วันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2552

กวาวเครือแดงกับความพยายามที่จะอยู่รอดในธรรมชาติ

กวาวเครือแดง







กวาวเครือแดงมักขึ้นเดียว ๆ เป็นเถามองเห็นชัดเจนแต่ไกลเลื้อยพาดพันต้นไม้ใหญ่อยู่บริเวณนี้อยู่ในเขตอำเภอปากช่อง







ลักษณะใบเป็นใบประกอบสามใบแบบพืชตระกูลถั่ว ใบมีขนาดใหญ่มาก

หัวกวาวเครือแดงจะชอนไชลึกเข้าไปในซอกหินเป็นการป้องกันตัวตามธรรมชาติ









เมื่อปาดดูที่ผิวเปลือกต้นและเปลือกรากจะมีน้ำยางสีแดงซึมออกมาคล้ายเลือด







ต้นนี้มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเจอ พบโดยบังเอิญเพราะพ่อหมอพาหลงทางบริเวณเขาหินปูนเขตอำเภอวังน้ำเขียว
กวาวเครือแดง Butea superba Roxb.
วงศ์ Leguminosae
กวาวเครือแดงเป็นพืชตระกูลถั่วชอบขึ้นเป็นต้นโดดตามเขาหินปูนต้นใหญ่ในธรรมชาติจะเลื้อยขึ้นไปพาดพันไม้อื่นมองเห็นแต่ไกล เป็นพืชที่ถูกรุกรานจนต้องประกาศเป็นสมุนไพรควบคุมในปี ๒๕๔๙ เพราะต่างชาติให้ความสนใจสั่งซื้อไปเป็นจำนวนมาก มีการลักลอบขุดจนลดน้อยลงอย่างรวดเร็วในธรรมชาติแต่มีการนำไปใช้กันอย่างผิด ๆ และเกินความจำเป็นจนอาจเกิดอันตรายแก่ร่างกายได้ มีโอกาสเห็นต้นกวาวเครือแดงครั้งแรกในเขาหินปูนเขตอำเภอปากช่องทำให้ทราบว่าโชคดีที่ภูมิปัญญาพื้นบ้านของคนอีสานไม่ใช้พืชชนิดนี้และข่าวคราวการซื้อขายด้วยราคาแพง ๆ ยังเข้ามาไม่ถึง จึงยังพอมีหลงเหลืออยู่บ้างและโดยธรรมชาติกวาวเครือแดงจะฝังรากลึกชอนไชลงไปในแผ่นหินขนาดใหญ่ที่อยู่ในธรรมชาติ กระนั้นก็ยังไม่พ้นเงื้อมมือมนุษย์ในเขตอำเภอวังน้ำเขียวมีการลักลอบขุดขายนายทุนจนปริมาณที่มีอยู่ในป่าลดลงไปอย่างรวดเร็ว
สรรพคุณ
เป็นยาอายุวัฒนะสำหรับผู้สูงอายุใช้ได้ทั้งหญิงและชาย (คนหนุ่มสาวห้ามรับประทาน)ทำให้กระชุ่มกระชวย
ทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่นกลับเต่งตึงมีน้ำมีนวล
จะเห็นได้ว่ามีข้อห้ามไม่ให้ใช้ในคนวัยหนุ่มสาวและขนาดที่ใช้ก็เป็นปริมาณที่น้อยมากคือกวาวเครือแดงให้รับประทานวันละ ๒ ใน ๓ ส่วนของเม็ดพริกไทย
น่าเป็นห่วงว่าวงการธุรกิจทุกวันนี้หยิบจับเอามาใช้โดยไม่สนใจจะทำตามภูมิปัญญาโบราณทำให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายตามที่เห็นเป้นข่าวกันอยู่เสมอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น