วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ว่านพระยานกตำรากบิลว่านฉบับสมบูรณ์ รวบรวมโดย ร.ต.สวิง กวีสุทธิ์ ร.น. พิมพ์เมื่อพ.ศ.๒๕๐๘

ว่านพระยานกตำรากบิลว่านฉบับสมบูรณ์ รวบรวมโดย ร.ต.สวิง กวีสุทธิ์ ร.น. พิมพ์เมื่อพ.ศ.๒๕๐๘ กล่าวไว้ว่า
"ว่านพระยานก ชนิดหนึ่งลักษณะดุจดังต้นตาล ใบคล้ายใบมะตาด สรรพคุณเอายางกับเปลือกมาต้มกินแก้โรคกษัยดีนัก บางตำราว่าอีกชนิดหนึ่งลักษณะลำต้นคล้ายกับต้นไม้ท้าวยายม่อม ใบเหมือนใบคนทีสอ ดอกเหมือนดอกซิลชี้ หัวเหมือนเกล็ดของปลากระเพียน สรรพคุณท่านว่าให้รักษาว่านนี้ให้ดี จะนึกหรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็จะได้สมดังความปรารถนา"

เอาละสิ อะไรมันจะเยอะขนาดนี้ ลำพังต้นท้าวยายม่อมหรือไม้ท้าวยายม่อมก็มีสองชนิดที่เรียกเหมือนกัน เป็นสมุนไพรทั้งคู่แต่ใช้ต่างกัน  เอาเป็นว่าลอกมาทั้งดุ้นให้ได้อ่านพิจารณาเอาเอง ว่าต้นของว่าพระยานกจะเหมือนกับไม้ท้าวยายม่อมต้นไหน
เมื่อ "ไม้เท้ายายม่อม" ถูกเรียกชื่อว่า "เท้ายายม่อม" ในตำรับยาแผนไทย!!!

ในตำรายาสมุนไพรตามตำรับแผนโบราณมีระบุชื่อสมุนไพรที่มี คำว่า "เท้ายายม่อม" หรือ "ท้าวยายม่อม" อยู่ 2 ชื่อ ด้วยกัน ได้แก่ "เท้ายายม่อม" กับ "ไม้เท้ายายม่อม" ทำให้คนอ่านที่ไม่ได้เป็นแพทย์แผนโบราณต้องงุนงง สงสัยว่า ตัวยาทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นต้นไม้ชนิดเดียวกันหรือไม่ แต่เมื่อไปค้นหาความจริงในตำราเล่มต่างๆ เข้า ก็กลับยิ่งสับสนหนักขึ้นไปอีก เพราะเหตุที่ว่า ตำราบางเล่มระบุว่า ต้นเท้ายายม่อม กับ ต้นไม้เท้ายายม่อม เป็นต้นไม้ต่างชนิดกัน แต่ตำราอีกบางเล่มกลับระบุว่าเป็นต้นไม้ชนิดเดียวกันแต่เรียกชื่อต่างกันเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจะเลือกเชื่อใคร? ใน "เทคโนโลยีชาวบ้าน" ฉบับนี้ เราจะลองสำรวจข้อมูลเรื่องของพืชที่มีชื่อลงท้ายว่า "เท้ายายม่อม" กันดู ตอนท้ายๆ หากข้อมูลที่ค้นมาได้มีความชัดเจนเพียงพอ ผู้เขียนก็อาจจะลอง "ฟันธง" เป็นข้อสรุปลงไป แต่หากว่า ข้อมูลที่ได้ยังไม่ชัดเจนเพียงพอ ก็คงต้องฝากท่านผู้อ่านลองกลับไป "ทำการบ้าน" ค้นหาข้อมูลต่อ วันหน้าค่อยตัดสินกันใหม่...

