม่ร้ายแรงนัก ถ่ายลมเป็นพิษ ถ่ายพิษพรรดึก ถ่ายเสมหะเป็นพิษ (และมีคุณคล้ายหัวดองดึง) ถ่ายแก้น้ำดีซ่าน
ใบ, เมล็ด - เป็นยาถ่าย ยาถ่ายพยาธิ แก้ฟกบวม
เมล็ด - เป็นยาถ่ายแรงมาก (ไม่นิยมใช้)
วิธีใช้และปริมาณที่ใช้ : ใช้ใบ 2-4 ใบ หรือ ราก 1 หยิบมือ ยาไทยนิยมใช้ราก 1 หยิบมือ ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว เติมเกลือเล็กน้อยรับประทาน