วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

แสยก สมุนไพรที่จระเข้กลัว

โดย ปุณณภา  งานสำเร็จ
ศูนย์ศึกษารวบรวมพันธุ์พืชสมุนไพรและภูมิปัญญาไทย  จังหวัดนครราชสีมา




ลักษณะใบของต้นมหาประสานที่พ่อหมอบอกว่าต้นนี้เท่านั้นที่ประสานเนื้อเยื่อ
แสยก ( อ่านว่า สะ แหยก )
เคยรู้ว่าแสยกมีสรรพคุณช่วยสมานเนื้อเยื่อรักษาแผลและไล่จระเข้มานานแล้ว  มีคนเคยบอกว่าจระเข้แพ้ทางพืชตัวนี้  แต่ไม่มั่นใจเท่าไหร่เพราะเกิดไม่ทัน อีกอย่างพ่อหมอบางท่านเรียกต้นมหาประสาน  แต่ยืนยันว่ามีลักษณะเดียว  ทำให้ลังเล เพราะเท่าที่รู้ต้นแสยกมีหลายชนิดมาก  วันนี้อ่านเจอเวปblog.taradkaset.com  เค้าพูดถึงแสยกเอาไว้  อย่ากระนั้นเลยลอกมาทั้งดุ้นตั้งแต่เรื่องยันรูปภาพ  ผิดถูกอย่างไรไปว่ากันเอาเอง  ก่อนหน้าน้ำหลากปีนี้  หามาปลูกเตรียมๆไว้สักกอ  น้ำน่ะไม่เท่าไหร่แต่จระเข้ที่หลุดมาพร้อมกับน้ำนี่ซิ  ลองดูเน๊าะ  เผื่อจะได้ผล  นอกจากนี้แสยกทำเป็นน้ำหมักใช้แก้ปัญหาเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังได้ด้วย
การใช้ “แสยก” ป้องกันกำจัด หนอนกระทู้ หนอนใยผัก หนอนผีเสื้อและแมลงในโรงเก็บน้ำ ยางสีขาวและเมล็ดของแสยกจะออกฤทธิ์เป็นพิษต่อแมลงศัตรูพืชหลายชนิด โดยจะมี ฤทธิ์ทำให้เยื่อบุผนังกระเพาะอาหารและลำไส้ของแมลงอักเสบ ช่วยยับยั้งการ เข้ามาวางไข่ของด้วงถั่วเขียวในโรงเก็บและการฟักไข่ของด้วงทั่วไปได้ด้วย

ชื่อ : แสยก
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pedilanthus tithymaloides (L.) Poit.
ชื่อสามัญ : Redbird Cactus, Slipper-Flower, Jew-Bush
ชื่ออื่น : แสยกสามสี (ภาคกลาง); ว่านสลี (แม่ฮ่องสอน); ย่าง; มหาประสาน; นางกวัก; ตาสี่กะมอ (กระเหรี่ยง – แม่ฮ่องสอน); เคียะไก่ไห้ (ภาคเหนือ); กะแหยก;
วงศ์ : EUPHORBIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

ไม้พุ่ม ขนาดเล็ก ผลัดใบ แตกกิ่งก้านเป็นกอแน่น สูง 1-3 ม. ลำต้นอวบน้ำ หักงอไปมา รูปซิกแซก สีเขียว ผิวเรียบ มียางสีขาวข้น ใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับในแนวระนาบ รูปไข่กว้าง 2.5-5 เซนติเมตร ยาว 3.5-7 เซนติเมตร โคนใบกลม มน หรือแหลม ปลายใบมนหรือแหลม ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเส้นใบเห็นไม่ชัด เนื้อใบหนาด้านล่างมีขนอ่อน ก้านใบยาว 2-7 มิลลิเมตร หูใบเป็นตุ่มกลม 2 ตุ่มอยู่ข้างโคน ก้านใบ ร่วงง่าย ต้นจะสลัดใบทิ้งหมดหรือเกือบหมดก่อนออกดอก