อันดับแรก ผู้เขียนจะขอค้นข้อมูลจากตำราเล่มต่างๆ แล้วนำมาเรียงไว้เสียก่อน ดังนี้

1. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ระบุว่า "เท้ายายม่อม" กับ "ไม้เท้ายายม่อม" เป็นคนละชนิดกัน ดังข้อความที่ว่า "เท้ายายม่อม น.ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Tacca Ieontopetaloides (L.) Kuntze ในวงศ์ Taccaceae หัวหรือเหง้ามีสัณฐานกลมแบน ใช้ทำแป้งเป็นอาหารได้ เรียกว่า แป้งเท้ายายม่อม" อีกคำหนึ่งว่า "ไม้เท้ายายม่อม น.ชื่อไม้พุ่มชนิด Clerodendrum petasites S.Moore ในวงศ์ Labitae ดอกสีขาว ใบใช้สูบแทนกัญชา ราก ใช้ทำยาได้, พญารากเดียว ก็เรียก."

2. พจนานุกรมฉบับมติชน ปี 2547 อธิบายเฉพาะชื่อ "เท้ายายม่อม" ว่า "เท้ายายม่อม น.ไม้ล้มลุกมีหัวในดิน สูงราว 1.5 เมตร รูปฝ่ามือแยกเป็น 3 แฉก ขอบเว้าลึก ดอกเป็นช่อซี่ร่ม ออกที่ปลายยอด รากใช้ทำยาได้, ไม้พุ่มขนาดเล็ก ต้นตั้งตรง ปลายกิ่งเป็นสันสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยว เรียงรอบข้อ รูปรีแกมขอบขนาน ดอกเป็นช่อ แยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาว ผลกลมสีเขียว สุกสีดำ มีกลีบเลี้ยงสีแดงติดอยู่ รากใช้ทำยาได้."

สรุปได้ว่า มติชนเรียกแต่เพียง "เท้ายายม่อม" แต่อธิบายว่า มี 2 ชนิด ชนิดแรก เป็นไม้ล้มลุก มีหัว และรากใช้ทำยาได้, ส่วนชนิดที่สอง เป็นไม้พุ่ม ดอกสีขาว และรากใช้ทำยาได้เช่นกัน

3. พจนานุกรมสมุนไพรไทย ของ ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม อธิบายข้อมูลของสมุนไพร "ท้าวยายม่อม" (เท้ายายม่อม) ว่า มีชื่อสามัญว่า "One Root Plant", ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Clerodendrun indicun จัดอยู่ในวงศ์ VERBENACEAE (The Verbena Family) ที่น่าสนใจ ก็คือ ชื่อเรียกอื่นๆ ที่ใช้เรียกต้นไม้ชนิดนี้ ได้แก่ จรดพระธรณี, พญารากเดียว, พญาลิงจ้อน, ไม้เท้าฤๅษี, หญ้าเลงจ้อน, ปู่เจ้าปทุมราชา, ไม้ท้าวยายม่อม, ดอกไม้มอญ (ภาคกลาง), ว่านพญาหอกหล่อ (สระบุรี) เป็นไม้พุ่มขนาดย่อม ลำต้นสูงประมาณ 3-5 ฟุต ดอกขนาดเล็กสีขาว มีการขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง หรือวิธีการปักชำกิ่ง

จากคำอธิบายที่เป็นบริบททำให้เข้าใจว่า ท่านมุ่งจะพูดถึงไม้พุ่ม (แต่ท่านก็บอกว่ามีหัวในดิน ใช้ทำแป้งได้ และรากสดใช้ต้มกินน้ำแก้พิษ แก้ไข้ และขับเสมหะ)

4. หนังสือ "เภสัชกรรมไทย รวมสมุนไพร" โดย อาจารย์วุฒิ วุฒิธรรมเวช ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2-2540 บรรยายสรรพคุณทางยาไว้ 3 ชื่อ คือ 1. เท้ายายหม่อมดอกขาว (หรือปู่เจ้าหายใจไม่รู้ขาด) 2. เท้ายายหม่อมดอกแดง (หรือปทุมราชา) และ 3. เท้ายายหม่อมหัว (หรือว่านพญาหอกล่อ) ไม่มีชื่อเรียกว่า "ไม้เท้ายายหม่อม" และกล่าวว่า ชนิดดอกขาวนั้น เป็นพืชจำพวกต้น ใช้รากและต้นแก้ไข้ ขับพิษ และขับเสมหะ, ส่วนชนิดดอกแดง ก็เป็นพืชจำพวกต้น ใช้เฉพาะราก แก้ไข้เหนือ ไข้พิษ ไข้กาฬ ถอนพิษ (แม้กระทั่งตำหรือฝนกับเหล้า กินและเอากากพอกแผล แก้พิษงู) ส่วนชนิดหัวนั้นใช้แป้งเป็นอาหารบำรุงร่างกายสำหรับคนฟื้นไข้ โดยละลายแป้งในน้ำ กวนจนสุก เติมด้วยน้ำตาลกรวด ทำให้ชุ่มชื่นหัวใจ (คนทั่วไปเคยได้ยินและรู้จักเฉพาะเท้ายายม่อมชนิดหัวนี้เท่านั้น)

