วันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ไส้ตัน ไม้บ้านๆที่เริ่มหายาก ไม้มากสรรพคุณ

โดย ปุณณภา  งานสำเร็จ
ศูนย์ศึกษารวบรวมพันธุ์พืชสมุนไพรและภูมิปัญญาไทย  จังหวัดนครราชสีมา


รู้จักไส้ตันครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีมาแล้วตอนพาอสม.ชัยภูมิไปอยรมแพทย์แผนไทยที่สระบุรี หมอพื้นบ้านที่สระบุรีได้พูดถึงไส้ต้นว่าทั้งต้นใช้ต้มกินแก้มะเร็ง  ตอนนั้นพึ่งรู้จักต้นไม้ไม่กี่ชนิดทำให้ทึ่งมาก  เพราะทางอีสานมีไม้นี้ขึ้นอยู่ทั่วๆไป เป็นไม้ที่มีเอกลักษณืจำง่ายเพราะยอดมีสีแดง  และใบเรียวๆเป็นคลื่นๆเห็นปุ๊บก็รู้ว่าไส้ตันแน่  คนอีสานกินยอดอ่อนเป็นผักสดกับน้ำพริกกินเป็นผักเมี่ยง  รสมันปนฝาดนิดๆ ลำตันทำเป็นหลอดด้ายปั่นฝ้ายและหลอดเส้นไหมเวลาย้อมสี  เค้าเป็นไม้มากประโยชน์ขึ้นอยู่ทั่วไป เจียมเนื้อเจียมตัวดี
ชื่อเป็นทางการของเค้าคือโมกเครือ


โมกเครือ
ชื่ออื่น ทางภาคเหนือจะเรียกว่า โมกเครือ ไส้ไก่ เดื่อเครือ เดื่อดิน เดื่อเครือ เดื่อเถา เดื่อไม้ ส่วนที่กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอนเรียกว่า ตะซือบลาโก๊ะ หนองคายเรียก เครือไส้ตัน ที่ประจวบคีรีขันธ์จะเรียกว่า เดือยดิน ที่กระบี่เรียก เดือยดิบ ส่วนภาคกลางเรียก พิษ ที่ราชบุรีและภาคเหนือเรียก มะเดื่อดิน มะเดื่อเถา ที่สุราษฏร์ธานีจะเรียก ย่านเดือยบิด และที่นครราชสีมาเรียก ไส้ตัน
ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า อะกานอสมา มาร์จินาตา (Aganosma marginata G. Don )
ในวงศ์ อะโปไซนาซีอี้ (APOCYNACEAE)

ไส้ตันมีลำต้นเป็นเถาไม้เลื้อยพันต้นไม้อื่น ไม่มีมือเกาะ ลำต้นมีความสูงต้นประมาณ 4- 10 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางลำต้น 7.4 – 11.8 มิลลิเมตร เปลือกต้น เรียบมีสีน้ำตาลแดง-น้ำตาลเข้ม มีตุ่มสีขาวตามลำต้น มีน้ำยางสีขาวข้น ใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงตรงกันข้าม มี 8 – 13 คู่ รูปใบรียาว ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนเว้าเล็กน้อย รูปร่างใบขอบขนานกว้าง 4.0 – 5.2 เซนติเมตร ยาว 8.2 – 12.1 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ (entire)ใบเป็นมัน หน้าใบหลังใบไม่มีขน ยอดอ่อนสีน้ำตาลแดง ใบแก่สีเขียวเข้ม ก้านใบยาว 0.4 – 0.6 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นคลื่นสีเขียวเข้มเป็นมันวาว ดอก ออกดอกที่ยอดหรือปลาย ช่อดอกมี 4 – 5 ดอก ยาว 6.0 – 6.5 เซ็นติเมตร กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย สีขาว ออกดอกช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ใน 1 ดอก มี 5 กลีบ ดอกมีกลิ่นหอม ผล เป็นฝักคู่เรียวยาวผิวเรียบ มีสีเขียว พอผลแก่แห้งเป็นสีน้ำตาล และแตกอ้าออกเห็นเมล็ดข้างใน เมล็ด เป็นสีน้ำตาลมีขนสีขาวติดอยู่

