ปกติโดยทั่วไปจะซื้อหนังสือเกี่ยวกับต้นไม้ต้องเลือกที่พิมพ์ใหม่ๆ เพราะข้อมูลจะทันสมัยและรูปจะคมชัดกว่าหนังสือต้นไม้เก่าๆ แต่ถ้าเป็นตำราว่านกลับเป็นตรงกันข้ามจะต้องพยายามแสวงหาหนังสือเก่าๆเพื่อให้ได้ข้อมูลรูปพรรณสัณฐานที่แท้จริงจากคำบรรยายและได้รู้ว่าสายพันธุ์ว่านเก่าจริงๆมีต้นไหนบ้าง หลายครั้งที่ตำราใหม่มีความผิดพลาดผิดฝาผิดตัว หรือแต่งตั้งต้นไม้บางต้นขึ้นมาเป็นว่าน เวลาที่มีหนังสือหรือตำราว่านเก่าๆหลุดเข้ามาในตลาดหนังสือมือสองจึงเป็นที่ต้องการกันมากจนถึงปัจจุบัน เราทุนน้อยค่อยๆหาตามกำลังตอนนี้มีเก็บไว้แค่เล่มเดียวคือ ตำรากบิลว่านฉบับสมบูรณ์ รวบรวมโดย ร.ต.สวิง กวีสุทธิ์ ร.น. พิมพ์เมื่อพ.ศ.๒๕๐๘ มีหลายๆเรื่องราวที่ได้ถูกบันทึกไว้ในหนังสือที่น่าสนใจ ณ ที่นี้ขออนุญาตท่านเพื่อเผยแพร่ให้อนุชนรุ่นหลังเป็นวิทยาทาน จุดหนึ่งที่น่าสนใจอยู่ที่คำนำหนังสือ ขออนุญาตคัดลอกมาให้ได้อ่านโดยคงสำนวและภาษาของผู้เขียนไว้เหมือนเดิมทั้งหมด เพื่อให้เราได้รู้ว่าคนแต่เก่าก่อนมีวิวัฒนาการเกี่ยวกับว่านมาอย่างไร ดังนี้
"ตำรากบิลว่านที่มีอยู่ในหนังสือเล่มนี้ เป็นตำราที่กระจัดกระจายที่มีอยู่ผู้นั้นบ้าง ผู้นี้บ้าง อย่างละเล็กละน้อยหาได้มีอยู่ในตำราเดียวกันไม่ และได้สอบถามจากผู้ใหญ่ที่ท่านนิยมการปลูกว่าน บางท่านก็ได้สิ้นชีวิตไปแล้ว แต่ได้เขียนเป็นตำรับตำราเอาไว้บ้าง และได้ประสบการณ์ถึงค่าสมบัติของว่าน ซึ่งได้รักษาโรคภัยของข้าพเจ้า จึงได้รวบรวมและค้นคว้าเพื่อท่านที่นิยมการปลูกว่านจะได้ทราบและรู้จักลักษณะของว่านพอเป็นเค้าบ้างเล็กน้อย ในโบราณกาลกล่าวว่า ว่านนี้เป็นต้นไม้เนรมิตที่ฤาษีประสิทธิ์ประสาทให้ ต้นไม้จำพวกว่านนี้หาได้มีผู้นิยมใช้หรือรู้จักใช้ไม่ จะมีบ้างก็น้อยเต็มทน นอกจากนั้นก็เป็นพวกชาวป่าชาวดอยเท่านั้นที่นิยมใช้ ชนจำพวกนี้ใช้แต่ว่านและรากไม้เป็นสมุนไพรรักษาโรค ชนจำพวกที่นับถือว่านนี้ก็ได้แก่พวกกะเหรี่ยง,แม้ว,ข่า,ลาว ในปัจจุบันนี้ก็ยังใช้กันอยู่ ว่านนี้บางแห่งเรียกก็เรียกชื่อต่างๆกันตามแต่ละภาค ว่านบางพันธุ์มีอิทธิฤทธิ์มาก ถ้าปลูกไว้กับบ้านหรือติดตัวไป หรือเข้าไปใกล้เคียงและรับประทานจะทำให้เกิดศิริมงคล มีลาภผลเมตตามหานิยม คงทนต่อศัตราอาวุธ เขี้ยวงา ภูติผีปีศาจและเป็นยารักษาโรค ตามปกติว่านที่นำมาปลูกกันตามบ้านนั้นนานวันเข้าก็เสื่อมคุณสมบัติ จะต้องกู้ขึ้นจากดินในเดือน๑๒ หรือในเดือนอ้ายข้างขึ้นวันอังคาร อย่าให้ทันถึงฤดูที่นกยูงหรือนกกาเหว่าร้อง ถ้าเลยฤดูจากนี้ไปว่านนั้นจะเสื่อมคุณสมบัติหรือจืดจางไป โดยธาตุปรอทของว่านลืมต้น ตามปกติว่านทุกต้นที่ธาตุปรอทอยู่ในตัวของมันเอง