สรุปแล้ว ชนิดดอกแดง และชนิดดอกขาว ก็น่าจะตรงกับ "ไม้เท้ายายม่อม" นั่นเอง

ในบัญชีรายชื่อสมุนไพร ของ "ธรรมเวช ร้านขายยาไทยโบราณ" มีตัวยา "เท้ายาหม่อม" 2 ชนิด ไว้ขาย คือ 1. เท้ายายหม่อมดอกขาว หรือปู่เจ้าหายใจไม่รู้ขาด (ราก) และ 2. เท้ายายหม่อมดอกแดง หรือปทุมราชา หรือข่อยดำ (ราก) โดยขายปลีก 500 กรัมละ 40 บาท เท่ากันทั้ง 2 ชนิด (ราคาเมื่อปี พ.ศ. 2538) ไม่มีรายชื่อ "ไม้เท้ายายม่อม" เสนอขายแต่อย่างใด

ทั้งหมดนี้ เป็นข้อมูลที่ตำราเล่มต่างๆ บอกเรา ซึ่งพอจะ "ฟันธง" ไปได้ว่า ต้นไม้ 2 ชื่อ คือ "เท้ายายม่อม" กับ "ไม้เท้ายายม่อม" เป็นไม้ต่างชนิดและต่างวงศ์กัน โดยที่ "เท้ายายม่อม" เป็นไม้หัว (แป้งเท้ายายม่อม) ส่วน "ไม้เท้ายายม่อม" เป็นไม้พุ่ม มีอยู่ 2 ชนิด คือ ชนิดดอกสีขาว (เรียก "ปู่เจ้าหายใจไม่รู้ขาด") และชนิดดอกสีแดง (เรียก "ปู่เจ้าปทุมราชา") ซึ่งไม้ชนิดพุ่มนี้เป็นไม้ที่มีสรรพคุณทางยา

ต่อไปเราจะลองไปค้นข้อมูลเกี่ยวกับตำรับยาที่เข้าด้วย "เท้ายายม่อม" กับ "ไม้เท้ายายม่อม" ในตำราแพทย์แผนโบราณกัน จะได้ทราบว่า มีตำรับยาขนานใดบ้าง ใช้แก้โรคใด โดยเราจะค้นจากตำราที่ใช้อ้างอิงกันมาแต่ดั้งเดิม คือ ตำรา "แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์" นั่นเอง

ใน "พระคัมภีร์ฉันทศาสตร์" พบรากเท้ายายม่อมในยาแก้ไข้ประดง 4 ประการ, ใน "พระคัมภีร์ปฐมจินดาร์" พบรากเท้ายายม่อม, ต้นเท้ายายม่อม, ใบเท้ายายม่อม และรากเท้ายายม่อมในตำรับยา 4 ตำรับด้วยกัน, ใน "พระคัมภีร์ธาตุวิภังค์" มีรากเท้ายายม่อมเข้าในตำรับยา ชื่อ "มหาชุมนุมใหญ่ สันนิบาต", ส่วนใน "พระคัมภีร์โรคนิทาน" พบรากเท้ายายม่อมรวมอยู่ในตำรับยาชื่อ "มหาชุมนุม" ซึ่งนอกจากรากเท้ายายม่อมแล้ว ก็ยังมีดอกปทุมราชา (ไม้เท้ายายม่อมดอกแดง) รวมอยู่ในตัวยาอย่างอื่นด้วย, ใน "พระคัมภีร์ธาตุวิวรณ์" มีเท้ายายม่อมในตำรับยาชื่อ "ปะโตลาธิวาตะ" แก้ไข้ ซึ่งระบุชื่อเพียง "เท้ายายม่อม" (ไม่ระบุว่าเป็นรากหรือใบ) ในยาแก้เสลดกำเดาขนานนี้ และอีกตำรับหนึ่งเป็นยา ชื่อว่า "ยาแก้กษัยเลือด" (มีอาการเจ็บในท้อง เมื่อแก่เข้าจะมีหน้าซีดเผือด ตาเหลือง ซูบผอม) ให้เอารากเท้ายายม่อมร่วมกับตัวยาอื่นอีก 36 อย่าง เสมอภาค ตำเป็นผง ละลายน้ำผึ้งรับประทาน