ขยายพันธุ์โดยใช้ราก กิ่ง ปักชำ

การใช้ประโยชน์ไส้ตันในด้านอาหาร ใบนำมาใส่ในแกงอ่อม ยอดอ่อน ใบสด ใช้ปรุงอาหาร ใช้จิ้มน้ำพริก หรือกินกับเมี่ยง

สำหรับคุณค่าทางอาหารในไส้ตัน 100 กรัม จะมีโปรตีน 9.53 เปอร์เซ็นต์ ไขมัน 3.85 เปอร์เซ็นต์ เถ้า 9.11 เปอร์เซ็นต์ เยื่อใยส่วน ADF 31.2 เปอร์เซ็นต์ NDF 32.8 เปอร์เซ็นต์ NFE 65.14 เปอร์เซ็นต์ ลิกนิน 9.3 เปอร์เซ็นต์

การใช้ประโยชน์ไส้ตันในด้านสมุนไพร
ยอดไส้ตันใช้แก้ท้องเสีย
ต้น ในตำรายาไทยเนื่องจากต้นมีรสเฝื่อน ฝาด จึงนำมาเข้ายารักษาประดง (อาการปวดผิวหนังมีผื่นคัน คล้ายผด คันมากมักมีไข้ร่วม) แก้พิษฝีภายใน
ในตำรายาพื้นบ้าน ใช้ต้นผสมกับผลมะตูมอ่อน เถาสิงโตทั้งต้น และว่านมหากาฬทั้งต้น ต้มน้ำดื่ม รักษาเบาหวาน
รากบำรุงกำลังช่วงฟื้นไข้ แก้ไตพิการ (ปัสสาวะขุ่นข้น สีเหลืองหรือแดง มีอาการแน่นท้องกินอาหารไม่ได้) และตับพิการ บำรุงและขับฤดู หรือผสมแก่นลั่นทมต้มน้ำดื่มเป็นยาระบาย
ใบแก้เมื่อยขบ เข้ายาทารักษาฝีและ ริดสีดวงทวาร

(วงศ์สถิตย์และคณะ, 2543)
ประโยชน์ของโมกเครือ
ยอดอ่อนนำมากินเป็นผัก หรือกินกับเมี่ยงทางภาคอีสาน คนสมัยก่อนนำลำต้นหรือเครือ มาทำหลอดด้าย
หมอพื้นบ้านสระบุรีใช้ทั้งต้นต้มกินรักษามะเร็ง
ไม้ต้นนี้ พบขึ้นตามป่าธรรมชาติทุกภาคของประเทศไทย แต่ในปัจจุบันตามป่าธรรมชาติพบน้อยมาก จึงถูกจัดให้เป็นไม้หายากสายพันธุ์หนึ่ง


ปุณณภา   งานสำเร็จ  เรื่อง

ลักษณะของต้นไส้ตันจะแตกเป็นกอรอเลื้อย  ดูสวยด้วยยอดสีแดงและใบเป็นคลื่น รูปนี้ยืมเค้ามาสัญญาว่าจะไปถ่ายเองเร็วๆนี้

ยอดไส้ตันสีแดงชัดเห็นแต่ไกล  ใบเค้าจะเป็นลอนๆทั้งใบ  ขอบคุณภาพจากBlog สายธาร/รัณณา
อีกชื่อหนึ่งของไส้ตันคือโมกเครือ เอามาบูมในตลาดเป็นไม้ดอกหอม
 สารภาพตามตรงว่าไม่เคยเห็นดอกเค้าเลย  ทั้งที่เห็นต้นบ่อย  ดูเค้าซิ  สวยงามอลังการขนาดไหน  เห็นแล้วใจจะขาด  ขอบคุณภาพจากwww.magnoliathailand.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น