วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ว่านกวักพุทธเจ้าหลวงตำรากบิลว่านฉบับสมบูรณ์ รวบรวมโดย ร.ต.สวิง กวีสุทธิ์ ร.น. พิมพ์เมื่อพ.ศ.๒๕๐๘

กำลังขยันเริ่มเลยดีกว่า ตามตำรากบิลว่านฉบับสมบูรณ์ รวบรวมโดย ร.ต.สวิง กวีสุทธิ์ ร.น. พิมพ์เมื่อพ.ศ.๒๕๐๘ ได้บรรยายลักษณะว่านไว้ทั้งหมด ๒๑๗ ชนิด โดยเหมือนจะเรียงตามลำดับตัวอักษรตามลักษณะของว่านที่เข้าพวกกันลักษณะคล้ายกัน  เราจะลอกไปตามลำดับที่ลงไว้ในหนังสือละกัน  หลายๆตัวคงไม่มีรูป ส่วนหนึ่งเพราะเราไม่รู้จัก  หรือไม่แน่ใจ หรือลักษณะต้นที่เรียกขานในปัจจุบันไม่ตรงกับลักษณะที่บรรยายไว้ในหนังสือหรือหารูปไม่ได้ แต่บางส่วนจะมีรูปประกอบ  แต่ไม่ขอชี้ชัดว่าตรงหรือไม่ให้เป็นวิจารณญาณของผู้อ่านเอง
รูปที่ใช้ประกอบในตำราเล่มนี้ล้วนเป็นรูปขาวดำ แล้วเราจะสแกนให้ภายหลัง เพื่อประกอบการพิจารณา
ว่านชนิดแรกที่ผู้รวบรวมบรรยายถึงคือ ว่านกวักพุทธเจ้าหลวง  ว่านชนิดนี้ในท้องตลาดถือว่ายังมีราคาพอสมควรและมีว่านลักษณะคล้ายกันหลายตัวที่ถูกนำมาจำหน่ายเป็นว่านนี้ ในหนังสือบรรยายไว้ว่า
    "ว่านกวักพุทธเจ้าหลวง ลักษณะลำต้นเป็นกาบก้านยาวพ้นดิน ใบคล้ายใบจำปีแต่ใหญ่และยาวกว่า พื้นใบมีสีเขียวเข้มและอมเหลืองย่นเป็นจุดๆคล้ายใบชักพลู ริมขอบของใบย่นบิด ปลายใบงุ้มเหมือนปากนก หัวเหมือนหอมหัวใหญ่ เวลามีดอกก้านของช่อดอกจะสูงยาวพ้นลำต้นมาก ดอกมีสีขาวนวล กลีบ ๖ กลีบ โคนของกลีบสีขาวนวล ช่อหนึ่งมี ๘-๙ ดอกอย่างมาก มีเกษรยาวตุ้มเหลืองที่ปลาย ถ้ามีดอกมากดี มีกลิ่นหอมอ่อน เมื่อเวลามีดอก ท่านให้สักการะบูชา ขอความสิริมงคลและสิ่งที่พึงปรารถนา หาโบว์สีขาวแล้วลงด้วยพุทธคุณ ผูกไว้รอบกระถาง ว่านนี้เป็นว่านที่มีคุณสมบัติกว่าบรรดาว่านกวักทั้งหลาย เป็นว่านเมตตามหานิยมโชคลาภ ว่านต้นนี้หายากเจ้าของหวงแหนนัก ควรปลูกไว้ในที่สูงเป็นสิริมงคลแก่บ้านยิ่งนักก่อนจะรดน้ำควรเสกด้วยพุทธคุณเสียก่อน"
เป็นไงบ้างวิธีบรรยายเกี่ยวกับว่านของคนรุ่นก่อน เห็นที่ต้องไปหาดูใบของต้นจำปีและใบของต้นชักพลู(ชะพลู)มาเปรียบเทียบซะแล้ว555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น