ใน "พระคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา" พบตัวยารากไม้เท้ายายม่อม กับรากมะดูก, รากมะตูม, ยาข้าวเย็น และแห้วหมู ดองสุรา แล้วนำไปฝังในข้าวเปลือก 3 วัน เสกด้วยสัพพาสี เอามูลโคสด และขมิ้นอ้อยบด นำมาพอกหัวเหน่า 5 วัน หายแลฯ นอกจากนี้ ในพระคัมภีร์เล่มนี้ยังระบุไว้ด้วยว่า "อันไม้เท้ายายม่อมดอกแดง เรียกชื่อว่า ประทุมราชา ส่วนตัวเมียนั้น ใบรี ต้นสูง เรียกปู่เจ้าหายใจมิรู้ขาด" สำหรับปู่เจ้าหายใจมิรู้ขาดนั้น พบในตำรับยา ชื่อ "สิงคาทิจร" ต้มหรือดองสุรา รับประทานแก้โรค (ครอบโรค) 32 จำพวกแลฯ นอกจากนี้ ใบประทุมราชายังนำเอามาสกัดผสมกับน้ำมันหุง รับประทานแก้โรคลำไส้เปื่อยอีกด้วย

พระคัมภีร์สุดท้ายที่บันทึกสรรพคุณของ "ไม้เท้ายายม่อม" เอาไว้ ก็ได้แก่ "พระคัมภีร์สรรพคุณ (แลมหาพิกัด)" โดยไม่ได้กล่าวถึง "เท้ายายม่อม" ดังนี้

1. ไม้เท้ายายม่อม นั้น แก้พิษเสมหะ แล แก้สรรพพิษทั้งปวง

2. ไม้เท้ายายม่อม แล รากมะกล่ำตาช้างแดง ตาขาว แก้ร้อน แก้กระหาย แก้อาเจียน แก้หืด แก้ไอ แก้พิษฝี

3. ให้เอารากไม้เท้ายายม่อม, ผลจันทน์, ดอกจันทน์, กานพลู, ผลเบญกานี, ดองดึง, หัสคุณเทศ, รากเจตมูลเพลิง, รากแคแตร โดยเอาเสมอภาค ทำผงละลายน้ำขิง กินแก้โรคริดสีดวง 12 จำพวก

4. ให้เอารากไม้เท้ายายม่อม, เปลือกคนทา, รากมะตูม, รากชุมเห็ด, รากกรรณิการ์ เสมอภาค และผลจันทน์เท่ายาทั้งหลาย (หมายความว่า เท่าน้ำหนักของยาอื่นรวมกัน) บดทำผง ละลายน้ำผึ้ง, น้ำขิง หรือน้ำดอกไม้ กินแก้วาโย (ลม) กำเริบ (มีอาการปวดมวนในท้อง เสมหะเป็นมูกเลือด) หายแลฯ

ที่ยกมาทั้งสิ้นนี้ เป็นการยกเอามาโดยย่อ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้มองภาพออกว่า มีคัมภีร์ใดพูดถึงส่วนใดของเท้ายายม่อม หรือของไม้เท้ายายม่อมบ้าง หากท่านสนใจในรายละเอียดของตัวยาในแต่ละตำรับ กรุณาไปค้นเพิ่มเติมได้ ในหนังสือ "แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์" ที่กระทรวงศึกษาธิการจัดพิมพ์ขึ้นใหม่ ซึ่งอาจจะพบในห้องสมุดใหญ่ๆ ทั่วประเทศ หรือซื้อไปศึกษาในราคาเล่มละ 1,200 บาทเศษ (จำราคาที่แน่นอนไม่ได้)

