วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2554

มะกอกเหลื่อม ผลไม้ที่น่ามีการนำไปพัฒนาสู่อุตสาหกรรม

โดย ปุณณภา  งานสำเร็จ
ศูนย์ศึกษารวบรวมพันธุ์พืชสมุนไพรและภูมิปัญญาไทย  จังหวัดนครราชสีมา




ต้นมะเหลื่อม ชายป่า ดูสง่างาม
ความสง่าแต่สงบของธรรมชาติ สอนบางสิ่งบางอย่างให้กับเรา คำตอบล้วนมีอยู่มากมาย แค่ทำใจให้เป็นหนึ่งเดียว

เก็บมาบ้าน ถ่ายภาพเค้าไว้กันลืม

ลูกดก แต่อยู่สูง กระนั้นก็ไม่เกินความพยายามของคนอยากกิน

หลายครั้งที่ตกใจตื่นขึ้นมากลางดึกด้วยความหวาดกลัว แล้วถามตัวเองว่าเกิดมาทำไม มันทุกข์นัก เกิดมาแล้วก็ต้องตาย ความตาย ความพลัดพรากช่างน่ากลัวเหลือเกิน ชีวิตมีแต่เรื่องทุกข์ทรมาน แล้วเกิดมาทำไม ทุกวันนี้พอจะรู้คำตอบบ้างแต่ไม่มากนัก ด้วยด้อยปัญญา แต่กลับคิดว่าความตายไม่น่ากลัว การยังมีชีวิตอยู่ซิน่ากลัว เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าวันนี้ วินาทีนี้จะเจอกับอะไรบ้าง ชีวิตมนุษย์ที่เวียนว่ายตายเกิดมิสิ้นจึงจำเป็นต้องหาเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจไว้ ไม่ให้ขวัญเสีย เมื่อประสบเหตุอันน่ากลัว หรือไม่พึงประสงค์ เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจนั่นก็คือพระรัตนตรัย

พระรัตนตรัยเป็นสรณะอันเกษม เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดของสรรพสัตว์ทั้งหลาย มีอานุภาพเป็นอจินไตย ยิ่งใหญ่ไม่มีประมาณ เกินกว่าที่ผู้ใดจะคาดคะเนเอาได้ ผู้ที่ได้เข้าถึงพระรัตนตรัย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระรัตนตรัย จึงจะซาบซึ้งในพระคุณอันไม่มีประมาณ เมื่อมีทุกข์จะช่วยขจัดปัดเป่าให้พ้นทุกข์ มีสุขแล้วก็ทำให้สุขยิ่งๆ ขึ้นไป ชีวิตของเราจะได้รับการคุ้มครองดูแล ทำให้ปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง ผู้รู้ทั้งหลายจึงยึดพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกสูงสุดในชีวิต การทำสมาธิภาวนา ฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง เป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่จะทำให้เราเข้าไปพบพระรัตนตรัยภายในได้
มีวาระพระบาลี ที่พระสิริมัณฑเถระได้กล่าวไว้ในขุททกนิกาย เถรคาถาว่า
“ อโมฆํ ทิสฺวา กยิรา อปฺเปน พหุเกน วา
ยํ ยํ วิวหเต รตฺติ ตทูนนฺตสฺส ชีวิตํ
ควรทำวันคืนไม่ให้เปล่าจากประโยชน์ ไม่ว่าจะน้อยหรือมากก็ตาม เพราะวันคืนผ่านบุคคลใดไป ชีวิตของบุคคลนั้น ย่อมพร่องจากประโยชน์นั้น”

ในเริ่มต้นของการหาที่ยึดเหนี่ยวก็เมื่อจิตใจเป็นทุกข์อย่างที่สุด มองไปทางใดไม่เห็นทางออก จ่อมจมถมเศร้าสิ้นหวัง เมื่อนั้นแหล่ะ เราจะเจอกับพระรัตนตรัย และเมื่อความทุกข์เบาบางเลือนหายไป ยิ่งต้องเร่งปฏิบัติภาวนา เพื่อการไม่ประมาท เพราะคลื่นลูกใหม่กำลังก่อตัวมามิมีที่สิ้นสุด ในห้วงมหรรณพ

เดินหลุดจากป่าออกมาระหว่างรอให้ทุกคนออกมากันให้ครบ โดยนิสัยของคนเดินป่า ต่างพากันหาอะไรทำ อะไรกินเล่น เย็น ๆ ใจ เจอต้นมะเหลื่อม อลังการ ต้นนี้ ลูกดก มากมาย ทั้งกินทั้งเก็บก็ไม่หมด ถือเป็นความเมตตาของธรรมชาติ รสชุ่มคอดี แต่กัดกินได้ทีละน้อยด้วยไม่คุ้นลิ้นนัก เห็นว่าคนจีนเอามาทำเป็นสมอดองขายเรา ก็ผลไม้ชนิดนี้ล่ะ ทำให้นึกถึงตอนเด็ก ๆ ที่เคยซื้อกิน ห่อละสลึง ห้าสิบ พึ่งเห็นต้นจริง ๆ ของเค้านี่เอง

มะกอกเกลื้อน
ชื่ออื่น มะเกิ้ม กอกกัน มะกอกเลือด มะเลื่อม มักเหลี่ยม โมกเหลี่ยม มะเหลี่ยมหิน
ชื่อวิทยาศาสตร์ Canarium subulatum Guill
ชื่อวงศ์ BURSERACEAE
ลักษณะทั่วไป ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ สูง ๑๐ - ๒๕ เมตร ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อย ๓ – ๙ ใบ ใบรูปไข่ แกม รูปรี กว้าง ๓ - ๙ เซนติเมตร ยาว ๖ - ๑๔ เซนติเมตร โคนใบเบี้ยว ท้องใบมีขน ดอกช่อออกที่ซอกใบ ดอกย่อยขนาดเล็กสีขาวอมเหลืองจำนวนมาก ผลสดรูปรี หรือรูปกระสวย สีเขียวอมเหลือง
สรรพคุณ
ทั้งต้น ต้มน้ำอาบ บำรุงร่างกายให้มีกำลัง แข็งแรง
ผล แก้ไอ ขับเสมหะ
ปุณณภา งานสำเร็จ  เรื่อง/ภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น