ดอก สีแดงออกเป็นช่อตามลำต้น ที่ยอดและปลายกิ่งแขนงสั้นๆ ใกล้ปลายยอด ดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ก้านช่อยาว 3-20 มิลลิเมตร ช่อดอกยาว 1-2.5 เซนติเมตร ใบประดับด้านนอกมีขนสั้นปกคลุมหนาแน่น ก้านดอกไม่มีขน ดอกลักษณะคล้ายรองเท้า หรือ เรือมี 5 กลีบ เรียงเป็น 2 ชั้น ชั้นในมี 3 กลีบ สั้นและแคบกว่าชั้นนอก มีขนละเอียด ที่ฐานด้านนอกมีต่อมน้ำหวานรูปกระทะคว่ำ 1 ต่อม ด้านในมีต่อม 2-4 ต่อม เรียงเป็นคู่ ที่ปลายมีแถบยาวหนึ่งแถบ อยู่ตรงช่องระหว่างกลีบใหญ่ชั้นนอกสองกลีบ ผล เป็นชนิดแห้งแล้วแตก

แหล่งที่พบ : ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป นิยมปลูกตามแนวรั้วขึ้นง่ายและทนแล้งได้ดี
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : น้ำยางจากต้น
การขยายพันธุ์ : ด้วยการปักชำต้น

สารออกฤทธิ์ที่พบ : Chemiebase

สรรพคุณทางยาสมุนไพร :
ใช้น้ำยางจากต้นกัดหูด โดยการนำน้ำยางสีขาวไปทาโดยตรงบนหัวหูด ทาบ่อยๆ หูดจะค่อยๆ หายไปได้เอง
** ในสมัยก่อน ชาวบ้านตามชนบทนิยมเอาต้นแสยกแบบสดทั้งต้นกะจำนวนตามต้องการ ทุบพอแตกไปแช่น้ำตามหนองบึง หรือบ่อที่มีปลาอาศัยอยู่ ประมาณครึ่งชั่วโมง ถ้าบ่อหรือหนองไม่กว้างนัก ปลาที่อยู่ในน้ำจะเกิดอาการเมาหรือตาย สามารถจับหรือช้อนขึ้นมาได้อย่างสบาย มีฤทธิ์เหมือนกับต้นหาง-ไหล หรือต้นโล่ติ้นของชาวจีน ยางของแสยกมีพิษแรงมาก ขนาดนำเอาทั้งต้นทุบพอแตก ใส่ลงในวังน้ำหรือลำธารที่มีจระเข้ อาศัยอยู่ มันจะหนีไปที่อื่นจนหมด เหลือ เชื่อมาก แพทย์ตามชนบทนิยมเอาใบและยอดของแสยกโขลกละเอียดพอกแผลสด เป็นยาประสานเนื้อดียิ่งนัก มีชื่อเรียก ในประเทศไทยอีกคือ มหาประสาน (ปราณบุรี) (ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ ,นายเกษตร )

การนำไปใช้ทางการเกษตร :
วิธีที่1 ใช้ลำต้นของแสยกประมาณ 1 กิโลกรัม นำมาบดหรือทุบให้พอแตก จากนั้นนำไปแช่ในน้ำ 1 ปี๊บ ทิ้งไว้นาน 1 คืน จากนั้นกรองเอาแต่น้ำหมักที่ได้ ไปฉีดพ่นในแปลงพืชผัก จะช่วยป้องกันและกำจัดหนอนกระทู้และหนอนใยผักได้ดี
วิธีที่ 2 ใช้ส่วนของลำต้นแสยกจำนวน 2 ขีด ทุบหรือตำให้ละเอียด แล้วนำไปคลุกเคล้าให้เข้ากับเมล็ดถั่วเขียว จำนวน 1 กิโลกรัม จะสามารถยับยั้งการวางไข่และการฝักตัวของด้วงถั่วเขียวได้
ที่มา  blog.taradkaset.com
bangpahan.ayutthaya.doae.go.th
nanagarden.com
saiyathai.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น