ผู้เขียนได้ลองเปิดหนังสือตำรายาโบราณ ชื่อ "ยาแก้ไข้ 108 ขนาน" รวบรวมโดย อาจารย์เชาวน์ กสิพันธุ์ บภ., บว. ซึ่งเป็นอาจารย์ฝ่ายวิชาการ ของสมาคมแพทย์เภสัชกรรมไทยโบราณ พบว่า ในบรรดายาแก้ไข้ 108 ขนานนั้น มีอยู่จำนวน 15 ขนาน ที่มีเท้ายายม่อม หรือรากเท้ายายม่อมหรือใบเท้ายายม่อม ร่วมเป็นสมุนไพรอยู่ในตำรับยา ได้แก่ 1. ยาแก้ไข้เหนือ 1 (เท้ายายม่อม), 2. ยาต้นไข้ (รากเท้ายายม่อม), 3. ยาแก้ไข้ (ขนานที่ 19-รากเท้ายายม่อม), 4. ยาแก้ไข้ (ขนานที่ 20-รากเท้ายายม่อม), 5. ยาต้มแก้ไข้ทั้งปวง (รากเท้ายายม่อม), 6. ยาแก้เชื่อมมัว (รากเท้ายายม่อม), 7. ยาเขียวใหญ่ (ใบเท้ายายม่อม), 8. ยาเขียวมหาคงคา (ใบเท้ายายม่อม), 9. ยาแก้ไข้สันนิบาต ไข้เหนือ (รากเท้ายายม่อม), 10. ยาแก้ไข้เชื่อมซึม (เท้ายายม่อม), 11. ยาเขียวใหญ่ (ใบเท้ายายม่อม), 12. ยาประสะแสงทอง (รากเท้ายายม่อม), 13. ยาแก้ไข้ (ขนานที่ 101-รากเท้ายายม่อม), 14. ยาแก้ไข้ (ขนานที่ 102-รากเท้ายายม่อม) และ 15. ยาพ่นถอนพิษไข้ (รากเท้ายายม่อม)

ขอยกมาพอเป็นตัวอย่างคือ ยาแก้ไข้เชื่อมซึม (10.) ท่านให้เอา รากมะแว้งเครือ รากย่านาง หัวคล้า แฝกหอม ชิงชี่ เท้ายายม่อม ผักโขมหิน หญ้าแพรก ก้านหมาก รากตาน รากตานเสี้ยน ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ สันพร้านางแอ เอาสิ่งละ 1 บาท ใส่หม้อต้ม รับประทานครั้งละ 1 ถ้วยชา เช้า กลางวัน เย็น ก่อนอาหาร แก้ไข้เชื่อมซึมดีนักแล

ข้อที่น่าสังเกตคือ ในตำราเล่มนี้ ไม่มีตำรับสมุนไพรที่เข้าด้วย "ไม้เท้ายายม่อม" เลย เหตุใดหนอ ไม้เท้ายายม่อมซึ่งตำราระบุว่า มีสรรพคุณต่างๆ มากมาย จึงไม่ได้เข้าเป็นตัวยาในตำรับยาแก้ไข้ แต่กลับมีแต่เท้ายายม่อม รากเท้ายายม่อม และใบเท้ายายม่อม (ซึ่งในตำราระบุไว้แต่เพียงประโยชน์จากแป้งที่ได้มาจากรากหรือหัว ว่า ใช้เป็นอาหารสำหรับบำรุงผู้ฟื้นไข้เท่านั้น) มาร่วมอยู่ในตำรับยาแก้ไข้ นับว่าเป็นปัญหาที่น่าค้นหาคำตอบเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อผู้เขียนนำเอาตำรับยาแก้ไข้ที่ระบุชื่อไว้ข้างต้นไปสอบถามจากร้านขายยาสมุนไพรแผนโบราณว่า ที่ตำรับยาแก้ไขระบุชื่อเท้ายายม่อม รากเท้ายายม่อม และใบเท้ายายม่อม นั้น หากมีผู้มาซื้อเครื่องยาที่ร้าน ทางร้านจะจัดใบ, ราก, เท้ายายม่อม หรือใบ, รากของไม้เท้ายายม่อมให้ ทางร้านสมุนไพรตอบว่า "จะจัดใบ หรือกิ่งของเท้ายายม่อม" ให้ ด้วยเหตุผลที่ว่า "ทั้งร้านมีเท้ายายม่อมอยู่เพียงชนิดเดียว" พร้อมทั้งได้นำเอาหนังสือ "สารานุกรมสมุนไพร" มาเปิดให้ดู ชี้ไปที่ภาพและชื่อของสมุนไพรที่มีชื่อว่า "เท้ายายม่อมดอกแดง ปทุมราชา" (ซึ่งที่แท้ก็คือ พืชชนิดที่มีชื่อว่า "ไม้เท้ายายม่อม" นั่นเอง แต่เป็นชนิดที่มีดอกแดง ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยฯ ไม่ได้กล่าวถึง เพราะพูดถึงแต่ชนิดที่มีดอกสีขาว คือ "ไม้เท้ายายม่อม" หรือ "ปู่เจ้าหายใจไม่รู้ขาด" นั่นเอง)