การปลูกว่านให้ปลูกในเดือน๖วันอังคาร ถ้าจะให้ว่านนั้นมีคุณค่ามีผลตามจุดประสงค์ ท่านให้ใช้แผ่นทองแดงลงด้วยพุทธคุณ"อิติปิโส" แปดทิศ เอามารองใต้ก้นว่านก่อนจะปลูก การรดน้ำต้นว่านนั้นควรใช้พุทธคุณด้วย โดยเสกน้ำรดด้วยอิติปิโส เพราะพุทธคุณนี้สามารถที่จะทำให้สำเร็จตามจุดประสงค์ทุกอย่างได้ ตลอดจนศิริมงคลเมตตา คงกระพัน แคล้วคลาด โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ
การขุดว่านนี้ พวกชาวป่าชาวเขานิยมใช้คาถาเรียก เขาว่าถ้าใช้คาถาเรียกจะทำให้ว่านนั้นขลัง คาถาที่เรียกว่านเวลาขุด "โอมขุกขุกกูจะปลูก(อาจจะเป็นปลุกก็ได้-ผู้คัดลอก)พญาว่าน ให้ลุกก็ลุกกูจะปลูกพญาว่าน ให้ตื่นก็ตื่นถ้าพญาว่านหนีไปที่อื่นให้วิ่งมาหากูนี่เน้อ พญาว่านหนีไปข้างหน้าให้มาฮอดกูนี่เน้อ มาฮอดแล้วพันเฝ้าตื้น อมมสหับคงทน" ในระหว่างที่ว่าคาถานี้ให้ตบดินที่ต้นว่านนั้น ตบเรื่อยๆไปจนกว่าจะว่าคาถานี้จบแล้วจึงค่อยขุดว่านนี้ขึ้น"
คำนำจากหนังสือเล่มนี้คงทำให้พอมองเห็นภาพการเล่นว่านของผู้คนในอดีตอันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้สนใจเรื่องเกี่ยวกับว่านทั้งความเป็นมงคลและประโยชน์ในการรักษาโรคต่างๆบ้างไม่มากก็น้อย บุญกุศลใดที่เกิดขึ้นนี้ขอส่งถึงแด่ดวงวิญญาณของผู้รวบรวมตำราว่านนี้และครูบาอาจารย์ว่านทุกๆท่านด้วยเทอญ.
เราจะค่อยๆทะยอยลงรายละเอียดในเล่มนี้เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับผู้สนใจต่อไป จริงๆมีการพูดถึงหนังสือว่านว่ามีความคลาดเคลื่อนอยู่เสมอ เล่มนี้เองก็อาจมีความคลาดเคลื่อนหรือไม่ตรงกับหนังสือเล่มอื่น แต่อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างยังควรถูกบันทึกไว้ก่อน ผิดถูกอย่างไรแล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละคน ที่สำคัญความหลากหลายของพันธุ์พืขเมืองไทยมีมากมาย ยังมีที่ลึกลับไม่เป็นที่รู้จักอีกไม่ใช่น้อย ชื่อเรียกก็แตกต่างกันไป ภูมิปัญญาการนำไปใช้หรือประสบการณ์แต่ละคนล้วนหลากหลาย ใครล่ะจะเป็นคนตัดสินผิดถูกได้โดยสิ้นเชิง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น