เพื่อความแน่นอนยิ่งขึ้น ผู้เขียนได้ไปสอบถามและขอซื้อสมุนไพรที่ตำรับยาระบุว่า ชื่อ "เท้ายายม่อม" จากร้านขายยาสมุนไพร (ในตลาดจังหวัดสุพรรณบุรี) ร้านที่สอง ผลปรากฏว่า ทางร้านใหม่นี้ก็มีสมุนไพรที่มีชื่อ "เท้ายายม่อม" อยู่เพียงอย่างเดียว เมื่อได้นำเอาตัวยาที่ได้จากทั้ง 2 ร้าน มาพิจารณาเปรียบเทียบกัน ผลก็คือ ของทั้ง 2 ตัวอย่างเป็นกิ่งและใบของพืชชนิดเดียวกัน (คือ "ไม้เท้ายายม่อม" ชนิดดอกแดง) ต่างกันเพียงว่า ตัวอย่างจากร้านแรกมีใบมากกว่ากิ่ง ส่วนของร้านหลังมีกิ่งมากกว่าใบเท่านั้น

ในชั้นนี้จึงพอจะสรุปได้ว่า สำหรับร้านค้าสมุนไพรในต่างจังหวัดนั้น หากใครนำเอาตำรับยาที่เข้าด้วย "เท้ายายม่อม" หรือ "ไม้เท้ายายม่อม" หรือ "ปทุมราชา" หรือ "ปู่เจ้าหายใจไม่รู้ขาด" ไปขอเจียดตัวยาจากร้านค้า ทางร้านค้าสมุนไพรก็จะจัดตัวยาเพียงชนิดเดียว คือ "ไม้เท้ายายม่อม" (ชนิดดอกสีแดง หรือ "ปทุมราชา") ให้เสมอไป แต่หากเป็นร้านสมุนไพรใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดใหญ่ๆ บางจังหวัด ก็อาจจะมี "ไม้เท้ายายม่อม" ทั้ง 2 ชนิด (คือ ดอกสีแดง และดอกสีขาว) ไว้บริการ ส่วนเท้ายายม่อมชนิดหัวนั้น จะมีขายในรูปของแป้งผงตามร้านขายสินค้าประเภทแป้งทำขนม (ซึ่งพนักงานขายบางร้านบอกว่า แป้งเท้ายายม่อมสมัยนี้มีคุณภาพสู้แป้งสมัยก่อนไม่ได้ และไม่แนะนำให้นำไปใช้เป็นอาหารสำหรับผู้ฟื้นไข้ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรไม่ทราบ กรุณาตรวจสอบกันเอง แต่หากได้แป้งจากหัวเท้ายายม่อมแท้ๆ ก็น่าจะยังมีสรรพคุณดีจริงตามที่ตำราว่าไว้)

ดังนั้น หากจะไม่ให้เกิดความสับสนในแวดวงของผู้ใช้สมุนไพรไทย ตำรับยาที่มีการระบุชื่อของ "เท้ายายม่อม" อยู่ ควรจะแก้ไขเป็น "ไม้เท้ายายม่อม" เสียทั้งหมด ในส่วนของร้านค้าสมุนไพรนั้นก็ควรที่จะต้องมีรากหรือใบของ "ไม้เท้ายายม่อม" ทั้งชนิดดอกสีขาวและชนิดดอกสีแดงไว้ให้บริการให้ครบถ้วน เพื่อที่การปรุงยาสมุนไพรจะได้มีคุณภาพตรงตามตำรับอย่างแท้จริง

ส่วนผู้ที่ต้องการปรุงยาสมุนไพรนั้น พึงเข้าใจว่า ทุกครั้งที่ท่านไปขอซื้อสมุนไพรที่ชื่อ "เท้ายายม่อม" จงจำไว้ว่า นั่นคือ "ไม้เท้ายายม่อม" นั่นเอง แต่หากเป็นชื่อเฉพาะว่า "ปทุมราชา" ก็หมายถึง "ไม้เท้ายายม่อม ชนิดดอกสีแดง" แต่ถ้าตำราบอกว่าต้องการ "ปู่เจ้าหายใจไม่รู้ขาด" นั่นหมายความว่า ตำราต้องการ "ไม้เท้ายายม่อม ชนิดดอกสีขาว"
ที่มา http://www.thailand-farm.com/index.php?topic=161.0
บางคนเอาสองต้นมาปนกันมั่ว  พูดถึงลักษณะท้าวยายม่อมแบบที่เป็นหัวแต่เอารูปท้าวยายม่อมแบบต้นมาเฉยเลย
ต้นเท้ายายม่อม ที่ใช้ทำแป้งเท้ายายม่อม  หัวใช้ทำเป็นแป้งได้ เรียกว่า William's arrow root 
ต้นเท้ายายม่อมเป็นพืชล้มลุก มักขึ้นเป็นกอสืบพันธุ์ด้วยหัวใต้ดิน หัวของต้นเท้ายายม่อมขุดเอามาฝนทำแป้งเท้ายายม่อมได้

-ลักษณะ
ลำต้นตั้งตรง ใบขยายแผ่กว้าง หัวกลมหรือรี ใบรูปฝ่ามือ มี 3 แฉก แต่ละแฉกเป็นใบประกอบหลายแฉกย่อย สีเขียวเข้ม ดอกออกจากหัวใต้ดิน ก้านช่อดอกยาวสูงเลยลำต้น ออกดอกเป็นพุ่มงามมาก ลำต้นเป็นเส้นริ้วเล็กๆลายเป็นทาง

ชาวสวนต้องไม่ขุดหัวจากกอแต่ละกอจนหมด คัดเลือกเอาเฉพาะหัวใหญ่ เพื่อสะดวกในการปอกเปลือกแล้วฝน หัวเล็กๆจะคืนลงกลบฝังโคนกออย่างเดิม ( แต่หาก หัวไหนโดนจอบหรือเสียม จนขาดหรือแหว่ง หัวนั้นก็จะไม่งอก )เมื่อหน้าฝน ก็จะงอกต้นใหม่ขึ้นมา


สำหรับต้นเก่าเมื่อออกดอกและสิ้นฝนไม่นานต้นก็จะเฉา เหี่ยวแห้งและตายไป ในฤดูหนาว ซึ่งรวมทั้งต้นที่ยังไม่ออกดอก ก็ตายด้วย
รอจนประมาณเดือน มกราคม กุมภาพันธ์จึงขุดเอาหัวขึ้นมา
ล้างดินที่เปลือกออกให้สะอาด ปอกเปลือกทิ้งไป แล้วกองในกะละมังมีน้ำแช่เพื่อสะดวกในการฝน
ใช้หัวนี้ฝนบนแผงสังกะสีที่ตีตะปู ถี่ๆ แบบกระต่ายจีน หงายด้านที่มีรูแหลมของหัวตะปูทะลุออก
วางแผงสังกะสีพาดขอบกะละมังแล้วเอาหัวฝนไปมา

เมื่อได้แป้งแล้วแล้วนำไปแช่น้ำไว้จนใสและแป้งนอนกันจึงเทน้ำทิ้ง ทำเช่นนี้ประมาณ 4-5 ครั้ง จึงนำแป้งที่ได้ไปตากแดดจนแห้ง แป้งเท้ายายม่อมเป็นแป้งที่มีราคาแพงเพราะมีขั้นตอนการทำที่ยุ่งยาก

ลักษณะของแป้งเท้ายายม่อม จะมีสีขาว เป็นลักษณะเม็ดสี่เหลี่ยมเล็กๆ

ต้องระวัง เพราะมีต้นไม้อีกต้นที่สับสนกัน เพราะมีชื่อว่า "เท้ายายม่อม" เหมือนกัน แต่ความจริง ต้นนั้น มีชื่อเต็มว่า ต้น "ไม้เท้ายายม่อม"


ต้นเท้ายายม่อม


ดอกและผลของต้นเท้ายายม่อม เมื่อออกใหม่ๆจะมีสีเขียว




ดอกและผลของต้นเท้ายายม่อมเริ่มแก่ ดอก ผล และหนวด เริ่มเป็นสีเหลือง


ชาวสวนเชื่อว่าหากไม่ตัดดอกของเท้ายายม่อมออก จะไม่เกิดหัวใต้ดินให้ได้ขุดเอามาทำแป้งเท้ายายม่อม


หัวเท้ายายม่อม


ประโยชน์ :

ใช้เป็นสมุนไพรก็ได้ ใช้เป็นยาบำรุงกำลังก็ได้ หัวที่ใช้ทำเป็นแป้งได้ เรียกว่า William's arrow root แป้งเท้ายายม่อมเป็นอาหารอย่างดีสำหรับคนไข้ที่เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ให้คนไข้รับประทานดี เกิดกำลังและชุ่มชื่นหัวใจ

คนโบราณใช้หัวทำเป็นอาหารบำรุงร่างกายให้แข็งแรง โดยเฉพาะคนแก่ที่ฟื้นไข้ ควรกินแป้งเท้ายายม่อมร่วมกับน้ำอ้อยหรือน้ำตาลกรวด จะทำให้ร่างกายฟื้นฟูกลับมาแข็งแรงได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยแก้อาการเบื่ออาหารหลังฟื้นไข้ได้ดีอีกด้วย

สำหรับคนทั่วไปการกินแป้งเท้ายายม่อมจะช่วยให้หายอ่อนเพลีย จิตใจชุ่มชื่น แก้ร้อนใน เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เบื่ออาหาร และบำรุงกำลังได้อย่างดี แม้แต่นักโภชนบำบัดสมัยใหม่ก็ยืนยันว่า แป้งเท้ายายม่อมมีคุณสมบัติเหมาะกับระบบทางเดินอาหารของมนุษย์เรามากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับแป้งชนิดอื่นๆ ทั้งยังเชื่อว่าการบริโภคแป้งเท้ายายม่อมจะทำให้อารมณ์และจิตใจมีความสมดุล ไม่วิตกกังวลหรือซึมเศร้าจนเกินไป เรียกว่าสามารถทำให้อารมณ์แจ่มใส สมองปลอดโปร่งได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ เท้ายายม่อมยังมีสรรพคุณในการแก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย พิษผึ้ง กะพรุนไฟ โดยใช้หัวหรือรากฝนกับน้ำมะนาวทา ใช้โรยปากแผลเพื่อห้ามเลือด โรยถุงเท้าเพื่อป้องกันเชื้อรา ถอนพิษ แก้ผดผื่นคัน ลดสิวฝ้าทำให้หน้าขาว

ส่วนแป้งเท้ายายม่อมในปัจจุบันเริ่มมีการผลิตน้อยลงเรื่อยๆ เพราะคนไม่นิยม แม้ว่าคุณค่าที่แฝงอยู่จะมีมากมายก็ตาม


วิธีและปริมาณที่ใช้ :
ใช่แป้งละลายน้ำดิบ ใส่น้ำตาลกรวด ตั้งไฟกวนจนสุก ให้คนไข้รับประทาน


มีผลิตขายเป็นแป้งสำเร็จรูป


http://bangkrod.blogspot.com/2011/01/blog-post_31.html

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1340193264&grpid=03&catid=&subcatid=
ส่วนท้าวยายม่อมอีกชนิดเป็นตัวที่ใช้รากมาเข้ายาเบญจโลกวิเชียร เป็นท้าวยายม่อมดอกขาว
ต้นท้าวยายม่อมดอกขาว
ใบคนทีสอ
ตำราบอกว่าดอกเหมือนดอกซิลชี้  ไม่รู้ว่าหมายถึงดอกชิงชี่รึเปล่า (อันนี้เดา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น